Monday, December 22, 2008

นิทานเซ็น เล่าโดย .. ท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่อง ยิ่งให้เร็ว นั้นแหละจะยิ่งช้า

นิทานเรื่องที่ ๙ เรื่อง "ยิ่งให้เร็ว นั้นแหละ จะยิ่งช้า" เรื่องนี้ จะมีประโยชน์มาก สำหรับ ครูบาอาจารย์ อาตมา จึงเลือกนำมาเล่า ให้ฟัง "ยิ่งให้เร็ว นั่นแหละ จะยิ่งช้า" เรื่องนี้ ถึงท่านจะ ไม่เรียก ตนเองว่า ครู ก็ตาม ก็ควรจะสนใจฟัง ในฐานะที่ว่า จะเป็นปัจจัย เกื้อกูล แก่การ เข้าใจธรรม และปฏิบัติธรรม เรื่องเล่าว่า มีหนุ่มคนหนึ่ง เขาอยากจะเป็น นักฟันดาบ ที่เก่งกาจ เขาไปหา อาจารย์สอนฟันดาบ ให้ช่วยสอนเขา ให้เป็นนักฟันดาบ เขาถาม อาจารย์ว่า จะใช้เวลาสักกี่ปี อาจารย์ ตอบว่า ประมาณ ๗ ปี เขาชักจะรวนเร เพราะว่า ๗ ปี นี้มันเป็นเวลา มิใช่น้อย ฉะนั้น เขาขอร้องใหม่ว่า เขาจะพยายาม ให้สุดฝีมือ สุดความสามารถ ในการศึกษา ฝึกฝน ทั้งกำลังกาย กำลังใจ ทั้งหมด ถ้าเป็นเช่นนี้ จะใช้เวลา สักกี่ปี อาจารย์ก็บอกว่า "ถ้าอย่างนั้น ต้องใช้เวลา สัก ๑๔ ปี" แทนที่จะเป็น ๗ ปี กลายเป็น ๑๔ ปี ฟังดู

หนุ่มคนนั้น ก็โอดครวญ ขึ้นมาว่า บิดาของเขาแก่มากแล้ว จะตาย อยู่รอมร่อแล้ว เขาจะ พยายาม อย่างยิ่ง ให้บิดา ของเขา ได้ทันเห็น ฝีมือ ฟันดาบของเขา ก่อนตาย เขาจะแสดง ฝีมือฟันดาบ ของเขา ให้บิดา ของเขา ชม ให้เป็นที่ชื่นใจ แก่บิดา เขาจะพยายาม อย่างยิ่ง ที่จะแสดง ความสามารถ ให้ทันสนองคุณ ของบิดา จะต้องใช้เวลา สักเท่าไร ขอให้อาจารย์ ช่วยคิดดูให้ดีๆ

ท่านอาจารย์ก็บอกว่า "ถ้าอย่างนั้นต้อง ๒๑ ปี" นี้มันเป็นอย่างไร ขอให้นึกดู แทนที่จะ ลดลงมา มันกลายเป็น เพิ่มขึ้นเป็น ๒๑ ปี หนุ่มคนนั้น จะเล่นงาน อาจารย์ อย่างไร ก็ไม่ได้ เพราะเป็นอาจารย์ จะทำอย่างอื่น ก็ไม่ถูก นึกไม่ออก เพราะไม่มีใคร จะเป็นอาจารย์ สอนฟันดาบ ให้ดีกว่านี้ ซึ่งเป็น อาจารย์ ของประเทศ ดังนั้น เขาก็ ซังกะตาย อยู่ไปกะอาจารย์ ด้วยไม่รู้ว่า จะทำอย่างไรดีนั่นเอง

หลายวันต่อมา อาจารย์ก็ใช้ คนคนนี้ แทนที่จะเรียก ไปสอน ให้ใช้ดาบ ฟันดาบ กลับให้ทำครัว ให้ทำงานในครัว ให้ตักน้ำผ่าฟืน หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่เรียกว่า ต้องทำงานในครัว

หลายวันล่วงมา วันหนึ่ง อาจารย์ผลุนผลัน เข้าไปในครัว ด้วยดาบสองมือ ฟันหนุ่มคนนี้ ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้สึกตัว อุตลุต เป็นการใหญ่ เขาก็ต้องต่อสู้ ไปตามเรื่อง ตามราว ของเขา ตามที่เขาจะสู้ได้ โดยใช้อะไร แทนดาบ หรือ ด้วยมือ เปล่าๆ หรืออะไรก็สุดแท้ สองสามอึดใจ แล้วก็เลิกกัน อาจารย์ ก็กลับไป แล้วต่อมา อีกหลายวัน เขาก็ถูกเข้า โดยวิธีนี้อีก และมีบ่อยๆ อย่างนี้เรื่อยไป ไม่กี่ครั้ง เขาก็กลายเป็น นักฟันดาบ ขึ้นมาได้ โดยไม่รู้สึกตัว จนกระทั่ง อาจารย์บอกว่า กลับบ้านได้ คือจบหลักสูตรแล้ว และปรากฏว่า ต่อมาหนุ่มคนนี้ ก็เป็น นักดาบ ลือชื่อ ของประเทศญี่ปุ่นไป นิทานของเขาก็จบ.

ท่านลองคิดดูว่า นิทานเรื่องนี้ สอนว่าอย่างไร? ตอบสั้นๆ ที่สุดก็คือว่า การทำอะไร ด้วยความ ยึดมั่น ถือมั่น ว่า ตัวตน ว่าของ ของตนนั้น ใช้ไม่ได้ ไม่มีทางที่จะเป็น ผลดีเลย คือ ถ้าหนุ่มคนนี้ ยังคิดว่า กูจะดี กูจะเด่น อยู่ละก็ มีตัวกู เข้ามาฝึก เป็นตัวกู ที่ใหญ่เอาการ อยู่เหมือนกัน ทีนี้ ถ้ายิ่งจะทำให้ดีที่สุด กูจะทำให้เก่งที่สุด ให้เร็วที่สุด อย่างนี้ด้วยแล้ว ไอ้ตัวกู มันยิ่งขยาย โตออกไปอีก ถ้ายิ่งจะให้ทัน บิดาเห็น บิดาแก่มากจะตายแล้ว ตัวกู มันยิ่งพองมากออกไปอีก มันยิ่งเร่งร้อน ออกไปอีก อย่างนี้ จิตไม่เป็นสมาธิได้ จิตเต็มอัดอยู่ด้วยตัวกู กลัดกลุ้มไปด้วยตัวกูของกู ไม่เป็นจิตว่าง ไม่เป็นตัวสติปัญญา อยู่ในจิต ไม่สามารถจะมี สมรรถภาพเดิมแท้ของจิต ออกมาได้ เพราะมัน กลัดกลุ้ม อยู่ด้วยอุปาทาน ว่า ตัวกูของกู หรือ ความเห็นแก่ตัวนี้ มันเลยไม่เฉียบแหลม ไม่ว่องไว ไม่ active อะไรหมด ฉะนั้น ถ้าขืนทำไปอย่างนี้ จริงๆ แล้ว จะต้องใช้เวลา ๗ ปี หรือว่า ๑๔ ปี หรือว่า ๒๑ ปีจริงๆ

ขณะที่เขาอยู่ในครัวนั้น เขาไม่มีความรู้สึกว่า ตัวกู ของกู กูจะเอาใน ๗ ปี หรือจะให้ทันบิดาเห็น อย่างนี้ไม่มีเลย กำลังเป็นจิตที่ว่างอยู่ ถึงแม้ว่า อาจารย์จะผลุนผลัน เข้าไปในลักษณะอย่างไร ปฏิภาณของจิตว่าง หรือ จิตเดิมแท้นี้ ก็มีมากพอ ที่จะต่อสู้ออกไปอย่างถูกต้องได้ มันเป็นการ เรียกร้องขึ้นมา หรือ ปลุกขึ้นมา จากหลับ ปลุกจิตอันนี้ ขึ้นมาจากหลับ ตามวิธีของอาจารย์ที่เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะ มาเป็นจิตที่ เบิกบานเต็มที่ ซึ่งต่อไป ก็เอาไปใช้ได้เลย เขาจึงเป็น ผู้สำเร็จหลักสูตร โดยวิธี ประหลาด นั้น ภายในไม่ถึง ๗ ปี หรือ ภายในไม่ถึงปี อย่างนี้เป็นต้น

เกี่ยวกับข้อนี้ อยากจะให้ท่าน ครูบาอาจารย์ สนใจที่จะนึกดูว่า ความรู้สึกที่เป็น ตัวตน หรือเป็นของตนนั้น อยู่ที่ตรงไหน? เหมือนอย่างว่า เราจะยิงปืน หรือ ยิงธนู หรือว่า ขว้างแม่น ในการกีฬาขว้างแม่น ถ้าจิตของผู้ขว้าง มีความรู้สึกเป็นตัวกูของกู เป็นชื่อเสียงของกู ชื่อเสียง ของโรงเรียนของกู ของมหาวิทยาลัยของกู รัวอยู่ในใจแล้ว ไม่มีวันที่จะ ขว้างแม่น หรือขว้างถูกได้ มันสั่นระรัว อยู่ด้วยตัวกู หรือของกูนี้ ทั้งนั้น ที่ถูกนั้น เมื่อมีความตั้งใจ ถูกต้อง ที่จะทำเพื่อเกียรติยศ ชื่อเสียง ของโรงเรียน หรือของอะไรก็ตาม แล้วเขาต้องลืมหมด ลืมแม้แต่ตัวกู โรงเรียนของกู มหาวิทยาลัยของกู เหลืออยู่แต่สติปัญญา และ สติสัมปชัญญะ ที่จะขว้างด้วย อำนาจสมาธิ เท่านั้น คือพูดตรงๆ ก็ว่า ขณะนั้น มีแต่จิตที่เป็นสมาธิ กับสติปัญญาเท่านั้น ตัวกู ของกู ไม่มีเลย มันจึงเป็นจิตเดิม เป็นจิตตามสภาพจิต มือไม้ไม่สั่น ใจไม่สั่น ประสาทไม่สั่น อะไรๆ ไม่สั่น ปรกติ เป็น active ถึงที่สุดแล้ว เขาจะขว้างแม่น เหมือนอย่างกะ ปาฏิหาริย์ นี้ขอให้เข้าใจอย่างนี้

หรือว่า ในการจัดดอกไม้ในแจกัน คนจัดจะต้องทำจิตให้ว่าง จากความเห็นแก่ตัวกู หรือชื่อเสียงของกู ตลอดถึงโรงเรียนของกู หมู่คณะ ของกู เสียก่อนแล้ว เสียบดอกไม้ ไปด้วยจิตว่าง จิตบริสุทธิ์ นั่นแหละ คือ สติปัญญา ล้วนๆ ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู เจืออยู่ ก็จะได้ แจกันที่สวยที่สุด ไม่เคยปรากฏ มาแต่ก่อน นี่เขาถือเป็นหลัก ของนิกายเซ็น ฉะนั้น ขอให้สนใจ ในการที่จะทำอะไร หรือมีชีวิตอยู่ ด้วยความ ไม่มีตัวกู ของกู มันยิ่งจำเป็นมาก สำหรับครูบาอาจารย์ ที่จะสอนเด็ก ให้ทำงาน ฝีมือดี ด้วยจิตใจ ที่ปรกติ ไม่สั่น ในระบบประสาท ไม่สั่น ในระบบของ ความคิดนึก หรือว่า เมื่อเด็กๆ จะสอบไล่ เมื่อเขารู้สึกตัว อยู่แล้วว่า จะต้องสอบได้แล้ว จะไปมัวห่วง กลัวจะสอบตก จะเสียชื่อ จะเสียเวลา ถ้าสอบไม่ได้ จะไปโดดน้ำตาย เป็นต้น จะต้องไปนึกทำไม นั่นเป็นเรื่องตัวกู ของกู เด็กคนนั้น จะต้อง ลืมสิ่งเหล่านั้น หมด และลืม แม้แต่กระทั่ง ตัวเอง คำว่า "ลืมตัวเอง" นี้ถ้าฟังไม่ดีแล้ว ก็จะไม่เข้าใจ แล้วจะรู้สึกเถียง แย้งขึ้นมาว่า เป็นไปไม่ได้ ที่จริง เราลืมตัวเราเอง นี้ได้ ในลักษณะ หรือกรณีเช่น:

เด็กๆ ในขณะสอบไล่นั้น จะต้องลืมหมด แม้กระทั่งตัวเอง เหลืออยู่ในใจ แต่ว่า ปัญหาว่าอย่างไร มีใจความว่าอย่างไร แล้วคำตอบควรจะว่าอย่างไร ถ้าจิตใจ ว่างจากตัวกู ว่างจากของกูแล้ว วิชาความรู้ ต่างๆ ที่เคยสะสม มาตั้งแต่แรก เรียนนั้น จะมาหา พรู มาทีเดียว ให้เขาพบคำตอบว่า อย่างนั้น อย่างนี้ และถูกต้องที่สุด แต่ถ้าเขากลัดกลุ้ม อยู่ด้วยตัวกู ของกู แล้ว แม้เขาจะเคยเรียน มามากอย่างไร มันก็ไม่มา มันมีอาการ เหมือนกับ ลืม นึกไม่ออก นั่นแหละ แล้วมันจะ ระส่ำระสาย กระสับกระส่าย รวนเรไปหมด ก็เลยตอบ ไม่ได้ดี ถ้าสอบไล่ ด้วยจิตว่างนี้ จะได้ที่หนึ่ง หรือ ยิ่งกว่า ที่หนึ่ง เสียอีก ฉะนั้น เขาจึงมีการ สอนมาก ในเรื่องที่ว่า อย่าทำจิต ที่สั่นระรัว ด้วยตัวกู ของกู เพราะว่า การทำอย่างนั้น ยิ่งจะให้เร็ว มันจะ ยิ่งช้าที่สุด ตามชื่อของนิทานว่า "ยิ่งให้เร็ว มันยิ่งช้า" หรือ ที่เราจะพูดว่า จะเอาให้ได้ มันยิ่งจะไม่ได้เลย หรือว่า จะไม่เอาอะไรเลย มันยิ่งจะ ได้มาหมด คือ ไม่มีตัวเรา ที่จะเอาอะไรเลยแล้ว มันจะได้มาหมด

Sunday, December 21, 2008

นิทานเซ็น เล่าโดย .. ท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่อง เพชรที่หาได้จากโคลนในถิ่นสลัม

เรื่องที่สอง เรื่อง เพชรที่หาได้จากโคลนในถิ่นสลัม อาตมา ต้องขอใช้คำอย่างนี้ เพราะไม่ทราบว่า จะใช้คำอย่างไรดี ที่จะให้รวดเร็ว และสั้นๆ ท่านจะรู้สึกอย่างไร ก็ตามใจ ที่จะต้อง ใช้คำอย่างนี้ "เพชรที่หาพบจากโคลนในถิ่นสลัม" เรื่องนี้ก็เล่าว่า อาจารย แห่ง นิกายเซ็น ชื่อ กูโด เป็นอาจารย์ ของพระจักรพรรดิ แห่งประเทศญี่ปุ่น ในสมัยนั้น ท่านอาจารย์องค์นี้ ชอบเที่ยว ไปไหนคนเดียวโดดๆ อย่างนักบวชเร่ร่อน แบบปริพพชก ไม่ค่อยได้อยู่ กับวัดวาอาราม ครั้งหนึ่ง ท่านเดินทาง ไปยัง ตำบลอีโด เพื่อประโยชน์ อย่างใด อย่างหนึ่ง ของท่าน ที่จะมีแก่คนอื่น ท่านได้ผ่านตำบลๆ หนึ่ง เย็นวันนั้น ฝนก็ตกมา ท่านจึงเปียกปอน ไปหมด และรองเท้าของท่านที่ใช้ เป็นรองเท้า ทำด้วยฟาง เพราะ นักบวชนิกายเซ็น ใช้รองเท้าฟางถัก ทั้งนั้น เมื่อฝนตก ตลอดวัน รองเท้าก็ ขาดยุ่ย ไปหมด ท่านจึงเหลียวดูว่า จะมีอะไรที่ไหน จะแก้ปัญหา เหล่านี้ ได้บ้าง ก็พบกระท่อมน้อยๆ แห่งหนึ่ง ในถิ่นใกล้ๆ นั้น เห็นรองเท้าฟาง มีแขวนอยู่ด้วย ก็คิดจะไปซื้อ สักคู่หนึ่ง เอาแห้งๆ มาใส่ เพื่อเดินทาง ต่อไป หญิงเจ้าของบ้านนั้น เขาถวาย เลยไม่ต้องซื้อ และเมื่อเห็นว่า เปียกปอนมาก ก็เลยขอนิมนต์ ให้หยุดอยู่ก่อน เพราะ ฝนตกจนค่ำ ท่านก็เลยต้องพัก อยู่ที่บ้านนั้น ด้วยคำของร้อง ของหญิงเจ้าของบ้าน

หญิงเจ้าของบ้าน เรียกเด็กๆ และญาติๆ มาสนทนาด้วยท่านอาจารย์; ท่านได้สังเกตเห็นว่า สกุลนี้ เป็นอยู่ ด้วยความข้นแค้น ที่สุด ก็เลยขอร้อง ให้บอกเล่าตรงๆ โดยไม่ต้องเกรงใจ ว่าเรื่องมันเป็นอย่างไรกัน หญิงเจ้าของบ้านก็บอกว่า "สามีของดิฉัน เป็นนักการพนัน แล้วก็ดื่มจัด ถ้าเผอิญเขาชนะ เขาก็ดื่มมัน จนไม่มีอะไรเหลือ ถ้าเขาแพ้ เขาก็ยืมเงินคนอื่น เล่นอีก เพิ่มหนี้สิน ให้มากขึ้น เขาไม่เคยมาบ้านเลย เป็นวันเป็นคืน หรือหลายวัน หลายคืน ก็ยังมี ดิฉันไม่รู้ว่า จะทำอย่างไรดี"

ท่านอาจารย์กูโด ว่า ไม่ต้องทำหรอก ฉันจะช่วยทำ แล้วก็ว่า นี่ ฉันมีเงินมาบ้าง ช่วยให้ซื้อเหล้าองุ่น มาให้เหยือกใหญ่ๆ เหยือกหนึ่ง แล้วก็อะไรๆ ที่ดีๆ ที่น่ากิน เอามาให้ เป็นจำนวนเพียงพอ เอามาวางที่นี่ แล้วก็กลับไปทำงาน ตามเรื่องเถอะ ฉันจะนั่งอยู่ที่นี่ ตรงหน้า ที่บูชา ข้อนี้ หมายความว่า บ้านนั้น ก็มีหิ้งบูชาพระ เมื่อผู้ชายคนนั้น กลับมาบ้าน เวลาดึก เขาก็เมา เขาก็พูด ตามประสาคนเมา นี่คำนี้ จะแปลว่ายังไง Hey! wife; ก็ต้องแปลว่า เมียโว้ย! มาบ้านแล้วโว้ย; มีอะไรกินบ้างโว้ย ตัวหนังสือ เขาเป็นอย่างนี้ ซึ่งมันก็ เหมือนๆกับ ในเมืองไทยเรา นี้เอง นี่ลองคิดดูว่า คนๆ นี้ จะเป็นอย่างไร ฉะนั้น กูโด ท่านอาจารย์ ที่นั่ง ที่หน้าหิ้งพระ ก็ออกรับหน้า บอกว่า ฉันได้มีทุกอย่าง สำหรับท่าน เผอิญ ฉันมาติดฝนอยู่ที่นี่ ภรรยาของท่าน เขาขอร้องให้ฉันพัก ค้างฝน ที่นี่ตลอดคืนนี้ ฉันก็ควรจะมีส่วนตอบแทน ท่านบ้าง ฉะนั้น ขอให้ท่านบริโภค สิ่งเหล่านี้ ตามชอบใจ ชายคนนั้น ดีใจใหญ่ มีทั้งเหล้าองุ่น มีทั้งปลา มีทั้งอาหารต่างๆ เขาก็ดื่มและรับประทาน จนนอนหลับไป ไม่รู้สึกตัว อยู่ตรงข้างๆ เข่าของท่านอาจารย์ กูโด ที่นั่งสมาธิ ตลอดคืนนั้น เหมือนกัน ทีนี้ พอตื่นขึ้นมา ตอนเข้า ชายคนนั้น ก็ลืมหมด ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เพราะเมื่อคืนนี้เขาเมาเต็มที่ และถามว่า ท่านเป็นใคร และจะไปข้างไหน ท่านอาจารย์ ก็ตอบว่า อ๋อ! อาตมาคือ กูโด แห่งนคร กโยโต(Kyoto เกียวโต) กำลังจะไปธุระ ที่ตำบล อิโด ตามเรื่องที่ว่ามาแล้ว เมื่อกี้นี้ ถ้อยคำอย่างนี้ มันประหลาดที่ว่า บางครั้ง ก็มีอิทธิพล มากมาย คือว่า ชายคนนั้น ละอายจนเหลือที่จะรู้ว่า จะอยู่ที่ไหน จะแทรกแผ่นดิน หนีไปที่ไหน ก็ทำไม่ไหว แทรกไปไม่ได้ มันละอาย ถึงขนาดอย่างนั้นแล้ว ก็ขอโทษขอโพย ขอแล้ว ขออีก จนไม่รู้จะขออย่างไร ต่ออาจารย์ ของพระจักรพรรดิ ซึ่งจับพลัดจับผลู เข้ามาอยู่ที่บ้านเขา ท่านกูโด ก็ยิ้มละไมอยู่เรื่อย แล้วก็พูดขึ้นช้าๆ บอกว่า "ทุกอย่างในชีวิตนี้ มันเปลี่ยนแปลงเรื่อย เป็นกระแสไหลเชี่ยว ไปทีเดียว และทั้งชีวิตนี้ มันก็ สั้นเหลือเกินด้วย ถ้ายังเล่นการพนัน และดื่ม อยู่ดังนี้ ก็หมดเวลา ที่จะทำอะไรอื่น ให้เกิดขึ้น หรือ สำเร็จได้ นอกจาก ทำตัวเอง ให้เป็นทุกข์ แล้ว ก็จะทำให้ครอบครัว พลอย ตกนรก ทั้งเป็น กันไปด้วย" ความรู้สึก อันนี้ ได้ประทับใจ นายคนนั้น มีอาการเหมือนกับว่า ตื่นขึ้นมา ในโลกอื่น เหมือนกับตื่นขึ้นมา จากความฝัน ในที่สุด ก็พูดกับท่านอาจารย์ว่า ที่ท่านอาจารย์กล่าวนั้น มันถูกหมดเลย มันถูกอย่างยิ่ง ถ้าอย่างไร ก็ขอให้กระผม ได้สนอง พระคุณอาจารย์ ในคำสั่งสอน ที่ประเสริฐนี้ เพราะฉะนั้น ของให้กระผม ออกติดตาม ท่านอาจารย์ ไปส่งท่านอาจารย์ ในการเดินทางนี้ สักระยะหนึ่ง ท่านอาจารย์กูโด ก็บอกว่า ตามใจ สองคน ก็ออกเดินทาง ไปได้ประมาณ ๓ ไมล์ ท่านอาจารย์ก็บอกว่า กลับเถอะ นายคนนี้ก็บอก ขออีกสัก ๕ ไมล์ อาจารย์ขยั้นขยอ ให้กลับอีก ว่าถึงคราวที่ต้องกลับแล้ว นายคนนั้น ก็บอกว่า ขออีกสัก ๑๐ ไมล์เถอะ ในที่สุดก็ต้องยอม พอถึง ๑๐ ไมล์ ท่านอาจารย์ ขยั้นขยอให้กลับ เขาก็ว่า ขอตลอดชีวิตของผมเถอะ นี่ก็เป็นอันว่า ไปกับท่านอาจารย์ ไปเป็น นักบวชแห่งนิกายเซ็น ซึ่งต่อมา ก็เป็น ปรมาจารย์พุทธศาสนา แห่งนิกายเซ็นในญี่ปุ่น นิกายเซ็นทุกสาขา ที่เหลืออยู่ในญี่ปุ่น ในทุกวันนี้ ออกมาจาก อาจารย์องค์นี้ องค์เดียวเท่านั้น ล้วนแต่เป็น ลูกศิษย์ที่สืบมาจาก อาจารย์องค์นี้ องค์เดียว ท่านกลับตัว ชนิดที่เราเรียกกันว่า เพชรที่พบจากโคลนในถิ่นสลัม นี้เป็นอย่างไรบ้าง ก็ลองคิดดู ในประเทศญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีบางคน ก็มาจาก เด็กที่ขายเต้าหู้ หาบหนังสือพิมพ์ ก็เป็น นักเขียนหนังสือพิมพ์น้อยๆ สั้นๆ และเขื่องขึ้นๆ จนเป็นบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ ที่มีชื่อเสียง และไปเป็นนายกรัฐมนตรี สมัยหนึ่งในที่สุด นี่เราจะบอกเด็กๆ ตาดำๆ ของเราว่า สิ่งต่างๆ นั้นเปลี่ยนแปลง ได้ถึงอย่างนี้ กันสักทีจะได้ไหม เด็กๆ เขาจะมี ความรู้สึกอย่างไร ในฐานะของเขา เขาจะทำตัว ให้เป็นเหมือนกับ "เพชรที่พบในโคลนจากถิ่นสลัม" ได้อย่างไร โดยมาก เขามักจะขายตนเอง เสียถูกๆ จนเป็นเหตุให้ เขา วกไปหา ความสุข ทางเนื้อทางหนัง ต่ำๆ เตี้ยๆ ไม่น่าดูนั้น ก็เพราะว่า เขาเป็นคน ที่ไม่เคารพตัวเอง ท้อถอย ต่อการที่จะคิดว่า มันจะเป็นได้มากอย่างนี้

พระพุทธเจ้า ท่านก็ยังตรัสว่า เกิดมาเป็นคน นี่ ไม่ควรให้ตัวเอง "อตฺตานํ น ทเทยฺยโปโส" แปลว่า เป็นลูกผู้ชาย เป็นบุรุษ ไม่ควรให้ซึ่งตน ให้ซึ่งตน นี้ หมายความว่า ยกตนให้เสียแก่กิเลส หรือ ธรรมชาติฝ่ายต่ำ มันก็ไม่ได้คิด ที่จะมีอะไร ที่ใหญ่โตมั่นคง ที่จะเป็นนั่น เป็นนี่ ให้จริงจังได้ ข้อนี้ เรียกว่า เราควรจะถือ เป็นหลักจริยธรรม ข้อหนึ่งด้วย เหมือนกัน

Saturday, December 20, 2008

นิทานเซ็น เล่าโดย .. ท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่อง น้ำชาล้นถ้วย

เรื่องที่หนึ่ง ซึ่งไม่อยากจะเว้นเสีย ทั้งที่ เคยเอ่ยถึงแล้ว วันก่อน คือ เรื่อง น้ำชาล้นถ้วย คือว่า อาจารย์ แห่งนิกายเซ็น ชื่อ น่ำอิน เป็น ผู้มีชื่อเสียง ทั่วประเทศ และ โปรเฟสเซอร์ คนหนึ่ง เป็น โปรเฟสเซอร์ ที่มีชื่อเสียง ทั่วประเทศ ไปหา อาจารย์น่ำอิน เพื่อขอศึกษา พระพุทธศาสนา อย่างเซ็น ในการต้อนรับ ท่านอาจารย์ น่ำอิน ได้รินน้ำชา ลงในถ้วย รินจนล้นแล้วล้นอีก โปรเฟสเซอร์ มองดูด้วยความฉงน ทนดูไม่ได้ ก็พูดโพล่งออกไปว่า "ท่านจะใส่มัน ลงไปได้อย่างไร" ประโยคนี้ มันก็แสดงว่า โมโห ท่านอาจารย์ น่ำอิน จึงตอบว่า" ถึงท่านก็เหมือนกัน อาตมาจะใส่อะไร ลงไปได้อย่างไร เพราะท่านเต็มอยู่ด้วย opinions และ speculations ของท่านเอง" คือว่า เต็มไปด้วยความคิด ความเห็น ตามความ ยึดมั่นถือมั่น ของท่านเอง และมีวิธีคิดนึก คำนวณ ตามแบบ ของท่านเอง สองอย่างนี้แหละ มันทำให้เข้าใจ พุทธศาสนาอย่างเซ็น ไม่ได้ เรียกว่า ถ้วยชามันล้น

ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลาย จะเตือนสติเด็กของเราให้รู้สึกนึกคิด เรื่องอะไรล้น อะไรไม่ล้น ได้อย่างไร ขอให้ช่วยกันหาหนทาง ในครั้งโบราณ ในอรรถกถา ได้เคย กระแหนะกระแหน ถึง พวกพราหมณ์ ที่เป็น ทิศาปาโมกข์ ต้องเอาเหล็กมาตี เป็นเข็มขัด คาดท้องไว้ เนื่องด้วย กลัวท้องจะแตก เพราะวิชาล้น นี้จะเป็นเรื่อง ที่มีความหมายอย่างไร ก็ลองคิดดู พวกเรา อาจล้น หรือ อัดอยู่ด้วยวิชาทำนองนั้น จนอะไรใส่ ลงไปอีกไม่ได้ หรือ ความล้นนั้น มันออกมา อาละวาด เอาบุคคลอื่น อยู่บ่อยๆ บ้างกระมัง แต่เราคิดดูก็จะเห็นได้ว่า ส่วนที่ล้น นั้น คงจะเป็นส่วน ที่ใช้ไม่ได้ จะจริงหรือไม่ ก็ลองคิด ส่วนใดที่เป็นส่วนที่ล้น ก็คงเป็น ส่วนที่ใช้ไม่ได้ ส่วนที่ร่างกาย รับเอาไว้ได้ ก็คงเป็น ส่วนที่มีประโยชน์ ฉะนั้น จริยธรรมแท้ๆ ไม่มีวันจะล้น โปรดนึกดูว่า จริยธรรม หรือ ธรรมะแท้ๆ นั้น มีอาการล้นได้ไหม ถ้าล้นไม่ได้ ก็หมายความว่า สิ่งที่ล้นนั้น มันก็ไม่ใช่จริยธรรม ไม่ใช่ธรรมะ ล้นออกไป เสียให้หมด ก็ดีเหมือนกัน หรือ ถ้าจะพูดอย่างลึก เป็นธรรมะลึก ก็ว่า จิตแท้ๆ ไม่มีวันล้น อ้ายที่ล้นนั้น มันเป็นของปรุงแต่งจิต ไม่ใช่ตัวจิตแท้ มันล้นได้มากมาย แต่ถึงกระนั้น เราก็ยังไม่รู้ว่า จิตแท้คืออะไร อะไรควรเป็น จิตแท้ และอะไรเป็นสิ่ง ที่ไม่ใช่จิตแท้ คือ เป็นเพียง ความคิดปรุงแต่ง ซึ่งจะล้นไหลไปเรื่อย นี่แหละ รีบค้นหาให้พบ สิ่งที่เรียกว่า จิตจริงๆ กันเสียสักที ก็ดูเหมือนจะดี

ในที่สุด ท่านจะพบตัวธรรมะอย่างสูง ที่ควรแก่นามที่จะเรียกว่า จิตแท้ หรือ จิตเดิมแท้ ซึ่งข้อนั้น ได้แก่ ภาวะแห่งความว่าง จิตที่ประกอบด้วย สภาวะแห่งความว่างจาก "ตัวกู-ของกู" นั้นแหละ คือ จิตแท้ ถ้าว่างแล้ว มันจะเอาอะไรล้น นี่เพราะเนื่องจากไม่รู้จักว่า อะไรเป็นอะไร จึงบ่นกันแต่เรื่องล้น การศึกษาก็ถูกบ่นว่า ล้น และที่ร้ายกาจที่สุด ก็คือ ที่พูดว่า ศาสนานี้ เป็นส่วนที่ล้น จริยธรรมเป็นส่วนล้น คือส่วนที่เกิน คือ เกินต้องการ ไม่ต้องเอามาใส่ใจ ไม่ต้องเอามาสนใจ เขาคิดว่า เขาไม่ต้อง เกี่ยวกับศาสนา หรือธรรมะเลย เขาก็เกิดมาได้ พ่อแม่ก็มีเงินให้ เขาใช้ให้เขาเล่าเรียน เรียนเสร็จแล้ว ก็ทำราชการ เป็นใหญ่เป็นโต ได้โดยไม่ต้อง มีความเกี่ยวข้อง กับศาสนาเลย ฉะนั้น เขาเขี่ยศาสนา หรือ ธรรมะ ออกไปในฐานะ เป็นส่วนล้น คือ ไม่จำเป็น นี่แหละ เขาจัดส่วนล้น ให้แก่ศาสนาอย่างนี้ คนชนิดนี้ จะต้องอยู่ ในลักษณะที่ ล้นเหมือน โปรเฟสเซอร์คนนั้น ที่อาจารย์น่ำอิน จะต้อง รินน้ำชาใส่หน้า หรือ ว่ารินน้ำชาให้ดู โดยทำนองนี้ทั้งนั้น เขามีความเข้าใจผิดล้น ความเข้าใจถูกนั้นยังไม่เต็ม มันล้นออกมา ให้เห็น เป็นรูปของ มิจฉาทิฎฐิ เพราะเขาเห็นว่า เขามีอะไรๆ ของเขาเต็มเปี่ยมแล้ว ส่วนที่เป็นธรรมะ เป็นจริยธรรมนี่ เข้าไม่จุ อีกต่อไป ขอจงคิดดูให้ดีเถอะว่า นี้แหละ คือ มูลเหตุที่ทำให้จริยธรรม รวนเร และ พังทลาย ถ้าเรามีหน้าที่ ที่จะต้องผดุงส่วนนี้แล้ว จะต้องสนใจเรื่องนี้

Friday, December 19, 2008

นิทานเซ็น เล่าโดย .. ท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่อง ถ้าจะรักก็จงรักอย่างเปิดเผย

นิทานเรื่องที่ ๕ เรื่อง "If love, love openly" ถ้าจะรัก ก็จงรักอย่างเปิดเผย. ในวัดนิกาย เซ็น อีกเหมือนกัน มีภิกษุ อยู่หลายสิบรูป และมี นักบวชผู้หญิง ที่เรียกว่า nun อยู่คนหนึ่ง ชื่อ เอฉุ่น รวมอยู่ด้วย เอฉุ่น เป็นหญิง ที่สวยมาก แม้จะเอา ผมออก เสียแล้ว แม้จะใช้ เครื่องนุ่งห่ม ของนักบวช ที่ปอนมาก ก็ยังสวย อย่างยิ่ง อยู่นั่นเอง และทำความ วุ่นวาย ให้แก่ภิกษุทั้งหมด นั้นมาก แทบว่า จะไม่มีจิตใจ ที่จะสงบได้ ภิกษุองค์หนึ่ง ทนอยู่ไม่ได้ ก็เขียนจดหมาย ส่งไปถึง ขอร้อง ที่จะมีการพบ อย่าง private คือเป็นการขอพบ เฉพาะตัว เอฉุ่น ก็ไม่ตอบจดหมายนั้น อย่างไร แต่พอวันรุ่งขึ้น กำลังประชุม อบรมสั่งสอน กันอยู่ ซึ่งมีชาวบ้าน จำนวนมาก รวมอยู่ด้วย พอสั่งสอน จบลง เอฉุ่น ก็ยืนขึ้น กล่าวถึง ภิกษุนั้นว่า ภิกษุที่เขียนจดหมาย ถึงฉันนั้น ขอให้ก้าวออกมา ข้างหน้า จากหมู่ภิกษุ เหล่านั้นเถิด ถ้ารักฉันมากจริงๆ ก็จงมากอดฉัน ที่ตรงนี้ แล้วนิทาน ของเขาก็จบ

นี่ท่านลองคิดดูเองว่า นิทานอิสปเรื่องนี้ จะสอนว่ากระไร ก็หมายความว่า การสอน การอบรม ที่ตรงไปตรงมา ตามแบบ ของนิกายเซ็นนั้น กล้ามาก ทำให้คนเรา กล้าหาญมาก และไม่มีความลับ ที่จะต้องปิดใคร จะว่าอย่างไรก็ได้ ไม่ต้องปกปิด คือสามารถ ที่จะเปิดเผยตนเองได้ มีสัจจะ มีความจริง โดยไม่ถือว่า ความลับมีอยู่ในโลก นี้เราจะต้องเป็น ผู้ที่ปฏิญญาตัว อย่างไรแล้ว จะต้องทำอย่างนั้น ไม่มีความลับ ที่ปกปิดไว้ จนสะดุ้งสะเทือน แม้ในการ ที่จะเรียกตัวเองว่า "ครู" อย่างนี้ เป็นต้น บางคนกระดาก หรือ ร้อนๆ หนาวๆ ที่ว่า จะถูกเรียกว่า ครู หรือ จะถูกขอร้อง ให้ยืนยัน ปฏิญญา ความเป็นครู นี้แสดงว่า ไม่เปิดเผยเพียงพอ ยังไม่กล้าหาญเพียงพอ จะกล้าปฏิญญาว่า เป็นครู จนตลอดชีวิต หรือไม่ ยิ่งไม่กล้าใหญ่ ใครกำลังจะ ลงเรือน้อย ข้ามฟาก ไปฟากอื่น ซึ่งไม่ใช่ นครของพวกครูบ้าง ก็ดูเหมือน ไม่กล้าเปิดเผย เพราะเราไม่ชอบ ความกล้าหาญ และเปิดเผย กันอย่างสูงสุด เหมือน กะคน ในเรื่องนิทานนี้

Thursday, December 18, 2008

นิทานเซ็น เล่าโดย .. ท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่อง เซ็นเนื้อ เซ็นกระดูก

นิทานสุดท้าย ที่อยากจะเล่า ก็คือ เรื่อง เกี่ยวกับเซ็นเนื้อ เซ็นกระดูก ตามชื่อ ของหนังสือ เล่มหนึ่ง ซึ่งชื่อว่า "เซ็นเนื้อ เซ็นกระดูก" คือ หนังสือ ที่เอามา เล่านิทาน ให้ฟัง นี้เอง ควรจะทราบ ถึงคำว่า เซ็นเนื้อ เซ็นกระดูก ด้วยจะง่าย ในการเข้าใจ เซ็นเนื้อ เซ็นกระดูก หมายความว่า ธรรมะ ชั้นที่เป็นเนื้อ เป็นกระดูก ยังไม่ถึง เยื่อในกระดูก ธรรมะชั้นลึกจริงๆ จัดเป็น ชั้นเยื่อในกระดูก นี่เราจะเล่ากัน แต่เรื่อง ชั้นเนื้อ และชั้นกระดูก หมายความว่า ในนั้นมันมี ชั้นเยื่อในกระดูก อีกทีหนึ่ง ถ้าเข้าไม่ถึง มันก็ติดอยู่ แค่เนื้อแค่กระดูก เหมือนที่ เราไม่เข้าถึง หัวใจ ของ พระพุทธศาสนา แล้วก็คุยโวอยู่ ซึ่งมันเป็น ชั้นเนื้อ ชั้นกระดูก ทั้งนั้น ไม่ใช่ ชั้นเยื่อในกระดูกเลย และเมื่อจะพูดกัน ถึงเรื่องนี้ เขาเล่า นิทาน ประวัติ ตอนหนึ่ง ของ ท่านโพธิธรรม คือ อาจารย์ ชาวอินเดีย ที่ไป ประเทศจีน ที่ไป ประดิษฐาน พระพุทธศาสนา นิกายธยานะ ลงไปใน ประเทศจีน ซึ่งต่อมา เรียกว่า นิกายเซ็น ญี่ปุ่นเรียกว่า เซ็น หรือภาษาจีน เรียกว่า เสี่ยง

เมื่อท่านโพธิธรรม อยู่ในประเทศจีน นานถึง ๙ ปี ท่านก็อยากจะ กลับอินเดีย ทีนี้ไหนๆ จะกลับทั้งที อยากจะลอง สอบดูว่า บรรดาศิษย์ ต่างๆ ที่สอนไว้ที่นี่ ใครจะรู้อะไร กี่มากน้อย ก็เลยเรียก มาประชุม ถามทำนอง เป็นการสอบไล่ว่า ธรรมะที่แท้จริง นั้นคืออะไร ข้อสอบ มีเพียงสั้นๆว่า "ธรรมะที่แท้จริง นั้นคืออะไร?"

ศิษย์ชั้นหัวหน้าศิษย์ ที่เรียกว่า ศิษย์ชั้นมีปัญญา เฉียบแหลม ชื่อ ดูโฟกุ ก็พูดขึ้นว่า "ที่อยู่ เหนือ การยอมรับ และ อยู่เหนือ การปฏิเสธ นั้นแหละ คือ ธรรมะ ที่แท้จริง" คำตอบอย่างนี้ ก็ถูกมากแล้ว ถ้า ผู้ใดฟัง ไม่เข้าใจเรื่องนี้ พึงจัดตัวเองว่า เป็นผู้ที่ ยังไม่รู้ธรรมะได้เลย ไม่รู้ธรรมะ อะไรเลยก็ว่าได้ ถ้าไม่รู้จัก สิ่งที่เหนือ การยอมรับ และการปฏิเสธ

ท่านอาจารย์ ก็บอกว่า "เอ้า! ถูก! แกได้ หนัง ของฉันไป" นี้ หมายถึง หนังที่หุ้มชั้นนอก ไม่ใช่เนื้อ ไม่ใช่กระดูก คือ ชั้นหนังแท้ๆ เสร็จแล้ว คนนี้ นั่งลง

นางชีคนที่ชื่อ โซจิ ก็ยืนขึ้น แล้วบอกว่า "สิ่งที่เห็นครั้งเดียว แล้วเป็น เห็นหมด เห็นตลอดกาล นั่นแหละ คือธรรมะแท้จริง"

ท่านอาจารย์ ก็บอกว่า " เอ้า! ถูก! แกได้ เนื้อ ของฉันไป" คือมัน ถูกกว่า คนทีแรก จึงได้เนื้อไป แล้วเขาก็นั่งลง

คนที่สาม ยืนขึ้น ตอบว่า "ที่ไม่มีอะไรเลย นั่นแหละ คือ ธรรมะ" เขาใช้คำว่า ไม่มีอะไรเลย เท่านั้น แต่เรา ขยายความ ออกไป ก็ได้ว่า ไม่มีอะไร ที่ถือ เป็นตัวตน เลย นั่นแหละ คือธรรมะแท้จริง

อาจารย์ ก็บอกว่า "ถูก! แกได้ กระดูก ของฉันไป" คือ ลึกถึง ชั้นกระดูก

ศิษย์อีกคนหนึ่ง เป็นศิษย์ก้นกุฎิ ชื่อ เอก้า ยืนขึ้น หุบปากนิ่ง แล้วยัง เม้มลึก เข้าไป ซึ่งแสดงว่า นิ่งอย่างที่สุด เป็นการแสดงแก่อาจารย์ว่า นี่แหละ คือ ธรรมะ การที่ต้อง หุบปาก อย่างนี้แหละ คือธรรมะ อาจารย์ ก็ว่า "เออ! แกได้ เยื่อในกระดูก ของฉันไป"

นิทานเรื่องนี้ สอนว่าอย่างไร บรรดา ครูอาจารย์ ทั้งหลาย ซึ่งล้วนแต่มี สติปัญญา ได้ศึกษา เล่าเรียน มามาก จงลองคิดดู คำตอบที่ว่า อยู่เหนือ การยอมรับ และปฏิเสธนั้น ยังถูกน้อยกว่า คนอื่น ส่วนผู้ที่ตอบว่า ลงเห็นทีเดียวแล้ว เห็นหมด และ เห็นตลอดกาล ด้วย นี่ยังถูกกว่า แล้วที่ว่า ไม่มีอะไรเลยนั้น ยิ่งถูกไปกว่าอีก แล้วที่ถึงกับว่า มันพูดอะไรออกมาไม่ได้ มันแสดงออกมาเป็น คำพูด ไม่ได้ จนถึงหุบปากนิ่งนี้ ยิ่งถูกกว่าไปอีก นี่แหละ พวกเรามี สติปัญญา ละเอียด สุขุม แยบคาย มีความสำรวม ระมัดระวัง สงบอกสงบใจมาก จนถึงกับว่า ไม่หวั่นไหว และเข้าใจ เรื่องไม่หวั่นไหว หรือไม่มีอะไรนี้ได้หรือไม่ ขอให้ลองคิดดู ถึงจะยังทำเดี๋ยวนี้ไม่ได้ ก็ขอให้เข้าใจว่า แนวของมัน เป็นอย่างนั้น คนที่รู้ อะไรจริงๆ แล้ว จะไม่พูดอะไรเลย เพราะรู้ซึ้ง ถึงขนาดที่อยู่ เหนือวิสัย ของการบรรยาย ด้วยคำพูด อย่างที่ เล่าจื้อ ว่า "คนรู้ไม่พูด คนที่พูด นั้นไม่ใช่ คนรู้" นี่ก็หมายถึง ตัวธรรมะจริงๆ นั้น มันพูดไม่ได้ ถึงแม้ ที่อาตมา กำลังพูด อยู่นี่ ก็เหมือนกัน ยังไม่ใช่ธรรมะจริง เพราะมันยังเป็น ธรรมะที่พูดได้ เอามาพูดได้ ลองทบทวนดูว่า ท่านเคยเข้าใจ ซึมซาบ ในความจริง หรือ ในทฤษฎีอะไร อย่างลึกซึ้ง จนท่านรู้สึกว่า ท่านไม่อาจ บรรยาย ความรู้สึก อันนั้น ออกมา ให้ผู้อื่นฟัง ได้จริงๆ บ้างไหม? ถ้าเคย ก็แปลว่า ท่านจะเข้าใจถึง สิ่งที่พูด เป็นคำพูด ไม่ได้

ธรรมะจริง มันพูดไม่ได้ ต้องแสดงด้วย อาการ หุบปาก แต่ขอให้ถือว่า เรากำลังพูดกัน ถึงเรื่องวิธี หรือ หนทาง ที่จะเข้าถึงธรรมะจริง ก็แล้วกัน แต่ว่า เมื่อเข้าถึงธรรมะจริง แล้ว มันเป็นเรื่อง ที่จะต้อง หุบปาก แต่ถึงกระนั้น มันก็เป็นสิ่งที่ จะต้องถึงเข้า ข้างหน้า เป็นแน่นอน ไม่มี ครูบาอาจารย์ คนไหน จะมีอายุเท่านี้ อยู่เรื่อยไป คงจะเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนเฒ่า คนแก่ เห็นโลก ในด้านลึก เห็นชีวิต ด้านลึก โดยสิ้นเชิง เป็นแน่ ฉะนั้นจึงควร เตรียมตัว ที่จะเข้าถึง แนวของ ธรรมะ เสียแต่ป่านนี้ จะไม่ขาดทุน และก็ไม่ใช่ว่า เป็นเรื่องเศร้า หรือ เป็นเรื่องน่าเบื่อ จนเกินไป

ในที่สุด เราจะต้องมานึกกัน ถึงเรื่อง เปลือก และ เนื้อ บ้าง นิทาน ทั้งหลายนั้น มันเหมือนเปลือก ส่วน spirit ของนิทานนั้น เหมือนกับเนื้อใน แต่ว่า เปลือกกับเนื้อ จะต้องไปด้วยกัน ครูบาอาจารย์ ทั้งหลาย อย่าได้เกลียด เปลือก และ อย่า ได้ยึดมั่น ถือมั่น เอาแต่เนื้อ มันจะเน่าไปหมด ข้อนี้หมายความว่า ถ้าเนื้อไม่มีเปลือก มันจะเน่า จะต้องเป็นเนื้อที่เน่า เนื้อที่มีเปลือก เท่านั้น ที่จะไม่เน่า เหมือนอย่างผลไม้ ถ้าไม่มีเปลือก เนื้อมันจะอยู่ได้อย่างไร จะเป็นมังคุด ทุเรียนอะไรก็ตาม ถ้ามันไม่มีเปลือก ของมัน เนื้อของมันจะอยู่ได้อย่างไร จะสำเร็จประโยชน์ ในการบริโภคของเราได้อย่างไร ทั้งที่เราต้องการบริโภคเนื้อ เปลือกของมัน ก็ต้องมี หรือว่า การที่ผลไม้มันจะออกมาจากต้น มีดอกแล้ว จะเป็นลูก มันยังต้อง เอาเปลือกออกก่อน เพื่อให้เนื้อ อาศัยอยู่ในเปลือก แล้วเจริญขึ้น ถ้าไม่มีเปลือก ส่งเนื้อ ออกมาก่อน มันก็เป็นต้นไม้ ที่โง่อย่างยิ่ง คือ มันจะเป็นผลไม้ขึ้นมาไม่ได้ เพราะเยื่อนั้น จะต้องเป็นอันตราย ไปด้วย แสงแดด ด้วยลม ด้วยอะไรต่างๆ หรือ มดแมลง อะไรก็ตาม ฉะนั้น มันต้องมีเปลือก ที่แน่นหนา เกิดขึ้นก่อน เนื้อเจริญขึ้น ในนั้น ก็เป็นผลไม้ ที่เติบโต แก่ สุก บริโภคได้ นั่นคือ คุณค่าของเปลือก มองดูอีกแง่หนึ่ง มันก็ยิ่งกว่าเนื้อ มันมีค่า มากกว่า เนื้อก็ได้ เพราะ มันทำให้ เนื้อ เกิดขึ้นได้ สำเร็จประโยชน์ แต่เราก็ ไม่มีใคร กินเปลือก เพราะ ต้องการจะ กินเนื้อ ฉะนั้น เราจะต้องจัด เปลือก และ เนื้อให้ กลมกลืน กันไป

นิทานอิสป หรือ นิทานอะไรก็ตาม ตัวนิทาน มันเหมือนกันกับ เปลือก ที่จะรักษา เนื้อใน ไว้ ให้คงอยู่ มาจนถึงบัดนี้ได้ ถ้าไม่ใส่ไว้ ในนิทานแล้ว ความคิดอันลึกล้ำ ของอิสป อาจจะไม่มาถึงเรา มันสูญเสีย ก่อนนานแล้ว และ จะไม่มีใคร สามารถ รับช่วงความคิด นั้นมาถึงเรา เพราะว่า เขาไม่มี การขีด การเขียน ในสมัยนั้น หรือว่า เอาตัวอย่างกัน เดี๋ยวนี้ว่า ชนชาติเอสกิโม ทางแลปแลนด์ ทางขั้วโลกเหนือนั้น ก็ยังมีวัฒนธรรม หรืออะไรของเขา เล่าต่อกันมา เป็นพันๆปี ยังพูด ยังเล่า ยังสอนกันอยู่ ชนพวกนี้ ไม่มีหนังสือเลย เดี๋ยวนี้ก็ยัง ไม่มีหนังสือ พวกเอสกิโม อยู่ใน "อิกลู" หรือ กระท่อม ที่ทำขึ้นด้วย แท่งน้ำแข็ง แต่พอถึง เย็นค่ำลง ก็จุดตะเกียง เข้าใน กระท่อม แล้วคนที่แก่ ชั้นปู่ ก็นั่งลง เล่าสิ่งต่างๆ ที่ได้ยิน มาจาก บิดา จากปู่ จากทวด เด็กเล็กๆ ก็มา นั่งล้อม และ ฟัง ไม่ใช่ฟังเฉยๆ จำด้วย ทำอย่างนี้ไป เรื่อยทุกวันๆ จนเด็กเหล่านี้ โตขึ้น เป็นผู้ใหญ่ เป็นบิดา เป็นปู่ ก็ยังเล่าต่อไปอีก ฉะนั้น จึงสืบสิ่งต่างๆ ไปได้เป็นพันๆ ปี แล้วก็อยู่ใน "เปลือก" คือนิทานทั้งนั้น เขาจะต้อง เล่าเป็นนิทาน อย่างนั้น ชื่อนั้น ที่นั่น อย่างนั้นๆ ทั้งนั้น นั่นแหละ คือ อานิสงฆ์ ของเปลือก.

Wednesday, December 17, 2008

นิทานเซ็น เล่าโดย .. ท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่อง ช่างไม่เมตตาเสียเลย

เรื่องที่ ๖ เขาให้ชื่อเรื่องว่า "ช่างไม่เมตตาเสียเลย" อาตมา แปลออกมา ตามตัว ว่า "ช่างไม่เมตตาเสียเลย" เขาเล่าว่า ในประเทศจีน ในสมัยที่ นิกายเซ็น กำลังรุ่งเรืองมาก อีกเหมือนกัน ใครๆ ก็นิยมนับถือภิกษุ ในนิกายเซ็นนี้ มียายแก่ คนหนึ่ง เป็นอุปัฎฐาก ของภิกษุองค์หนึ่ง ซึ่งปฏิบัติเซ็น ด้วยความศรัทธา อย่างยิ่ง มาเป็นเวลาถึง ยี่สิบปี; แกได้ สร้างกุฏิน้อยๆ ที่เหมาะสม อย่างยิ่งให้ และส่งอาหารทุกวัน นับว่า พระภิกษุองค์นี้ ไม่ลำบาก ในการจะปฏิบัติ สมาธิภาวนาอะไรเลย แต่ในที่สุด ล่วงมาถึง ๒๐ ปี ยายแก่ เกิดความสงสัย ขึ้นมาว่า พระรูปนี้ จะได้อะไร เป็นผลสำเร็จ ของการปฏิบัติ บ้างไหม ที่มัน จะคุ้มกันกับ ข้าวปลาอาหาร ของเรา ที่ส่งเสียมาถึง ๒๐ ปี

เพื่อให้รู้ความจริงข้อนี้ แกก็คิดหาหนทาง ในที่สุด พบหนทางของแก คือ แกขอร้อง หญิงสาวคนหนึ่ง ที่มีหน้าตาท่าทางอะไรๆ ยั่วยวน ไปหมด ให้ไปหา พระองค์นั้น โดยบอกว่า ให้ไปที่นั่น แล้วไปกอด พระองค์นั้น แล้วถามว่า เดี๋ยวนี้ เป็นอย่างไรบ้าง ผู้หญิงคนนั้น ก็ทำอย่างนั้น พระองค์นั้นตอบ ด้วยถ้อยคำเป็น กาพย์กลอน poetically; ซึ่งค่อนข้างเป็น คำประพันธ์ ตามธรรมดา ของบุคคลบางคน ที่มีนิสัย ทางคำประพันธ์ ตรงนี้เขาเขียน เป็นคำประพันธ์ ซึ่งแปลเป็น ตัวหนังสือ ก็จะเท่ากับว่า

"ต้นไม้แก่ ใบโกร๋น บนยอดผา ฤดูหนาวทั้งคราวลม ระดมมา อย่ามัวหาไออุ่น แม่คุณเอย" ว่าอย่างนี้ เท่านั้น แล้วไม่ว่าอะไรอีก ไม่มีอะไร ที่จะพูดกันรู้เรื่องอีก

หญิงสาว คนนั้น ก็กลับมาบอก ยายแก่ อย่างที่ว่านั้น ยายแก่ก็ขึ้นเสียง ตะบึงขึ้นมาว่า คิดดูทีซิ ฉันเลี้ยงไอ้หมอนี่ that fellow ซึ่งตรงกับ ภาษาไทยว่า อ้ายหมอนั่น มาตั้ง ๒๐ ปีเต็มๆ มันไม่มีอะไรเลย แม้จะเพียง แสดงความเมตตา ออกมาสักนิดหนึ่ง ก็ไม่มี ถึงแม้จะไม่สนอง ความต้องการ ทางกิเลส ของเขา ก็ควรจะ เอ่ยปาก เป็นการแสดง ความเมตตา กรุณา หรือ ขอบคุณ บ้าง นี่มันแสดงว่า เขาไม่มี คุณธรรม อะไรเลย ฉะนั้น ยายแก่ ก็ไปที่นั่น เอาไฟเผา กุฎิ นั้นเสีย และ ไม่ส่งอาหาร ต่อไป แล้วนิทานของเขาก็จบ

นิทานนี้ สอนว่าอย่างไร จะเห็นว่าอย่างไร ก็ลองคิดดู คนบางคน เขาย่อมต้องการอะไร อย่างที่ตรงกันข้าม กับที่เราจะนึก จะฝันก็เป็นได้ นี่จงดูสติปัญญา ของคนแก่ ซิ แกมี แบบแห่งความ ยึดมั่น ถือมั่น ของแกเอง เป็นแบบหนึ่ง ยิ่งแก่ ยิ่งหนังเหนียว คือ หมายความว่า มันยิ่ง ยึดมั่นถือมั่นมาก ฉะนั้น ถ้าเราจะไปโกรธ คนที่มีความคิด อย่างอื่น มีหลักเกณฑ์ อย่างอื่น มีความเคยชิน เป็นนิสัย อย่างอื่น นั้นไม่ได้ เราต้องให้อภัย เราไม่โกรธใครเร็วเกินไป หรือเราไม่โกรธใครเลย นั่นแหละดีที่สุด และจะเป็น ครูบาอาจารย์ ที่มีความสุขที่สุด แล้วจะเป็น ครูบาอาจารย์ ที่ทำหน้าที่ ได้ดีที่สุดด้วย และสนุกที่สุดด้วย ฉะนั้น ขอให้จำไว้ว่า คนเรานั้น มีอะไรที่ ไม่เหมือนกัน มีอะไรที่ ไม่นึกไม่ฝัน กันมาก ถึงอย่างนี้

Tuesday, December 16, 2008

นิทานเซ็น เล่าโดย .. ท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่อง ความเชื่อฟัง

นิทานเรื่องที่สี่ เรียกว่า เรื่อง "ความเชื่อฟัง" ธฺยานาจารย์ ชื่อ เบ็งกะอี เป็นผู้มีชื่อเสียง ในการเทศนาธรรม คนที่มาฟังท่านนั้น ไม่ใช่เฉพาะแต่ ในวงของ พวกนิกายเซ็น พวกนิกายอื่น หรือคนสังคมอื่น ก็มาฟังกัน ชนชั้นไหนๆ ก็ยังมาฟัง เพราะว่า ท่านไม่ได้เอา ถ้อยคำในพระคัมภีร์ หรือในหนังสือ หรือ ในพระไตรปิฎก มาพูด แต่ว่าคำพูด ทุกคำนั้น มันหลั่งไหล ออกมาจาก ความรู้สึกในใจ ของท่านเองแท้ๆ ผลมันจึงเกิดว่า คนฟังเข้าใจ หรือชอบใจ แห่กันมาฟัง จนทำให้ วัดอื่น ร่อยหรอ คนฟัง เป็นเหตุให้ ภิกษุรูปหนึ่ง ในนิกาย นิชิเรน โกรธมาก คิดจะทำลายล้าง อาจารย์เบ็กกะอี คนนี้อยู่เสมอ วันหนึ่ง ในขณะที่ท่านองค์นี้ กำลังแสดงธรรม อยู่ในที่ประชุม พระที่เห็นแก่ตัวจัด องค์นั้น ก็มาทีเดียว หยุดยืน อยู่หน้าศาลา แล้วตะโกนว่า เฮ้ย! อาจารย์เซ็น หยุด ประเดี๋ยวก่อน ฟังฉันก่อน ใครก็ตาม ที่เคารพท่าน ท่านจะทำอย่างไร ที่จะทำให้ฉัน เคารพเชื่อฟังท่านได้ เมื่อภิกษุอวดดี องค์นั้น ร้องท้า ไปตั้งแต่ ชายคาริมศาลา ท่านอาจารย์เบ็งกะอี ก็ว่า มาซี ขึ้นมานี่ มายืนข้างๆฉันซี แล้วฉันจะทำให้ดูว่า จะทำอย่างไร พระภิกษุนั้น ก็ก้าว พรวดพราด ขึ้นไป ด้วยความทะนงใจ ฝ่าฝูงคน เข้าไป ยืนหรา อยู่ข้างๆ ท่านอาจารย์เบ็งกะอี ท่านอาจารย์เบ็งกะอี ก็ว่า ยังไม่เหมาะ มายืนข้างซ้าย ดีกว่า พระองค์นั้น ก็ผลุนมาทีเดียว มาอยู่ข้างซ้าย ท่านอาจารย์เบ็งกะอี ก็บอกอีกว่า อ๋อ! ถ้าจะพูดให้ถนัด ต้องอย่างนี้ ต้องข้างขวา ข้างขวา พระองค์นั้น ก็ผลุนมาทางขวา พร้อมกับมีท่าทาง ผยองอย่างยิ่ง พร้อมที่จะท้าทาย อยู่เสมอ ท่านอาจารย์เบ็งกะอีจึงว่า เห็นไหมล่ะ ท่านกำลัง เชื่อฟังฉันอย่างยิ่ง และในฐานะ ที่ท่านเชื่อฟัง อย่างยิ่งแล้ว ฉะนั้น ท่านจงนั่งลง ฟังเทศน์เถิด นี่เรื่องก็จบลง

นิทานอิสปเรื่องนี้ มันสอนว่าอย่างไร เหมือนพระพุทธเจ้า ท่านตรัสว่า นิวาโต เอตมฺมงฺคลมุตตมํ วาโต ก็เหมือนกะ สูบลมอัดเบ่งจนพอง ถ้า นิวาโต ก็คือ ไม่พองไม่ผยอง เป็นมงคลอย่างยิ่ง ข้อนี้ ย่อมแสดงว่า มีวิชาความรู้ อย่างเดียว นั้นไม่พอ ยังต้องการ ไหวพริบ และ ปฏิภาณ อีกส่วนหนึ่ง พระองค์นี้ ก็เก่งกาจ ของ นิกายนิชิเรน ในญี่ปุ่น แต่มาพ่ายแพ้อาจารย์ ที่แทบจะไม่รู้หนังสือ เช่นนี้ ซึ่งพูดอะไร ก็ไม่อาศัยหนังสือ เพราะบางที ก็ไม่รู้หนังสือเลย แพ้อย่างสนิทสนม เพราะขาดอะไร ก็ลองคิดดู พวกฝรั่งก็ยังพูดว่า Be wise in time ฉลาดให้ทันเวลา โดยกระทันทัน ซึ่งบาลีก็มีว่า "ขโณ มา โว อุปจฺจคา" ขณะสำคัญ เพียงนิดหนึ่ง นิดเดียวเท่านั้น อย่าได้ผ่านไปเสียนะ ถ้าผ่านไป จะต้องมีอย่างยิ่ง มิฉะนั้น จะควบคุมเด็ก ไม่อยู่ เราลองคิดดูซิว่า เด็กๆของเรา มีปฏิภาณเท่าไร เราเองมี ปฏิภาณเท่าไร มันจะสู้กัน ได้ไหม ลองเทียบไอคิว ในเรื่องนี้ กันดู ซึ่งเกี่ยวกับ ปฏิภาณนี้ ถ้าครูบาอาจารย์เรา มีไอคิว ในปฏิภาณนี้ ๕ เท่าของเด็กๆ คือ เหนือเด็ก ห้าเท่าตัว ก็ควรจะได้รับเงินเดือน ห้าเท่าตัว ของที่ควรจะได้รับ หรือว่าใครอยากจะเอา สักกี่เท่า ก็เร่งเพิ่มมันขึ้น ให้มีปฏิภาณไหวพริบ จนสามารถ สอนเด็ก ให้เข้าใจ เรื่องกรรม เรื่องอนัตตา เรื่องนิพพาน ได้อย่างไรทีเดียว นี่คือ ข้อที่จะต้อง อาศัยปฏิภาณ ซึ่งวันหลัง ก็คงจะได้พูดกัน ถึงเรื่องนี้บ้าง.

Monday, December 15, 2008

นิทานเซ็น เล่าโดย .. ท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่อง ใกล้พระพุทธเจ้าเข้าไปแล้ว

เรื่องที่ ๘ ชื่อเรื่อง "ใกล้พระพุทธเจ้าเข้าไปแล้ว" นี้ลองฟังให้ดี จะได้รู้ว่า เราใกล้ พระพุทธเจ้า เข้าไปแล้ว หรือไม่ นักศึกษา ในมหาวิทยาลัย แห่งหนึ่ง ได้ไปเยี่ยม ธยานาจารย์ คือ อาจารย์แห่ง นิกายเซ็น แห่งหนึ่ง ชื่อว่า กาซาน เพราะ นิสิตคนนั้น เขาแตกฉาน ในการศึกษา เขาจึงถาม อาจารย์กาซานว่า เคยอ่าน คริสเตียน ไบเบิล ไหม ท่านอาจารย์ กาซาน ซึ่งเป็นพระเถื่อน อย่งพระสมถะ นี้จะเคยอ่าน ไบเบิล ได้อย่างไร จึงตอบว่า เปล่า ช่วยอ่าน ให้ฉันฟังที

นิสิตคนนั้น ก็อ่าานคัมภีร์ไบเบิล ตอน Saint Mathew ไปตามลำดับ จนถึงประโยคที่ว่า ไม่ต้องห่วงอนาคต คือไม่ต้องห่วงวันพรุ่งนี้ วันพรุ่งนี้ มันจะเลี้ยงตัวมันเองได้ แม้แต่ นกกระจอก ก็ไม่อดตาย ทำนองนี้

ท่านอาจารย์ กาซาน ก็บอกว่า ใครที่พูดประโยคนี้ได้ ฉันคิดว่า เป็นผู้รู้แจ้งคนหนึ่งทีเดียว คือเป็น An enlighten one คนหนึ่ง ทีเดียว แต่นิสิตคนนั้น ก็ยังไม่หยุดอ่าน คงอ่านต่อไป มีความว่า "ขอเถิด แล้วจะได้ จงแสวงหาเถิด แล้วจะพบ จงเคาะเข้าเถิด แล้วมันจะเปิดออกมา เพราะว่า ใครก็ตามที่ขอแล้ว จะต้องได้รับ ใครก็ตาม ที่แสวงหา แล้วย่อมได้พบ และใครก็ตาม ที่เคาะเข้าแล้ว ประตูก็จะเปิดออกมา"

พอถึงตอนนี้ อาจารย์ กาซาน ก็ว่า แหม วิเศษที่สุด ใครก็กล่าว อย่างนี้ ก็ใกล้ พระพุทธเจ้า เข้าไปแล้ว นิทานของเขาก็จบ

นิทานเรื่องนี้ จะสอนว่า อย่างไร? หมายความว่า ถ้ารู้ธรรมะจริง จะไม่เห็นว่า มีลัทธิคริสเตียน หรือ พุทธ หรือ อะไรอื่น ในจิตใจ ของผู้รู้ธรรมะ จริง จะไม่รู้สึกว่า มีคริสต์ มีพุทธ มีอิสลาม มีฮินดู มีอะไร เพราะไม่ได้ ฟังชื่อเสียง เหล่านั้น ไม่ต้องเป็น นิกายอะไร ครูบาอาจารย์ สำนักไหน คัมภีร์อะไร อ้างหลักฐานชนิดไหน ไม่มีจิตใจ หรือ ความรู้สึก ที่ค้านหรือ รับฟังถ้อยคำเหล่านั้น จะฟังแต่ เนื้อหา ของธรรมะนั้น และก็ เนื้อหา ของธรรมะสูง ก็รู้ได้ว่า มันเป็นอย่างไร สูง ต่ำ ก็รู้ว่า สูงต่ำ อย่างที่ว่า เคาะเข้าเถิด จะเปิดออกมานี้ มันก็เหมือนอย่งที่เราพูดว่า ถ้าปฏิบัติให้ถูก มันก็จะง่าย ง่ายที่สุด ในการที่จะบรรลุนิพพาน เดี๋ยวนี้ ไปนอนหลับสบายกันเสียหมด ทั้งพระ ทั้งฆราวาส ก็ได้ ไม่มีใครเคาะ ไม่มีใครแสวงหา หรือ ไม่มีใครขวนขวาย นั่นเอง ถ้าฟังกันแต่ เนื้อหาธรรมะ แล้ว มันไม่มีพุทธ ไม่มีคริสเตียน หรือ ไม่มีเซ็น ไม่มีเถรวาท ไม่มีมหายาน อย่างนี้ ไม่มีอาการ ที่จะเป็นเขา เป็นเราเลย จิตมันว่างเสียเรื่อย มันจึงมีเขาฝ่ายหนึ่ง ก็ไม่ได้ มีเราอีกฝ่ายหนึ่ง ก็ไม่ได้ ฉะนั้น ความกระทบกัน ระหว่างเขา กับเรา ไม่อาจจะเกิด ไม่มีทางจะเกิด ไม่มีพื้นฐานจะเกิด เห็นธรรมะ เป็นพระเป็นเจ้า เห็นพระเป็นเจ้า เป็นธรรมะไปเสียเลย เหมือนอย่างว่า พระเป็นเจ้า ของฝ่ายที่ถือศาสนา พระเป็นเจ้านั้น มีการสร้าง มีการทำลาย มีการให้รางวัล มีการทำอะไร ทุกอย่าง ตามหน้าที่ ของพระผู้เป็นเจ้า เราก็มีสิ่งที่ทำหน้าที่อย่างนั้น ครบทุกอย่าง เหมือนกัน แต่เราไปเรียกว่า ธรรม เหมือนกับ ความหมายของ คำว่า ธรรมะ ที่อธิบายแล้ว ในการบรรยายครั้งที่ ๑ นั้น ไม่มีอะไร นอกจาก ธรรมะ แล้วความโง่ ความหลง คือ อวิชชา ต่างหาก ที่ไปสมมติ ให้ว่า เป็นชื่อนั้น ชื่อนี้ อย่างนั้น อย่างนี้ พวกนั้น พวกนี้ จนมีเรา เมีเขา จริยธรรมทั้งหมด ของธรรมชาติ ทั้งหมด นั้น มีเรื่องเดียว แนวเดียว สายเดียว

ขอให้สนใจ ในความจริง ข้อนี้ เถอะว่า จริยธรรม ทั้งหมด ของโลกนี้ หรือ ของโลกอื่นด้วยก็ได้ ย่อมมีแนวเดียว และสายเดียว และตรง เป็นอันเดียวกัน ไม่ต้องพูดกันว่า ของประเทศนั้น ประเทศนี้ ศาสนานั้น ศาสนานี้ ในโลกเดียวกันนี้ ถึงแม้ว่า สิ่งที่เป็น จริยธรรม จะมีหลายรูป หรือ หลายเหลี่ยม ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่วันแรกนั้น ก็ยังเป็น อันเดียว แนวเดียว สายเดียวกัน อยู่นั่นเอง มีแต่ว่า ระบบไหน ใกล้จุดปลายทาง หรือยัง เท่านั้น แต่เรื่อง ต้องเป็น เรื่องเดียวกันหมด ขึ้นชื่อว่า ธรรมะแล้ว ต้องเป็น เรื่องเดียวกันหมด แต่ว่า อันไหน หรือ ที่ใครกล่าวนั้น มันใกล้จุดปลายทาง เข้าไปหรือยัง ฉะนั้น เราอย่าได้รังเกียจ อย่าได้ชิงชัง ว่า คนนั้น คนนี้ เป็นคริสเตียน แล้วก็จะต้องเป็นศัตรู เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ขึ้นมา ทีเดียว ถ้าถืออย่างนี้ ก็แปลว่า ไม่รู้ธรรมะ ยิ่งเป็น ครูบาอาจารย์ ด้วยแล้ว ไม่ควรจะไปรู้สึกทำนองนั้น เป็นอันขาด

Sunday, December 14, 2008

นิทานเซ็น เล่าโดย .. ท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่อง พระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง

นิทานเรื่องที่ ๗ ของเขามีว่า นิทานเรื่องนี้ ชื่อเรื่อง "พระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง" ในนครโตเกียว สมัยศักราชเมจิ มีอาจารย์ที่เก่งๆ อยู่สองคน คนหนึ่ง ชื่อ อันโช เป็นครูบาอาจารย์ ในนิกาย ชินงอน คนนี้ ไม่ดื่มเลย อีกคนหนึ่ง ชื่อ แตนแซน หรือ ตานซาน ก็แล้วแต่จะเรียก เป็น ครูบาอาจารย์ ในมหาวิทยาลัยด้วย ไม่เคยถือศีลเลย จึงดื่มจัด หรือ ละโมบ ในการบริโภค

วันหนึ่ง อาจารย์อันโช ไปเยี่ยม อาจารย์ตานซาน กำลังดื่มอยู่พอดี อาจารย์ตานซาน ก็ถามว่า จะไม่ดื่มบ้าง เทียวหรือ คือกล่าวชักชวน ให้ดื่ม นั่นเอง อันโชก็ บอกว่า ไม่เคยดื่มเลย ตานซานก็ว่า คนที่ไม่เคยดื่ม เลยนั้นน่ะ ไม่ใช่คน ฝ่ายอันโช ก็ฉุนกึก นิ่งเงียบไป ขณะหนึ่ง ในที่สุด พูดขึ้นมาได้ว่า ท่านว่าฉันไม่ใช่คน เพราะเพียงแต่ฉันไม่ดื่ม ถ้าฉันไม่ใช่คนแล้ว ฉันจะเป็นอะไร อาจารย์ตานซาน ก็บอกว่า เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง แล้วนิทานของเขาก็จบ

นี่เราจะฟังเป็นเรื่อง การโต้ตอบ ด้วยโวหาร ก็ได้ แต่ความจริง มันเป็นเรื่อง ที่มุ่งหมาย จะสอน ตามแบบวิธีของเขา ที่ให้คนสำนึกว่า คนนั้น ยังไม่เป็น พระพุทธเจ้า คนหนึ่ง ต่างหาก ที่ว่าเป็น พระพุทธเจ้า คนหนึ่ง ก็เพื่อจะสอนให้รู้ว่า ยังไม่เป็น พระพุทธเจ้า เลยมากกว่า ซึ่งทำให้ อาจารย์ คนนั้น ก็ชงักกึก ไปอีก เหมือนกัน เพราะมันก็รู้ตัวอยู่ว่า เราก็ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า สักที แล้วเราก็ ไม่ใช่เป็นคนแล้ว มันจะเป็นอะไรกัน คนก็ไม่เป็น พระพุทธเจ้าก็ไม่เป็น แล้วเป็นอะไร

ฉะนั้น เราเองก็เหมือนกัน เราเป็นครู ตามอุดมคติ หรือยัง หรือว่า ถ้าไม่เป็นครู มันก็ไม่ใช่ครู ถ้าเป็นครู ก็ต้องเป็นครู และการที่เขาว่า เราไม่ใช่คน เราไม่ควรจะโกรธเลย หรือแม้ว่า ครูจะถูกกล่าวหาว่า อย่างนั้น อย่างนี้ เราก็ไม่โกรธ ถ้าจะพูดถึง พุทธะตามแบบ นิกายเซ็น ก็คือว่า ถ้าเรายังเป็นครู ตามอุดมคติ ไม่ได้ เราก็ยังเป็น พุทธะ ไม่ได้ อยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราจะพยายาม ทำตน ไม่ให้เป็น อะไรเลย ให้มีจิตว่าง ไม่รู้สึกเป็นอะไรเลย ซึ่งหมายความว่า ให้อยู่เหนือ การถูกว่า หรือเขาว่ามา มันก็ไม่ถูก เราเป็นชนิดนั้น กันจะดีไหม คือว่า เราเป็นอะไร อย่างหนึ่ง ซึ่งใครจะว่าอะไร อย่างไรมา มันก็ไม่ถูกเรา มันก็คงไม่มีอะไร นอกจากเราเป็น "ว่างจากตัวเรา" ถ้าเราเป็นอย่างนี้ มันก็จะเป็นอย่างภูเขา ซึ่งลมจะพัดมา กี่ทิศกี่ทาง ก็ไม่สามารถ ทำให้ ภูเขา หวั่นไหวได้

ในบาลี มีคำกล่าวอยู่ ถ้าภูเขาเป็นหินแท่งหนึ่ง ฝังอยู่ในดิน ๑๖ ศอก โผล่อยู่บนดิน ๑๖ ศอก ลมไหนจะพัดให้หวั่นไหวได้ ถ้าเราว่างจาก ความยึดมั่นถือมั่น ว่าเรามีเกียรติ อย่างนั้นอย่างนี้ เราเป็นอะไร อย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อนั้นแหละ เราจะเป็นบุคคล ที่ลมไหน พัดมาก็ไม่ถูก

Saturday, December 13, 2008

นิทานเซ็น เล่าโดย .. ท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่อง อย่างนั้นหรือ

นิทานที่ สาม ชื่อเรื่อง "Is that so?" ท่านลองแปลเอาเองว่า อย่างไรมัน ก็คล้ายๆ กับว่า "อย่างนั้นหรือ?" นิทานที่สามนี้ เล่าว่า ณ สำนักเซ็น ของอาจารย์ เฮ็กกูอิน ซึ่งเป็นวัดที่เลื่องลือมาก เป็นเหมือนกับว่า เป็นที่พึ่งของหมู่บ้าน ที่ร้านชำใกล้ๆ วัดนั้น มีหญิงสาวสวย คนหนึ่ง เป็นลูกเจ้าของร้าน ทีนี้ โดยกะทันหัน ปรากฏว่า มีครรภ์ขึ้นมา พ่อแม่เขา พยายาม ขยั้นขยอ ถาม ลูกสาวก็ไม่บอก แต่เมื่อ ถูกบีบคั้น หนักเข้า ก็ระบุชื่อ ท่านอาจารย์ เฮ็กกูอิน เมื่อหญิงสาวคนนั้น ระบุ อาจารย์เฮ็กกูอิน เป็นบิดาของเด็ก ที่อยู่ในครรภ์ พ่อแม่โกรธ เป็นฟืนเป็นไฟ ไปที่วัด แล้วก็ไปด่า ท่านอาจารย์เฮ็กกูอิน ด้วยสำนวนโวหาร ของคนที่โกรธที่สุด ที่จะด่าได้อย่างไร ท่านอาจารย์ไม่มีอะไรจะพูด นอกจากว่า "Is that so?" คือ ว่า "อย่างนั้นหรือ" สองคนด่าจนเหนื่อย ไม่มีเสียงจะด่า ไม่มีแรงจะด่า ก็กลับไปบ้านเอง ทีนี้ พวกชาวบ้าน ที่เคยเคารพนับถือ ก็พากันไปด่า ว่าเสียที ที่เคยนับถือ อย่างนั้น อย่างนี้ ท่านก็ไม่มีประโยคอะไรที่จะพูด นอกจากว่า "Is that so?" พวกเด็กๆ ก็ยังพากันไปด่าว่า พระบ้า พระอะไร สุดแท้แต่ ที่จะด่าได้ ตามภาษาเด็ก ท่านก็ว่า "Is that so?" ไม่มีอะไรมากกว่านั้น

ต่อมา เด็กคลอดออกมาจากครรภ์ บิดามารดาที่เป็นตายาย ของเด็ก ก็เอาเด็กไปทิ้งไว้ให้ ท่านอาจารย์ เฮ็กกูอิน ในฐานะเป็นการประชด หรือ อะไรก็สุดแท้ ว่า "แกต้องเลี้ยงเด็กคนนี้" ท่านอาจารย์ เฮ็กกูอิน ก็มีแต่ "Is that so?" ตามเคย ท่านรับเด็กไว้ และต้องหานม หาอาหาร ของเด็กอ่อนนั้น จากบุคคลบางคน ที่ยังเห็นอก เห็นใจ ท่านอาจารย์ เฮ็กกูอิน อยู่ พอเลี้ยงเด็กนั้น ให้รอดชีวิต เติบโตอยู่ได้ ทีนี้ ต่อมานานเข้า หญิงคนที่เป็นมารดา ของเด็ก เหลือที่จะทนได้ มันเหมือนกับไฟนรก เข้าไปสุมอยู่ในใจ เพราะเขาไม่ได้พูดความจริง ฉะนั้น วันหนึ่ง เขาจึงไปสารภาพ บอกกับบิดามารดาของเขาว่า บิดาที่แท้จริง ของเด็กนั้น คือ เจ้าหนุ่มร้านขายปลา ทีนี้ บิดามารดา ตายายคู่นั้น ก็มีจิตใจ เหมือนกับ นรกเผาอยู่ข้างใน อีกครั้งหนึ่ง รีบวิ่งไปที่วัด ไปขอโทษ ขอโพย ต่ออาจารย์เฮ็กกูอิน ขอแล้ว ขอเล่าๆ เท่าที่จะรู้สึกว่า เขามีความผิด มากอย่างไร ก็ขอกัน มากมาย อย่างนั้น ท่านก็ไม่มีอะไร นอกจาก Is that so? แล้วก็ขอ หลานคนนั้น คืนไป ต่อมา พวกชาวบ้าน ที่เคยไปด่า ท่านอาจารย์ ก็แห่กันไป ขอโทษอีก เพราะความจริง ปรากฏขึ้น เช่นนี้ ขอกันใหญ่ ไม่รู้กี่สิบคน ขอกันนานเท่าไร ท่านก็ไม่มีอะไรจะพูด นอกจาก Is that so? อีกนั่นเอง เรื่องของเขาก็จบเท่านี้

นิทานเรื่องนี้ จะสอนว่าอย่างไร เราถือว่า นิทานชุดนี้ ก็เหมือนกับ นิทานอิสป ในทางวิญญาณ ในทาง Spiritual point of view นิทานเรื่องนี้ สอนว่าอย่างไร นั้นหรือ มันก็เหมือนกับ ที่พระพุทธเจ้า ตรัสว่า "นตฺถิ โลเก รโห นาม" และ "นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต" "การไม่ถูนินทา ไม่มีในโลก" หรืออะไรทำนองนี้ แต่ท่านทั้งหลาย ลองเปรียบเทียบ ดูทีหรือว่า ถ้าพวกครูบาอาจารย์ ของเราทั้งหลาย เป็นผู้ถูกกระทำ อย่างท่านอาจารย์เฮ็กกูอิน ท่านจะเป็นอย่างนี้ได้ไหม คือจะ Is that so? คำเดียว อยู่ได้ไหม ถ้าได้ เรื่องนี้ ก็คงจะไม่เป็น อย่างที่กำลังเป็นอยู่ คือ คงจะไม่ถูกฟ้องว่า ตีเด็กเกินควร หรือ อะไรทำนองนั้น ต้องไปถึงศาลก็มี อาตมาเคยเห็น ครูที่บ้านนอก ต้องไปพูด กันถึงโรงถึงศาลก็มี เพราะตีเด็กเกินควร เป็นต้น นี่คือ มันหวั่นไหว ต่ออารมณ์มากเกินไป จนกระทั่ง เด็กเล็กๆ ก็ทำให้โกรธได้ ที่เรื่องนิดเดียว ก็ยังโกรธได้นี่ เพราะว่า ไม่ยึดถือความจริง เป็นหลักอยู่ในใจ มันจึงไหวไปตามอารมณ์ โกรธมาก กลัวมาก เกลียดมาก ล้วนแต่เป็นอารมณ์ร้ายไปเสียทั้งนั้น ทำไมไม่คิดว่า มันไม่ใช่ เรื่องราวอะไรมากมาย มันไม่ใช่ เป็นไปตามเสียงส่วนมาก ที่ยืนยันว่า อันนั้น ต้องเป็นอันนั้นจริง ความจริง มันต้องเป็นความจริง ถ้าจะมีอุเบกขา ก็ควรจะมีอุเบกขาอย่างนี้ ไม่ใช่ อุเบกขาผิดอย่างอื่น ฉะนั้น เราควรจะฟังของเขาไว้

Friday, December 12, 2008

ไฟไหนจะร้อนเท่าไฟนรก

โดย
สุทัสสา อ่อนค้อม
HF001

       เสียงร้องด้วยความเจ็บปวดของหมู ยามที่มันถูกมีดปลายแหลมแทงคอนั้น ช่างบาดลึกเข้าไปในจิตใจของอาตงทุกครั้งที่ได้ยิน เด็กชายวัยสิบสามไม่เข้าใจเลยว่า เหตุใดบิดาจึงมายึดอาชีพที่แสนจะทารุณโหดร้ายเช่นนี้ แม้จะได้ยินมาตั้งแต่เกิด เพราะตาแป๊ะเตี๋ยวยึดอาชีพขายหมูชนิดเลี้ยงเองฆ่าเองเสร็จ หากเขาก็หดหู่หม่นหมองใจทุกครั้งที่ได้ยินเสียงมันร้องเหมือนจะข้อให้ไว้ชีวิต เด็กชายเคยฟังพวกผู้ใหญ่เขาพูดกันว่า คนที่ฆ่าสัตว์เมื่อตายไปจะต้องตกนรก เขาไม่อยากให้ผู้บังเกิดเกล้าตกนรก เพราะเคยเห็นภาพของนรกที่มีผู้วาดไว้ตามผนังโบสถ์มาแล้ว มันช่างน่าเกลียดน่ากลัวเสียเหลือเกิน
       นับแต่มารดาจากโลกนี้ไปตั้งแต่ปี ๒๔๖๐ เขาก็เหลือบิดาเพียงผู้เดียว ไม่มีญาติพี่น้องที่ไหนอีก เนื่องจากผู้บังเกิดเกล้าทั้งสองพากันอพยพมาจากเมืองจีน ตั้งแต่เขายังไม่เกิด จำได้ว่าตอนนั้นเขาร้องไห้มากที่สุดในชีวิต บิดาของเขาก็โศกเศร้าอยู่นานกว่าจะทำใจได้ สามปีแล้วสินะที่มารดาจากเขาและบิดาไป ก็พวกผู้ใหญ่อีกนั่นแหละที่พูดเข้าหูเขาบ่อย ๆ ว่าที่มารดาเขาอายุสั้นก็เพราะบิดาของเขาชอบฆ่าสัตว์ ถ้าเรื่องที่พวกเขาพูดมานั้นเป็นความจริง ป่านฉะนี้มารดาก็คงถูกลงโทษอย่างสาหัสสากรรจ์อยู่ในนรก ช่างน่าสงสารมารดานัก เด็กชายวัยสิบสามออกสับสนว่า ก็ในเมื่อบิดาเป็นคนทำ แล้วใยกรรมจึงไปตกที่มารดา คนเราทำกรรมแทนกันได้กระนั้นหรือ อาตงเคยขอร้องไห้ตาแป๊ะเตี๋ยวเลิกอาชีพนี้ แต่กลับถูกตะคอกเอาว่า “ลื้อมังลูกนอกคอก สองให้ก็ไม่เอาว่าฆ่าหมูนั้งลีทำให้ลวยเล็ว อีกหน่อยลื้อต้องมาฝึกกะเตี่ย โตขึ้งจะล่ายยึกอาชีกนี้เลี้ยงตัว” บิดาของอาตงบอกอย่างนี้
       “แต่มันบาปนะเตี่ย” เด็กชายท้วง
       “บากเบิกชิกหายอาลาย อั๊วะเลี้ยงลื้อมาจงโตป่างนี้ไม่ใช่เพาะขายหมูเลอะ” ยามใดที่ตาแป๊ะใช้คำว่า “อั๊วะ” กับลูกแสดงว่าแกกำลังโกรธ
       “เห็นเขาพูดกันว่า คนที่ฆ่าสัตว์เมื่อตายไปต้องตกนรกนะเตี่ย” ลูกชายบอกกล่าว
       “แล้วลื้อไปเชื่อมังทำมายฮึอาตง เชื่อทำมาย ไอ้ชิกหายพวกนั้งมังอิกฉาอั๊วะ มังเห็งอั๊วะลวยกว่ามังน่ะ” ตาแป๊ะเตี๋ยวคิดไปอีกอย่าง
       “ก็ไหน ๆ เตี่ยรวยแล้วก็น่าจะเลิกได้ หันไปขายผักขายหญ้าดีกว่าจะได้ไม่ต้องทำบาปทำกรรม เชื่อข้าเถอะ” อาตงพยายามเกลี้ยกล่อมผู้เป็นพ่อ
       “เลื่องอาลายอั๊วะจาเลิก ก็อั๊วะทำมาตั้งแต่ลื้อยังไม่เกิกตั้งแต่มาจากเมืองจิง เลี้ยวมังก็ลวงขึ้ง ๆ ว่าแต่ลื้อเถอะ ต่อไปนี้ต้องมาฝึกงางกะเตี่ย” แกออกคำสั่ง
       “ไม่เอาหรอกเตี่ย ข้ากลัวตกนรก” เด็กชายรีบปฏิเสธ
       “นาลกนาแล้กอาลายโง่ตายห่า อ้ายพวกเชื่อนาลกมังพวกขี้เกียก คงเลาเกิกมาเลี้ยวก็ตาย ตายเลี้ยวก็เลี้ยวกัง นาลกซาหวังมีที่ไหน เลื่องโกหกทั้งน้าง อีเอาไว้หลอกคงโง่ต่างหาก” ตาแป๊ะเตี๋ยวพูดไปตามความเชื่อของตน แกไม่เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ ตรงข้ามกับลูกชายซึ่งแอบไปคุยกับหลวงตาที่วัดบ่อย ๆ จนเกิดศรัทธาปสาทะอยากจะบวชเป็นเณร จะได้ไม่ต้องมาฆ่าหมูขายอย่างบิดา
       “เตี่ย ข้าขออะไรเตี่ยอย่างนึ่งได้ไหม” เด็กชายทำท่าประจบด้วยการเข้ามาโอบเอวบิดา ตาแป๊ะอารมณ์ดีขึ้น ตอบลูกไปว่า “ขออาลาย ลื้ออยากล่ายอาลายเตี่ยจาให้หมกทุกอย่าง แต่ลื้อต้องมาฝึกงางกะเตี่ย” แกตั้งเงื่อนไข
       “แต่สิ่งที่ข้าขอเตี่ยนั้น หากเตี่ยให้ ข้าก็มาฝึกงานกับเตี่ยไม่ได้” ลูกชายชี้แจง
       “ลื้อจะขออาลาย” ตาแป๊ะเตี๋ยวออกสงสัย อาตงรวบรวมความกล้าแล้วตอบว่า
       “ขอบวชเณร นะเตี่ยนะ ข้าอยากบวชเณร อยากบวชมานานแล้ว”
       “หา! เลื้อว่าอาลายนะ” บิดาถามเสียงดัง
       “ข้าอยากบวชเณร” ลูกชายตอบเสียงดังไม่แพ้กัน
       “บวกเนง” ตาแป๊ะเตี๋ยวทำตาโต คำพูดของลูกชายทำให้แกตระหนก
       “ลื้อจาบวกทำชิกหายอาลาย นี่ลื้อเป็งบ้าไปเลี้ยวเหลอ” พูดอย่างฉุนเฉียว
       “ข้าไม่ได้เป็นบ้า ข้าพูดจริง ๆ ให้ข้าบวชเณรเถอะนะเตี่ยนะ” อาตงวิงวอน
       “อั๊วะไม่ให้บวก ข้าวบ้างเลามีกิง เลื่องอาลายจาไปเที่ยวขอข้าคงอื่งกิง” แกพูดโกรธ ๆ รู้สึกผิดหวังในลูกชายคนเดียวมาก ท่าทางอาตงคงจะเอาดีไม่ได้เสียแล้ว มีอย่างที่ไหน แทนที่จะยึดอาชีพดี ๆ อย่างที่แกทำอยู่ กลับจะไปบวชเณร ข้างฝ่ายลูกชายก็รู้สึกผิดหวังในบิดาเช่นกัน บิดาไม่เคยรับฟังความคิดเห็นของเขา ไม่เคยเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ ตัวเขาเคยหนีไปคุยกับหลวงตาที่ วัดพุทธาราม บ่อย ๆ เคยชวนแกไปด้วยหากก็ได้รับการปฏิเสธไปเสียทุกครั้งด้วยเหตุผลที่ว่า “เสียเวลาทำมาหากิน” และที่เขาไม่ชอบบิดาอีกอย่างหนึ่งก็คือ แกด่าเก่ง พูดคำด่าคำ มาแต่ไหนแต่ไร โดยเฉพาะคำว่า “ฉิบหาย” นั้น แทบจะติดปากเลยทีเดียว
       ตอนสายวันนั้น เด็กชายตงถือโอกาสตอนบิดาไปขายหมู แอบไปหาหลวงตาที่วัดพุทธารามด้วยดวงหน้าเศร้าสร้อย เด็กชายคลานเข้าไปหาท่านแล้วกราบเบญจางคประดิษฐ์อย่างที่ครูเคยสอน
       “หลวงตาครับ ผมพูดกับเตี่ยเรื่องบวชเณรแล้ว แต่แกไม่อนุญาตครับ” อาตงรายงาน ขณะพูดมือทั้งสองยังคงอยู่ในท่าประนมอันแสดงถึงความเคารพนบนอบต่อภิกษุอาวุโส
       “ไม่อนุญาตก็บวชไม่ได้” ท่านกล่าวเสียงเรียบ เด็กชายจึงต่อรองว่า “หลวงตาบวชให้ผมก่อนแล้วค่อยไปขออนุญาตทีหลังจะได้ไหมครับ”
         “ไม่ได้หรอกอาตงเอ๊ย มันผิดวินัย ผู้จะบวชต้องได้รับความเห็นชอบจากพ่อแม่ผู้ปกครองเสียก่อน ไม่งั้นบวชไม่ได้” ท่านอธิบาย เด็กชายตงครุ่นคิดอยู่ประเดี๋ยวหนึ่งก็ถามอีกว่า “ถ้าขออนุญาตแม่คนเดียวจะได้ไหมครับ”
       “คงได้มั้ง” ท่านผ่อนผัน ครั้นนึกได้ว่าเด็กชายเป็นกำพร้าจึงพูดขึ้นว่า “ก็แม่ของเจ้าเขาตายไปตั้งนานแล้วไม่ใช่หรือ”
       “ผมจะบอกดวงวิญญาณของแกนะครับ จะไปจุดธูปบอกที่ฮวงซุ้ย” อาตงออกอุบาย ภิกษุสูงวัยซึ่งมีตำแหน่งเป็นสมภารวัด นึกชมในความเป็นคนเจ้าความคิดของเด็กอายุสิบสาม จึงตอบว่า
       “ตามใจเจ้าก็แล้วกัน จะเอายังงั้นก็ได้” ท่านมองอาตงอย่างถูกชะตา ดูหน่วยก้านแล้วเด็กคนนี้มีทีท่าว่าจะเหมาะสมกับเพศบรรพชิต บางทีอาจจะทำให้กรรมของผู้ที่เป็นพ่อทุเลาเบาคลายลงได้บ้าง นับเป็นวาสนาของตาแป๊ะเตี๋ยว ซึ่งแม้แกจะเป็นมิจฉาทิฐิ หากก็มีลูกเป็นสัมมาทิฐิ
       “เตี่ยของเจ้าคงไม่มาอาละวาดเอากะข้านา” ท่านพูดไปอย่างนั้นเอง รู้ว่าตาแป๊ะจะไม่ทำอย่างนั้น เด็กชายตงก็รับรองว่า “เตี่ยไม่ทำอย่างนั้นแน่ครับ ผมรู้” เขารู้ว่าบิดาเกลียดพระ เกลียดแบบจงเกลียดจงชังโดยที่เจ้าตัวก็ไม่รู้สาเหตุว่าทำไมต้องเป็นเช่นนั้น บิดาเคยปรารภกับเขาบ่อย ๆ ว่า
       “เตี่ยไม่อยากเห็งพะเลยอาตง เห็งเลี้ยวมังคื่งไส้อยากจะอ้วก ทำมายคงอื่งมังไม่เป็งอย่างเตี่ยก็ไม่ลู้” อาตงเคยเอาไปเล่าให้เพื่อนบ้านฟัง เขาก็พูดให้อาตงไม่สบายใจว่า ที่เตี่ยเป็นเช่นนั้น เพราะเป็นบาปหนาสาหัสมาก อยากจะถามหลวงตาอยู่เหมือนกัน แต่ก็เกรงว่าจะได้รับคำตอบที่ทำให้ไม่สบายใจอีก สู้ไม่ถามเสียยังดีกว่า อาตงเองก็ไม่รู้ว่าเพราะบิดาเกลียดพระจึงทำให้บิดาคลื่นไส้เมื่อเห็นพระ หรือว่าคลื่นไส้เมื่อเห็นพระจึงทำให้บิดาเกลียดพระ มันอะไรกันแน่ ยิ่งคิดก็ยิ่งงง เหมือนจะรู้ว่าเด็กชายกำลังคิดอะไรอยู่ ภิกษุสูงวัยจึงเอ่ยขึ้นว่า “เตี่ยของเจ้าน่ะกรรมหนัก ไม่งั้นก็คงไม่ถึงกับเกลียดพระเกลียดเจ้าหรอก แต่ก็ยังโชคดีที่ได้ลูกมีปัญญาอย่างเจ้า จำคำของข้าไว้นะอาตง บวชแล้วก็ขอให้ทำกรรมฐานให้เคร่งครัด แล้วจะช่วยเตี่ยของเจ้าได้บ้าง ไม่มากก็น้อย”
       “ถ้าอย่างนั้น ผมจะไปจุดธูปบอกแม่แล้วหลวงตา บวชให้ผมเลยนะครับ” เด็กชายพูดอย่างปลาบปลื้ม บวชเสียวันนี้จะได้ไม่ต้องฟังเสียงหมูร้องให้ใจหม่นหมองอีก
       “อย่าเพิ่งบวชวันนี้เลย ทางที่ดีเจ้ากลับบ้านไปก่อน พรุ่งนี้เช้าค่อยมา อย่าลืมเขียนหนังสือบอกเตี่ยเจ้าไว้เสียด้วย แกจะได้ไม่ห่วงว่าเจ้าหายไปไหน” ท่านสมภารแนะ
       “เตี่ยอ่านหนังสือไม่ออกหรอกครับ แต่ไม่เป็นไรเดี๋ยวแกก็คงเอาไปให้เพื่อนบ้านอ่านให้ฟัง ขอบพระคุณหลวงตามากครับที่กรุณา” เขาก้มลงกราบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้ง แล้วคลานถอยหลังออกมา เมื่อได้ระยะห่างพอสมควรจึงลุกขึ้นเดินลงบันไดกุฏิมุ่งหน้ากลับบ้าน
 

       อาตงรู้สึกใจหายที่จะต้องทิ้งตาแป๊ะเตี๋ยวผู้เป็นพ่อให้อยู่เพียงลำพัง รู้ว่าแกจะต้องเปล่าเปลี่ยวเดียวดายหากไม่มีเขา ถึงอย่างไร บิดาก็รักเขามาก เขาเองก็รักบิดามากไม่แพ้กัน ไม่อยากทิ้งแกไป แต่ก็นั่นแหละ วันหนึ่งบิดาคงบังคับให้เขาฆ่าหมูแล้วก็คงพากันตกนรกตามมารดาไป เด็กชายมีความเชื่อมั่นว่า การบวชของตนจะช่วยให้ผู้เป็นพ่อพ้นจากนรก มิฉะนั้นท่านสมภารคงไม่พูดว่าเขาจะช่วยบิดาได้ คืนนั้นเด็กชายตงนอนกระสับกระส่าย ไม่อาจข่มตาให้หลับลงได้ พรุ่งนี้แล้วสินะที่เขาจะต้องจากบิดาไปอยู่วัด
       ตาแป๊ะนอนกรนเสียงดังเช่นทุกคืน แกคงไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะต้องถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว “ไม่มีทั้งอาอี๊และอาตง” แกคงจะเหงามาก น่าสงสารเหลือเกิน คิดมาถึงตอนนี้น้ำตาเด็กชายไหลรินลงมาอาบแก้ม ลุกขึ้นจากที่นอน ค่อย ๆ คลานไปที่ปลายเท้าของบิดาแล้วก้มลงกราบขอขมาลาโทษ อีกไม่กี่ชั่วโมงก็จะถึงเวลาที่บิดาตื่นขึ้นมาฆ่าหมู เพราะทำเช่นนี้ทุกวันเป็นกิจวัตร ครั้งนี้คงเป็นครั้งสุดท้ายที่เขาจะได้ยินเสียงร้องอย่างน่าเวทนาของเจ้าหมูเคราะห์ร้ายเหล่านั้น
      เวลาตีสองเศษ ๆ ตาแป๊ะเตี๋ยวตื่นขึ้นมาปฏิบัติภารกิจประจำวันของแก ลำดับแรกคือการจุดตะเกียงเจ้าพายุซึ่งจะส่องแสงสว่างไสวไปทั่วบริเวณเล้าหมู วันนี้จิตใจแกไม่สดชื่นแจ่มใสเอาเสียเลย มันวาบ ๆ หวิว ๆ เหมือนชีวิตขาดอะไรไปสักอย่าง ความรู้สึกเช่นนี้เคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่งก่อนหน้าที่เมียรักของแกจะจากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันกลับ หรือว่า ... อาตงกำลังจะจากแกไปอีกคน เป็นไปไม่ได้ อาตงร่างกายแข็งแรงออกอย่างนั้น คงไม่เจ็บไข้ได้ป่วยถึงกับเสียชีวิตเป็นแน่ “เป็งปายม่ายล่าย เป็งปายม่ายล่าย” ชายวัยห้าสิบเศษปลอบตัวเองพลางสะดัดศีรษะอย่างแรงเหมือนจะไล่ความคิดร้าย ๆ ออกไป แกรีบจุดไฟในเตาด้วยฟืนที่อาตงหาเตรียมไว้ให้ จากนั้นจึงเอากระทำใบใหญ่ตั้งบนเตา ตักน้ำใส่ลงไปจนเกือบถึงขอบ น้ำจะเดือดทันเวลากับที่แกแทงคอหมูเสร็จ นำมันลงไปลวกทั้งตัวก่อนลงมือชำแหละเจ้าหมูเคราะห์ร้ายตัวนั้น ถูกแกจับมัดขาทั้งสี่ข้างอย่างแน่นหนา แล้วจึงใช้มีดปลายแหลมแทงที่คอให้ทะลุไปถึงขั้วหัวใจ มิฉะนั้นมันไม่ยอมตายง่าย ๆ เลย เสียงร้องโหยหวนของมันนอกจากจะไม่สามารถเรียกความสงสารจากแกได้แล้ว ยังทำให้แกรำคาญอีกด้วย บิดาของเด็กชายตงไม่เคยเกิดความรู้สึกร่วมในความเจ็บปวดของเจ้าหมูตัวใดทั้งสิ้น
       ชำแหละหมูเสร็จ ตาแป๊ะเตี๋ยวจึงนำมันมาจัดเรียงไว้ในเข่งเตี้ย มีใบบัวรองที่ก้นเข่ง แยกส่วนที่เป็นเนื้อ มัน กระดูก และเครื่องในไม่ให้ปะปนกัน จากนั้นจึงล้างหน้าใส่เสื้อเตรียมออกไปขาย อาตงลูกชายคนเดียวของแกลุกขึ้นหุงหาอาหารเช่นทุกวัน ดูเหมือนว่าวันนี้จะลุกเช้ากว่าปกติ ไม่รู้ว่าเกิดขยันอะไรขึ้นมา อีกหน่อยแกจะให้อาตงลุกขึ้นมาช่วยชำแหละหมูแล้วจึงค่อย ๆ สอนวิธีแทงให้ ถึงตอนแกแก่ทำไม่ไหวจะได้มีคนทำแทน
       ใกล้เที่ยง ตาแป๊ะเตี๋ยวก็หาบเข่งซึ่งมีเพียงตาชั่งคันยาวกับมีดและเขียงกลับมา ส่วนหมูนั้นขายหมดไม่มีเหลือ
       บ้านดูเงียบเหงาวังเวงผิดปกติ “หลืออาตงอีหลับ ก็ไม่เคยนองกางวังนี่นา หลือว่าอีไม่ซำบาย” แกคิดไปร้อยแปด เพื่อความแน่ใจแกจึงตะโกนเข้าไปในบ้าน “อาตง อาตง เตี่ยกลับมาเลี้ยว” ไม่มีเสียงตอบออกมาจากข้างใน แกตะโกนเรียกซ้ำ ๆ กันอีกสองสามครั้งแล้วจึงผลักประตูบานหนาเข้าไป ภายในบ้านว่างเปล่า ไม่มีวี่แววว่าอาตงจะอยู่ในนั้น บนโต๊ะกินข้าวมีกระดาษวางอยู่แผ่นหนึ่ง แกเดินไปใกล้ ๆ ก็จำได้ว่าเป็นลายมือของลูกชายเขียนไว้ด้วยตัวหนังสือภาษาไทย พอจะเดาออกว่าได้เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น คว้ากระดาษแผ่นนั้น ได้ก็ตรงแน่วไปยังบ้านเพื่อนของลูกชาย “อาเปี๊ยก อาเปี๊ยกอยู่ละป่าว ออกมาหาอาแปะหน่อย” แกตะโกนเรียกเพื่อนของอาตงอยู่หน้าประตูรั้วบ้าน เสียงตะโกนของแกทำให้สุนัขสี่ห้าตัววิ่งกรูเข้ามาพร้อมเสียงเห่าระงม หญิงสาวผู้หนึ่งรีบลงจากเรือนมาไล่ฝูงสุนัข ซึ่งวิ่งแตกกระจุยไปคนละทิศละทาง แล้วเชื้อเชิญแกขึ้นบ้าน
       “อั๊วะจามาหาอาเปี๊ยก” แกบอกจุดประสงค์ของการมา
       “เปี๊ยกไม่อยู่จ้ะ” เถ้าแก่มีอะไรหรือจ๊ะ ฉันเป็นพี่สาวเขาเอง” หล่อนแนะนำตัว
       “อาเปี๊ยกอีไปหนาย”
       “ไปนากับพ่อตั้งแต่เช้า ประเดี๋ยวก็คงกลับ เถ้าแก่ขึ้นไปรอบนบ้านก่อนก็ได้จ้ะ” หล่อนเชื้อเชิญอีก ตาแป๊ะมีท่าทางลังเล แต่แล้วก็พูดขึ้นว่า “อั๊วะจาให้อีอ่างไอ้นี่หน่อย” พูดพร้อมกับยื่นกระดาษแผ่นนั้นให้หญิงสาว หล่อนรับมาอ่าน ตาแป๊ะแอบสังเกตว่าคิ้วทั้งสองของหล่อนขมวดเข้าหากันขณะที่อ่านข้อความในกระดาษแผ่นนั้น
       “อีเขียงว่ายังไง” ถามอย่างอยากรู้
       “อาตงหนีไปบวชเณรแล้วละเถ้าแก่” หล่อนบอก ตาแป๊ะเตี๋ยวตบอกผางพูดอย่างโกรธกริ้วว่า “อั๊วะนึกเลี้ยวว่ามังต้องทำอักปียังงี้ หนายลื้อลองอ่างให้อั๊วะฟังหน่อยซิ” แกบอก หญิงสาวจึงอ่านตามตัวอักษรที่ปรากฏในแผ่นกระดาษนั้นให้แกฟัง
       “กราบเท้าเตี่ยที่เคารพรักอย่างสูง เมื่อเตี่ยพบหนังสือฉบับนี้ อาตงของเตี่ยก็คงเป็นเณรเรียบร้อยแล้ว ที่อาตงต้องหนีมาบวชก็เพราะเคยขอจากเตี่ยแล้วเตี่ยไม่ยอม อาตงก็เลยต้องทำเช่นนี้ โปรดอโหสิให้อาตงด้วย ขณะเดียวกัน อาตงก็ให้หนังสือฉบับนี้เป็นเสมือนหลักฐานการขออนุญาตจากเตี่ย ขอเตี่ยอย่าได้คิดว่าลูกชายของเตี่ยเป็นคนเนรคุณ เพราะการบวชครั้งนี้ก็เพื่อจะช่วยเตี่ยโดยแท้ อยากขอร้องเป็นครั้งสุดท้ายให้เตี่ยเลิกขายหมู แล้วหันไปทำอย่างอื่นที่ไม่ต้องฆ่าสัตว์ตัดชีวิต หากเตี่ยเลิกได้ อาตงจะสึกออกมาช่วยเตี่ยค้าขาย แต่ถ้าเลิกไม่ได้ลูกชายของเตี่ยก็จะขอบวชไปจนตลอดชีวิต สุดท้านนี้ขอให้เตี่ยจงรักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี อย่าคิดอะไรมากจะทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยไปเสียเปล่า ถึงอย่างไรอาตงคนนี้ก็ยังรักยังเคารพและอยากเห็นเตี่ยมีความสุข ขอกราบแทบเท้ามาด้วยความเคารพรักอย่างสูง...จากอาตงลูกชายของเตี่ย”
       ระหว่างที่ฟังหญิงสาวอ่านหนังสือฉบับนั้น ตาแป๊ะเตี๋ยวใช้มือหยาบกร้านของแกลูกคลำเคราดำที่ยาวลงมาจนถึงราวนมเล่นอยู่ไปมาเพื่อคลายความเครียด ไม่นึกไม่ฝันมาก่อนว่าจะต้องมาพบกับความผิดหวังมากมายถึงเพียงนี้ ลูกหนอลูกช่างไม่รักดีเอาเสียเลย แกอุตส่าห์ทำให้เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องการทำมาหากินหวังจะให้ลูกเอาเป็นเยี่ยงอย่าง แต่ลูกกลับเกลียดคร้านไม่เจริญรอยตาม ดีแต่จะไปเที่ยวขอทานเขากิน ช่างไม่มีศักดิ์ศรีเอาเสียเลย จิตใจของตาแป๊ะเตี๋ยวกำลังหวั่นไหวปั่นป่วน ทั้งรักทั้งแค้นประดังแน่นอยู่ในอก จนมิรู้ที่จะจัดการกับชีวิตอย่างไร ทันทีที่หญิงสาวอ่านจบ แกรีบกล่าวคำของใจแล้วหันหลังกลับ เพื่อมิให้ฝ่ายนั้นได้เห็นน้ำตาแห่งความระทมทุกข์ที่กำลังไหลพ้นขอบตาลงมาอาบแก้ม
       พี่สาวของเด็กชายเปี๊ยกเห็นตาแป๊ะเตี๋ยวเดินคอตกจากไป ก็ให้รู้สึกสงสารแกยิ่งนัก แม้จะไม่ค่อยชอบแกสักเท่าไหร่ เพราะน้องชายเคยมาเล่าให้ฟังบ่อย ๆ ถึงความร้ายกาจของแก ในตำบลนี้ จะหาคนรักใคร่ชอบพอกับแกสักคนก็ทั้งยาก พวกชาวบ้านพากันลงความเห็นว่า แกเป็นคนบาปหนาเพราะนอกจากจะไม่เคยทำบุญสุนทานแล้ว ยังด่าเก่งอีกด้วย แกเที่ยวด่าเขาไปหมด แม้กระทั่งพระ เถร เณร ชี ก็ไม่มียกเว้น เขาว่าคนอย่างแกตายไปจะต้องตกนรกอเวจีไม่ได้ผุดได้เกิดเลยทีเดียว แต่ก็น่าแปลกที่อาตงลูกชายของแกกลับเป็นคนดี ไม่น่าเป็นไปได้ที่คนเลว ๆ อย่างแกจะมีลูกดี ๆ อย่างอาตง แสดงว่า นางเซาะกิม เมียของแกต้องเป็นคนดี แล้วอาตงมีนิสัยติดมาทางแม่ ทว่าหล่อนก็ยังสงสัยอยู่อีกนั่นแหละว่า ถ้าเมียของแกเป็นคนดีจริงแล้วทำไมจึงมาอยู่กับคนเลว ๆ อย่างแกได้ มันเหมือนน้ำกับน้ำมันที่ไม่มีวันจะผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันได้เลย แล้วหล่อนก็สรุปเอาเองว่า ที่นางเซาะกิม อายุสั้นก็เพราะไม่อาจอยู่ร่วมกับคนเลว ๆ อย่างตาแป๊ะเตี๋ยวได้นั่นเอง
       ความจริงคนเท้าทิฐิทำให้ตาแป๊ะเตี๋ยวไม่ไปตามลูกชายกลับ แกคิดเอาเองว่าเมื่ออาตงทนต่อความลำบากไม่ไหวก็คงจะสึกออกมาอยู่กับแกเอง เป็นนักบวชต้องเที่ยวขออาหารคนอื่นกิน ไหนเลยจะพอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง อีกไม่นานเมื่ออดอยากปากหมองหนักเข้าก็ต้องซมซานกลับมา ตาแป๊ะเตี๋ยวไม่ศรัทธาในพระสงฆ์องค์เจ้า แกดูถูกคนพวกนี้ว่าเกียจคร้านในการทำมาหากินและชอบเอาเปรียบผู้อื่น แกเกลียดพระเกลียดเณรมาแต่ไหนแต่ไร ไม่อยากพบ ไม่อยากเสวนาด้วย เพียงเห็นกันไกล ๆ ก็ยังรู้สึกคลื่นไส้ชวนให้อาเจียนเสียแล้ว ทำไมหนออาตงลูกชายของแกจึงคิดผิดด้วยการเที่ยวไปเบียดเบียนคนอื่นทั้งที่แกก็มีให้กินให้ใช้อย่างเหลือเฟือถึงปานนี้ การกระทำของอาตงถือเป็นความผิดใหญ่หลวงนัก ซมซานกลับมาเมื่อใดแกจะตีเสียให้เข็ด จะได้หลาบจำ
 

       สามเดือนผ่านไป อาตงก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะกลับมาอยู่บ้าน ตาแป๊ะเตี๋ยวรู้สึกผิดหวังและว้าเหว่ระคนกัน แกคงจะต้องทำอะไรสักอย่าง นั่นคือต้องไปเอาตัวอาตงกลับมาก่อนที่อะไร ๆ มันจะสายเกินแก้
       ข้างฝ่ายอาตงนั้นเมื่อได้เปลี่ยนจากเพศฆราวาสมาถือเพศบรรพชิตแล้ว ก็ได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่างเคร่งครัด หลวงตาซึ่งเป็นสมภารวัดได้ให้ความเมตตาแก่เณรตงเป็นพิเศษด้วยเห็นว่าเป็นเด็กดีมีความกตัญญูสูง
       “หลวงตาครับ ทำอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ตอบแทนคุณของพ่อแม่ได้อย่างเลิศที่สุด” เณรตงถามท่านสมภารในเช้าวันหนึ่ง ทุกครั้งที่พูดกับภิกษุอาวุโสรูปนี้ มือทั้งสองจะอยู่ในท่าประนมเสมอ
       “เออ! เข้าใจถามดีนี่นะ เอาละเมื่อเจ้าอยากรู้ข้าก็จะบอกให้เอาบุญ” พูดจบก็ลุกขึ้นเดินไปที่ตู้พระคัมภีร์ หยิบพระไตรปิฎกมาพลิกดูสี่ห้าเล่ม แล้วจึงหยิบติดมือมาเล่มหนึ่งพูดกับเณรตงว่า “นี่ หลักฐานอยู่ในเล่มนี้ ฟังให้ดีนะข้าจะอ่านให้ฟัง” ท่านเปิดคัมภีร์เล่มนั้นแล้วอ่าน
       “...ภิกษุทั้งหลาย สำหรับบุคคลสองท่านเราไม่กล่าวว่าจะกระทำตอบแทนได้ง่ายเลย สองท่านคือใคร คือ มารดาและบิดา หากบุตรจะเอามารดาไว้บนบ่าข้างหนึ่ง เอาบิดาไว้บนบ่าข้างหนึ่ง ปรนนิบัติ ถึงเขาจะมีอายุยืนด้วยการขัดสี นวดฟั้น อาบน้ำให้ และแม้ว่าท่านทั้งสองจะพึงถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่าทั้งสองของเขา นั่นก็ยังไม่ชื่อว่าเป็นอันได้กระทำคุณหรือได้ตอบแทนแก่มารดาบิดา ถึงบุตรจะพึงสถาปนามารดาบิดาไว้ในราชสมบัติ ทรงอิสราธิปัตย์บนมหาปฐพีอันมีสัตตรัตนะมากหลายนี้ ก็ยังไม่ชื่อว่าเป็นอันได้ทำคุณ หรือได้ตอบแทนมารดาบิดา ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก เป็นผู้บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย...ส่วนว่าบุตรคนใด ชักจูง ปลูกฝัง ประดิษฐานซึ่งมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธาไว้ในศรัทธาสัมปทา...ซึ่งมารดาบิดาผู้ทุศีลไว้ในสีลสัมปทา...ผู้มีมัจฉริยะไว้ในจาคสัมปทา...ผู้ทรามปัญญาไว้ในสัญญาสัมปทา ด้วยการกระทำเพียงนี้จึงชื่อว่าเป็นอันได้แทนคุณ ได้ตอบแทนแก่มารดาบิดา...
       เณรตงฟังท่านสมภารตั้งแต่ต้นจนจบอย่างตั้งอกตั้งใจ เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างตามภูมิความรู้ระดับประถมสี่ของตน อ่านจบท่านสมภารถามผู้เป็นศิษย์ว่า “เป็นไง เข้าใจซาบซึ้งแล้วหรือยัง”
       “ครับ หลวงตากรุณาสรุปอีกครั้งเถิดครับ ตอนท้าย ๆ ผมยังไม่เข้าใจนัก” เณรตงขอร้อง ท่านสมภารจึงสรุปให้ฟังว่า “กล่าวโดยย่อก็คือ พระพุทธองค์ทรงสอนว่า บุคคลจะทำการตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ได้อย่างดีเลิศที่สุดก็คือการทำให้พ่อแม่เปลี่ยนจากความเห็นผิดมาเป็นความเห็นถูกต้อง เช่นถ้าพ่อแม่ไม่เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ แล้วบุตรสามารถทำให้ท่านเชื่อได้ อย่างนี้ถือว่าเป็นการตอบแทนอย่างสูงสุด”
       “ถ้าอย่างนั้นผมจะต้องทำให้โยมเตี่ยหันมาเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษให้ได้” เณรตงพูดอย่างมั่นใจ
       “ดี ขอให้สำเร็จเถอะ ข้าขออนุโมทนาด้วย คงต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดเชียวละ เพราะตาแป๊ะเตี๋ยวแกมีความเห็นสุดโต่งออกอย่างนั้น แต่ข้าเชื่อว่าเจ้าต้องทำได้สำเร็จ อย่าท้อถอยเสียก่อนก็แล้วกัน” ท่านสมภารพูดให้กำลังใจ
       “ผมจะพยายามจนสุดความสามารถเลยเชียวครับ” ตอบด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยความรักและความกตัญญูต่อผู้บังเกิดเกล้า
       “หมั่นเจริญกรรมฐานแล้วแผ่เมตตาให้แกทุกวัน ไม่ช้าคงเห็นผล เอาละนะได้เวลาแล้ว แยกไปปฏิบัติที่กุฏิของเจ้าได้ ค่ำ ๆ ค่อยมาสอบอารมณ์กับข้า”
       “กราบของพระคุณหลวงตามากครับ” พูดพร้อมกับก้มลงกราบท่านสมภารด้วยความรู้สึกซาบซึ้งในบุญคุณของท่าน จากนั้นจึงแยกตัวไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่กุฏิของตน
       กุฏิที่ท่านสมภารให้เณรตงอยู่เป็นเรือนไม้หลังเล็กกะทัดรัด ตั้งอยู่ใกล้ป่าช้ามากกว่าหลังอื่น ๆ ภายในเป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว่าสองวา ยาวสามวาสองศอก นอกจากใช้เป็นที่อยู่อาศัยแล้ว ยังเป็นที่ปฏิบัติธรรมของเณรรูปนี้อีกด้วย เมื่อถึงกุฏิเณรตงเริ่มลงมือปฏิบัติกรรมฐานโดยสวดมนต์ทำวัตรเช้าอันถือเป็นขั้นเริ่มต้นของการปฏิบัติ เพราะการสวดมนต์เป็นการสำรวมจิตให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ แล้วจึงเดินจงกรม เริ่มตั้งแต่ระยะที่หนึ่งไปจนถึงระยะที่หก เดินจงกรมอยู่ประมาณหนึ่งชั่วโมง จิตของท่านเริ่มจะตั้งมั่น จากนั้นจึงนั่งกรรมฐานในท่า “ขัดสมาธิเพชร” โดยยกขาซ้ายวางทับบนขาขวา แล้วจึงยกขาขวาวางทับบนขาซ้ายอีกทีหนึ่ง มือทั้งสองวางบนตักโดยให้มือขวาวางทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น แล้วเพ่งพิจารณาลมหายใจเข้าออกด้วยการบริกรรมว่า “พอง-หนอ” เมื่อท้องพองเพราะหายใจเข้า และ “ยุบ-หนอ” เมื่อท้องยุบเพราะหายใจออก พยายามให้สติจับอยู่กับอาการพองยุบอย่างนี้มิให้ซัดส่ายไปที่อื่นจนกว่าจิตจะตั้งมั่นเป็นสมาธิซึ่งจะสามารถข่มนิวรณธรรมให้สงบระงับลงได้ จากนั้นจึงตั้งสติพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ตามแนวสติปัฏฐานสี่ พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของรูปนามตามสภาวธรรมและตามกฎของไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และปราศจากตัวตนที่เที่ยงแท้
       อาศัยความเพียรอันยิ่งยวด การปฏิบัติของเณรตงจึงก้าวหน้าขึ้นทุกวัน แม้จะปฏิบัติมาเพียงสามเดือนเท่านั้น พระเณรหลายรูปที่บวชมาก่อนท่าน บางรูปก็ยังไม่สามารถแยกรูป แยกนามได้เพราะย่อหย่อนในความเพียร ด้วยจริยาวัตรอันดีงามนี้ทำให้ท่านเป็นที่โปรดปรานรักใคร่ของท่านสมภารยิ่งนัก
       ออกจากกรรมฐานแล้ว เณรตงก็ตั้งจิตแผ่เมตตาและอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้บังเกิดเกล้าทั้งสอง ท่านสมภารสอนไว้ว่าบุญกุศลที่ได้จากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้นสามารถอุทิศไปได้ทุกภพภูมิ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ล่วงลับไปแล้วหรือผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้นทั้งโยมบิดาและโยมมารดาจะต้องได้รับบุญกุศลที่ท่านอุทิศไปให้อย่างแน่นอน ส่วนบุญกุศลที่เกิดจากการทำบุญบริจาคทานจะอุทิศให้ได้เฉพาะผู้ที่ตายไปเกิดเป็นเปรตเท่านั้น หากไปเกิดเป็นสัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์หรือเทวดา จะไม่ได้รับบุญกุศลอังกล่าว
       เวลาสองยามของคืนวันหนึ่ง ขณะที่เณรตงกำลังหลับสนิทอยู่ในกุฏิของท่าน ก็ต้องตกใจตื่นเพราะเสียงเคาะประตูปัง ๆ อย่างไม่เกรงอกเกรงใจของผู้มาเยือนในยามวิกาล
       “นั่นใคร มีธุระอะไรดึกดื่นป่านนี้” ท่านร้องถามออกไปและเสียงที่คนข้างนอกตะโกนตอบเข้ามาทำให้ท่านตระหนก
       “เตี่ยเอง เปิดปาตูให้เตี่ยหน่อย” เป็นเสียงของตาแป๊ะเตี๋ยวบิดาของท่านนั่นเอง ทั้งดีใจทั้งหวั่นหวาดระคนกัน ดีใจเพราะจะได้พบบิดา หากก็หวั่นว่าฝ่ายนั้นจะบังคับให้สึก ท่านคลำหาไม้ขีดมาจุดเทียนไข ยังผลให้ห้องแคบ ๆ นั้นสว่างขึ้นแล้วจึงเดินไปเปิดประตู
       “เจริญพร โยมเตี่ยทำไมถึงมาดึกดื่นอย่างนี้” ท่านทักพลางเชื้อเชิญให้บิดาเข้ามาข้างใน ตาแป๊ะเข้ามานั่งพลางกวาดสายตาสำรวจไปทั่วห้อง ไม่เห็นสมบัติมีค่าอันใดนอกจากของใช้เล็ก ๆ น้อย ๆ เพียงไม่กี่ชิ้น ไฟฉายที่แกถือติดมือมากระบอกหนึ่งนั้นยังดูมีค่ามากกว่าสมบัติที่ลูกชายมีอยู่ อาตงช่างมีความเป็นอยู่อย่างขัดสนเสียเหลือเกินในความคิดของผู้เป็นพ่อ
       “อาตง เตี่ยมาลับลื้อกับบ้าน” แกเอื้อนเอ่ย มองหน้าลูกก็อุปาทานว่าทั้งผอมทั้งดำไม่อ้วนท้วนขาวผ่องเหมือนตอนที่อยู่กับแก
       “โยมเตี่ยเลิกฆ่าหมูขายแล้วหรือ” ถามเพื่อทบทวนเงื่อนไขที่เคยให้ไว้กับบิดา
       “เตี่ยจาเลิกทำมาย มังเป็งอาชีกสุกจาหลิกที่ถ่ายทอกมาจากบังพะบุหลุก” แกพยายามพูดให้ลูกชายเห็นความสำคัญของอาชีพที่ทำอยู่
       “ทำไมโยมเตี่ยถึงมาดึกดื่นอย่างนี้” เณรตงเปลี่ยนเรื่องถามด้วยคร้านที่จะฟังบิดาพร่ำพรรณนาถึงสิ่งเป็นโทษว่าเป็นคุณ
       “เตี่ยจามาทำมายกางวัง ม่ายอยากเห็งหน้าพะ พวกอีขี้เกียกชิกหาย ลีแต่ขอทางคงอื่งกิง” แกบอกเหตุผลแต่ไม่ได้บอกว่าเพราะคิดถึงลูก คิดถึงมากกว่าทุกวันจนนอนไม่หลับ
       “ลื้อต้องสึกไปอยู่กะเตี่ย” คำว่า “สึก” ช่างบาดใจเณรตงเสียนัก ท่านรีบปฏิเสธทันควันว่า “อาตมาไม่สึก ตราบใดที่โยมเตี่ยไม่เลิกขายหมู อาตมาก็จะไม่สึก” นอกเหนือจากเงื่อนไขที่ให้ไว้กับบดาแล้วท่านเองก็ไม่อาจปฏิเสธว่า พึงพอใจกับความสงบแห่งจิตซึ่งจะหาไม่ได้นอกเสียจากการถือเพศบรรพชิต
       “อั๊วะไม่เลิกเลี้ยวอั๊วะก็จาให้ลื้อสึกล่วย” ตาแป๊ะเตี๋ยวพูดเสียงดังด้วยความโกรธ
       “โยมเตี่ยฟังอาตมพูดสักหน่อยเป็นไร ที่อาตมามาบวชนี่ก็เพื่อจะช่วยโยมเตี่ยหรอกนะ”
       “ช่วยชิกหายอาลาย ลื้ออย่ามาพูกให้เสียเวลา ถ้าลื้อจาช่วยอั๊วะจิงก็ต้องสึกเหลียวนี้” แกพูดพร้อมกับลุกขึ้นฉุดมือเณรลูกชาย น่าแปลกที่ไม่รู้สึกคลื่นไส้เหมือนทุกครั้งที่เข้าใกล้ผ้าเหลือง ทว่าเณรตงรู้ว่านั่นเป็นอานิสงส์ของบุญกุศลที่ท่านอุทิศส่งมาให้ทุกค่ำคืน ช่างได้ผลทันตาเห็นดีเหลือเกิน
       “อย่า...โยมเตี่ยจะทำอย่างนี้ไม่ได้ อาตมาเป็นเณรนะ” ท่านห้ามเสียงหลง
       “เนง เนิงอั๊วะไม่สงใจ ลื้อต้องไปกะอั๊วะเหลียวนี้” แกเข้ายื้อยุดฉุดลากเป็นพัลวัน
       “อาตมาไม่ไป ถึงจะเอาไปฆ่าให้ตายอาตมาก็จะไม่ยอมสึก” เณรลูกชายพูดเสียงหนักแน่นเฉียบขาดจนบิดานึกท้อ หากทิฐิมานะที่แนบเนื่องอยู่ในกมลสันดานมาตั้งแต่เกิดทำให้แกไม่ยอมแพ้
       “ให้ลื้อลู้ไปซีว่าจะลีกว่าอั๊วะ” ว่าแล้วก็ลากลูกชายถูลู่พูกังออกมาจากห้อง เณรตงพยายามสะบัดแขนออกจากการเกาะกุมหากก็ไม่สำเร็จ เพราะบิดาแข็งแรงกว่า
       “ปล่อยอาตมาก่อน ไม่งั้นโยมเตี่ยจะต้องเสียใจ” ท่านขู่
       “อั๊วะไม่ป่อย ลื้อต้องไปกะอั๊วะเหลียวนี้ ลู้ละป่าวอีกไม่กี่วังอายุลื้อก้อจาคบสิกสี่เลี้ยว ยังจามาเที่ยวขอทางเค้ากิง น่าอายชิกหายเลย” แกบ่นอุบ
       “เอาละ ในเมื่อพูดกันไม่รู้เรื่องเราก็อย่าได้เจอะเจอกันอีกเลย” พูดจบก็สะบัดแขนอย่างแรงจนหลุดจากการเกาะกุมแล้วกระโจนลงจากกุฏิวิ่งหายไปทางป่าช้าหลังวัด เมื่อหายตกตะลึงตาแป๊ะเตี๋ยววิ่งลงบันไดไล่ตามไป แสงจันทร์สลัวรางในคืนข้างแรมทำให้พอมองเห็นทางโดยไม่ต้องพึ่งไฟฉาย สุนัขในวัดพากันเห่าเสียงขรมและวิ่งกรูเข้ามา ความกลัวจะถูกสุนัขกัด ทำให้แกหันหลังกลับแล้ววิ่งอ้าวไปทางหน้าวัด ครั้นแน่ใจว่าสุนัขเหล่านั้นไม่ตามมาจึงเปลี่ยนเป็นเดินเร็ว ๆ แล้วค่อยช้าลง ๆ กระทั่งถึงบ้าน จิตใจของแกในยามนี้ช่างรันทดหดหู่เสียนัก น้ำตาไหลรินอาบแก้มโดยมิรู้ตัว

 
       ความหวาดกลัวว่าบิดาจะติดตามมา ทำให้เณรตงวิ่งเตลิดไปอย่างไม่คิดชีวิต รู้สึกเจ็บระบมที่เท้าทั้งสองเพราะถูกหนามแหลมทิ่มแทง กระนั้นท่านก็มิยอมหยุดผ่านป่าช้าไปทะลุทุ่งกว้างหลังวัดแล้ววิ่งตัดทุ่งตรงไปศาลาท่าน้ำ นั่งหอบฮั่ก ๆ อยู่ที่นั่น อาศัยแสงสลัวจากพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวมองกลับไปยังทางที่วิ่งมาก็ไม่ปรากฏแม้เงาของผู้เป็นบิดาจึงค่อยเบาคลายหายหวาดกลัวลงได้บ้าง มองลงไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาที่นอนสงบนิ่งภายใต้แสงจันทร์เลือนสลัว คิดจะว่ายข้ามฟากไปยังวัดฝั่งโน้นก็เกรงจะหมดเรี่ยวแรงเสียก่อนที่จะถึงฝั่ง ครั้นจะกลับไปที่กุฏิก็เกรงว่าบิดาจะซุ่มรออยู่เพื่อเอาตัวกลับบ้าน เณรตงเริ่มว้าวุ่นใจกับปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ ในที่สุดจึงใช้อุบายทำให้จิตสงบด้วยการเจริญกรรมฐาน ท่านเริ่มต้นเดินจงกรมตั้งแต่ระยะที่หนึ่งไปจนถึงระยะที่หกโดยปฏิโลม ไม่ยอมนั่งสมาธิด้วยต้องคอยระแวดระวังบิดา กลัวว่าขณะที่นั่งหลับตาอยู่ ฝ่ายนั้นอาจจู่โจมเข้ามาจับเอาตัวไปก็เป็นได้ เดินจงกรมอยู่ประมาณสองชั่วโมงจิตของท่านก็สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิเกิดปัญญาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ ท่านรู้ว่าประมาณตีสองของทุกวันเป็นช่วงเวลาที่บิดาลงมือปฏิบัติภารกิจคือการฆ่าหมูเตรียมไปขายในตอนเช้า อย่างไรเสียบิดาจะต้องไม่รออยู่ที่กุฏิเพราะห่วงภารกิจที่บ้าน ท่านจะกลับไปที่กุฏิ รอจนฟ้าสางแล้วค่อยไปกราบลาท่านสมภารเพื่อขอไปอยู่วัดโบสถ์ทางฝั่งโน้น บิดาคงไม่ตามไปเซ้าซี้อีก เพราะยามค่ำคืนไม่มีเรือข้ามฟากประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งบิดาเป็นคนเกลียดพระเกลียดเณรถึงขนาดไม่ยอบพบปะพูดจาด้วย จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไปตามท่านในตอนกลางวัน คิดได้ดังนี้ เณรตงจึงเดินกลับไปที่กุฏิ ปิดประตูลงกลอนอย่างแน่นหนาแล้วจึงเก็บเครื่องบริขารต่าง ๆ มัดรวมกันไว้ เวลาที่เหลือท่านใช้ในการเจริญกรรมฐานโดยเดินจงกรมแล้วจึงนั่งสมาธิ ปฏิบัติอยู่อย่างนี้จนกระทั่งฟ้าสาง จากนั้นจึงเดินไปที่กุฏิท่านสมภาร เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ท่านฟัง
       “ผมคิดว่าจะขออนุญาตไปอยู่ วัดโบสถ์ ทางฝั่งโน้นครับ” เมื่อเล่าเสร็จ เณรตงจึงบอกความประสงค์
       “วัดโบสถ์หรือ ได้สิ สมภารวัดนั้นใช่ใครที่ไหน ลูกศิษย์ข้าเอง” ท่านบอกง่าย ๆ ยังผลให้คนฟังใจชื้นขึ้นเป็นกอง
       “ถ้าอย่างนั้นหลวงตากรุณาเขียนหนังสือให้ผมถือไปด้วยจะได้ไหมครับ”
       “ไม่ต้อง ไม่ต้องถือหนังสือไป เดี๋ยวข้าไปส่งเอง”
       “ไม่รบกวนหลวงตาเกินไปหรือครับ” พูดอย่างเกรงใจ
       “รบกงรบกวนอะไรเล่า ข้าถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องดูแลเจ้าอยู่แล้ว อีกอย่างหนึ่งข้ากับสมภารกรอด ก็ไม่ได้เจอกันเสียนาน จะได้ถือโอกาสไปเยี่ยมเยียนกันเสียเลย”
       “สมภารวัดโบสถ์ชื่อกรอดหรือครับ”
       “งั้นสิ เป็นไงฟังดูแปลกหรือไง” “ครับ ผมไม่เคยได้ยินคนชื่อนี้มาก่อน”
       “เขาว่าตอนเกิดใหม่ ๆ ไม่ได้ชื่อนี้ ตอนหลัง ๆ ชอบนอนกัดฟันกรอด ๆ ทุกคืน พ่อแม่ก็เลยพร้อมใจกันเรียกว่ากรอดมาตั้งแต่นั้น” ท่านสมภารเล่าถึงที่มาของชื่อลูกศิษย์แล้วก็เลยเล่าของท่านเองบ้างว่า “ส่วนข้าที่ชื่อ กร่าง เพราะโยมแม่คลอดที่ใต้ต้นกร่าง ไปทำไร่กับโยมพ่อแล้วเกิดปวดท้อง ยังไม่ทันกลับบ้านข้าก็คลอดออกมาเสียก่อน โยมแม่ว่าลูกทั้งท้องมีข้าคลอดง่ายที่สุด” เสียงที่พูดบอกความภูมิใจนิด ๆ
       “หลวงตาจะไปวัดโบสถ์ตอนเช้าหรือตอนเพลครับ” เณรตงวกกลับมาถามเรื่องที่ยังพูดค้างอยู่
       “ตอนเช้าสิ ฉันเช้าแล้วค่อยไป วันนี้เจ้าไม่ต้องตามข้าไปบิณฑบาตหรอกนะ รออยู่ที่นี่แหละ รับรองว่าเตี่ยเจ้าไม่มาที่กุฏิข้าแน่” สั่งเสร็จสมภารสูงอายุจึงมุ่งหน้าไปยังหมู่บ้านเพื่อโปรดสัตว์ ระหว่างการรอคอย เณรตงมิได้ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ ท่านจัดการกวาดถูทำความสะอาดกุฏิให้ท่านสมภาร จัดเก็บข้าวของเข้าที่ให้อย่างเรียบร้อย เนื่องจากเป็นคนจีนโดยกำเนิด อุปนิสัยที่ติดตัวมาจากชาติพันธุ์คือความขยันขันแข็ง ไม่เคยนิ่งดูดายไม่ว่าจะด้วยเรื่องอันใด ท่านขวนขวายทำกิจของตนและของผู้อื่นเท่าที่โอกาสจะอำนวย ท่านสมภารเคยพูดสัพยอกในความขยันขันแข็งของเณรตงว่า “เจ้าเณรรูปนี้ท่าจะไม่เคยหายใจทิ้งเลยกระมัง” ด้วยความขยันขันแข็งและชอบช่วยเหลือผู้อื่นทำให้เณรตงเป็นที่รักใคร่ของพระเณรทั้งวัด จะมีผู้ใดเกลียดชังท่านแม้สักคนก็หาไม่
       ฉันเช้าแล้วสมภารกร่างจึงพาเณรลูกศิษย์ออกทางหลังวัด เดินลัดเลาะไปตามคนนากลางทุ่งเพื่อตรงไปท่าน้ำ ต้นข้าวเขียวขจีกำลังตั้งท้องอ่อน ๆ รอวันที่จะผลิดอกออกรวงมาให้มนุษย์ได้เก็บเกี่ยวไว้เป็นอาหาร ภิกษุสูงอายุรู้สึกสงสารและเสียดายคนดี ๆ อย่างเณรตงที่จะต้องระเหระหนไปอยู่ที่อื่น มิใช่แต่วัดโบสถ์ที่กำลังจะไปนี่ดอก หากจะต้องเร่ร่อนต่อไปอีกเพราะดวงชะตาบ่งบอกไว้เช่นนั้น แต่ถึงอย่างไรตาแป๊ะเตี๋ยวผู้เป็นพ่อก็ไม่สามารถจะทำให้ลูกชายสึกหาลาเพศได้ไม่ว่าจะโดยวิธีใด ข้างฝ่ายเณรตงผู้ซึ่งกำลังสาวเท้าตามภิกษุสูงอายุนั้นก็ให้รู้สึกสะท้านสะเทือนใจที่ต้องจำจากที่เคยอยู่อู่เคยนอน และผู้ที่เคยสอนสั่งชี้ทางสวรรค์นิพพานให้ ต่อแต่นี้จะมีผู้ใดมาอบรมสั่งสอนด้วยเมตตารักใคร่เช่นท่านสมภารผู้นี้อีก ความผูกพันที่มีต่อท่านสมภารนั้นนับวันก็จะยิ่งแน่นแฟ้นมากขึ้น จู่ ๆ ก็ต้องมาพลัดพรากจากกันใครเลยจะไม่โศกศัลย์ห่วงหาอาวรณ์
       “ไม่ต้องกังวลเรื่องที่อยู่ใหม่ สมภารกรอดจะดูแลเอาใจใส่เจ้าเหมือนอยู่กับข้าทุกอย่าง” ท่านสมภารพูดขึ้นเหมือนจะล่วงรู้ความคิดของอีกฝ่าย
       “หลวงตาไปเยี่ยมผมบ้างนะครับ” ไม่มีคำตอบจากผู้สูงอายุเพราะท่านรู้ดีว่าไม่อาจทำเช่นนั้นได้ ความหง่อมแห่งอินทรีย์ทำให้ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้คล่องแคล่วเช่นแต่ก่อน ครั้นจะให้เณรตงเป็นฝ่ายมาเยี่ยมก็เกรงความจะล่วงรู้ไปถึงตาแป๊ะเตี๋ยว ต่างเดินตามกันไปเงียบ ๆ กระทั่งถึงท่าน้ำ มีเรือแจวลำเล็กรอรับส่งผู้โดยสารข้ามฟากในอัตราคนละหนึ่งสตางค์ ท่านสมภารมาเณรลูกศิษย์นั่งเรือข้ามฟากไปฝั่งโน้นโดยคนแจวไม่ยอมรับค่าจ้าง ท่านจึงให้ศีลให้พรแล้วพาศิษย์เดินทางต่อไปยังวัดโบสถ์
 

 
       วันเวลาผ่านไปรวดเร็วราวกับติดปีกบิน เณรตงหลบเร้นบิดามาอยู่ที่วัดโบสถ์เป็นเวลาหลายปีกระทั่งอายุครบบวช วันหนึ่งสมภารกรอดได้มาที่วัดพุทธาราม และปรึกษากับสมภารกร่างเรื่องการอุปสมบทเป็นพระภิกษุให้เณรตง ภิกษุทั้งสองตกลงกันว่าจะไม่แจ้งให้ตาแป๊ะเตี๋ยวทราบ เพราะถึงอย่างไรแกจะต้องไม่ยินยอมและคงขัดขวางจนถึงที่สุด กำหนดวันเวลากันเรียบร้อย สมภารผู้เป็นศิษย์จึงกลับมาแจ้งให้เณรตงทราบ ตกค่ำเณรตงจึงขอแรงคนแจวเรือจ้างให้ช่วยมาส่งที่ฝั่งวัดพุทธาราม ให้เรือรออยู่แล้วท่านจึงแอบไปที่ฮวงซุ้ยของมารดา จุดธูปบอกกล่าวขออนุญาตอุปสมบท สามวันต่อมาท่านก็ได้เข้าพิธีอุปสมบทโดยสมภารวัดพุทธารามเป็นพระอุปัชฌาย์และสมภารวัดโบสถ์เป็นกรรมวาจาจารย์ บวชแล้วภิกษุตงคงเป็นคนเดิมที่ขยันหมั่นเพียรและอ่อนน้อมถ่อมตน ด้านการปฏิบัติธรรมก็ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เปี่ยมด้วยวิริยะอุตสาหะเป็นทีชื่นชอบของพระเณรในวัด ตลอดจนอุบาสกอุบาสิกาที่ได้ทราบข้อวัตรปฏิบัติของท่านต่างพากันอนุโมทนาสาธุการ
       เวลาล่วงเลยไปอีกสามปี ภิกษุตงอายุย่างยี่สิบสาม เหตุการณ์ร้ายได้บังเกิดแก่ท่านอีกครั้ง กล่าวคือในตอนเย็นขณะที่ท่านกำลังกวาดลานวัดอยู่นั้น บิดาก็มาปรากฏตัวพร้อมชายฉกรรจ์ร่างกำยำสองคน ตาแป๊ะเตี๋ยวขู่ลูกชายทันทีที่พบหน้า
       “อาตง ถ้าลื้อไม่ยอมสึก ลื้อต้องเจ็บตัวแหง ๆ” ภิกษุตงถึงกับตะลึงด้วยคาดไม่ถึงว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำอีก ครั้นได้สติจึงพูดขึ้นว่า
       “โยมเตี่ยนี่หมายความว่าอย่างไรกัน” ตาแป๊ะเตี๋ยวไม่ตอบหากพยักหน้าให้ชายฉกรรจ์ทั้งสองเป็นการให้สัญญาณ ชายร่างกำยำจึงเดินเข้ามาขนาบข้างท่านไว้ข้างละคน เตรียมพร้อมที่จะทำตามคำสั่งของผู้ว่าจ้าง ภิกษุหนุ่มมิได้แสดงอาการหวดกลัวให้ปรากฏ ท่านหันไปสบตากับบุรุษนั้นทีละคนด้วยสายตาที่อ่อนโยนและเป็นมิตร คนทั้งสองก้มหน้าดูดิน ไม่กล้าสบตาท่าน กิริยาทะนงองอาจเมื่อครู่เปลี่ยนเป็นกริ่งเกรงระคนหวาดกลัว
       “เอาเลย ลากคอมังกับบ้างเหลียวนี้” ผู้ว่าจ้างออกคำสั่ง สองบุรุษทำท่าละล้าละลัง ไม่กล้าเข้ายื้อยุดด้วยเกรงบารมีของผ้าเหลืองที่ห่อหุ้มกายของท่าน บิดาของภิกษุตงจึงกล่าวสำทับว่า
       “ชักช้าอยู่ทำมาย เอาตัวมังไปเหลียวนี้ ถ้าลื้อไม่เอา อั๊วะไม่ให้ค่าจ้าง”
       “ท่านสึกไปอยู่กับเตี่ยเถอะ” ชายที่อยู่ทางขวามือพูดขึ้น
       “อย่าให้เราสองคนต้องทำบาปทำกรรมเลย” คนทางซ้ายเสริม
       “เราไม่สึก เพราะตั้งใจแล้วว่าจะบวชตลอดชีวิต ถึงเจ้าสองคนจะเอาเราไปฆ่าเราก็จะขอยอมตาย” ภิกษุตงพูดอย่างไม่สะทกสะท้าน ฟังคำพูดของท่านแล้วชายฉกรรจ์ทั้งสองก็หมดกำลังใจ ไม่นึกอยากได้ค่าจ้างแม้แต่น้อย ถ้าหากต้องแลกกับการฆ่าพระ หันไปพูดกันตาแป๊ะเตี๋ยวพร้อมกันราวกับนัดว่า
       “เถ้าแก่ อั๊วะไม่เอาค่าจ้างแล้ว”
       “โยมเตี่ยของเราจ้างเจ้ามาเท่าไหร่หรือ” ภิกษุตงถามชายที่ยืนขนาบอยู่ข้างซ้ายรีบตอบว่า
       “คนละตำลึง ท่านสึกเถอะ ข้าอยากได้ค่าจ้าง ลูกชายข้าป่วย จะเอาเงินไปซื้อยาให้ลูก” บุรุษนั้นพูดน่าสงสาร
       “งั้นก็ตามเรามาสิ เราจะไปหยิบเงินให้” พูดจบก็เดินนำชายทั้งสองไปที่กุฏิ เห็นผู้ที่ตนว่าจ้างมาเดินตามลูกชายต้อย ๆ ตาแป๊ะโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง
       “อ้ายพวกจังไร มาหักหลังกูล่าย ขอให้พวกมึงชิกหายตายโหง” แก่ตะโกนไล่หลัง ชายฉกรรจ์ทั้งสองเอาหูทวนลมเสีย หากต่อกรด้วยก็เกรงใจพระลูกชายของแก ที่สำคัญคือกลัวไม่ได้ค่าจ้าง เงินที่กำลังจะได้นี้ไม่ต้องแลกกับการทำบาปกรรม ใครไม่รับก็เขลาเต็มที เมื่อได้เงินจากภิกษุตงแล้วคนทั้งสองก็บอกลาโดยไม่สนใจตาแป๊ะซึ่งโกรธจนตัวสั่น ลูกชายไม่ยอมสึกก็เสียใจพอแรงแล้ว ยังมาถูกคนต่ำต้อยหักหลังเสียอีก แกก่นด่าคนทั้งสามอย่างไม่ไว้หน้า คำด่าทั้งหลายถูกนำออกมาใช้ไม่มีหลงเหลือแม้แต่คำเดียว ภิกษุตงรู้สึกอับอายด้วยพระเณรในวัดตลอดจนชาวบ้านใกล้เคียงเริ่มทยอยกันมามุงดู ท่านอายที่มีบิดาปากจัดเช่นตาแป๊ะเตี๋ยว แต่ทั้ง ๆ อายก็อดที่จะสงสารผู้เป็นพ่อเสียมิได้ จึงพูดขึ้นด้วยน้ำเสียงวิงวอนว่า “โยมเตี่ย อาตมาขอบิณฑบาตเถอะ อย่าให้อาตมาสึกเลย”
       “ไม่ล่าย ลื้อต้องสึกไปช่วยอ๊วะฆ่าหมูขาย ลู้ละป่าว เหลียวนี้อ๊วะสูงแลงมังไม่ไหวเลี้ยว อีดิ้งชิกหาย” แกหมายถึงหมูตอนจะถูกแทงคอซึ่งมันจะดิ้นจนสุดฤทธิ์
       “โยมเตี่ยก็เลิกฆ่ามันเสียสิ อาชีพอื่นมีถมเถ หรือถ้าไม่อยากทำงาน มาอยู่กับอาตมาที่วัดก็ได้ อาตมาจะเลี้ยงดูโยมเตี่ยเอง” ตาแป๊ะเตี๋ยวมองลูกชายอย่างดูแคลน หากก็อารมณ์ดีขึ้นนิดหนึ่งเมื่อลูกชายบอกจะเลี้ยงดู กระนั้นก็พูดขึ้นว่า “น้ำหน้าอย่างลื้อน่ะเหลอจามาเลี้ยงเตี่ย ตัวลื้อเองก็ยังเที่ยวหาขอทางเขากิง ยังจามีหน้ามาพูกว่าจาเลี้ยงเตี่ย” เมื่อเห็นว่าไม่อาจเกลี้ยกล่อมบิดาได้ ภิกษุตงจึงบอกให้แกกลับ “โยมเตี่ยกลับบ้านเถอะ ค่ำแล้วเดี๋ยวจะไม่มีเรือข้ามฟาก”
       “อั๊วะไม่กับ ถ้าลื้อไม่ยอมสึก อั๊วะก็จายืงหล่าอยู่อย่างนี้แหละ” แกยืนกราน อารมณ์ที่เย็นลงเล็กน้อยนั้นกลับคุกรุ่นขึ้นมาอีก
       “โธ่! โยมเตี่ย อายคนอื่นเขาน่า เห็นไหมคนมามุงดูกันใหญ่แล้ว” แทนที่จะเชื่อ แกกลับด่ากราดทั้งพระเณรและชาวบ้าน
       “เลื่องของพ่อลูก คงอื่งไม่เกี่ยวอย่ามาเสือกเลื่องชาวบ้าง ไป ไม่ให้หมก ไม่งั้งอั๊วะหล่ายกโคก” แกเริ่มพาล ภิกษุตงมิรู้จะทำประการใด ความอับอายทำให้ท่านเดินขึ้นกุฏิ ปิดประตูขังตัวเองอยู่ในนั้น ข้างฝ่ายบิดาก็ไม่ยอมแพ้ ตามไปนั่งด่าอยู่หน้าประตูโดยไม่ฟังคำทัดทานของพระรูปอื่นที่มาพูดห้ามปราม สมภารกรอดไม่ลงมายุ่งเกี่ยวด้วยรู้ว่าไม่อาจเปลี่ยนความเห็นผิดของตาแป๊ะให้เป็นความเห็นชอบได้ ด่าจนลูกคอแห้ง ตาแป๊ะรู้สึกกระหายน้ำจึงเตรียมตัวกลับ ไม่นึกห่วงว่าคนแจวเรือจ้างจะรอ เพราะแกได้ว่าจ้างมาเป็นพิเศษก็ต้องใช้มันให้คุ้มค่า และเพื่อไม่ให้เสียเหลี่ยม แกตะโกนเข้าไปในห้องลูกชายว่า “พุ่งนี้อั๊วะจามาหล่าลื้ออีก มาหล่าทุกวันจงกว่าลื้อจาสึก” สั่งเสร็จจึงเดินอย่างเร่งรีบไปยังท่าน้ำที่คนแจวเรือกำลังรออยู่ มิใช่เพราะเกรงใจคนรอ หากเพราะอยากถึงบ้านโดยเร็วด้วยกระหายน้ำเป็นที่สุด
 

 
       สามทุ่มคืนนั้น ท่านสมภารได้มาหาภิกษุตงและปรึกษาหารือเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น สมภารกรอดครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่งจึงพูดขึ้นว่า “ไปอยู่บางกอกก็แล้วกัน รับรองคราวนี้เตี่ยของเจ้าตามไปไม่ได้แน่” ท่านพูดอย่างตัดสินใจดีแล้ว
       “ผมไม่รู้จักใครที่นั่นเลยครับหลวงพ่อ แล้วอีกประการหนึ่งผมก็ไม่เคยไปบางกอก คงจะลำบากมากทีเดียว” ภิกษุตงแสดงความวิตก
       “ลำบากเชียวละ ถ้าจะไปอย่างไร้จุดหมาย แต่ข้าจะไม่ให้เจ้าทำเช่นนั้นดอก ข้ามีคนรู้จักบวชอยู่ที่ วัดยานนาวา จะฝากเจ้าไปอยู่กับเขาที่นั่น” สมภารกรอดชี้แจง
       “ถ้าอย่างนั้นผมก็ค่อยเบาใจ แต่ก็ยังวิตกเรื่องการเดินทาง เขาว่าบางกอกกว้างขวางนัก ผมกลัวจะไปไม่ถูก” ภิกษุหนุ่มยังกังวล
       “เรื่องนั้นเย็นใจได้ พรุ่งนี้จะมีเรือโยงบรรทุกข้าวไปขายบางกอก เจ้าไปกับเรือโยงได้ สองผัวเมียที่คุมเรือรู้จักกับข้าดี จะให้ส่งเจ้าถึงวัดเลยแล้วข้าจะเขียนหนังสือให้ถือไปถึงพระรูปนั้น” ท่านสมภารจัดการให้เสร็จสรรพ
       “ขอบพระคุณท่านมากครับ” ภิกษุหนุ่มกล่าวพร้อมกับก้มลงกราบอย่างซาบซึ้งในบุญคุณของท่าน
       “ไปอยู่บางกอกก็เรียนบาลี เรียนปริยัติให้เชี่ยวชาญนะ หากมีโอกาสจะได้กลับมาสอนพระเณรทางบ้านเรา ส่วนด้านการปฏิบัติเจ้าก็ไปได้ไกลแล้ว มีเวลาก็ช่วยสอนให้พระเณรทางบางกอกบ้าง เพราะที่นั่นเขาหนักไปทางปริยัติ ที่จะปฏิบัติจริง ๆ จัง ๆ อย่างเจ้าหาได้ยาก” สมภารกรอดบอกกล่าว ท่านพึงพอใจในข้อวัตรปฏิบัติของภิกษุผู้นี้ยิ่งนัก
       ภิกษุตงดีใจที่จะได้เรียนบาลีและปริยัติ คงจะทำให้มีความรู้ความเข้าใจในพระศาสนามากขึ้น ไม่มีอะไรน่าห่วงใยในส่วนที่เกี่ยวกับตัวท่าน จะห่วงก็แต่โยมบิดาเท่านั้น เพราะนับวันเรี่ยวแรงก็ลดน้อยถอยลง เนื่องจากความร่วงโรยแห่งสังขาร หากเจ็บไข้ได้ป่วยไปใครเล่าจะมาคอยดูแลรักษา ถ้าโยมมารดายังมีชีวิตอยู่ ก็คงจะช่วยดูแลและเป็นเพื่อนคลายเหงาได้บ้าง แม้จะรักและห่วงใยในผู้บังเกิดเกล้าสักเพียงใด หากภิกษุหนุ่มก็รู้สึกอึดอัดขัดข้องในความเป็นมิจฉาทิฏฐิของฝ่ายนั้นจนมิอาจอยู่ร่วมบ้านเดียวกันได้ ภิกษุหนุ่มตั้งความหวังไว้ว่า สักวันหนึ่งบุญกุศลที่ท่านได้ก่อกอปรมาคงจะช่วยขจัดความมืดบอดในจิตใจของบิดาให้หมดไปได้
       การไปบางกอกของภิกษุตงในครั้งนี้ถือเป็นความลับสุดยอด บุคคลที่จะรู้เรื่องนี้นอกจากสมภารกรอดแล้วก็มีสองผัวเมียที่คุมเรือโยงอีกสองคนเท่านั้น ท่านสมภารได้ไตร่ตรองดูอีกครั้งก็คิดว่าจะไม่ให้สองผัวเมียไปส่งภิกษุตงถึงที่วัดดังที่ได้ตั้งใจไว้แต่แรก หากจะให้ส่งแค่สะพานพุทธ จากนั้นจึงให้ภิกษุหนุ่มหาทางไปวัดเอง ทั้งนี้เพื่อจะได้ไม่มีผู้ใดล่วงรู้ว่าศิษย์ของท่านไปอยู่ที่วัดใด ตาแป๊ะเตี๋ยวก็จะหมดโอกาสตามไปรังควานลูก คิดดังนี้ท่านจึงพูดกับภิกษุตงว่า
       “เรื่องที่จะให้เรือไปส่งเจ้าถึงวัดยานนาวานั้น ข้าเปลี่ยนใจแล้ว”
       “ทำไมหรือครับ” ผู้เป็นศิษย์ถาม
       “ข้าอยากให้เรื่องนี้เป็นความลับ”
       “ผมก็คิดอย่างหลวงพ่อ กลัวโยมเตี่ยรู้จะตามไปอาละอาดอีก” ภิกษุหนุ่มเห็นพ้องด้วย
       “ถ้าเช่นนั้น ข้าจะให้เขาส่งเจ้าที่สะพานพุทธ แล้วเจ้าหาทางไปวัดยานนาวาเองก็แล้วกัน คงไม่เหลือบ่ากว่าแรงเจ้าหรอก เพราะวัดก็ตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยานั่นเอง”
       “ถ้าอย่างนั้น ผมก็คงไม่หนักใจอะไร คงถามคนเขาได้ ต้องขอขอบพระคุณหลวงพ่อเป็นอย่างสูงที่ให้ความเมตตาต่อผมเป็นอันมาก” ภิกษุหนุ่มก้มลงกราบท่านสมภารอีกครั้งด้วยสำนึกในบุญคุณของท่าน
       “ไม่ต้องห่วงโยมเตี่ยของเจ้าหรอก แล้วข้าจะส่งคนไปคอยสอดส่องดูแล ตาแป๊ะเตี๋ยวแกกระดูกเหล็ก คงไม่เป็นอะไรง่าย ๆ หรอก” ผู้อาวุโสกว่าพูดเพื่อให้อีกฝ่ายคลายกังวล
       “เป็นพระคุณอย่างสูงครับ ที่ผมเป็นห่วงเพราะแกตัวคนเดียว ญาติพี่น้องก็ไม่มีเลยสักคน” ถึงตอนนี้เสียงของภิกษุหนุ่มสั่นเครือเหมือนจะร้องไห้
       “ข้าเข้าใจ บุคคลเช่นเจ้าสมกับเป็นผู้เจริญโดยแท้ ผู้มีกตัญญูกตเวทิตาธรรมเชื่อว่าเป็นผู้เจริญ ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ ไฟพิษทำอันตรายไม่ได้ ขอให้จำเร็ญ ๆ เถิด” ท่านอวยชัยให้พรแล้วหยุดเว้นระยะนิดหนึ่ง เพื่อสะกดกลั้นความรันทดหดหู่ที่เกิดขึ้นในจิตใจ จากนั้นจึงพูดกับภิกษุตงว่า
       “นี่แน่ะอาตง” ท่านเรียกผู้เป็นศิษย์แบบเดียวกับที่ตาแป๊ะเตี๋ยวเรียก
       “การจากกันของเราทั้งสองในครั้งนี้ คงจะไม่มีโอกาสได้พบกันอีก” น้ำเสียงนั้นเศร้าสร้อยจนคนฟังใจเสีย
       “ทำไมหลวงพ่อพูดอย่างนั้นเล่าครับ อีกไม่นานผมก็กลับมา รอให้เรื่องสงบลงเสียก่อน ผมจะเพียรแผ่เมตตาให้โยมเตี่ยทุกวัน ไม่ช้าแก่ต้องใจอ่อน” ภิกษุหนุ่มพูดอย่างเชื่อมั่น
       “มันไม่ใช่อย่างนั้นน่ะซี ที่ข้าพูดว่าจะไม่ได้พบกันอีก หมายความว่าข้าจะไม่อยู่ให้เจ้าได้พบต่างหากล่ะ” สมภารกรอดอธิบาย
       “หลวงพ่อจะไปไหนหรือครับ” ถามอย่างสงสัย
       “กลับคืนสู่ธรรมชาติ ข้ามาจากที่ไหนก็จะกลับไปที่นั่น มันเป็นสัจธรรมของชีวิต”
       “หมายความว่า...” ผู้อ่อนวัยกว่ามีอาการตระหนก
       “ถูกแล้ว ข้าจะละสังขาร จำได้ไหมที่พระพุทธองค์ทรงสอนว่า...สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง...สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์...ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา...ตัวข้าจะละสังขารในอีกเจ็ดวันข้างหน้า” ภิกษุอาวุโสบอกกล่าว
       “อีกเจ็ดวัน...อีกเจ็ดวันหลวงพ่อจะ...จะ...”
       “มรณภาพ” ท่านสมภารต่อให้ ภิกษุหนุ่มยิ่งตระหนกมากขึ้น
       “อย่าตกอกตกใจไปเลยอาตง เรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นของธรรมดาโลก ไม่มีผู้ใดหลีกพ้น นี่คือสัจธรรมของชีวิต ของสังขารธรรมทั้งหลาย” สมภารกรอดพูดปลอบผู้เป็นศิษย์ แม้จะมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอว่ามิได้อยู่ในเพศฆราวาส หากภิกษุตงก็มิอาจกลั้นความโศกาดูรเอาไว้ได้ น้ำตาของท่านเอ่อล้นเต็มขอบตาทั้งสองข้าง
       “อย่าร้องไห้อาตง อย่าร้องไห้” ท่านสมภารปรามทั้งที่ท่านเองก็ต้องกลั้นไว้อย่างยากเย็น อาศัยที่ปฏิบัติธรรมมาก่อน จึงสามารถหักห้ามความเศร้าโศกได้สุขุมคัมภีรภาพกว่าอีกฝ่าย
       “ผมยังทำใจไม่ได้ครับ” ผู้อาวุโสน้อยกว่าสารภาพ
       “อาตง ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมไม่เศร้าโศกเสียใจเมื่อความตายมาถึง อย่าให้เสียชื่อนักปฏิบัติเลยนะ” ท่านเตือนสติภิกษุหนุ่ม “ตั้งสติไว้ที่ลิ้นปี่แล้วกำหนดว่า เสียใจหนอ... เสียใจหนอ... จงพิจารณาตามหลักของเหตุผลว่ากำลังเสียใจเรื่องอะไร หาเหตุที่มาของมันแล้วดับเหตุนั้นเสีย เมื่อเหตุดับ ผลก็ดับ นี่เป็นวิธีดับทุกข์ตามแนวอริยสัจ เจ้าทำได้มิใช่หรือ”
       “ครับ ผมจะทำเดี๋ยวนี้” แล้วภิกษุหนุ่มจึงนั่งขัดสมาธิหลับตาสำรวมจิต เพียงชั่วลัดนิ้วมือเดียวก็ลืมตาแล้วรายงานท่านสมภารว่า “หลวงพ่อครับ ความเสียใจมันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา”
       “นั่นไง เห็นหรือยังล่ะ จิตที่ฝึกดีแล้วย่อมตั้งมั่นได้เร็ว เพียงชั่วลัดนิ้วมือเดียว เจ้าก็สามารถเรียกสัมปชัญญะกลับคืนมาได้ เห็นอานิสงส์ของการฝึกสติหรือยังล่ะ” สมภารกรอดพูดอย่างภูมิใจในผู้เป็นศิษย์
“เห็นแล้วครับ ผมเข้าใจแจ่มแจ้งเลยเทียวว่า สุขหรือทุกข์ ดีใจหรือเสียใจ ล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยง คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ แล้วก็ปราศจากตัวตนที่เที่ยงแท้”
“ทีนี้เจ้าก็รู้เท่าทันธรรมชาติของชีวิตแล้วสินะ ดีแล้วข้าขออนุโมทนาด้วย”
“ผมขออโหสิกรรมต่อหลวงพ่อ กรรมใดที่ผมได้ล่วงเกินหลวงพ่อ ไม่ว่าจะเป็นกายกรรม วจีกรรม จะด้วยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม ขอหลวงพ่อได้โปรดอโหสิกรรมนั้นให้ผมด้วย” ภิกษุตงก้มลงกราบที่เท้าของท่านสมภาร พร้อมกล่าวคำขอขมาลาโทษ
“เช่นเดียวกันอาตง หากข้าล่วงเกินเจ้า ก็ขอให้เจ้าอโหสิให้ข้าด้วย เราจะไม่มีเวรไม่มีภัยต่อกันและกันนะ อาตงนะ” เงียบกันไปครู่หนึ่ง ภิกษุหนุ่มก็กล่าวขึ้นว่า “หลวงพ่อครับ ผมขอเลื่อนเวลาไปบางกอกจะได้ไหมครับ ผมอยากจะอยู่ก่อนเพื่อจัดการเรื่อง...”
“ไม่ได้ ไม่ได้ เลื่อนไม่ได้เป็นอันขาด” ผู้สูงวัยกว่ารีบโบกมือห้ามทั้งที่อีกฝ่ายพูดยังไม่ทันจบ “เจ้าไปพรุ่งนี้ดีแล้ว เพราะนาน ๆ จึงจะมีเรือโยงล่องไปบางกอกสักที”
“ถ้าอย่างนั้น ผมก็เหมือนคนเนรคุณ หลวงพ่อเมตตาผมมาโดยตลอด แต่ผมไม่เคยตอบแทนบุญคุณ” น้ำเสียงที่พูดแสดงความน้อยใจ
“ทำไมจะไม่เคย การที่เจ้าปฏิบัติตนเป็นคนน่าเลื่อมใสอยู่จนทุกวันนี้ ก็ถือว่าได้ตอบแทนบุญคุณข้าแล้ว อย่าไปคิดอะไรมาก แล้วก็ไม่ต้องห่วงซากศพของข้า มันก็เหมือนท่อนไม้และท่อนฟืนที่หาประโยชน์อะไรมิได้ ข้าทิ้งมันแล้ว ข้าก็ไม่สนใจว่าใครเขาจะทำอะไรกับมัน” ท่านสมภารพูดอย่างผู้ที่เข้าถึงธรรมโดยแท้
“แต่ถึงอย่างไร ผมก็ยังอยากอยู่ดูแลให้งานเรียบร้อยเสียก่อน โปรดให้โอกาสผมได้ทดแทนบุญคุณหลวงพ่อเป็นครั้งสุดท้ายเถิดครับ” เป็นครั้งแรกที่ผู้เป็นศิษย์แสดงอาการดื้อดึง
“อาตง ข้ารู้ว่าเจ้าเป็นคนดี ความกตัญญูที่แนบเนื่องอยู่ในจิตใจ ทำให้เจ้าอยากอยู่ทำศพข้า และข้าก็จะไม่ขัดข้องเลยหากว่าพรุ่งนี้เตี่ยของเจ้าจะไม่มาอาละวาด เจ้าไปบางกอกพรุ่งนี้แหละดีแล้ว ไม่ต้องห่วงอะไรทั้งสิ้น เชื่อข้าเถอะ” ภิกษุตงพิจารณาตามเหตุผลของท่านสมภารแล้วก็เห็นพ้องด้วย บิดาของท่านเป็นคนพูดจริงทำจริงมาแต่ไหนแต่ไร วันพรุ่งนี้หากท่านไม่ไปบางกอกในตอนเช้าเสียก่อน ตกเย็นก็ต้องพบกับเหตุการณ์เช่นวันนี้อีกเป็นแน่
“ถ้าเช่นนั้น ผมของฝากหลวงพ่อช่วยกราบเรียนหลวงตาแทนผมด้วย มันกะทันหันเสียจนผมตั้งตัวไม่ทัน”
“ข้าบอกแล้วไงว่าเรื่องนี้จะต้องเป็นความลับ ข้าคิดว่าจะไม่เรียนให้ท่านทราบเพราะท่านแก่มากแล้ว เดี๋ยวจะคิดมากจนล้มเจ็บไปก็จะเป็นบาปกับข้าและเจ้าเปล่า ๆ” สมภารกรอดชี้แจง เมื่อพูดถึงสมภารกร่าง ภิกษุตงหน้าสลดลง ด้วยสมภารสูงอายุผู้นั้นเคยให้ความเมตตาเอ็นดูท่านมาตั้งแต่ก่อนบวชเณร ทั้งยังช่วยเหลือให้ได้มาอยู่ที่วัดโบสถ์แห่งนี้อีกด้วย
“อะไรก็ไม่สำคัญเท่าเรื่องเตี่ยของเจ้า ข้าไม่อยากเห็นแกมาอาละวาดจ้วงจาบด่าพระสงฆ์องค์เจ้า การด่าพระบาปหนักยิ่งกว่าด่าคนธรรมดา เพราะพระท่านเป็นผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ ฉะนั้นการไปของเจ้าจะช่วยให้แกไม่ต้องทำบาปมากขึ้น” แม้จะยอมจำนนต่อเหตุผลของท่านสมภาร กระนั้นภิกษุตงก็ยังรู้สึกห่วงหน้าพะวงหลัง ห่วงทั้งผู้บังเกิดเกล้าและผู้ให้แสงสว่างแก่ชีวิตอันได้แก่ท่านสมภารทั้งสอง แต่ด้วยจิตที่ฝึกดีแล้วนั้น ก็ทำให้ท่านตัดใจได้ในที่สุด
“เอาละ เจ้านอนได้แล้ว ข้าก็จะกลับไปนอนเช่นกัน พรุ่งนี้เช้าข้าจะไปส่งเจ้าที่เรือ จะได้ฝากฝังเขาให้เรียบร้อย” สั่งเสร็จท่านสมภารจึงเดินกลับกุฏิของท่าน ภิกษุตงลุกตามไปส่งจนถึงหัวบันได เห็นท่านขึ้นกุฏิเรียบร้อยจึงเดินกลับกุฏิของตน
 

 
       ภิกษุตงมาอยู่บางกอกเป็นเวลาถึงเจ็ดพรรษา ได้เรียนบาลีและปริยัติจนเชี่ยวชาญ ด้วยความรู้และความประพฤติอันหาข้อบกพร่องมิได้ ท่านจึงเป็นพระเถระที่ได้รับการยกย่องนับถือทั้งจากอุบาสกอุบาสิกา และจากเพื่อนบรรพชิตด้วยกัน
       วันหนึ่งท่านได้ปรารภกับพระครูเชื้อ สมภารวัดยานนาวาว่า อยากจะกลับไปอยู่ที่วัดบ้านเกิด เพื่ออบรมสั่งสอนและเผยแพร่ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาแก่พระเณรในท้องถิ่นนั้น ท่านพระครูฟังแล้วพลอยเห็นดีเห็นงามไปด้วย จึงมิได้ขัดความประสงค์ของพระลูกวัด ออกพรรษาปีนั้นภิกษุตงจึงได้เดินทางกลับมาอยู่ที่วัดโบสถ์ ซึ่งสมภารคนใหม่ก็ให้การต้อนรับอย่างดี ด้วยคุ้นเคยกันมาก่อนที่ท่านจะไปอยู่บางกอก
       วันรุ่งขึ้นภิกษุตง ได้นั่งเรือข้ามฟากไปวัดพุทธาราม เพื่อกราบเยี่ยมสมภารกร่าง ภาพที่เห็นเมื่อไปถึงทำให้ท่านถึงกับน้ำตาซึม ภิกษุชรานอนอาพาธอยู่บนเสื่อเก่า ๆ ผืนที่เคยใช้มานาน ร่างนั้นผอมซีดจนเห็นแต่หนังหุ้มกระดูก เรียกพระลูกวัดรูปหนึ่งมาสอบถามดูก็ได้ความว่า ท่านสมภารอาพาธมาร่วมปีด้วยโรคชรา ประกอบกับวัยกว่าเก้าสิบทำให้มดหมอไม่อาจเยียวยารักษาให้หายเป็นปกติได้ ภิกษุตงมองร่างนั้นด้วยใจรันทด เป็นเวลาเดียวกับที่ภิกษุอาพาธลืมตาขึ้นเหมือนจะรู้ว่ามีคนมา ภิกษุหนุ่มก้มลงกราบที่เท้าบอบบางของท่าน แล้วพูดขึ้นว่า “ทำไมเขาถึงปล่อยให้หลวงตานอนอยู่อย่างนี้โดยไม่มีใครมาคอยดูแลปรนนิบัติเล่าครับ”
       “เจ้าหรอกหรือตง มาทันเวลาพอดี” เสียงแหบแห้งเอ่ยทักทาย
       “ทำไมไม่มีใครมาดูแลหลวงตาเล่าครับ” ผู้มาเยือนถามซ้ำ
       “ข้าบอกเขาเองว่าไม่ให้มายุ่งกะข้า นี่ข้ารอวันเจ้ากลับมานะตง” ตาฝ้าฟางจับจ้องอยู่ที่ดวงหน้าของภิกษุหนุ่ม รูปร่างใหญ่โตหน้าตาดูมีสง่าราศีนั้น ทำให้ท่านสบายใจขึ้น อาการเหนื่อยล้าดูเหมือนจะลดน้อยลงเมื่อได้พบบุคคลที่ท่านรอคอยมานาน
       “หลวงตาป่วยมานานเท่าไหร่แล้วครับ”
       “ก็กระเสาะกระแสะมาตั้งแต่รู้ว่าเจ้าไปอยู่บางกอกนั่นแหละ ทำไมถึงไม่บอกข้า” ถามเชิงตัดพ้อ
       “เป็นความหวังดีของหลวงพ่อวัดโบสถ์ที่ไม่อยากให้หลวงตาไม่สบายใจ หลวงตารู้ตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ”
       “ปีที่แล้วนี่เอง ไอ้เจ้าสมภารกรอดนี่มันร้ายกาจนัก ขนาดมันตายก็ไม่ยอมให้ข้ารู้ สั่งลูกศิษย์ลูกหาไว้ไม่ให้บอกข้า” ท่านพูดพาดพิงไปถึงศิษย์ผู้ล่วงลับ
       “ท่านคงเกรงว่าจะทำความลำบากให้หลวงตากระมังครับ” ภิกษุตงกล่าวแก้และความจริงสมภารกรอดก็มีเจตนาเช่นว่านั้น
       “แต่ข้าก็รู้จนได้” ภิกษุชราแย้ง
       “ครับ แต่ก็ยังดีกว่าที่หลวงตารู้ในทันที อย่างน้อยก็ประวิงเวลามาได้ตั้งหกปี”
       “เอาละ หยุดพูดเรื่องนี้กันได้แล้ว มีเรื่องสำคัญกว่านั้นที่จะบอกให้เจ้ารู้ ตั้งใจฟังให้ดีนะ เวลาของข้าเหลือน้อยเต็มทีแล้ว” หยุดหายใจแรง ๆ อยู่ครู่หนึ่งจึงพูดขึ้นว่า
       “พรุ่งนี้เวลาตีสี่ข้าจะละสังขาร เรื่องศพของข้าไม่ต้องทำให้มันเอิกเกริก ที่สำคัญก็คือให้เจ้ารักษาการณ์แทนเจ้าอาวาสไปก่อน จนกว่าทางการเขาจะแต่งตั้งคนใหม่ขึ้นมา ใจข้าว่าเจ้าน่ะเหมาะสมกับตำแหน่งนี้ แต่ก็ต้องแล้วแต่ทางการเขาจะเห็นสมควร” ท่านพูดช้าหากชัดเจนทุกถ้อยคำ เพราะตั้งสติข่มทุกขเวทนาเอาไว้
       “แล้วคนอื่น ๆ เขาจะยอมหรือครับ เพราะผมก็เหมือนเป็นคนใหม่ของที่นี่ อีกประการหนึ่งอายุพรรษาก็ยังน้อย เมื่อเทียบกับพระรูปอื่น” ภิกษุตงท้วงติง
       “ข้อนั้นไม่ต้องห่วง ข้าคิดว่าคงไม่มีใครรังเกียจเจ้า จริงอยู่แม้พรรษาเจ้าจะน้อย แต่ข้อวัตรปฏิบัติของเจ้าก็เด่นกว่าคนอื่น ๆ ทั้งความรู้ด้านปริยัติเจ้าก็คงเล่าเรียนมาจากบางกอกใช่หรือไม่”
       “ครับ ผมใช้เวลาเรียนเจ็ดปีเต็ม ๆ จนรู้สึกว่าออกจะย่อหย่อนในด้านปฏิบัติไปบ้าง กลับมาอยู่นี่เห็นจะต้องเร่งรัดทำความเพียรให้มากขึ้น”
       “ดีแล้ว ข้าขออนุโมทนา เอาละเจ้าไปได้แล้ว ข้าขอนอนพักสักหน่อย อ้อ! อย่าลืมไปเยี่ยมเตี่ยเจ้าล่ะ” พูดจบภิกษุชราจึงหลับตาลง หายใจระรัวด้วยความอ่อนเพลีย ภิกษุหนุ่มคลี่ผ้าคลุมกายให้ท่านแล้วจึงลุกออกมา จากกุฏิของสมภารกร่างท่านเดินไปที่ฮวงซุ้ยของมารดาซึ่งอยู่หลังวัด ยืนสงบนิ่งอยู่หน้าฮวงซุ้ยเป็นการคารวะ จากนั้นจึงเดินทางไปยังบ้านของบิดา
       ตาแป๊ะเตี๋ยวถึงกับตะลึง เมื่อภาพของลูกชายในกาสาวพัสตร์มาปรากฏต่อหน้า แกขยี้ตาหลายครั้งด้วยคิดว่าฝันกลางวัน ครั้นลูกชายเอ่ยทักจึงรู้ว่าไม่ได้ฝัน
       “เจริญพร โยมเตี่ยสบายดีหรือ” ตาแป๊ะแทบจะร้องไห้โฮด้วยความปีติ เจ็ดปีเต็ม ๆ ที่แกต้องอยู่อย่างอ้างว้างและว้าเหว่ คิดว่าชาตินี้คงจะไม่ได้พบลูกอีกแล้ว แกร้องไห้รำพันออกมาจนฟังแทบไม่ได้ศัพท์ “อาตงลื้อยังมีชีวิกอยู่เหลอ เตี่ยนึกว่าลื้อตายตามอาอี๊ไปเลี้ยว ลื้อใจลำกะเตี่ยเหลือเกิง ทิ้งเตี่ยไปล่าย เสียแลงที่เตี่ยลักลื้อแต่ลื้อไม่ล่ายลักเตี่ยเลย ไม่ลักเตี่ยเลย” ฟังคำรำพันของบิดา ภิกษุตงถึงกับนิ่งงัน หากมิได้อยู่ในเพศบรรพชิตก็คงจะเข้าไปกราบแทบเท้าของบิดาเพื่อขอลุแก่โทษ รู้ตัวเหมือนกันว่าออกจะโหดร้ายต่อผู้บังเกิดเกล้าไปสักหน่อยที่หลบลี้หนีหน้าไปนานถึงปานนั้น บิดาคงจะมีความทุกข์มากเพราะดูเปลี่ยนไปราวกับเป็นคนละคนกับเมื่อก่อน เคราดำที่ยาวลงมาถึงราวนมเปลี่ยนมาเป็นสีเทา ร่างที่เคยแข็งแรงบึกบึนกลับดูร่วงโรย หลังงองุ้มเนื่องจากหาบของหนักทุกวี่วัน แทบไม่น่าเป็นไปได้ว่าเวลาเจ็ดปีได้เปลี่ยนแปลงสังขารของบิดาได้มากมายถึงปานนี้
       “โยมเตี่ยสบายดีหรือ” ท่านถามอีกด้วยไม่รู้จะพูดอะไรให้ดีไปกว่านี้
       “เออ ซาบายลี ซาบายชิกหาย อาตงนะอาตง อั๊วะเสียใจที่มีลูกไม่ลักลีอย่างลื้อ นี่ถ้าอาอี๊ลื้อไม่ตายอั๊วะคงมีลูกลี ๆ ไว้ใช้มั่ง ลื้อมังลูกลียำ” หายตื่นเต้นแล้วตาแป๊ะก็เปิดฉากด่า ทั้งรักทั้งแค้นแน่นอกจนต้องระบายออกมาด้วยการด่า ด่าเสียให้หายแค้น
       “โยมเตี่ย ด่าพระด่าเจ้าบาปกรรมนะ” ลูกชายเตือน
       “บาปยังไงอั๊วะหล่าลูกอั๊วะ ลูกอั๊วะมังลียำชิกหาย ให้มังช่วยหากิงมังก็หนีไปบวก อั๊วะอูส่าห์ตั้งชื่อมังว่าตง ไม่นึกว่ามังจากายเป็นเฮงซวยไปล่ายไอ้ลูกเฮงซวย” ผู้เป็นพ่อด่าไม่ลดละ
       “ถ้าอย่างนั้นอาตมากลับละนะ ขืนอยู่นานไปจะทำให้โยมเตี่ยบาปมากกว่านี้” ท่านลุกขึ้นเตรียมตัวจะกลับ คราวนี้ตาแป๊ะเสียงอ่อนลง พูดกับลูกว่า
       “อาตงลื้อจาไม่ยอมสึกมาช่วยเตี่ยขายหมูจิง ๆ เหลอ”
       “เรื่องนี้อาตมาพูดกับโยมเตี่ยมามากพอแล้ว เมื่อไหร่โยมเตี่ยจะยอมรับอะไร ๆ เสียทีนะ” ภิกษุตงพูดอย่างท้อแท้ แทบจะหมดกำลังใจในความดื้อรั้นของบิดา
       “พูกลีก็เลี้ยว พูกล้ายก็เลี้ยวยังไม่ยอมสึก ไอ้ลูกชิกหาย ลีแต่หน้าล่านเที่ยวขอทางเค้ากิง ลื้อไม่คิกจาทำมาหากิงมั่งลึไง จาขอทางเค้ากิงตาหลอกชีวิกเหลอ” เมื่อไม่ได้ดังใจตะแป๊ะก็โวยวายลั่น
       “อาตมาไม่โต้เถียงกับโยมเตี่ยดีกว่าเพราะถึงชนะก็เป็นชัยชนะที่ว่างเปล่า อาตมาขอบอกด้วยความหวังดีเป็นครั้งสุดท้ายว่า ที่อาตมาไม่สึกก็เพราะต้องการจะช่วยโยมเตี่ย” แล้วท่านก็หันหลังเดินกลับวัดพุทธาราม ตาแป๊ะทั้งด่าทั้งร้องไห้ฮือ ๆ เหมือนคนเสียสติ ภิกษุผู้เป็นบุตรรับรู้ด้วยความสังเวชใจยิ่งนัก
       ตอนตีสี่ของวันรุ่งขึ้น ท่านสมภารก็มรณภาพดังที่ได้ลั่นวาจาไว้ ภิกษุตงอยู่ปรนนิบัติดูแลอาการของท่านตลอดคืน กระทั่งถึงเวลาที่ท่านจากไปอย่างสงบ หลังจากสวดพระอภิธรรมครบเจ็ดวันตามประเพณีนิยมแล้ว ก็มีพิธีบรรจุศพเพื่อรอการฌาปนกิจ ต่อเมื่อครบร้อยวันนับตั้งแต่วันที่ท่านมรณภาพ ภิกษุตงได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดงาน และท่านก็ตั้งใจทำอย่างดีที่สุดเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณของท่านสมภารเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากการฌาปนกิจเสร็จสิ้นลงแล้ว บรรดาพระลูกวัดก็ได้นิมนต์ให้ท่านมาจำพรรษาอยู่ที่วัดพุทธารามในฐานะผู้รักษาการณ์แทนเจ้าอาวาส ดังที่ท่านสมภารได้สั่งไว้ก่อนมรณภาพ สมภารหนุ่มได้ปกครองพระลูกวัดด้วยความยุติธรรมและเปี่ยมด้วยเมตตาจนเป็นที่รักใคร่นับถือของพระเณรทั้งวัด ปีต่อมาท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสอย่างเป็นทางการ นับเป็นเจ้าอาวาสที่อายุน้อยที่สุดในสมัยนั้น
 

 
       วันหนึ่งเป็นวันเข้าพรรษา นายอำเภอกับลูกสาวมาทำบุญที่วัด นายอำเภอผู้นี้ท่านเป็นคนใจบุญสุนทาน เพิ่งย้ายมาจากอำเภอทางภาคเหนือ ภรรยาของท่านเสียชีวิตตั้งแต่ลูกสาวอายุได้ ๓ ขวบ ความรักที่ท่านมีต่อภรรยาประกอบกับความห่วงใยในบุตรสาวคนเดียว ทำให้ท่านไม่มีภรรยาใหม่ สู้อุตส่าห์เลี้ยงดูบุตรน้อยแต่เพียงผู้เดียว กระทั่งลูกโตเป็นสาว สายทองลูกสาวนายอำเภอนั้นมีเค้าสวยมาแต่เด็ก ครั้นย่างเข้าสู่วัยที่กำลังสดชื่นเปล่งปลั่ง ความสวยงามของหล่อนก็เบ่งบานเต็มที่ เสียงกล่าวขานเรื่องความงามของหล่อนขจรขจายไปทั่วทิศ ผู้ที่ได้พานพบต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าหล่อนช่างงามสมคำร่ำลือ
       สมภารหนุ่มถึงกับตะลึงงันเมื่อนายอำเภอพาลูกสาวเข้าไปประเคนภัตตาหาร กามเทพได้แผลงศรรักมาปักกลางใจของท่านเข้าแล้ว ท่านงกเงิ่นจนทำอะไรไม่ถูก มือที่ถือผ้ารับประเคนสั่นไหวด้วยความประหม่า ข้างฝ่ายสาวงามนามสายทองนั้นเล่าก็เกิดอาการประหม่าไม่แพ้กัน ด้วยสายตาคมกริบของสมภารหนุ่มที่จ้องมองมายังหล่อนนั้นก่อให้เกิดความรู้สึกร้อน ๆ หนาว ๆ สลับกัน เคยถูกเมียงมองด้วยสายตาเช่นนี้มาก่อนนับครั้งไม่ถ้วน หากก็ไม่เคยมีความรู้สึกเช่นนี้ หรือว่าจะเป็นเทพอุ้มสม หญิงสาวพยายามสลัดความคิดแปลกประหลาดนี้ออกไปด้วยเกรงจะเป็นบาปเป็นกรรมที่คิดอกุศลกับพระกับเจ้า
       กิริยาของสมภารหนุ่มกับสีกาสาวมิได้รอดพ้นสายตาของนายอำเภอไปได้ อาศัยที่เคยอาบน้ำร้อนมาก่อน ท่านจึงเข้าใจความรู้สึกของคนทั้งคู่ได้ดี นึกพึงใจในสมภารหนุ่มและคงจะไม่รังเกียจหากฝ่ายนั้นจะสึกหาลาเพศมาสมัครเป็นเขย ท่านคิดอย่างคนใจบุญใจกุศลว่า หากบุตรสาวได้แต่งงานกับคนที่เคยบวชเรียนมาแล้ว ชีวิตก็คงจะราบรื่นอยู่เย็นเป็นสุขไปจนตลอดอายุขัย
       “ลูกสาวของผมเองครับ ชื่อสายทอง”  ท่านแนะนำเมื่อสมภารหนุ่มมองบุตรสาวแทบไม่วางตา “เจริญพร แล้วคุณนายไม่มาด้วยหรือ” ถามแก้เก้อไปอย่างนั้นเอง
       “ภรรยาผมเสียชีวิตตั้งแต่ลูกสายทองยังเล็ก ๆ และผมก็ไม่ได้แต่งงานอีกครับ” นายอำเภออธิบาย สีหน้าสลดลงเมื่อเอ่ยถึงภรรยาผู้ล่วงลับ
       “อย่างนั้นหรอกหรือ อาตมาขอแสดงความเสียใจด้วย ตัวอาตมาเองก็เป็นลูกกำพร้า โยมมารดาเสียชีวิตตั้งแต่อาตมาอายุได้สิบขวบ” ท่านเปิดเผยเรื่องราวของตัวเองบ้าง อย่างน้อยก็เพื่อปลอบใจหญิงสาวว่ามิใช่แต่หล่อนดอกที่กำพร้ามารดา หากยังมีท่านอีกผู้หนึ่งที่ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน คุยกันได้ไม่กี่ประโยคก็ได้เวลาฉันภัตตาหารซึ่งแม้ว่ามีอาหารคาวหวานมากมายเพราะเป็นวันเข้าพรรษา หากสมภารหนุ่มกลับฉันไม่ใคร่ลง ดูมันขัดเขินขวยอายอย่างไรพิกล ท่านรอจนพระรูปอื่นฉันเสร็จแล้วจึงยถาสัพพีพร้อมกัน รับพรจากพระแล้วนายอำเภอและลูกสาวก็กราบลาท่านสมภารเพื่อกลับบ้าน เมื่อสองพ่อลูกลุกออกไป สมภารหนุ่มรู้สึกว่าหัวใจของท่านมิได้อยู่กับตัวอีกต่อไป หากมันได้หลุดลอยตามสตรีที่ชื่อสายทองไปเสียแล้ว
       ตกกลางคืนภิกษุตงมิเป็นอันได้ทำอะไร ด้วยจิตใจมัวพะวักพะวนถึงแต่สาวงามนามสายทองผู้นั้น เพื่อขจัดอกุศลธรรมที่ขึ้นในจิตใจ ท่านจึงเริ่มเดินจงกรมและนั่งสมาธิ แต่ไม่ว่าจะใช้ความพยายามในการเดินหรือนั่งอย่างไร ก็มิอาจทำให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิได้เลย ทั้งนี้เพราะกามฉันทนิวรณ์ได้คุกคามท่านอย่างหนัก จนท่านมิอาจประคองจิตให้ตั้งอยู่ในกุศลธรรมได้ ใบหน้างามผุดผ่องของสีกาผู้นั้นลอยมาวนเวียนอยู่ในห้องสำนึก ทั้งท่านก็พึงพอใจที่จะเพ่งพิศจนมิอาจข่มหรือระงับได้ ในที่สุดท่านจึงตัดสินใจที่จะลาสิกขา โยมบิดาคงดีใจไม่น้อยหากได้รับรู้การตัดสินใจของท่านในครั้งนี้
       นับเป็นเรื่องธรรมดาของบุคคลที่ยังติดข้องอยู่โลกียวิสัย ที่มิอาจละกามคุณห้าคือ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสได้ แม้พระอริยบุคคลระดับต้น เช่นพระโสดาบันและพระสกิทาคามี ก็ยังละกามคุณห้าไม่ได้ ก็แล้วประสาอะไรกับพระหนุ่มอย่างท่าน ซึ่งแม้จะปฏิบัติได้ก้าวไกล หากก็ยังไม่ถึงขั้นเป็นพระอริยบุคคล ด้วยมิใช่เรื่องที่จะทำให้ได้โดยง่าย
       อย่างไรก็ตามท่านได้ตั้งปณิธานไว้แน่วแน่ว่า แม้จะหันไปถือเพศฆราวาส แต่ก็จะยังคงปฏิบัติธรรมแต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และหากบุญบารมีที่สะสมไว้มีมากพอก็คงจะมีโอกาสได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับต้นในปัจจุบันชาตินี้ ท่านจะตั้งตนอยู่ในศีลในธรรม จะทำชีวิตให้สมบูรณ์แบบที่สุดสมกับคำกล่าวที่ว่า “ทางโลกก็ไม่ให้ช้ำ ทางธรรมก็ไม่ให้เสื่อม” ตัดสินใจดังนี้แล้วจึงหยิบกระดาษดินสอขึ้นมาเขียนหนังสือ พรุ่งนี้เช้าจะให้ลูกศิษย์ถือไปให้สาวสายทอง
       เช้าวันรุ่งขึ้น นางสาวสายทองก็ได้รับสารรักจากสมภารหนุ่ม เด็กที่ถือมาได้บอกหล่อนว่าท่านสมภารให้รอรับหนังสือตอบกลับไปด้วย เพราะท่านอยากรู้คำตอบในวันนี้ หญิงสาวเปิดออกอ่านด้วยความฉงน เดาเรื่องไม่ออกว่าท่านสมภารจะมีธุระปะปังอะไรกับตน
       “เจริญพรสีกา... คงมิเป็นการสมควรเท่าใดนักที่อาตมภาพซึ่งเป็นบรรพชิตจะเขียนหนังสือฉบับนี้ถึงสีกา อาตมภาพได้ใคร่ครวญไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้ว จึงได้ตัดสินใจเขียนมาตามความเรียกร้องของหัวใจ ออกพรรษานี้อาตมภาพจะลาสิกขาและจะจัดผู้ใหญ่มาสู่ขอสีกาต่อท่านนายอำเภอ สีกามีความเห็นเป็นประการใด โปรดแจ้งให้อาตมภาพได้รับรู้ด้วย และหากสีกาไม่มีไมตรีตอบ อาตมภาพก็จะขอบวชอยู่อย่างนี้ไปจนตลอดชีวิต ท้ายที่สุดนี้ อาตมภาพขออวยพรให้สีกาและท่านนายอำเภอจงมีความสุขความเจริญตลอดกาลนานเทอญ ขอเจริญพร... จาก ภิกษุตง ปิยสีโล” ลายมือของท่านสมภารสวยงามและเป็นระเบียบทั้งข้อความที่เขียนมาก็ทำให้เลือดในกายของหล่อนฉีดแรงด้วยความปีติ หญิงสาวจึงมิรังเกียจที่จะอ่านซ้ำไปซ้ำมาอยู่ถึงสามเที่ยว กระทั่งศิษย์วัดผู้นำข่าวดีมาให้ต้องเตือนขึ้นว่า “ท่านสมภารสั่งผมให้รอเอาหนังสือตอบไปด้วยครับ”
       “ถ้าอย่างนั้นหนูรอเดี๋ยวนะจ๊ะ น้าจะต้องเข้าไปเขียนก่อน” พูดจบก็หายเข้าไปข้างใน ประเดี๋ยวหนึ่งก็ออกมาพร้อมขนมแป้งสิบหนึ่งจานกับน้ำฝนใสสะอาดหนึ่งขัน
       “หนูทานขนมไปพลางก่อนนะ” แล้วหล่อนก็กลับเข้าไปข้างในอีกครั้ง ปล่อยให้เด็กชายได้มีโอกาสจัดการกับขนมรสโอชานั้นอย่างเพลิดเพลิน
 

 
       ทันทีทีศิษย์วัดนำซองสีฟ้ามาให้ สมภารตงรีบฉีกออกอ่านอย่างรีบร้อน ปกติท่านเป็นคนใจเย็น แต่รักแรกพบเปลี่ยนท่านให้กลายเป็นคนใจร้อนไปเสียได้
       “นมัสการท่านพระคุณเจ้าที่เคารพอย่างสูง ดิฉันได้อ่านหนังสือของพระคุณเจ้าแล้วก็ให้กระอักกระอ่วนใจมิรู้ที่จะตอบอย่างไรจึงจะเป็นการสมควร ดิฉันมิประสงค์จะให้คนเขาติฉินนินทาว่าเป็นสีกามาสึกพระ กลับบาปกลัวกรรมเจ้าค่ะ สำหรับเรื่องนั้นอยากให้พระคุณเจ้ามาพูดกับคุณพ่อหลังจากสึกออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดิฉันมิอาจจะตัดสินใจโดยพลการ จึงขอให้เป็นเรื่องของบิดาที่จะพิจารณาว่าสมควรหรือไม่อย่างไร หากพระคุณเจ้ากับดิฉันเคยอุปถัมภ์ค้ำชู้กันมาแต่ชาติปางก่อนก็คงจะเป็นไปตามประสงค์ของพระคุณเจ้า ขอจบเพียงนี้นะเจ้าคะ... นมัสการมาด้วยความเคารพอย่างสูง จาก นางสาวสายทอง ฤทธิ...” อ่านจบสมภารหนุ่มให้ปีตินักด้วยถ้อยความในหนังสือนั้นบ่งบอกเป็นความนัยว่าสาวสายทองมิได้รังเกียจท่าน บิดาหล่อนคงไม่ขัดข้องหากท่านไปสู่ขอ เพราะถึงฝ่ายนั้นจะเรียกค่าสินสอดสักร้อยชั่งพันชั่งท่านก็ไม่เดือดร้อน ด้วยรู้ว่าโยมบิดามีเงินเป็นปี๊บ ๆ แอบฝังไว้ใต้ดิน กล่าวกันว่า คนที่กำลังมีความรักมักตาบอด ภิกษุตงก็เป็นเช่นนั้น แต่ก่อนแต่ไรท่านไม่เคยยินดียินร้ายกับทรัพย์สินเงินทองที่บิดามีอยู่ ด้วยรังเกียจว่ามันสกปรก เพราะได้มาจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอันถือเป็นมิจฉาอาชีวะ แต่บัดนี้.. ยามมีความรัก ท่านกลับมองเป็นคุณค่าอันมหาศาลของมัน ปรารถนาที่จะใช้มันเป็นสะพานทอดไปสู่ความสุขสมหวังในรัก ลืมเสียสิ้นว่าครั้งหนึ่งท่านเคยรังเกียจเดียดฉันท์มันเสียนัก ความปรารถนาในกามคุณ ๕ ได้เข้าครอบงำดวงจิตของท่านเสียแล้ว...
       อารามดีใจสมภารหนุ่มจึงเดินไปยังบ้านของบิดาเพื่อแจ้งข่าวดี ผู้บังเกิดเกล้าจะได้สมหวังในตัวท่านเสียที เพราะอยากให้สึกมานานแล้ว แต่สำหรับเรื่องฆ่าหมูขายท่านยอมรับไม่ได้ เรื่องนี้ค่อยพูดกับบิดาในภายหลัง
       “เจริญพรโยมเตี่ย อาตมามีข่าวดีจะแจ้งให้ทราบ” ท่านบอกบิดาทันทีที่ไปถึง
       “ข่าวลีห่าเหวอาลายอั๊วะไม่อยากฟังทั้งนั้ง ลื้อมังลูกเฮงซวย พาอั๊วะชิกหายหมก” ตาแป๊ะเตี๋ยวกำลังอารมณ์เสีย เพราะสินค้าเหลือเบะบานกลับมาบ้าน เป็นอย่างนี้ติด ๆ กันมาห้าวันเข้านี่แล้ว
       “ข่าวดีจริง ๆ นะ โยมเตี่ยฟังอาตมาก่อนซี อาตมาจะสึกมาอยู่กับโยมเตี่ยแล้ว” พระลูกชายไม่รู้สึกหงุดหงิดกับคำด่าทอนั้น อยากจะคิดว่าเป็นเสียงจากสวรรค์เสียด้วยซ้ำไป ยามมีความรักอะไร ๆ ก็ดูดีไปหมด
       “หา..ลื้อว่าอาลายนะ” ตาแป๊ะเตี๋ยวถามเสียงดังด้วยคิดว่าหูแกเฝื่อนไป
       “อาตมาจะสึกมาช่วยโยมเตี่ยประกอบอาชีพ” สมภารตงย้ำ หากไม่บอกว่าอาชีพที่ว่านั้นจะต้องไม่ใช่การฆ่าหมูขาย
       “เกิกบ้าอาลายขึ้งมาล่ะ หลือว่าขอทางเค้ากิงมังฝืดเคือง” ทั้งที่ดีใจแต่ยังไม่วายพูดถากถาง
       “โยมเตี่ยพูดยังกับไม่อยากให้อาตมาสึก” คราวนี้ลูกชายแสร้างตัดพ้อ
       “ทำมายลื้อจาสึกล่ะ” ผู้เป็นพ่อถามอย่างเป็นงานเป็นการ
       “อาตมาจะแต่งงาน โยมเตี่ยต้องไปขอเขาให้อาตมาด้วยนะ” ดวงตาเป็นประกายวาววับเมื่อพูดเรื่องแต่งงาน
       “ขอคาย อีเป็งลูกเต้าเหล่าคาย” ถามอย่างยินดี ลูกชายจะแต่งงานนั้นหมายความว่าไม่ช้าแกจะได้อุ้มหลาน คิดว่าชาตินี้ทั้งชาติจะไม่มีโอกาสเป็น “อากง” เสียแล้ว
       “ลูกสาวนายอำเภอ สวยอย่าบอกใครจริง ๆ นะโยมเตี่ย” บอกย่างภาคภูมิ
       “แล้วลื้อมาบอกอั๊วะทำมาย” บิดาเริ่มมีอารมณ์ขัน โลกไม่ได้โหดร้ายต่อแก่อย่างที่คิด
       “ก็บอกโยมเตี่ยคนเดียวแหละ โยมเตี่ยอย่าไปบอกใครอีกก็แล้วกัน” ลูกชายต่อปากต่อคำ นานหนักหนาแล้วที่อารมณ์ขันหายไปจากชีวิตของผู้บังเกิดเกล้า เห็นบิดามีความสุขท่านก็พลอยยินดีด้วย
       “แล้วอีจายอมแต่งงานกะลื้อเหลอ อีเป็งตั้งลูกเจ้าเมือง” ตาแป๊ะชักเป็นห่วงลูกชาย
       “แหม.. โยมเตี่ยอย่างเพิ่งเลื่อนตำแหน่งให้เขาซี เขาเป็นลูกนายอำเภอยังไม่ถึงเจ้าเมือง” ลูกชายรีบชี้แจง
       “ไอ๊หยา.. ทีนี้อั๊วะก็เลิกขายหมูล่ายเลี้ยวซี มีลูกตาใภ้เป็งตั้งลูกนายอังเภอ” ตาแป๊ะอุทานอย่างยินดี แกถือโอกาสละทิฐิ ความจริงก็คิดจะเลิกขายมานานแล้ว เพราะหมู่นี้ขายไม่ดีเอาเสียเลย แกมิรู้ดอกว่านั่นเป็นด้วยอำนาจบุญกุศลที่ลูกชายแผ่เมตตาให้ทุกวัน สมภารตกได้ยินเช่นนั้นก็ปีติเป็นทวีคูณ สิ่งที่ท่านตั้งความหวังเอาไว้ตั้งแต่ครั้งเป็นสามเณรได้บรรลุจุดมุ่งหมายแล้วในวันนี้
 
๑๐
 
     ก่อนออกพรรษาเพียงสามวัน ตาแป๊ะเตี๋ยวก็ถูกฆ่าตายอย่างอเนจอนาถ สันนิษฐานว่าพวกโจรคงรู้ระแคะระคายเรื่องที่แกซ่อนเงินไว้ใต้ดิน จึงพากันมาปล้น คืนนั้นตอนตีสองตาแป๊ะตื่นขึ้นปฏิบัติภารกิจดังเช่นเคย ขณะที่แกใช้มีดเล่มยาวแทงคอหมู พวกโจรก็จู่โจมเข้าถึงตัวและบังคับให้แกบอกที่ซ่อนเงิน นอกจากไม่ยอมบอกแล้วตาแป๊ะยังพยายามต่อสู้โดยใช้มีดปลายแหลมแทงโจรคนหนึ่งถึงแก่ความตาย หัวหน้าโจรโกรธจัดสั่งให้ลูกน้องช่วยกันจับแกไว้ ใช้มีดเล่มเดียวกันนั้นแทงคอหอยแกจนทะลุ
       ก่อนสิ้นใจตาแป๊ะส่งเสียงร้องโอดโอยด้วยความเจ็บปวด แวบหนึ่งแกนึกถึงบรรดาหมูที่แกเคยฆ่าและดูเหมือนพวกมันพากันมาส่งเสียงเยาะเย้ยอยู่รอบ ๆ ตัวแก ภาพและเสียงเหล่านั้นเพิ่มความเจ็บปวดให้แกเป็นทวีคูณ แกดิ้นทุรนทุรายอยู่พักใหญ่ ๆ จึงสิ้นใจ
       เสียงร้องของตาแป๊ะปลุกชาวบ้านแถบนั้นให้ตื่นและพากันมายังบ้านของแกโดยถือคบไต้เป็นไฟส่องทาง พวกโจรพากันหนีไปก่อนที่ชาวบ้านจะมาถึง เมื่อเห็นว่าได้เกิดอะไรขึ้นกับตาแป๊ะ ใครคนหนึ่งจึงออกความเห็นให้ไปตามสมภารตง อึดใจใหญ่ ๆ สมภารหนุ่มก็มาถึง สภาพศพของบิดาทำให้ท่านต้องหลั่งน้ำตามากกว่าครั้งใด ๆ ในชีวิต ไม่มีแก่ใจที่จะตั้งสติกำหนดรู้ถึงความเสียใจดังที่สมภารกรอดเคยสอนเอาไว้ รู้ในทันทีว่ากรรมได้ตามสนองบิดาตั้งแต่ในชาตินี้ ท่านหมดโอกาสที่จะเลี้ยงดูผู้บังเกิดเกล้าให้เป็นสุขดังที่ได้ตั้งใจเอาไว้ ด้วยมาเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเช่นนี้ขึ้นเสียก่อน
       งานศพของตาแป๊ะถูกจัดขึ้นอย่างดีที่สุดเท่าที่สมภารหนุ่มจะทำให้ผู้บังเกิดเกล้าได้ ท่านคิดว่าจะได้เป็นการทดแทนบุญคุณบิดาเป็นครั้งสุดท้าย
       การสวดพระอภิธรรมศพในคืนแรกผ่านไปด้วยดี ตะเกียงเจ้าพายุหลายดวงถูกจุดขึ้นจนสว่างไสวไปทั่วทั้งวัด ชาวบ้านมาร่วมฟังสวดกันคับคั่งด้วยความเคารพนับถือสมภารตง นายอำเภอกับลูกสาวก็มาร่วมงานด้วย
       หลังสวดศพคืนนั้น สมภารหนุ่มใช้เวลาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนานกว่าทุกวัน ท่านแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลไปให้บิดาซึ่งท่านเชื่อว่าจะต้องไปเกิดในทุคติอย่างแน่นอนตามกรรมที่ได้ทำเอาไว้
       ตกคืนที่สอง ขณะที่พระสี่รูปกำลังเริ่มจะสวดโดยมีสมภารตงและพระรูปอื่น ๆ นั่งฟังอยู่แถวหน้า ถัดไปเป็นนายอำเภอกับลูกสาวและพวกชาวบ้าน เสียงกุกกักดังมาจากโลงศพ เป็นเหตุให้พวกคนขวัญอ่อนมองหน้ากันเลิกลั่ก เพราะคิดว่าผีตาแป๊ะเตี๋ยวคงสำแดงฤทธิ์ ด้วยเชื่อกันว่าผีตายโหงนั้นดุอย่าบอกใคร
       เสียงกุกกักดังขึ้นอีก คราวนี้ชัดเจนกว่าครั้งแรก หลายคนลุกยืนขึ้น เตรียมพร้อมที่จะวิ่งหากมีอะไรเกิดขึ้น
       “ลองปีนขึ้นไปดูซิ เผื่อหนูหรือแมวมันตกลงไปในนั้นแล้วขึ้นไม่ได้” สมภารหนุ่มสั่งพระลูกวัดรูปที่นั่งติดกับท่าน พระรูปนั้นทำท่าลังเลเพราะเป็นคนกลัวผี จึงกระซิบรูปที่นั่งถัดจากตนให้ทำแทน พระหนุ่มอีกรูปหนึ่ง จึงปีนขึ้นไปยังที่ตั้งโลงศพ ยกฝาโลงออกแล้วมองลงไป
       ภายใต้แสงสว่างจากตะเกียงเจ้าพายุ ทำให้ท่านมองเห็นว่าผู้ตายกำลังใช้ข้อศอกกระทุ้งฝาโลงด้วยความลำบาก เพราะมือทั้งสองยังอยู่ในท่าประนมไว้หว่างอก มีผ้าตราสังข์และด้ายสายสิญจน์มัดไว้อย่างแน่นหนา ลองจับชีพจรดูเห็นยังเต้นอยู่ ทั้งตัวก็ยังอุ่น ๆ จึงแกะเทียนสีเหลืองที่ทำเป็นเบ้าปิดลูกตาทั้งสองข้างออก เห็นตาแป๊ะลืมตาโพลงทำหากขมุบขมิบ จึงตะโกนลงไปว่า “คนตายฟื้นแล้ว คนตายฟื้นแล้ว” สมภารตงรีบลุกจากอาสนะปีนขึ้นไปดูบ้าง ครั้นเห็นจริงตามที่พระรูปนั้นบอก จึงสั่งให้คนมาช่วยกันยกโลงลงมาข้างล่าง แล้วจึงช่วยกันหามตาแป๊ะออกมาวางบนเสื่อ แก้มัดผ้าตราสังข์และด้ายสายสิญจน์ออกจากมือ ตาแป๊ะมีท่าทางอิดโรยและหวาดกลัว กลอกตามองหน้าคนโน้นทีคนนี้ที แล้วมาหยุดนิ่งอยู่ที่ดวงหน้าของพระลูกชาย พยายามจะพูดอะไรด้วย ทว่าไม่มีเสียงเล็ดลอดออกมาจากริมฝีปากซีดเซียวคู่นั้น
       “ใครช่วยไปตามหมอมาหน่อยเร็วเข้า” นายอำเภอออกคำสั่งเมื่อเห็นท่าทางอ่อนระโหยโรยแรงของตาแป๊ะ นางสาวสายทองนั่งสงบเสงี่ยมอยู่ข้างบิดา มิได้แสดงอาการหวาดกลัวเช่นคนอื่น ๆ โชคดีที่แพทย์ประจำตำบลก็มาร่วมฟังสวดด้วย เขาขอตัวกลับไปเอาล่วมยาที่บ้านซึ่งอยู่หน้าวัด อึดใจหนึ่งก็มาถึง ตรวจหัวใจตะแป๊ะด้วยเครื่องหูฟังแล้วพูดขึ้นว่า “หัวใจเต้นอ่อนมาก เดี๋ยวผมจะฉีดยาบำรุงหัวใจให้หนึ่งเข็ม อาการคงจะดีขึ้น” แล้วเขาก็จัดการฉีดยาให้ตาแป๊ะอย่างชำนิชำนาญ นางสาวสายทองลุกขึ้นเดินไปที่โรงครัวซึ่งอยูทางปีกซ้ายของศาลา สักครู่หนึ่งจึงกลับเข้ามาพร้อมข้าวต้มร้อน ๆ บรรจุอยู่ในชามใบเขื่อง หล่อนใช้ช้อนคนข้าวต้มในชามให้เย็นลง แล้วจึงป้อนใส่ปากตาแป๊ะ ซึ่งฝ่ายนั้นก็กินอย่างหิวโหย
 
๑๑
      
       เมื่ออิ่มหมีพีมันดีแล้ว ตาแป๊ะเตี๋ยวจึงบอกให้คนช่วยพยุงนั่ง มองหน้าพระลูกชายแล้วพูดว่า “ท่านตง ท่านต้องช่วยเตี่ยนะ” สมภารตงรู้สึกแปลกใจที่บิดาเรียกตนว่า “ท่านตง” แทนที่จะเป็น “อาตง” อย่างแต่ก่อน รีบตอบบิดาว่า “ช่วยสิ อาตมาจะช่วยโยมเตี่ยทุกอย่างให้บอกมาเถอะ”
       “ถ้าท่างตงจาช่วยเตี่ยจิงจาต้องไม่สึกนะ ต้องบวกอยู่อย่างนี้จงตาหลอกชีวิก ลับปากกับเตี่ยซี่ว่าท่างจาไม่สึก” แกขอคำมั่นสัญญา
       “บวชตลอดชีวิต... นี่อาตมาไม่ได้ฟังผิดไปนะ โยมเตี่ยจะให้อาตมาบวชตลอดชีวิตจริงหรือ” ท่านถามอย่างไม่แน่ใจ
       “ถูกเลี้ยวท่านตง ถ้าเห็งแก่เตี่ยท่างต้องบวกตาหลอกชีวิก” ถ้อยคำของบิดาทำให้สมภารตงรู้สึกสับสน ท่านคิดในใจว่า เอ.. โยมเตี่ยนี่เป็นยังไงนะ ตอนเราขอบวชก็ไม่ยอมให้บวช ครั้นเราจะสึกกลับมาขอร้องไม่ให้สึกเสียอีก พิกลจริง ๆ” เห็นลูกชายเงียบไปตาแป๊ะจึงย้ำอีกว่า
       “อย่าสึกนะ ท่างตงต้องช่วยเตี่ยนะ เตี่ยจาเล่าให้ฟัง เหลียวนี้ว่าเตียไปเจออาลายมา” แล้วแกก็ตั้งต้นเล่าท่ามกลางผู้คนซึ่งต่างก็ตั้งใจฟังด้วยความสนใจ
       ตาแป๊ะเตี๋ยวเล่าว่า ตอนที่แกถูกมีดปลายแหลมแทงคอนั้น แกปวดเจ็บมากแล้วก็เห็นบรรดาหมูที่แกเคยฆ่ามาลอยวนเวียนอยู่ตรงหน้า พวกมันพากันมาเยาะเย้ยแก มีเสียง “สมน้ำหน้า สมน้ำหน้า” ดังก้องอยู่ริมหู แกดิ้นทุรนทุรายอยู่พักหนึ่ง ความรู้สึกก็ดับวูบลงเพราะวิญญาณออกจากร่าง แกเห็นตัวเองนอนแผ่หราอยู่ข้างเล้าหมู หน้าตาบิดเบี้ยวเหยเก ที่คอมีมีดปลายแหลมเสียบอยู่ แกดูอยู่อย่างนั้นกระทั่งชาวบ้านมาถึงแล้วมีคนไปตามพระลูกชายมา แกพยายามจะปลอบสมภารตงไม่ให้ร้องไห้ แต่ฝ่ายนั้นไม่ได้ยินเพราะอยู่คนละภพภูมิกัน สักครู่ก็มีชายฉกรรจ์ร่างกำยำสองคน มีผ้าแดงคาดที่ศีรษะมาเอาตัวแกไปยังที่แห่งหนึ่ง เป็นที่ที่น่ากลัวมาก มีคนถูกทรมานทรกรรมด้วยวิธีต่าง ๆ บ้างถูกบังคับให้ปีนต้นไม้ที่มีหนามแหลมยาว มีแร้งกาปากเหล็กรุมจุกตามเนื้อตัวหน้าตา บ้างถูกจับโยนลงไปในกระทำทองแดงที่มีน้ำกำลังเดือดพล่าน บ้างถูกเลื่อยกลางลำตัวจนขาดเป็นสองท่อนแล้วมันก็กลับมาติดกันใหม่ให้ถูกเลื่อยอีก ด้วยจิตสำนึกบอกแกว่าสถานที่แห่งนั้นก็คือ นรก แล้วความหวาดกลัวก็ประดังขึ้นในจิตใจของแก เมื่อนึกถึงกรรมที่เคยทำไว้ตอนยังมีชีวิต แกนึกเสียใจที่ไม่เชื่อลูกชายเสียแต่แรกว่านรกมีจริง บุรุษทั้งสองพาแกมาหาบุรุษอีกผู้หนึ่ง และบอกว่าเป็นพญายมราชผู้เป็นใหญ่ในยมโลก แล้วแกก็ถูกพญายมราชไต่สวน ซึ่งแกเล่าอย่างละเอียดทุกขั้นตอน
       “ตาแป๊ะเจ้าทำอะไร” พญายมราชถาม
       “อั๊วะฆ่าหมูขาย” ตาแป๊ะตอบ
       “แล้วเคยทำบุญบ้างไหม”
       “ไม่เคย อั๊วะไม่เชื่อเลื่องบากเลื่องบุง”
       “แล้วทีนี้เจ้าเชื่อหรือยังล่ะ เชื่อหรือยังว่า นรกสวรรค์มีจริง”
       “อั๊วะเชื่อเลี้ยว เชื่อว่านาลกมีจิง แต่ซาหวังอั๊วะยังไม่เคยเห็ง”
       “ก็ยังไม่เชื่องั้นสิ”
       “ม่ายเชื่อ” พูดพร้อมกับสั่นหัว
       “ก็ถ้าเจ้าทำความดี จะได้ไปสวรรค์ ไปอยู่กับเซาะกิม เมียของเจ้ายังไงล่ะ โน่นสวรรค์อยู่บนโน้น” พญายมราชชี้มือขึ้นฟ้า คราวนี้ตาแป๊ะเชื่อสนิทและให้นึกเสียดายว่า น่าจะทำความดีจะได้ขึ้นไปอยู่บนสวรรค์กับเซาะกิมเมียรัก แกรู้ว่าเมียแกเป็นคนดี เพราะใคร ๆ ก็พูดเช่นนั้น
       “เจ้าทำบาปไว้มาก จะต้องถูกลงโทษรู้ไหม” ได้ยินคำว่าลงโทษ ตาแป๊ะกลัวจนตัวสั่น เพราะเพิ่งเห็นมาเมื่อตะกี้ แกยกมือไหว้ปะหลก ๆ พลางอ้อนวอน “อั๊วะกัวเลี้ยว อั๊วะกัวเลี้ยว อย่าทำอั๊วะเลย อั๊วะเข็กเลี้ยว ไม่ทำความชั่วเลี้ยว” แกละล่ำละลัก เหงื่อกาฬแตกพลั่ก ๆ
       “สายไปเสียแล้วตาแป๊ะเอ๋ย เจ้าต้องถูกลงโทษ ไม่มีใครช่วยเจ้าได้ ใครทำกรรมอะไรไว้ก็ต้องรับกรรมนั้นด้วยตัวเอง ช่วยกันไม่ได้ รับกรรมแทนกันก็ไม่ได้ เอาละเตรียมตัวรับโทษได้แล้ว” ถ้อยคำของพญายมราชดุจดังมีดกรีดลงกลางใจตาแป๊ะ แกรีบบอกกับพญายมราชว่า
       “อย่าทำอั๊วะ เลี้ยวอั๊วะจาให้เงิงลื้อสิกชั่ง” แกให้สินบน
       “เสียใจ เงินทองไม่มีความหมายสำหรับสถานที่แห่งนี้ ถึงเจ้าจะให้เราสักร้อยชั่งพันช่างก็ไม่อาจช่วยเจ้าให้พ้นโทษได้ ที่เจ้าพูดมานั้นมันแสดงถึงความโง่เขลาเบาปัญญาของเจ้า รู้หรือเปล่า” ตาแป๊ะยืนคอตกด้วยมิรู้จะทำประการใด ยิ่งนึกถึงบาปกรรมของตนก็ยิ่งกลัวจนตัวสั่นงันงก
       “เจ้าจงรับโทษตามกรรมที่ทำ” เสียงนั้นดังกังวานบาดลึกเข้าไปในหัวใจของตาแป๊ะ ทันใดนั้นไฟนรกก็ลุกพรึบขึ้นท่วมตัวตาแป๊ะเตี๋ยว แกส่งเสียงร้องลั่นด้วยความกลัวสุดขีด เปลวไฟร้อนแรงน้นแผดเผาเนื้อหนังมังสาของแกจนปวดแสบปวดร้อน
       “ไอ้หยา ช่วยล่วย ช่วยล่วย อั๊วะซี้เลี้ยว อั๊วะซี้เลี้ยว” แกดิ้นทุรนทุรายปากก็ร้องให้ช่วย
       บัดดลนั้นก็มีผ้าเหลืองลอยมาโบกพัดปัดเปลวเพลิงนั้นให้สงบลง เหลือแต่ควันพวยพุ่งอยู่รอบตัว ตาแป๊ะเอามือปัดป้องเป็นพัลวันด้วยสำลักควันไฟ พญายมราชรู้สึกฉงนในสิ่งที่ปรากฏ ผ้าเหลืองนั้นลอยมาจากที่ใด เกี่ยวข้องกับตาแป๊ะอย่างไร ด้วยความสงสัยจึงถามขึ้นว่า
       “ตาแป๊ะเจ้าเคยบวชหรือเปล่า”
       “อั๊วะไม่เคยบวก อั๊วะเกียกพะ” แกตอบตามจริง ทว่ามิได้บอกเรื่องที่เคยด่าพระด้วยเกรงจะถูกเพิ่มโทษ
       “จริงสิ นอกจากเกลียดพระแล้วเจ้ายังเคยจ้วงจาบพระสงฆ์องค์เจ้าด้วยวาจาอีกด้วย เจ้านี่บาปมากรู้ไหม” ตาแป๊ะก้มหน้างุด รู้สึกแปลกใจที่พญายมราชล่วงรู้การกระทำของแก
       “อั๊วะผิกไปเลี้ยว อั๊วะผิกไปเลี้ยว อย่าทำอั๊วะเลย” แกคร่ำครวญ สงสัยเหมือนกันว่าผ้าเหลือนั้นลอยมาจากไหน
       “เจ้าไม่เคยบวชแล้วทำไมถึงมีผ้าเหลืองมาโบกให้ไฟดับ ลองนึกดูดี ๆ ซิ หรือว่าเจ้าเคยบวชให้ใครบ้าง”
       “อั๊วะไม่เคยบวกให้คายทั้งนั้ง” ตาแป๊ะยืนกราน
       “เอ.. แล้วผ้าเหลืองจะมาได้ยังไง” พญายมราชรำพึงอย่างเคลือบแคลง
       “อั๊วะนึกล่ายเลี้ยว อั๊วะนึกล่ายเลี้ยว” ตาแป๊ะพูดอย่างยินดี
       “ไหนว่าไปซิ เจ้าเคยบวชให้ใคร”
       “อั๊วะไม่เคยบวกให้คาย แต่อาตง อาตงลูกอั๊วะอีหนีไปบวก อีมาขออั๊วะแต่อั๊วะไม่ให้ อีเลยหนีไปบวกตั้งแต่อายุสิกสาม เหลียวนี้อีอายุสามสิกสองเลี้ยว” แกบอกล่าว
       “อ้อ.. อย่างนี้นี่เอง เห็นไหมล่ะ ขนาดเจ้าไม่มีศรัทธาปสาทะที่จะให้ลูกบวช ก็ยังได้รับอานิสงส์ถึงเพียงนี้ นี่แสดงว่าลูกของเจ้าต้องเจริญกรรมฐานแล้วอุทิศมาให้เจ้า ถึงได้มีปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน เพื่อเห็นแก่ลูกของเจ้า ข้าจะให้โอกาสแก่เจ้าได้กลับไปแก้ตัวยังโลกมนุษย์อีกครั้ง เจ้าจะต้องเลิกฆ่าหมู เลิกด่าพระด่าเจ้า แล้วก็ต้องถือศีล ๘ อยู่ที่วัด รับใช้พระเณร โดยเฉพาะพระลูกชายของเจ้า เพื่อไถ่บาปที่เจ้าได้เคยล่วงเกินท่านไว้ เจ้าทำได้ไหม ถ้าได้ก็ไม่ต้องกลับมาที่นี่อีก”
       “ทำล่าย ทำล่าย” ตาแป๊ะรีบรับคำ จะให้แกทำอะไรแกยอมทั้งนั้น ขออย่างเดียวอย่าให้มาตกนรกอีก แกเข็ดขยาดไฟนรกเสียยิ่งกว่าอะไร
       “จำไว้นะ หากเจ้าผิดสัญญาจะต้องกลับมารับโทษยังสถานที่แห่งนี้และเราก็จะไม่อภัยให้เจ้าอีกเลย” พญายมราชกล่าวสำทับ
       “จำล่าย จำล่าย อั๊วะไม่ผิกสังยา เข็กเลี้ยว เข็กจริง ๆ” แกรับคำเป็นมั่นเป็นเหมาะ
       “เอาละ เจ้าสองคนพาตาแป๊ะไปส่งที่เดิมได้” พญายมราชหันไปสั่งยมทูตทั้งสอง
 
๑๒
 
       ตาแป๊ะเตี๋ยว เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับแกจบลง ทุกคนในที่นั้นพากันนิ่งเงียบราบกับถูกมนต์สะกด เป็นเรื่องแปลกประหลาดมหัศจรรย์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน พวกที่ประพฤติตนไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมเริ่มได้ข้อคิด โดยเฉพาะพวกผู้ชายซึ่งคิดว่าจะเลิกดื่มเหล้าเลิกเจ้าชู้เสียที จะได้ไม่ต้องไปตกนรก
       “ท่างตง ท่างต้องช่วยเตี่ยนะ” ถ้าท่างสึกเตี่ยต้องไปตกนาลกแหง ๆ” ผู้เป็นพ่อวิงวอน สมภารหนุ่มหันไปสบตากับสาวสายทอง ในอกของท่านราวกับมีภูเขาทั้งลูกทับเอาไว้ อยากสึกนั้นอยากจนตัวสั่น หากก็เกรงบิดาจะต้องกลับไปตกนรก รักสาวก็รัก รักบิดาก็รัก ใจของท่านปั่นป่วนด้วยมิรู้จะตัดสินใจอย่างไร
       นายอำเภอซึ่งรับฟังเรื่องราวมาตลอด สังเกตเห็นท่าทางลังเลของท่านแล้วให้รู้สึกสงสารเป็นกำลัง แต่ก็มิอาจพูดอะไรในตอนนี้ได้ อุตส่าห์รอจนคนอื่น ๆ ค่อยทยอยกันกลับหมดแล้วจึงพูดกับสมภารหนุ่มว่า
       “นิมนต์ท่านบวชต่อเถิดครับ ไม่ต้องห่วงทางลูกสาวผม ความกตัญญูย่อมสำคัญกว่าความรัก คิดว่าผมตัดสินใจแทนท่านก็แล้วกัน” คำพูดของนายอำเภอทำให้สมภารตงได้คิด จริงดังที่นายอำเภอพูด ถ้าท่านไม่แต่งงานกับสายทอง หล่อนก็ยังมีโอกาสที่จะแต่งกับชายอื่นได้ แต่บิดาของท่านนั้นไม่มีผู้ใดจะช่วยได้นอกจากท่าน สบายใจขึ้นบ้างแล้ว จึงกล่าวกับนายอำเภอว่า “ขอบคุณท่านนายอำเภอมาก อาตมายอมรับว่าตัดสินใจไม่ถูก เมื่อท่านได้กรุณาช่วยแนะนำอาตมาก็ยินดี ว่าแต่ว่า สีกาจะมีความคิดเห็นเป็นประการใด” ท่านหันไปถามสาวสายทอง รู้สึกปวดแปลบที่หัวใจราวกับถูกทิ่มแทงด้วยหนามแหลมสักร้อยอันพันอัน แสนเสียดายดวงหน้างดงามที่ท่านไม่มีโอกาสได้เชยชมแม้สักครั้งในชีวิต “ดิฉันเห็นด้วยกับคุณพ่อเจ้าค่ะ” หญิงสาวตอบด้วยความรู้สึกที่ไม่ต่างกับสมภารหนุ่มเท่าใดนักด้วยว่า รักแรกพบต้องมามีอันเป็นไป ต่อเมื่อได้ไตร่ตรองใคร่ครวญดีแล้ว ก็เห็นชอบด้วยเหตุผลตามที่บิดากล่าวทุกประการ ท่านไม่สึกก็ยังดีกว่าที่สึกแล้วไปแต่งงานกับหญิงอื่น ซึ่งหากเป็นประการหลังหล่อนคงต้องฆ่าตัวตายเป็นแน่แท้ พูดธุระกันเสร็จแล้ว นายอำเภอจึงลากลับพร้อมด้วยบุตรสาว นางสาวสายทองจากมาด้วยหัวใจรันทด ชาตินี้เห็นจะต้องอยู่เป็นโสดไปจนตาย จะรักชายใดได้อีกในเมื่อหัวใจทุกห้องได้มอบให้สมภารหนุ่มไปสิ้นแล้ว
       เมื่อแขกชุดสุดท้ายลงจากศาลาไป สมภารตงจึงเชิญบิดาให้ไปพักยังกุฏิของท่าน ตาแป๊ะเตี๋ยวได้กำลังใจจากลูกชาย อาการป่วยก็หายเป็นปลิดทิ้ง เรี่ยวแรงกลับคืนมาดังเดิม แกเดินตามพระลูกชายต้อย ๆ พิษสงของไฟนรกที่แกเพิ่งประสบมา ประกอบกับภาพที่สัตว์นรกถูกทรมานทรกรรมยังติดตรึงเด่นชัดอยู่ในห้วงสำนึก แกขอยึดพระลูกชายเป็นสรณะและจะไม่ขอกลับไปยังที่แห่งนั้นอีก เดชะบุญที่เขาเชื่อในเรื่องราวที่แกเล่า เกิดเขาคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระและยังยืนยันที่จะสึก แกคงไม่อาจทัดทานได้ แล้วก็คงต้องกลับไปตกนรกอีกดังที่พญายมราชภาคทัณฑ์ไว้ เป็นครั้งแรกที่ตะแป๊ะรู้สึกซาบซึ้งในความกตัญญูของลูกที่มีต่อแก เขามิได้เป็นลูกเนรคุณตามที่แกปักใจเชื่อมาแต่ต้น
       ข้างฝ่ายสมภารตงนั้นก็มิได้เคลือบแคลงสงสัยในสิ่งที่บิดาเล่าเลยแม้แต่น้อย ท่านกลับยินดีปรีดาที่อำนาจบุญกุศลที่ท่านประพฤติปฏิบัติได้ส่งผลให้บิดารอดพ้นจากไฟนรก และกลับมาแก้ตัวอีกครั้ง อย่างน้อยก็ทำให้บิดาและคนผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์คืนนี้ได้รู้และเชื่ออย่างแน่นแฟ้นว่า บาปบุญมีจริง นรกสวรรค์มีจริง มิใช่เรื่องที่เอาไว้หลอกคนโง่ดังพวกมิจฉาทิฐิเชื่อกัน ท่านนึกลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบิดา ช่วงเวลาที่พญายมราชสอบสวนบิดาคงเป็นเวลาเดียวกับที่ท่านปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และเมื่อท่านแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลไปให้ก็อยู่ในช่วงที่บิดากำลังถูกไฟนรกแผดเผา บุญกุศลนั้นจึงปรากฏออกมาในรูปของกาสาวพัสตร์มาดับไฟนรก อานิสงส์แห่งวิปัสสนากรรมฐานช่างมากมายน่าอัศจรรย์ใจนัก แล้วท่านก็นึกถึงถ้อยคำที่คนบางกอกพูดถากถางพระเณรที่บวชแล้วไม่ปฏิบัติกรรมฐานว่า “เช้าเอน เพลนอน เย็นพักผ่อน ค่ำจำวัด” ซึ่งคนประเภทนี้บวชเสียข้าวสุก แล้วก็ไม่ได้อานิสงส์อะไร และอย่าว่าแต่จะช่วยพ่อแม่ให้พ้นจากนรกไม่ได้เลย แม้ตัวของตัวเองก็ยังช่วยไม่ได้
       นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา ตาแป๊ะเตี๋ยวก็มาถือศีลกินเพลอยู่ที่วัดกับพระลูกชาย ความกลัวจะกลับไปตกนรกอีกทำให้แกปฏิบัติตามสัญญาอย่างเคร่งครัด ตราบจนกระทั่งถึงแก่กรรมเมื่อเวลาล่วงไปอีกสิบปี สมภารตงก็เป็นเจ้าอาวาสวัดพุทธารามจนกระทั่งมรณภาพเมื่ออายุได้ ๘๐ ปี รวมเวลาที่ดำรงอยู่ในสมณเพศถึง ๖๗ พรรษา
ส่วนนางสาวสายทองนั้น ในเวลาต่อมาได้ติดตามบิดาไปอยู่ทางภาคอีสาน และได้สมรสกับปลัดอำเภอผู้หนึ่งซึ่งหล่อนมิได้รักใคร่ หากก็ยอมแต่งงานเพราะเห็นแก่บิดาที่ปรารถนาจะเห็นบุตรสาวคนเดียวเป็นฝั่งเป็นฝา ด้วยแรงกตัญญูกตเวทิตาธรรมที่นางสาวสายทองมีต่อบิดาผู้บังเกิดเกล้า ทำให้ชีวิตการแต่งงานของหล่อนดำเนินไปโดยราบรื่น หล่อนยังจำได้ว่า ครั้งหนึ่งสมภารตงหยิบยกพุทธวจนะมากล่าวให้หล่อนฟัง
“อโถ เปตฺเตยฺยตา สุขา – การเคารพรักบำรุงบิดา นำมาซึ่งความสุขในโลก” 
 
จบบริบูรณ์