Thursday, July 30, 2009

กุหลาบดำ

น้ำอบ

หญิงในชุดสีดำรัดรูปนั่งตวัดพู่กันในมืออย่างคล่องแคล่ว ผืนผ้าใบบนขาหยั่งรอบๆ กายที่ว่างเปล่าอยู่หลายผืนเมื่อสองนาทีก่อน เปลี่ยนแปรเป็นภาพเขียนแบบจีนงดงามน่าพิศวง โน่นรูปนกกระเรียนโก่งคอ โน่นรูปเซียนบนยอดเขา นั่นรูปกอไผ่ ไกลออกไปเป็นฝูงนกโบยบิน
โอ...เธอช่างเป็นศิลปินยอดอัจฉริยะ
"คุณเรียนจบมาจากที่ไหนคะ" นักข่าวสาวมาสัมภาษณ์
"คณะอักษรศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง" เธอตอบเรียบๆ มือวุ่นกับการวาด...วาด...วาด...
"โอ... แล้วคุณวาดภาพเป็นได้อย่างไรคะ" นักข่าวสาวทึ่งจัด
"ฉันเป็นผู้หญิง ผู้หญิงเก่งรุ่นฉันต้องเรียนอักษรศาสตร์ เรียนอย่างอื่นไม่ได้ เสียฟอร์ม ถ้าฉันเป็นผู้ชาย ฉันก็ต้องเป็นหมอหรือวิศวกร เรียนอย่างอื่นไม่ได้ เสียฟอร์มอีกแล้ว เพราะฉะนั้น การเข้าเรียนอักษรศาสตร์ และได้รับปริญญาเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง พิสูจน์ว่าฉันเป็นอัจฉริยะ อัจฉริยะทำอะไรก็ดีไปหมด"
"อ้อ !" นักข่าวสาวคิดจะหมั่นไส้ เธอจบนิเทศน์ศาสตร์ คณะยอดนิยมของหนุ่มสาวยุคใหม่ ความหมั่นไส้ลดลงเมื่อเธอมองร่างแบบบางในชุดรัดรูป ใต้ลำคอเหี่ยวย่น และใบหน้าที่มีริ้วรอยประดับ จนน้ำยารีดเรียบใดๆ ก็คงรั้งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ เฮ้อ...
"คุณยายเรียนจบ พ.ศ. สองพันสี่ร้อยเท่าไรคะ" นักข่าวสาวถามแกมเย้ย
"เรียกพี่ดีกว่า จบมา...เอ้อ... จบมาไม่กี่ปีมานี่แหละ ชักเลือนๆ อย่าเรียกยายซิหนู เอ๊ย ! น้อง ฟังแล้วปวดหัว"
หญิงในชุดดำหันหายาหอม
"หมากฝรั่งไหมคะ"
"ก็ดี" เธอรับมาเคี้ยวหยับๆ "ฉันไม่ได้ลิ้มรสหมากฝรั่งมาหลายสิบปีแล้ว"
"คนรุ่นคุณ.... เอ้อ... คุณพี่ คงชอบเคี้ยวหมากไทย" นักข่าวสาวซัก ซักจริงหรือประชดให้ก็ไม่รู้ จิตรกรหญิงค้อนขวับ
"ถามให้มันเข้าเรื่องเข้าราวหน่อย"
"ค่ะ ค่ะ เอ้อ...ทำไมใครๆ ถึงเรียกคุณว่า 'กุหลาบดำ' คะ"
เธอไม่ตอบ แต่ตวัดลายเซ็นตรงมุมภาพที่เพิ่งวาดเสร็จทั้งสองโหล เป็นรูปดอกกุหลาบสีดำเล็กๆ ภาพละดอก นักข่าวสาวเห็นคาตาอย่างนั้น จึงรีบวิ่งกลับไปปิดคอลัมน์ส่งโรงพิมพ์


นึกย้อนหลังไปเมื่อหกสิบกว่าปีก่อน พ่อกับแม่ตั้งชื่อให้เธอว่า 'โรส' สมัยนั้นคนพากันเห่อฝรั่ง คำว่าเอกลักษณ์ไทยแทบไม่เคยมีใครพูดถึง
แล้วเมื่อสี่สิบปีก่อน โรสก็รู้จักความรัก เป็นความรักแรก รักแท้ รักเดียว
เธอรักครูสอนวาดเขียน เขาเป็นหนุ่มช่างฝัน ใบหน้ายาวตาตี่ขาววอก เพราะเขาเป็นคนจีน
ตี๋หนุ่มอัจฉริยะวาดภาพจีนด้วยฝีมือแม่น ในขณะที่ภาพสีน้ำมันวาดผิดแก้ใหม่ได้มากครั้ง ภาพสีน้ำเพิ่มความเข้มข้นและรางจางได้ คนที่ใช้พู่กันจีนไม่สามารถผิดพลาดได้เลย การตวัดลายเส้นแต่ละครั้ง ฝีมือจะต้องแน่วนิ่งและแม่นยำ
ตี๋หนุ่มของเธอแม่นยำและเก่งกล้า เขาตวัดปลายพู่กันหนเดียวก็วาดภาพลายเส้น เดอะ ลาสต์ ซัปเปอร์ ของพระเยซู ที่มีคนร่วมโต๊ะอยู่ร่วมสิบคนได้เลย เลโอนาร์โด ดา วินชี วาดภาพโมนาลิซาจนโด่งดัง เขาวาดโมนาลิซาเต้นระบำ 'แคนแคน' ได้ด้วยการตวัดปลายพู่กันเพียงครั้งเดียว เขามีฉายาว่า 'จิตรกรพู่กันฝีแปรงเดียว'
เขาฝีกฝนจนโรสได้เป็นจิตรกรสองฝีแปรง เป็นรองก็แต่คุณครูตี๋หนุ่มของเธอ
คุณครูขอพ่อแม่ตามมาสอนให้โรสเป็นพิเศษที่บ้าน เขาบอกพ่อแม่ว่า โรสมีแววได้เป็นจิตรกรใหญ่ ถ้าให้เขาช่วยส่งเสริมสั่งสอนเธอจะไปได้ไกล เขาไม่ได้บอกพ่อกับแม่ว่า แรงดึงดูดใจอีกประการหนึ่ง คือ เธอเป็นลูกศิษย์คนเดียวในห้องท่ต้องใส่คัพซี
"เมื่อไรฉันจะได้เป็นจิตรกรฝีแปรงเดียวบ้างคะ ครู"
"นั่นเป็นสิ่งที่เฮีย เอ๊ย ! ครู จะต้องสอนเธออย่างใกล้ชิด"
ครูสอนเธออย่างใกล้ชิดทีเดียวครั้งเดียว ยังไม่มีโอกาสใกล้ชิดอีก โรสก็บอกครูว่าเธอท้อง
"ครั้งเดียวเนี่ยนะ" ครูหนุ่มโวย โรสพยักหน้าช้าๆ
"ฉันอยากจะต่อว่าครูจริงๆ แล้วนี่ฉันจะทำอย่างไร ฉันยังวาดภาพฝีแปรงเดียวไม่เป็นเลย"
"หัดพับผ้าอ้อมก่อน" ครูปลงก่อนเดินไปสู่ขอโรสกับพ่อแม่
"เตี่ยผมอยู่แผ่นดินใหญ่ อาม้าอยู่ฮ่องกง ผมเลยรีบมาสู่ขอคุงรสด้วยตัวเอง"
"ฉันไม่รู้จักใครชื่อแบบนั้น ครูคงขอผิดบ้าน" แม่ตัดบท พ่อรีบนั่งหันหลังให้
"เขาหมายถึงหนูน่ะค่ะ" โรสรีบแสดงตัว
"ฉันจะไม่ยอมมีลูกเขยเจ๊ก" แม่ประกาศ ครูเดินคอตกออกจากห้องไป
"แต่..หนูท้องนะคะ" โรสสารภาพ แม่รีบสั่งพ่อให้ไปซื้อตะกร้าหวายใบใหญ่ๆ เธอจะจับโรสใส่ตะกร้าล้างน้ำ
"ล้างไม่ออกหรอกค่ะ โธ่ ! แม่ให้หนูแต่งงานกับครูเถอะ"
"แม่ส่ายหน้า พ่อรีบแต่งตัวจะออกไปหาซื้อตะกร้าหวาย
"ฉันไม่มีวันรับเจ๊กเข้าบ้าน"
"ถึงเขาเป็นคนจีนแต่เขาชื่อ 'ไมเคิล ฮอง' นะคะ"
"งั้นเรอะ" แม่ชักสนใจ "เขาจะยอมเปลี่ยนนามสกุลเป็น 'แจ๊กสัน' ไหม"
"หนูจะลองถามเขาดู"
"ถ้าเขายอมก็ โอเค"
พ่อลงนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ตามเดิม ดีใจที่ไม่ต้องไปหาซื้อตะกร้าใบใหญ่พอที่จะใส่ผู้หญิงคัพซี


โรสรีบวิ่งมาบอกข่าวดีครูตี๋หนุ่ม
"แม่ยอมให้เราแต่งงานกันแล้วละ มีแค่ข้อตกลงอีกนิดๆ หน่อยๆ ที่ต้องเจรจารายละเอียดกัน"
"สายเสียแล้ว" ตี๋หนุ่มส่ายหน้า "อั๊วเป็นจิตรกรฝีแปรงเดียว อั๊วทำอะไรทำครั้งเดียว ไม่เคยทำอะไรซ้ำสอง"
"แต่ครูมาสอนฉันทุกวัน"
"ก็วันละครั้งเดียว"
"ครูกินข้าววันละกี่มื้อ"
"มื้อเช้าวันละมื้อเดียว มื้อกลางวันวันละมื้อเดียว มื้อเย็นวันละมื้อเดียว" ครูส่ายหน้า น้ำตาคลอ
"แล้วครูจะ...เอ้อ... ใกล้ชิดฉัน แบบวันนั้น...ครั้งเดียวเหรอ" โรสสยอง
"ครั้งเดียวเธอก็ท้องแล้ว" ครูค้อนควัก "อั๊วไม่เคยทำอะไรซ้ำสอง"
ด้วยน้ำตานองหน้า ครูหนุ่มคว้าคัตเตอร์บนถาดเครื่องวาดเขียนมาตัดเส้นเลือดใหญ่ที่ข้อมือ โอ...ช่างมหัศจรรย์แท้ คนบางคนตัดข้อมือฆ่าตัวตายทั้งสองข้าง หมอยังช่วยให้รอดได้ นี่ครู ! ไมเคิล ฮอง ตัดข้อมือตัวเองข้างเดียวก็ได้ตายทันทีสมใจ ช่างสมสมญานามว่า 'จิตรกรฝีแปรงเดียว' โดยแท้
โรสคอตก หน้าสลด เธอเปลี่ยนไปแต่งชุดดำ ชาตินี้เธอจะไม่ยอมใส่สีอื่น เธอจะแต่งชุดดำให้เป็นอนุสรณ์ แด่ความรักที่เขามีต่อเธอ... ชุดดำทำให้เธอผิวผ่องดีด้วย
เปลี่ยนชุดแล้วโรสรีบเรียกสาวใช้มากวาดครูออกจากบ้าน นอนตายเกะกะอย่างนี้ โรสทำงานไม่สะดวก


โรสเริ่มดัง ถึงเธอเป็นจิตรกรสองมีแปรง แต่เมื่อจิตรกรฝีแปรงเดียวตายไปแล้ว โรสก็ไม่เป็นรองใคร ฝีมือวาดพู่กันจีนของโรสขจรขจาย จนแม้แต่ 'ท่านเขมานันทะ' จิตรกรพู่กันจีนคนดังยังมามอบตัวเป็นลูกศิษย์
โรสปฏิเสธ เธออ้างว่าเธอไม่มีความสามารถพอ แต่ที่จริงเธอกลัวกงเกวียนกำเกวียน เธอทำให้ครูของเธอตาย ลูกศิษย์อาจคิดล้างครูเช่นโรสได้เช่นกัน
โรสเสียเวลาวาดรูปไปนั่งในตะกร้าให้แม่ล้างน้ำบ่อยๆ แต่ทว่า... ไม่มีประโยชน์ อีกไม่กี่วันเธอก็จะถึงกำหนดคลอด
แม่กัดฟันกรอดๆ
"ฉันนึกไม่ถึงเลยว่าคนโบราณจะหลอกพวกเราได้ขนาดนี้ ก็แต่ไหนแต่ไรมาก็บอกว่า ให้เอาลูกสาวใส่ตะกร้าล้างน้ำ ไม่น่าทำกันขนาดนี้เลย...กรอด...กรอด"


โรสคลอดลูกมาเป็นผู้ชายหน้าตาคมสัน ผิวผ่องด้วยสายเลือดพ่อ แต่ตาสวยเหมือนแม่ เธอตั้งชื่อเขาว่า ไมเคิล ฮอง จูเนียร์ เธอจะฝึกเขาให้เก่งเท่าเธอ ถึงจะเก่งเท่า ไมเคิล ฮอง ซีเนียร์ ไม่ได้ เพราะคนสอนตายไปแล้วก็เถอะ
กุหลาบดำจะต้องทิ้งลาย สืบสายเลือดอัจฉริยะไว้ให้แผ่นดิน...
โรสซื้อของเล่นให้ลูก เธอซื้อพู่กันขนหางม้าทุกเบอร์ ผ้าใบทุกขนาด และหมึกจีนเป็นโหลๆ บางคนวาดภาพจีนบนกระดาษ แต่ไม่เคิล ฮอง ซีเนียร์ สอนโรสให้วาดบนผืนผ้าใบ
"มันเป็นอมตะ ทนกว่ากระดาษ คนตายแต่งานไม่ตาย" เขาเคยสอนเธอก่อนฆ่าตัวตายไม่กี่วัน
อ้ายหนูวาดแต่รูปไส้เดือน บางทีก็ยกหมึกจีนขึ้นดื่ม ดื่มเอาๆ หลายๆ วันเข้าผิวที่เคยผ่องผุดผาด ก็เริ่มคล้ำขึ้น...คล้ำขึ้น
งานของกุหลาบดำเป็นที่ต้องการของท้องตลาด โรสจึงไม่ค่อยมีเวลาดูแลลูก หันมาเห็นอีกทีหมึกดำก็หมดกล่อง อ้ายหนูกลายเป็นนิโกรไปเลย
"เชื่อแม่เถอะ ลูก อย่าไปตั้งนามสกุลลูกว่า ฮอง แฮง เลย เอาแจ๊กสันเถอะ เข้าท่ากว่ากันเยอะ" แม่เดินเข้ามาหาลูกสาว
โรสมัวใจจดใจจ่ออยู่กับงาน เธอเผลอพยักหน้า แม่ดีใจใหญ่ จะวิ่งออกจากห้องไปบอกพ่อ แล้วบังเอิญให้หันมาเห็น ไมเคิล ฮอง จูเนียร์ ผู้กำลังจะได้นามสกุลใหม่ว่า 'แจ๊กสัน'
"นั่นตัวอะไรน่ะ"
"ไมเคิลค่ะ" โรสวาดภาพมังกรดั้นเมฆ
"ทำไมดำปี๋ออกอย่างนั้น ตอนเกิดก็ขาวๆ ดีอยู่"
"เขาชอบดื่มหมึกจีน" โรสวาดภาพนางงามลูกท้อ
"แล้วจะตายไหมนี่ แม่ต้องรีบไปเปลี่ยนนามสกุลแกแล้ว มรณบัตรจะได้น่าประทับใจ"
"ไม่ตายหรอกค่ะ" โรสวาดภาพดอกโบตั๋น "หนูถามหมอแล้ว หมอบอกว่าอีกสิบปีสีผิวที่ดำจะเริ่มจางลง พออายุได้ยี่สิบกว่าๆ ก็จะขาวเหมือนเดิม"
"งั้นเรอะ" แม่ถอนใจโล่งอก "ลูกต้องดูแลแกมั่ง"
"อ้อแอ้ อ้อแอ้" อ้ายหนูตัดพ้ออีกคน
"อัจฉริยะอย่างหนูไม่ค่อยมีเวลา" โรสปัดภาระ "ส่งไปโรงเรียนประจำซิคะ"
"เออ... แม่ลืมบอกไป เพื่อนๆ แม่จะมาแวะบ้านเรา เขามาจากอเมริกา เอาลูกสาวมาด้วยสองคน ชื่อ 'ลาโทย่า' กับ 'นาตาลี' "
"ก็ดีค่ะ" โรสตอบใจลอย "แม่มีแต่เพื่อนฝรั่ง"
"แม่เป็นโรคเห่ออิทธิพลตะวันตก เพื่อนๆ พวกนี้เป็นนิโกร แต่นามสกุลเก๋ดี ก็ 'แจ๊กสัน' ที่แม่ยืมมาตั้งให้อ้ายหนูของเราไง"
"อ้อ ! ค่ะ" โรสชักรำคาญแม่ที่พูดมาก
"อ้อ แอ้ อิ๋ว อิ๋ว" อ้ายหนูหิวอีกแล้ว เอ๊ะ ! แม่ก็พูดมาก ลูกก็ชักเริ่มพูดมากขึ้นมาอีกคน นี่ถ้าอ้ายหนูพูดคล่อง เธอคงรำคาญปางตาย เธอหยิบหมึกจีนขวดที่ใช้อยู่ส่งให้อ้ายหนูดื่มอย่างใจลอย เอ...ส่งคัตเตอร์อันเก่า ที่ครูตี๋ใช้ฆ่าตัวตายให้มันมั่งดีไหมเนี่ย
"ลูกไม่ค่อยดูแล ไมเคิล แจ๊กสัน เลย เดี๋ยวอีกหน่อยมันโตขึ้น ให้สัมภาษณ์ใครๆ ว่าตอนเด็กๆ พ่อแม่ไม่ดูแล ลูกจะต้องอายคนทั้งโลก พวกแจ๊กสันเพื่อนแม่ซิ เขาเอาใจใส่ลูกดีทุกคน"
"ฝากเขาเลี้ยงไมเคิล ฮอง เอ๊ย ! ไมเคิล แจ๊กสัน อีกคนได้ไหมคะ" โรสอ้อน "ลูกกวน หนูทำงานได้น้อยลงเยอะเลย วันๆ วาดได้แค่สามร้อยภาพ ผลผลิตตกต่ำ แกลเลอรี่ด่าเช้าด่าเย็น"
"อ้อ แอ้ แอ้ แอ๊ แอ๊ะ" อ้ายหนูครวญคราง
"เอ... รู้สึกไมเคิลจะหัดร้องเพลงนะ" แม่ออกความเห็น
"ร้องเพลง !" โรสผุดลุกขึ้นเดินวน "หนูคงทนไม่ได้ อัจฉริยะต้องทำงาน ศิลปินต้องมีอารมณ์ จิตรกรต้องมีแรงบันดาลใจ แม่เอาอ้ายหนูทิ้งขยะไปได้ไหม"
"อย่างนั้นต้องทำตอนแรกเกิดเขาถึงจะนิยมกัน แต่แหม...มันไม่โหดไปหน่อยเหรอ เอาอย่างนี้ แม่จะลองฝากแจ๊กสันเขาให้เลี้ยงอ้ายหนูให้จนมันโตแล้วกัน"
อ้ายหนูคว้าไม้กวาดมาตวัดกวัดแกว่ง
"ตามใจแม่เถอะ" โรสวาดรูปเซียนเหยียบพรมวิเศษ เห็นไหม อ้ายหนูทำให้เธอสับสนหมดแล้ว
อ้ายหนูผ้าอ้อมเปียก ไมเคิล แจ๊กสัน พยายามลูบผ้าอ้อม บอกแม่ให้เปลี่ยนผ้าอ้อมให้ แม่ไม่สนใจ อ้ายหนูแค้นแสนแค้น คอยดูนะ ถ้าพวกแจ๊กสันเขารับไมเคิลไปเลี้ยง ไมเคิล แจ๊กสัน จะไปแล้วไปลับ ไม่กลับมาเยี่ยมแม่เฮงซวยคนนี้เลย ไมเคิลจะลืมชีวิตอันแสนอาภัพ วันๆ ได้กินแต่หมึกดำให้หมด ไมเคิล จะอยู่แต่ในโลกที่เต็มไปด้วยของเล่น ของเล่นและของเล่น ไมเคิลลูบเป้าผ้าอ้อมอีกครั้งให้แม่เปลี่ยนผ้าอ้อมให้ ไม่มีใครสนใจเลย
"พวกแจ๊กสันมากันแล้ว โอ...'ลาโทย่า' กับ 'นาตาลี' น่ารักจัง"
ไมเคิลคลานตามยายและเพื่อนพ้องออกไป โรสดีใจ เธอได้ทำงานโดยไม่มีใครมาขัดจังหวะ


โรสได้ทำงานสะดวกสมใจ แม่บอกว่าพวกแจ๊กสันยินดีรับเอาไมเคิลไปเลี้ยงให้
วันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว โรสเริ่มคิดถึงลูก แต่...อนิจจา ไมเคิล แจ๊กสัน ไม่ยอมรับเธอเป็นแม่
กุหลาบดำน้ำตาตกใน เธอผิดไปแล้ว เธอรักงานหลงงาน และบัดนี้เธอก็มีแต่งานอย่างเดียวในชีวิต
โรสเก็บความทุกข์ของเธอไว้ในอก อกอันเดิมที่เคยอยู่ในคัพซีนั่นแหละ
ไมเคิล แจ๊กสัน มาเมืองไทย แต่เขาไม่ถามถึง ไม่แวะมาหาแม่เลย
กุหลาบดำนั่งน้ำตาไหลอยู่ท่ามกลางผืนผ้าใบอย่างเดียวดาย

กระโปรงยาว-ขาสั้น

น้ำอบ
"ทัน โทนิค" เป็นหนุ่มสุดหล่อแห่งยุค เขาหล่อมาตั้งแต่อยู่ในท้อง แม่เขาเปล่งและปลั่ง ตั้งแต่แรกเขาจุติ แพทย์ที่ทำอุลตร้าซาวด์ ตกหลุมรักเขาตั้งแต่แรกเห็นโครงร่าง นางพยาบาลทุกคนที่เห็นผลอุลตร้าซาวด์ของ ทัน โทนิค ก้มลงกราบแม่ของเขา ขอเป็นลูกสะใภ้
แพทย์ที่ทำคลอดเขารีบลักลอบเอาลูกของตัวเองอายุสามขวบมาแลกกับ ทัน โทนิค หมอรัก ทัน แต่แรกพบ พยายามทุกวิถีทางที่จะเอาเลือดในอกเข้าแลก เพื่อรักษาสุดหล่อไว้ใกล้ตัว ยอมทิ้งเมียสองลูกสามมาอยู่กับ ทัน
แม่ไม่ยอมตกหลุมหมอ
"ลูกฉันเพิ่งเกิด ทำไมโตเร็วอย่างนี้" แม่โวยวาย
หมอยิ้มเขิน
"คุณแม่ละก็ น้ำนมคงดี เลี้ยงลูกได้โตเร็วละม้างฮ้า"
"ถึงโตเร็วก็ไม่น่าจะโตมาได้น่าเกลียด หัวล้าน ฟันโยก แถมดูไปดูมายังหน้าเหมือนหมอเอาเสียอีก" แม่แหวใส่
"โอ้ย เด็กมันน่ารักดี มันช่างประจบน่ะฮ่ะ มันรู้ว่าหมอมีบุญคุณ ช่วยให้ชีวิต มันเลยเปลี่ยนหน้ามาสนองคุณหมอ ลูกคนไข้หมอส่วนใหญ่เป็นอย่างเนี้ย หน้าเหมือนหมอกันทุกคนเลยฮ่ะ" หมอเรื่อยเจื้อย ทัน รำคาญ เขารีบคลานออกมาจูงมือแม่ออกจากโรงพยาบาล แม่หันมายิ้มเย้ยหมอทำนองว่า อย่างนี้สิของแท้
พอเขาอายุสองขวบก็ได้รางวัลจากงานประกวดเด็ก งานประกวดสุขภาพเด็ก งานประกวดทารกผิวงาม ทารกผมงาม ทารกกระดูกงาม เฮ้อ งามไปหมด
แม่กลัว ทัน เสียเด็ก ยังไม่ทันถึงกำหนดเข้าโรงเรียนอนุบาล มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เอาปริญญากิตติมศักดิ์มาล่อหลอกให้ ทัน เข้าเรียน
แม่หนักใจ เพราะเด็กหล่อขนาดนี้เสียคนได้ง่ายๆ แม่ปรึกษากับพ่อ พ่อเสนอให้เอา ทัน ฝากธนาคารแบบสิบห้าปี ดอกเบี้ยร้อยละสิบเอ็ดจุดห้า ถ้าฝากประจำในนามบริษัทได้ลดภาษีเงินได้อีกต่างหาก
ผู้จัดการธนาคารกำลังจะปฏิเสธ ธนาคารเป็นที่รับฝากทรัพย์สินเงินทอง ของไร้ชีวิตต่างๆ หาใช่ที่รับฝากเด็กไม่ แต่พอสบตาแจ่มแจ๋วของเด็กน้อย ผู้จัดการก็มืออ่อน รีบขอบพระคุณแม่ที่เอาเด็กน้อยงามแจ่มจรัสมาฝาก
แม่สั่งเสียต่างๆ นานาแล้วก็บอกว่า อีกสิบห้าปีจะมาถอนลูกชายพร้อมดอกเบี้ย


เวลาผ่านไปๆ ในที่สุดก็ถึงเวลาถอน ทัน โทนิค จากธนาคาร
"ฉันว่าเราฝากอีกสิบห้าปีดีไหมพ่อ ไม่ต้องเลี้ยงลูกเองให้ยุ่งยาก แล้วทางธนาคารเขายังจะเพิ่มดอกเบี้ยให้อีก" แม่เริ่มงก
พ่อต้องรีบทักท้วงไว้ พ่อกลัวแก่ตายไปโดยไม่ได้สนิทสนมกับสายโลหิตผู้สืบสกุล


ในวันเปิดตู้นิรภัยที่เก็บรักษา ทัน ไว้ ผู้จัดการกินยาตาย เขารักใคร่อาลัยอาวรณ์หนุ่มน้อยวัยสิบเจ็ดคนนี้นัก พวกพนักงานในธนาคารรีบพาผู้จัดการไปล้างท้อง พนักงานอีกส่วนหนึ่งต้องคอยช่วยเหลือพนักงานที่ใจอ่อน เป็นลมกัน ทุกคนน้ำตากลบหน้า
ทันออกจากธนาคารมาเงียบๆ วิธีเลี้ยงลูกไม่ให้เสียคนของพ่อได้ผล สังคมแทบลืมหนุ่มหน้ามนคนนี้
ความสงบมีอยู่ได้ไม่นาน สาวใช้ในบ้านเริ่มมีอาการแปลกๆ บางคนลงทุนไปแต่งหน้าทำผมทุกวัน ก่อนมาทำงาน บางคนเป็นลมทุกครั้งที่ ทัน สั่งให้ทำอะไร
วันนี้แม่ครัวอายุหกสิบสองก็เป็นลมคาครก
"ทำไมล่ะลูก" แม่สงสัย
"ไม่ทราบฮะ ทันแค่ขอรับประทานส้มตำใส่ปลาร้า ป้าเพ็ญแกก็เป็นลมไปเลย" หนุ่มน้อยปลง "สงสัย ทัน ต้องหัดตำส้มตำกินเอง"
นางสาวไทย พ.ศ. ใหม่ล่าสุด ขอมาสมัครเป็นแม่ครัวแทน เพื่อนบ้านร่ำลือกันว่าบ้านทันมีเทพมาสถิตย์อยู่
หนังสือพิมพ์ส่งช่างภาพและนักข่าวมาพิสูจน์ ช่างภาพและนักข่าวเป็นลมกันเป็นแถว เป็นแถวยาวเลยจริงๆ ด้วย แล้วพอฟื้นขึ้นมาทุกคนก็ไปแจ้งหนังสือในสังกัดของตัวว่า "อะสตาร์อิส บอร์น"


"หนังสือเป็นสิบๆ เล่มมาขอรูปลูกขึ้นปก" แม่ปรารภในเวลาอาหารเย็น อาหารมื้อนี้อร่อยมาก แม่ทำเอง แม่ต้องให้แม่ครัวและสาวใช้ออกหมด บ้านนี้ใช้ยาดมกัน เ ป ลื อ ง ม า ก ค่ายาดมเปลืองท่วมท้นค่าแรงคนงาน
"แล้วคุณคิดอย่างไร" พ่อลดกล้องยาเส้นจากมุมปาก ขยับแว่นกรอบทองน้อยๆ พ่อไม่เคยใส่แว่นหรือสูบกล้อง เพิ่มมาหัดก็ตอนมีนักข่าวสาวๆ ขึ้นบันไดกันมาเป็นเทือก พ่อคิดว่ามันน่าจะทำให้พ่อสง่า ภาคภูมิ
"ลูกคิด่าอย่างไรสำคัญกว่า" แม่โยนกลองมาให้ ทัน รับ ทันรับกลองมาตีเบาๆ
"ทันไม่ค่อยสนใจหรอกฮะ แต่มีหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่ง ใช้ผู้ชายอ้วนๆ ใส่แว่นขึ้นหน้าปกตลอด"
"อ๋อ ขายหัวเราะ กับ มหาสนุก" แม่เฉลย
"นั่นแหละฮะ เขาคงหานายแบบอื่นขึ้นปกไม่ได้จริงๆ ทันสงสารเขา อยากช่วยเขา ให้ ทัน ไปถ่ายปกให้เขาก็แล้วกัน เดี๋ยวคุณอ้วนใส่แว่นนั่นแกจะตรากตรำเกินไป"
แม่ดีใจที่ลูกชายโทนเป็นคนดีมีน้ำใจ แม่รีบติดต่อไป ขายหัวเราะ มหาสนุก บ.ก. โกรธใหญ่ บอกว่าต้องติดสินบนนักเขียนการ์ตูนแทบหมดตัวนะนั่น ก่อนจะได้ขึ้นปกแต่ละทีๆ
"เฮ้อ โลกนี้มันช่างซับซ้อนซ่อนเงื่อนเสียจริง ทันกลับเข้าตู้นิรภัยของธนาคารดีกว่า" หนุ่มน้อยชักเซ็ง
"อย่าเพิ่งเซ็งๆ" แม่รีบปลอบโยนเอาใจ ทัน เป็นเด็กอ่อนไหว รักสายลม แสงแดด และเสียงเพลง "ยังมีค่ายเทปเยอะแยะอยากให้ลูกเป็นศิลปินเดี่ยว เมื่อวาน ไมเคิล แจ๊คสัน ก็โทรฯ มาขอนัดพบ"
"เขาดังแล้ว ปล่อยเขาไปเถอะ แม่ เราไปช่วยค่ายเทปที่กำลังจะเจ๊งดีกว่า" ทันยังเอื้ออารี
"ค่ายหนัง โทรทัศน์ก็ติดต่อมา อยากให้ ทัน เข้าสังกัด"
"เอาค่ายที่ขาดแคลนนะแม่ อย่าเอาค่ายที่รวยแล้ว ช่วยคนกำลังลำบากเป็นกุศลสูงกว่า"
"แม่งงมากตอนเขาติดต่อมามากมายหลายสิบค่าย เลยให้เขาจับฉลาก ลูกต้องไปอยู่กับค่ายห้าดาว"
"อ๋อ ที่ขายไก่ย่างเต็มบ้านเต็มเมืองนั่นเอง ดีสิครับ ทัน ชอบกินไก่ย่าง ตอนอยู่ธนาคาร ผู้จัดการจัดโต๊ะจีนเลี้ยงทุกวัน ทันเบื่อมาก"
"เขาจะให้ลูกเล่นหนังเรื่อง ประโปรงยาว-ขาสั้น" แม่เฉลย
"ทำไมชื่อมันแปลกอย่างนั้นล่ะ แม่" ทันงง
"แม่ก็ไม่รู้เหมือนกัน คงเป็นเรื่องวัยรุ่นนุ่งกระโปรงยาวๆ ใส่กางเกงขาสั้นๆ กันละกระมัง"


วันแรกที่เดินเข้าค่ายห้าดาว พนักงานต้อนรับสาวสวยเป็นลมกันอีกตลบ พระเอกเก่าๆ ขอลาออกกันเป็นแถวทิว นางเอกก็วิ่งหนี ไม่มีใครยอมประกบคู่กับ "ทัน โทนิค" ผู้กำกับปวดหัวเจียนคลั่ง
"ทันเสียในจริงๆ ครับ ที่เกิดเรื่องวุ่นวายขึ้น"
"อ๋อ นั่นเรื่องเล็ก เรื่องเล็ก" คุณชาติชาย ผู้กำกับปลอบ "พนักงานต้อนรับที่นี่ต้องแสร้งเป็นลมกันบ่อยๆ ทุกครั้งที่ดาราชายหน้าใหม่เดินเข้ามา มันทำให้บรรดาดาราชายหายประหม่า นั่นไง ลุกขึ้นทำงานกันแล้ว"
"อ้อ" ทัน ถอนหายใจโล่งอก "แล้วที่พี่ๆ พระเอกรุ่นก่อนๆ วิ่งหนี...ขอลาออก..."
"อ๋อ พวกนั้นวิ่งหนีกันทุกงานอยู่แล้ว เขาจะได้อู้เอาเวลาไปพักผ่อนหลับนอน พวกนี้เวลาบุรุษไปรษณีย์เดินเข้ามาส่งจดหมาย ยังทำเป็นกรี๊ดกร๊าด วิ่งหนีกันเลย"
"แล้วเรื่องนางเอก..."
"นั่นแหละ ปัญหาหลัก ไม่มีใครยอมประกบคู่กับ ทัน โทนิค เขากลัวเธอหน้าหวานกว่าใสกว่าบนจอ เขาแนะให้เธอไว้หนวด จะได้รู้ว่าใครเป็นพระเป็นนาง"
"ทันไว้หนวดไม่ได้หรอกครับ ทันยังไม่มีหนวด"
"อ้าว สิบเจ็ดแล้วไม่ใช่เรอะ"
"ใช่ครับ แต่ ทัน เป็นหนุ่มใส ต้องใสอยู่ตลอด กินน้ำแข็งก้อนยังไม่ได้เลย ต้องกินแต่น้ำแข็งใส"
นางเอกร่วมสมัยเดินเข้ามา เธอใส่กระโปรงยาว ขาโผล่ออกมาสั้นนิดเดียว ทันเห็นแล้วก็ได้คิด
"คนนี้ไม่ได้วิ่งหนีนะครับ" ทันลุกลี้ลุกลน "แน่ะ แน่ะ ใส่กระโปรงยาวขาก็สั้นด้วย แน่ะ" ทันตื่นเต้น
"เขาไม่ได้ขาสั้น ขามันโผล่ออกมานอกกระโปรงนิดเดียวต่างหาก" คุณชาติชายชักสงสัยว่า ทัน โทนิค ใสหรือติงต๊อง "คนนี้แหละที่ฉันเตรียมให้ประกบคู่กับเธอ"
"ยินดีครับ ผมจะรีบให้พ่อแม่มาสู่ขอ" ทันลุกลี้ลุกลนเพิ่มขึ้นอีกหลายดีกรี "เขาเห็นทัน แล้วไม่วิ่งหนี ไม่เป็นลม เขาน่ารักจัง"
"เขาชื่อใบเฟิร์น แล้วก็ไม่ต้องให้พ่อแม่มาสู่ขอหรอก เขาจะเป็นแฟนเธอก็แต่ในหนัง"
"ว้า" ทัน โทนิค สลด หน้าลดความใสไปนิดๆ เป็นครั้งแรกในชีวิต ผู้กำกับต้องรีบปลอบดาราใหม่แกะกล่อง
"แต่ถ้าเธอทำตัวดี ใบเฟิร์นอาจจะยอมเล่นหนังเป็นแฟนเธอไปหลายๆ เรื่องก็ได้นะ"
"ทันจะพยายามอย่างที่สุดครับ" พระเอกหน้าใหม่สัญญาเสียงสั่น ในตู้นิรภัยของธนาคาร ไม่เคยมีคนสวยๆ อย่างใบเฟิร์นเข้าไปเยี่ยมเขาเลย
"ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ" ใบเฟิร์นหันมาทักทัน
"ผมไม่หล่อหรือครับ" ทันขาดความมั่นใจเป็นครั้งแรกในชีวิต ไม่เคยมีผู้หญิงอายุเกินแปดเดือน และต่ำกว่าแปดสิบคนไหน มองตาทันอย่างปกติได้เหมือนใบเฟิร์น
"คุณหล่อค่ะ แต่นั่นไม่สำคัญอะไรเลย
'คนจะงามงามน้ำใจใช่ใบหน้า
คนจะสวยสวยจรรยาใช่ตาหวาน
คนจะแก่แก่ความรู้ใช่อยู่นาน
คนจะรวยรวยศีลทานใช่บ้านโต'
จริงไหมคะ" ใบเฟิร์นยิ้มสวยใส่ตาหนุ่มน้อย
"หนุ่มคนนี้เขางามทั้งน้ำใจทั้งใบหน้า สวยทั้งจรรยาทั้งตาหวาน แก่ความรู้ทั้งๆ ที่อยู่ได้เพียงสิบเจ็ดปี แต่ตลอดเวลาที่เขาอยู่ในห้องนิรภัย เขาอ่านเอนไซโคลพีเดียจบไปเป็นชุดๆ แล้วบ้านของเขาก็ใหญ่โตมาก" คุณชาติชายเสริม
"ทันไม่รู้หรอกครับว่าบ้านใหญ่ไหม ยังไม่เคยมีใครเดินรอบเลย ไม่มีใครบอกได้" ทันตอบไร้เดียงสา
"แต่ถ้ารักจะมาแสดงหนังละก็ คุณคงอดอ่านเอนไซโคลพีเดียอีกแน่ แค่อ่านข่าวตัวเองก็ท่วมท้นแล้ว" ใบเฟิร์นแสดงภูมิ เธออายุสิบหกและเล่นหนังมาเรื่องหนึ่งแล้ว ใบเฟิร์นถือตัวว่ามีประสบการณ์เหนือกว่า ทัน เยอะ
"อ่านไปทำไมกันครับ ข่าวตัวเอง" ทันสงสัย
"คืออย่างนี้นะ" ผู้กำกับอธิบาย "เราจะต้องสร้างเธอให้เป็นดาราใหญ่ ดาราใหญ่จะต้องมีภาพลักษณ์ที่ดี ไม่เสพสุรา ไม่สูบบุหรี่ ไม่มีแฟน"
"แต่ทันอยากมีแฟนครับ ตั้งแต่พบหน้าใบเฟิร์น ทันอยากมีแฟนเดี๋ยวนี้เลย"
"ถ้ามีเฟิร์นชื่อใบแฟน เอ๊ย มีแฟนชื่อใบเฟิร์นก็ได้ ทางเราไม่ขัด เพราะมันจะช่วยโปรโมทหนัง" ผู้กำกับตัดสิน "แต่ห้ามเป็นแฟนกับคนอื่น"
"เป็นแฟนกับตัวอิจฉาบ้างก็ได้ โปรโมทได้เหมือนกัน แล้วก็มีข่าวสาวๆ แย่งคุณกันจนต้องขึ้นโรงพัก อะไรอย่างเงี้ย ถือว่าเป็นภาพบวก" ใบเฟิร์นแสดงภูมิอีกแล้ว
"ไหน ถอดกางเกงซิ" คุณชาติชายสั่ง
"ฮึ ถ้าใบเฟิร์นบอก ทันจะทำทันที แต่คุณผู้กำกับสั่งนี ทันไม่มีมู้ดเลย โนมู้ด โนมู้ดครับ"
"จะบ้าเรอะ ทำไมต้องมีมู้ด บทที่คุณจะเล่นต้องนุ่งกางเกงขาสั้น ให้มันตัดๆ กับกระโปรงยาวๆ ของใบเฟิร์นไง ผมอยากจะรู้ว่าช่วงขาของคุณโชว์ได้ไหม"
"โชว์ได้ทุกส่วนแหละครับ ทันเกิดมาอย่างพระเจ้าบรรจงสร้าง อ้อ พ่อกับแม่ก็มีส่วนบ้างนิดๆ หน่อยๆ"
"อย่างงั้นก็ดีแล้ว เธอจะได้เป็นพระเอกให้ค่ายห้าดาวของเรา อนาคตของเธอจะก้าวไกล เออ เธอสูงเท่าไร"
"ร้อยแปดสิบเอ็ด ซม. ตอนวัดครั้งสุดท้ายครับ" ทันตอบนอบน้อม
"แหม วิเศษ วิเศษ ถ้าเตี้ยกว่าร้อยแปดสิบเข็นไม่ค่อยขึ้น มันไม่ได้ระดับอินเตอร์ ฉันจะเข็นเธอให้ดัง ให้มีชื่อเสียง" คุณชาติชายให้สัญญา
"ทันมีชื่ออยู่แล้วครับ เสียงก็มี เสียงดีด้วย แม่บอกว่าทันร้องเพลงเพราะครับ"
"ฉันจะช่วยให้เธอรวย อีกหน่อยก็มีบ้าน มีรถ"
"ดีจังครับ ที่บ้านที่อยู่วันนี้ไม่เป็นบ้านเสียเลย ใครๆ ก็เรียกมันว่าคฤหาสน์ ส่วนรถ ขอเท่าไรพ่อก็ไม่ให้ บอกว่าในบ้านยี่สิบสี่คัน ให้นั่งกันทั่วเสียก่อน เต็มทีครับ ทันไม่มีอะไรเลย"
"อีกหน่อยเธอก็ต้องพกแพคลิ้ง โฟนลิ้ง โทรศัพท์มือถือ"
"ไชโย ทันขอแม่มานานแล้ว แม่ไม่ให้พกครับ บอกเดี๋ยวไหล่ลู่ ให้คนรถกับบอดี้การ์ดถือแทน ทันไม่มีอะไรเล้ย"
"เธอจะมีคนรู้จักทั่วเมือง"
"หรือครับ เอ แล้ว ทัน จะต้องรู้จักคนทั่วเมืองไหมนี่"
"ถึงไม่รู้จักก็ต้องแกล้งทำว่ารู้จัก ว่าจำได้" ใบเฟิร์นสอนอีกแล้ว
"มีจดหมายมาถึงวันละเป็นร้อยๆ" คุณชาติชายโอ่ต่อ
"ดีจริงๆ ทุกวันๆ นี้ทันทีจดหมายมาหาเป็นพันๆ ต้องใช้เลขาฯ ห้าคนตอบ ถ้ามีมาแค่เป็นร้อยคงเบาแรงกันไปเยอะเชียวครับ ค่าซองค่าแสตมป์ก็จะได้ลดลงจากเดือนละเป็นแสนห้า"
คุณชาติชายกับใบเฟิร์นหันมามองหน้ากัน
"เอ ทัน เธอเข้ามาในวงการทำไมน่ะ"
"คือค่ายเพลงโทรฯ ไปตื้อให้ผมเป็นศิลปินเดี่ยววันละหลายๆ ค่าย หนังสือทั้งหลายทั้ง นวลนาง ทั้ง แปลก ทั้ง ชีวิตมหัศจรรย์ ชอบโทรฯ มาขอให้ทันขึ้นปกครับ มีแต่หนังสือ ขายหัวเราะ กับ มหาสนุก ที่ไม่รับครับ คือที่นั่นเขาเจอปัญหานายแบบอ้วนๆ ใส่แว่นตาผูกขาด เลยไม่เคยติดต่อมา ค่ายหนังสังกัดละคร ก็โทรฯ มาเพียบ แม่ขี้เกียจปฏิเสธครับ เลยส่งทันเข้าค่ายห้าดาว ให้ค่ายปฏิเสธให้แทน แย่ครับ แย่ ชีวิตบัดซบ"
"ชีวิตใครบัดซบ" ผู้กำกับสงสัย
"นั่นแน่ ทำเป็นจำไม่ได้ หนังในดวงใจของทันเชียวนะนั่น คุณเพิ่มพล เชยอรุณ กำกับ อีกเรื่องก็ประสาท คุณเริงศิริ ลิมอักษร กำกับ เดี๋ยวนี้สองคนนั่นไปกำกับหนังในสวรรค์ครับ พวกเทวดาดูกันจนไม่เป็นอันกินอันนอน"
"แล้วเรื่อง กระโปรงยาว-ขาสั้น ล่ะ"
"นางเอกสวยดีครับ" ทันรีบตอบรับ ใบเฟิร์นยิ้มเขิน เอานิ้วทั้งห้าอมในปาก
"นั่นเป็นเหตุผลที่ดี" ผู้กำกับพอใจ "เออ ใบเฟิร์น บางทีผมอยากจะเปลี่ยนชื่อหนังเป็น กระโปรงบาน-ขาสั่น จะดีไหมนะ" คุณชาติชายปรึกษา
"ว้าย กรี๊ด ไม่ยอม ใบเฟิร์นอุตส่าห์หัดนุ่งกระโปรงยาวเดินขาสั้นแทบตายกว่าจะคุ้น จะให้มาหัดนุ่งประโปรงบานเดินขาสั่นอีก ใบเฟิร์นไม่ยอมหรอก"
"ทำไมไม่สร้างเรื่อง กระโปรงบาน-ขาสั้นล่ะครับ ให้ใบเฟิร์นนุ่งกระโปรงบานนุ่งกระโปรงบาน ให้ทันนุ่งกางเกงขาสั้น สมกันจะตาย" ทันเสนอพร้อมทำหน้าหล่อ สาวๆ ประชาสัมพันธ์ค่ายห้าดาวสลบกันอีก คราวนี้สลบจริงๆ เลย

Saturday, February 7, 2009

สัตว์ป่าหิมพานต์ ต่อ..

มังกรวิหก ครึ่งมังกร ครึ่งราชสีห์ปนนก
ตัวเป็นราชสีห์ หัวเป็นมังกร มีปีก และหางเป็นนก สร้อยคอถึงหาง มีขนเป็นสิงโต
พื้นม่วงแก่

มัจฉานุ ครึ่งวานรครึ่งปลา
ตัวเป็นวานรทรงเครื่อง ท่อนหางเป็นปลา
พื้นขาวนวล

ม้ารีศ ครึ่งยักษ์ครึ่งกวาง
ท่อนบนเป็นยักษ์ สวมมงกุฎจีน ปากขบตาจระเข้ ท่อนล่างเป็นกวาง หางเป็นราชสิงห์ มีลายวนทักษิณาวรรตที่ท่อนล่าง
พื้นตัวขาวนวล

มยุระคนธรรพ์ ครึ่งคนธรรพ์ครึ่งนกยูง
ท่อนบนเป็นมนุษย์ทรงเครื่อง สวมมงกุฎลำโพง ท่อนล่างเป็นนก หางเป็นนกยูง ขาและเท้าเป็นสิงห์
พื้นเหลืองขาวนวล

มยุระเวนไตย ครึ่งนกยูงครึ่งครุฑ
ลำตัวเป็นครุฑ หน้าและหัวเป็นนกยูง แขนและขาเป็นครุฑ หางเป็นนกยูง
พื้นตัวครามอ่อน ปีกหางหงชาด

ระมาด แรดปนช้าง
ลำตัวเป็นแรดปนช้าง มีเกล็ดตลอดตัว ทรงเครื่องแบบภาพเขียนไทย
พื้นม่วง

โลโต เสือจีนปนสิงโตจีน
ตัวเป็นสิงห์ หัวเป็นสิงห์ปนเสือ หางเป็นพวงอย่างสิงโตจีน มีลายวนทักษิณาวรรต
พื้นหงดิน

วารีกุญชร ครึ่งช้างครึ่งปลา
ตัวและหัวเป็นช้าง มีครีบหลังครีบขา ครีบหางและหูลักษณะปลา
พื้นม่วง ครีบหาง หลัง ขา พื้น เขียว

อรหัน มนุษย์รูปร่างเตี้ย
มีปีก พบมากในตู้ลายรดน้ำ
พื้นเหลืองนวล

สกุณไกรสร ครึ่งนกครึ่งราชสีห์
ตัวเป็นราชสีห์ หัวเป็นนก หางมีขนพวง ลำตัวมีลายวนทักษิณาวรรต
พื้นหงดิน

สกุณเหรา ครึ่งนกครึ่งมังกร
ตัวเป็นนก หัวเป็นมังกร มีเขา หางกระหนก ขาและเท้าเหมือนครุฑ
พื้นหงดิน

สางแปลง ครึ่งเสือ ครึ่งสิงห์ ปนสิงห์โตจีน
ตัวเป็นสิงห์ หัวเป็นครึ่งเสือ ครึ่งสิงห์ มีขนเหมือนสิงโตจีน หางพวง
พื้นสีจัน

สิงโตจีน สิงโตแบบจีน
ตัวเป็นสิงโต หน้าและหัวแบบสิงโตจีน ลายขนไหล่แบบลายจีน
พื้นเหลือง

สิงห สิงห์เพลิง สิงห์ขอม
ตัวเป็นราชสีห์ หน้าและหัวเป็นสิงห์เพลิง คือ สิงห์แบบขอม หางเป็นสิงโต มีลายวนทักษิณาวรรต
พื้นม่วงอ่อน

สิงหพานร ครึ่งวานรครึ่งสิงห์
ท่อนบนเป็นวานร สวมมงกุฎยอดแหลม ท่อนล่างเป็นสิงห์ หางสิงโต
พื้นหงชาด

สีหรามังกร ครึ่งมังกรครึ่งสิงห์
ตัวเป็นสิงห์โต หัวเป็นมังกร หางสิงโต ตัวมีลายวนทักษิณาวรรต
พื้นตัวหงดิน

สีหะศักดา ราชสีห์เท้าช้างมีเกล็ด
ตัวเป็นราชสีห์ เท้าเป็นเท้าช้าง ลำตัวมีเกล็ด
พื้นม่วงแก่

สีหะสุบรรณ ครึ่งสิงห์ครึ่งครุฑ
ตัวเป็นครุฑ หัวเป็นสิงห์ หางกระหนก มีปีกและหางเป็นนก เท้าสิงห์
พื้นหงชาด ปีกและครีบเขียว หางทอง

สินธพนัทธี ม้ามีหางเป็นปลา
ตัวและหัวเป็นม้า มีครีบและหางเป็นปลา
พื้นขาว ครีบและหางแดงชาด

สินธพกุญชร ม้าหัวช้าง
ตัวเป็นม้า ขาและหางเป็นม้า หัวเป็นคชสีห์
พื้นเขียวอ่อน ปทัดหลัง-หาง-กีบ ดำ

สินธุปักษี ครึ่งนกครึ่งปลา
ตัวเป็นนกอย่างครุฑ เท้าสิงห์ มีหางและครีบเป็นปลา
พื้นน้ำเงิน

สุบรรณเหรา ครึ่งครุฑครึ่งเหรา
ตัวเป็นนกแบบครุฑ หัวเป็นเหรา แข้งขาเป็นสิงห์ ขนหางเป็นนก
พื้นเขียวอ่อน

เสือปีก ครึ่งเสือปนครุฑครึ่งนกยูง
ลำตัวเป็นครุฑ หางเป็นนกยูง หัวเป็นเสือ ลำตัวมีลายเสือโคร่ง
พื้นเหลือง

หงส์ นกหางกินนร
ลำตัวเป็นนก หัวเป็นนกปากแหลมยาว มีหงอนเป็นกระหนด หางเป็นหางแบบกินนร
พื้นหงชาด

หงส์จีน นกปนไก่ฟ้า
เป็นนกคล้ายไก่ฟ้ามีขนคอเป็นพวง ขนหางยาว
พื้นหงเสน

เหมราช ครึ่งหงส์ครึ่งสิงห์
ตัวเป็นราชสีห์ มีลายวนทักษิณาวรรต หน้า หางและเท้าเป็นสิงห์
พื้นหงเสน

เหมราชอัสดร ครึ่งม้าครึ่งหงส์
ลำตัวเป็นม้า หน้าเป็นหงส์ เท้าและหางเป็นม้า
พื้นดำผ่านขาว หางขาว

เหรา กิเลนปนงู
ลำตัวยาวคล้ายงู มีครีบหาง มีขาและหัวเป็นกิเลน มีเขา
พื้นนน้ำเงิน

อนันตนาคราช งูหงอนห้าหัว
ลำตัวเป็นงู มีเกล็ดคล้ายพญานาค หัวเป็นนาคห้าหัว
พื้นเขียวปนน้ำเงิน

อัสดรเหรา ครึ่งม้าครึ่งเหรา
ลำตัวเป็นม้า หัวเป็นเหรา ท่อนคอมีลายวนทักษิณาวรรต
พื้นม่วงอ่อน

อัสดรวิหก ครึ่งม้าครึ่งนก
ตัวเป็นม้า หน้าเป็นนก มีปีก
ตัวและหน้าเหลือง สร้อยคอและปีกหงชาด หางและกีบดำ

อสุรปักษา ครึ่งยักครึ่งนก
ลำตัวท่อนบนเป็นยักษ์ ปากอ้าตากลม สวมมงกุฎหางไก่ ท่อนล่างเป็นนก มีปีกและหางเป็นนก
พื้นเขียว ปีกและหางแดง

อสุรวายุภักษ์ ครึ่งนกยักษ์ครึ่งนกอินทรีย์
ลำตัวท่อนบนเป็นยักษ์ ปากขบตาจระเข้ สวมมงกุฑน้ำเต้า มีกาบรับบัวแวง ท่อนล่างเป็นนกอินทรีย์
พื้นเขียว

ไก่ตังเกี๋ย ครึ่งไก่ครึ่งนก
ตัวเป็นไก่ มีขนสร้อยคอเป็นพวง สร้อยหางเป็นนก ปลายหางยาว
พื้นเหลืองอ่อน

ไก่เสฉวน ครึ่งไก่ครึ่งนก
ตัวเป็นนกคล้ายไก่ฟ้า หัวมีหงอน สร้อยขนหางยาว
พื้นจันแก่

ไก่ฮกเกี้ยน ครึ่งไก่ครึ่งนก
ตัวเป็นนก มีสร้อยหางเป็นครึ่งนกครึ่งปลา หัวเป็นนก
พื้นหงชาด

ไกรสรวาริน ราชสีห์หางปลา
ตัวเป็นราชสีห์ ลำตัวมีลายวนทักษิณาวรรต หลังและขามีครีบอย่างปลา และหางเป็นปลา
พื้นตัวสีเขียวมรกต

คชสีห์สินธุ์ คชสีห์หางปลา
ตัวเป็นราชสีห์ หัวมีงวง งาเป็นช้างอย่างคชสีห์ ลำตัวมีลายวนทักษิณาวรรต ขามีครีบอย่างปลา
พื้นตัวเขียว

ทิชากรมฤค ครึ่งนกครึ่งกวาง
ลำตัวเป็นกวางมีเกล็ด มีหัว มีปีก และหางเป็นนก
พื้นตัวม่วงแดง

นาคอัสดร ครึ่งม้าครึ่งนาค
ลำตัวเป็นม้ามีเกล็ดอย่างนาค หัวเป็นนาคและหางเป็นม้า
พื้นตัวอมคราม

ปักษิณสีห์ ครึ่งสิงห์ครึ่งนก
ตัวเป็นสิงห์ หัวเป็นนก ลำตัวมีลายวนทักษิณาวรรต ขามีขนนก และหางสิงห์
พื้นตัวดินเหลือง

มกรคชสีห์ ครึ่งมังกรครึ่งช้าง
ลำตัวเป็นมังกรมีเกล็ด หัวมีงวง งาเป็นช้างอย่างคชสีห์ หางเป็นพวงอย่างสิงห์
พื้นตัวบัวโรย

มฤคเหมราช ครึ่งกวางครึ่งหงส์
ตัวเป็นกวาง มีหัว ปีก และหางเป็นหงส์ ลำตัวมีลายวนทักษิณาวรรต
พื้นตัวหงเสน

สกุณคชสีห์ คชสีห์มีปีก
ตัวเป็นราชสีห์ หัวมีงวง งาเป็นช้างอย่างคชสีห์ มีปีกและหางเป็นนก ลำตัวมีลายวนทักษิณาวรรต
พื้นตัวชาด

สกุณมกร ครึ่งมังกรครึ่งนก
ตัวเป็นมังกร หัวเป็นนก ขามีขนนก หางเป็นพวงกระหนก
พื้นตัวน้ำไหล

สุบรรณเหมราช ครึ่งครุฑครึ่งหงส์
หัวเป็นหงส์ ลำตัว แขนและขาเป็นครุฑ และหางเป็นกระหนก
พื้นตัวหงชาด

อัปสรปักษี ครึ่งอักสรครึ่งนก
ร่างกายเป็นนางฟ้าหรือนางอัปสร มีปีกและหางเป็นนก
พื้นตัวนวล

อสุรมัจฉา ครึ่งยักษ์ครึ่งปลา
ร่างกายเป็นยักษ์ มีอาวุธเป็นตะบอง มีหางเป็นปลา
พื้นตัวหงดิน

Friday, February 6, 2009

สัตว์หิมพานต์

นาคปักษี นาคปักษิณ พานรมฤค นรสีห์ อสูรปักษา เทพนรสิงห์ พานรปักษา อสุรวิหค สัมพาที นกเทศ พญาครุฑ หงส์ ติณราชสีห์ กาสรสิงห์ บัณฑุราชสีห์ สิงหรามังกร เหมราช สกุณไกรสร ทักทอ โตเทพอัสดร สินธพนที เหมราอัสดร กิเลน เหรา พญานาค มัจฉานุ แรด มัชฉวาฬ กุญชรวารี

นาคปักษี ดูตามชื่อเป็นสัตว์ที่ประกอบด้วย นาค(งู) และปักษี(นก) นาคนั้นตามนิยายย่อมจำแลงเป็นอะไรต่าง ๆ ได้ เพราะเป็นพวกมีฤทธิ์อย่างนิยายที่เล่ากันติดปากว่า ครั้งหนึ่ง มีพญานาคตนหนึ่ง แปลงเป็นมนุษย์มาขอบวชในพระพุทธศาสนา วันหนึ่งจำวัดหลับไป ขาดการสำรวม ร่างกายก็กลับเป็นพญานาคตามเพศเดิม  มีคนมาพบเข้า  เลยต้องสึก แต่ก็ขอฝากชื่อ "นาค" ไว้ ใครจะบวชก็ให้เรียกว่า "นาค" จากนิยายเรื่องนี้ เลยเกิดเป็นธรรมเนียมแต่งตัวผู้ที่จะบวชให้เป็น "นาค"ตามนิยมเมื่อโกนผมแต่งตัวนาค จะแห่ไปวัด ก็ทำลอมพอกเป็นหัวพญานาคสวมศรีษะในสมัยก่อนจะพบในบางท้องถิ่นอยู่เสมอ ในทางช่าง  เมื่อแสดงภาพนาคจำแลงเป็นมนุษย์ ก็สวมชฎายอดเป็นหัวพญานาคแต่ในภาพนี้แทนที่จะทำหางเป็นนก กลับเอาหางพญานาคมาใช้ จึงดูเป็นสามส่วนคือหน้าและตัวเป็นมนุษย์ ขาเป็นนก และหางพญานาค ดู  "นาคปักษิณ" ประกอบด้วย เพราะชื่อคล้ายกัน แต่ลักษณะต่างกันมาก รูป "นาคปักษี" นี้ผู้เขียนรูปไปได้แบบมาจากประตูโบสถ์วัดนางนอง ธนบุรี

นาคปักษิณ
นาคปักษิณเป็นสัตว์กึ่งน้ำกึ่งบก คือเอาส่วนหัวของ "นาค" มาประสม
กับส่วนตัวของ "ปักษิณ" ซึ่งแปลตามตัวว่า สัตว์มีปีก ก็คือนกนั่นเอง
"นาค"  มีความหมายหลายอย่าง แต่ในที่นี้หมายถึงงูใหญ่ในนิยาย
ซึ่งเรามักเรียกกันว่า "พญานาค"
พญานาคตามทัศนะของจินตกวีและช่างเขียนเป็นงูใหญ่ประเภทมีหงอนและเครา
ตามนิยายโบราณมักจะกล่าวถึงพวกนาคมาเกี่ยวข้องกับมนุษย์เสมอ เรื่องของ
พญานาคมีที่มาเป็นสองทาง คือทางลัทธิพราหมณ์กับทางพุทธศาสนา พญานาค
ทางลัทธิพราหมณ์ออกจะถือกันว่าเป็นเทวดาแท้ ๆ เช่น พญาอนันตนาคราช และ
ท้าววิรุฬปักษ์ (ดูหนังสือ "เทวนิยาย" โดย "ส.พลายน้อย")
ว่าถึงที่อยู่ของพวกนาค ก็มีทั้งที่อยู่บนบกและอยู่ในน้ำ อย่างพญาวาสุกรี ที่
อยู่เมืองบาดาลก็ไม่ใช่ในน้ำ เป็นเมืองที่อยู่ใต้โลกมนุษย์ลงไปอีกชั้นหนึ่ง นาค
ทางคัมภีร์พุทธศาสนามักอยู่ในโลกมนุษย์เรานี้ อยู่ในโพรงบ้าง ในถ้ำบนบกบ้าง
อยู่ในน้ำบ้าง อย่างพญานาคชื่อภูริทัต ในมหานิบาตชาดก ก็อยู่บนบก แต่ตาม
เรื่องไทย ๆ เราว่า พญานาคอยู่ในน้ำกันมาก
นาคพิภพที่ว่าอยู่ใต้ดินนั้น มีกล่าวในไตรภูมิพระร่วงว่า "แต่แผ่นดินดัน
เราอยู่นี้ลงไปเถิงนาคพิภพ อันชื่อว่าติรัจฉานภูมินั้น โดยลึกได้โยชน์ ๑ แล
ผิจะนับด้วยวาได้ ๘๐๐ วาแล"
นาคปักษิณ หัวเป็นนาค มีหงอน ส่วนท่อนหางเป็นแบบหางหงส์ เพื่อให้
รับกับส่วนหัว


พานรมฤค
พานี,  วานร แปลว่า ลิง เหมือนกัน คือในบาลีและสันสกฤตใช้ว่า วานร
ไทยเรามาแผลง  ว เป็น พ จึงเป็นพานร ถ้าเป็นหัวหน้าลิงก็ใช้ว่า พานรินทร์
คือ พญาลิง ในรูปก็เป็นพญาลิง ไม่ใช่ลิงธรรมดา
พานรมฤค  เป็นสัตว์ประเภทเดียวกันกับเทพนรสิงห์, นรสีห์ คือท่อนล่างเป็น
สัตว์ประเภทมีกีบ
คำว่า "มฤค" มีความหมายกว้าง คือหมายถึงสัตว์ป่า มีกวาง อีเก้ง เป็นต้น
ถ้าเป็นตัวเมีย ก็ใช้ว่า มฤคี
แต่ถ้าเปลี่ยนเป็น มฤคราช, มฤคินทร์, มฤเคนทร์ ก็หมายถึง ราชสีห์ กลาย
เป็นสัตว์ร้ายมีอำนาจขึ้นมาทันที ไม่ดูขลาดเหมือนกวาง เหมือนอีเก้ง
ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า พานรมฤคตัวนี้นุ่งผ้าสั้นเต็มที สั้นพอ ๆ กับนรสีห์
ซึ่งไม่เหมือนกับเทพนรสิงห์ที่นุ่งผ้าเรียบร้อย และโดยเหตุที่เป็นลิง ก็มักจะถือ
ผลไม้ซึ่งเป็นอาหารของโปรดไว้ด้วยเสมอ ดีกว่ามืออยู่เปล่า ๆ


นรสีห์
คำว่า "นรสีห์" มีความหมายในด้านภาษาหลายอย่างด้วยกัน
"นร" หมายถึง คน,ชาย ถ้าเป็นเพศหญิงใช้ว่า นรี หรือ นารี
"สิงห์" หมายถึง สัตว์ร้ายในจำพวกสัตว์กินเนื้อ
ในพจนานุกรมให้ความหมายของคำว่า นรสิงห์ ไว้ว่า นรสิงห์, นรสีห์ น.คน
ปานสิงห์ นักรบผู้มหาโยธิน
ในหนังสือสันสกฤต  ไท  อังกฤษ  อภิธาน อธิบายว่า "นรสิงห์
พระวิษณุในอวตารครั้งที่ ๔ นรผู้มีศีรษะเป็นสิงห์, อธิบดี, ประธานบุรุษ,
ผู้เป็นเจ้า, ผู้เป็นใหญ่"
นรสีห์  ตามที่กล่าวข้างต้น หมายเอาเฉพาะคนที่มีศีรษะเป็นสิงห์ แต่ตามหลัก
ฐานอื่น นรสีห์ หน้าเป็นคน ตัวเป็นสัตว์ประเภทสิงห์ หรือพวกสัตว์ที่มีเท้าเป็นกีบ
นรสีห์นั้นว่ามีเป็นสองอย่าง คือ เท้าเป็นเล็บก็มี เท้าเป็นกีบก็มี ที่ทำ
ท่อนล่างเป็นดังตัวเนื้อ มีหางยาวปลายเป็นพู่อย่างนี้ เท้าก็เป็นกีบนรสีห์ในภาพที่
นำมาประกอบเรื่องนี้มีเท้าเป็นเล็บ ส่อลักษณะว่าเป็น สีห์เพื่อให้ตรงตามชื่อและ
เป็นนรสีห์ตัวเมียตามแบบไทย ๆ ดังจะสังเกตได้จากทรงผม ถ้าว่าตามทรวดทรง
ก็เป็นนรสีห์ที่ค่อนข้างเจ้าเนื้อ เพราะลักษณะของสีห์ ทำให้ดูเทอะทะไปบ้าง


อสูรปักษา
ในพจนานุกรมให้ความหมายของคำอสูรไว้ว่า หมายถึงยักษ์ และอธิบายคำว่า
อสูร ว่าหมายถึง "อมนุษย์พวกหนึ่งเป็นศัตรูต่อเทวดา, แทตย์, ยักษ์, มาร, ผี"
เหตุที่อสูรจะเป็นศัตรูกับพวกเทวกานั้น ก็เพราะสมัยหนึ่งพวกเทวดาคือพระ
อินทร์ได้วางแผนมอมเหล้าพวกอสูร แล้วจับพวกอสูรโยนลงมาจากสวรรค์ เทวดา
เข้าไปอยู่แทนหมด พวกอสูรจึงได้โกรธแค้นเทวดามาก พอถึงฤดูดอกแคฝอยบาน
คราวไร พวกอสูรก็นึกถึงดอกปาริชาตในแดนสวรรค์คราวนั้นแล้วก็ยกพวกขึ้นไป
รบกับพระอินทร์เพื่อแย่งเอาสวรรค์กลับคืนมา เป็นสงครายืดเยื้อมาก (ดูเรื่อง
พระอินทร์ในหนังสือ "เทวนิยาย" ของ "ส.พลายน้อย")
รูปอสูรปักษาอยู่ในชุดเดียวกันกับอสุราวิหค คือท่อนหัวและตัวเป็นยักษ์ ท่อน
ล่างเป็นนก แต่เพื่อให้ต่างกันออกไป ก็เปลี่ยนลักษณะของนกให้ผิดกันตามความ
เหมาะสม  อสูรปักษานั้นท่าทางเป็นยักษ์ใหญ่กว่าอสุราวิหค แต่ก็ถือกระบองด้วยกัน
เพราะขึ้นชื่อว่ายักษ์แล้ว ต้องมีกระบองเป็นอาวุธ


เทพนรสิงห์
ได้เคยกล่าวมาแล้วว่า คำ นรสิงห์, นรสีห์ มีความหมายเหมือนกัน คือ
แปลว่า คนปานสิงห์ และ นักรบผู้มหาโยธิน
ตามภาพเขียนมักเรียกชื่อปน ๆ กันไปหมด ไม่ว่าเท้าจะเป็นอย่างไร ตาม
ปรกติ นรสิงห์, นรสีห์ ถ้าทำท่อนบนเป็นมนุษย์ ท่อนล่างมักจะเป็นลักษณะของสิงห์
คือเท้าเป็นสิงห์ หรือสีห์
แต่บางทีทำท่อนบนเป็นมนุษย์ ท่อนล่างกลับเป็นลักษณะของสัตว์ประเภทมีกีบ
คือพวกเนื้อทราย ก็เรียกปน ๆ กันไปว่า นรสิงห์ เหมือนกัน
ซึ่งความจริงน่าจะเรียกชื่อใหม่ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ทรงบันทึกความรู้เรื่องสิงห์ประทานพระยาอนุมานราชธนตอนหนึ่งว่า "นรสิงห์
เป็นสองอย่าง คือ เท้าเป็นเล็บก็มี เท้าเป็นกีบก็มี นรสงิห์คือคนครึ่งสิงห์
เป็นสัตว์แบบย่อม มีอยู่เกือบทุกพวกทุกภาษา แต่ที่ของเรามีมา มักทำเท้าเป็นกีบ
นั้นประหลาดนักหนา ในตำราสัตว์หิมพานต์ก็มี ดูเหมือนเรียกว่า อัปสรสีหะ"
ดังนี้พอสรุปได้ว่า ถ้าท่อนบนเป็นนาง และเท้าท่อนล่างเป็นกีบ ก็เป็นอัปสร
สีหะ แต่เมื่อเปลี่ยนท่อนบนเป็นเพศชาย ก็กลายเป็นเทพนรสิงห์กระมัง


พานรปักษา
"พานรปักษา" มาจาก พานร แปลว่า ลิง และ ปักษา แปลว่า นก รวม
หมายความว่า ครึ่งลิงครึ่งนก
ในภาพไม่ใช่ภาพลิงธรรมดา แต่เป็นลิงใหญ่ทรงเครื่อง เพื่อเล่นลวดลายได้
และโดยเหตุที่ลิงชอบผลไม้ ช่างจึงให้ถือมะม่วงและชมพู่ ทำให้น่าดูยิ่งขึ้น
ที่พิเศษก็คือ ทั้งลิงทั้งนกต่างก็มีหาง ผู้เขียนภาพเสียดายหางลิงไม่กล้า
ตัด ก็เลยทำให้มีทั้งสองอย่าง เมื่อหางลิงตวัดขึ้น หางนก หรือหางไก่ก็ห้อยลง


อสุรวิหค
อสุรวิหค ประกอบด้วยคำว่า "อสุร" และ "วิหค"
"อสุร"  หมายถึง อมนุษย์พวกหนึ่ง ซึ่งหมายรวมไปถึงพวกแทตย์,ยักษ์,มาร ฯลฯ
(มีกล่าวถึงอย่างพิสดารในหนังสือ "อมนุษยนิยาย" โดย "ส.พลายน้อย")
ส่วน "วิหค" หมายถึง นก
เมื่อเอามาประกอบเป็นภาพ จึงได้เลือกส่วนหัวและลำตัวของอสุร ซึ่งเห็น
ได้ชัดว่าเป็นยักษ์เป็นมาร มาต่อเข้ากับส่วนขาและส่วนหางของนก ก็สำเร็จรูปเป็น
"อสุรวิหค"
ความจริง อสุรวิหค ในภาพนี้ไม่จำเป็นต้องถือกระบองก็ได้ แต่โดยเหตุที่
พวกอสุรมักนิยมถือกระบองเป็นอาวุธ ช่างเขียนก็เลยเขียนกระบองให้ถือเล่นไป
อย่างนั้นเอง
อสุรวิหคตามตัวอย่างนี้เป็นเพศชาย ถ้าจะเขียนให้เป็นชุดก็อาจเปลี่ยนให้
เป็นเพศหญิงได้อีกตัวหนึ่ง
ภาพอสุรวิหค เป็นภาพแนวเดียวกับภาพกินนร ซึ่งเป็นพวกครึ่งคนครึ่งนก ส่วน
ภาพอสุรวิหค เป็นภาพครึ่งยักษ์ครึ่งนก


สัมพาที
นกสัมพาทีเป็นนกที่กล้าหาญและเสียสละ
ดูตามรูปก็สวยงาม มีขนพอเหมาะ ถ้าว่าตามตำนานก็ต้องมีขนสีแดง แต่ตาม
เรื่องจริง ๆ แล้ว นกสัมพาทีเคยขนหลุดหมดทั้งตัวมาแล้วครั้งหนึ่ง
เรื่องมีอยู่ว่า สัมพาทีมีนกน้องอยู่ตัวหนึ่งชื่อ สดายุ เมื่อครั้งยังอยู่
ภูเขาอัศกรรณนั้น สดายุยังไร้เดียงสา วันหนึ่งเห็นพระอาทิตย์อุทัย นึกว่าเป็นผลไม้
สุกลอยอยู่ ก็โผถลาเข้าหาจะจิกกิน พระอาทิตย์โกรธหาว่าสดายุบังอาจ ไม่รู้จักที่
ต่ำสูง ก็เปล่งแสงทวีความร้อนเข้าใส่สดายุ
นกสัมพาทีเห็นไม่ได้การ ขืนปล่อยให้เป็นเช่นนั้น นกน้องคงต้องเป็นนกย่างแน่
ๆ  สัมพาทีจึงบินขึ้นไปกางปีกบังแสงอาทิตย์ให้น้อง ความร้อนเลยทำให้ขนสัมพาที
ร่วงหมด เท่านั้นยังไม่สะใจ พระอาทิตย์สาปซ้ำว่าอย่าให้ขนงอกขึ้นมาอีกเลย ให้ไป
อยู่ถ้ำเหมติรัน ถ้าวันใดทหารพระรามกลับจากนำแหวนไปถวายนางสีดา มาพักที่ถ้ำ
นี้แล้วโห่ขึ้นสามลา จึงให้ขนงอกขึ้นมาอีก นกสัมพาทีจึงมีขนงามดังในภาพ ไม่งั้น
กลายเป็นนกย่างไร้ขนไปแล้ว


นกเทศ
ดูตามรูปดู "นกเทศ" เหมือนจะหมายว่า เป็นนกที่มาจากต่างประเทศ หรือ
หมายถึงแขก เช่น เครื่องเทศ ม้าเทศ ผ้าเทศ
ถ้าเป็นนก เราก็เคยมีเรียกนกชนิดหนึ่งว่า นกกระจอกเทศ ซึ่งเป็นนกต่าง
ประเทศเข้ามาครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ตามเรื่องว่า อะลังกะปูนี ชาวอังกฤษ ได้แล่นเรือกำปั่นเข้ามาเมืองไทยใน
รัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาอมรินทร์ ได้นำม้าเทศ สิงห์โต และนกกระจอกเทศ
เข้ามาถวายเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๓๐๘
นกกระจอกเทศนั้นสูง ๓ ศอกคืบ เป็นนกที่สูงใหญ่แข็งแรงมากจนเด็กขึ้นไป
ขี่เล่นได้
แต่นกเทศในจำพวกสัตว์หิมพานต์ที่กล่าวถึง จะสมมมุติหรือคิดขึ้นเพื่อเป็นตัว
แทนนกกระจอกเทศหรือเปล่าไม่ทราบ ดูตามลักษณะเฉพาะส่วนหาง กระเดียดไป
ทางหางนกยูง  ซึ่งนกกระจอกเทศไม่มีหางเช่นนี้ ฉะนั้นจึงไม่น่าจะเป็นไปได้ ก็สรุป
เอาว่าช่างวาดคิดประดิษฐ์กันขึ้นมาเอง ผสมผสานให้ดูเล่นแปลก ๆ อย่างนั้นเอง


พญาครุฑ
ครุฑ  ตามความหมายทั่ว ๆ ไป หมายถึงพญานก แต่โบราณเขียนว่า ครุธ
เพราะอักขระวิธีเดิมของเราไม่ใช้ ฑ เป็นตัวสะกดแต่ลำพัง แม้ที่ใช้เป็นตัวสะกดควบ
เช่น  วุฑฒิ วัฑฒนะ ก็มักตัดตัวกลางออกเหลือแต่ วุฒิ วัฒนะ ด้วยเหตุนั้นแต่เดิมจึง
เขียนเป็น ครุธ
ตามนิยายอินเดียกล่าวว่า พญาครุฑกับพญานาคเป็นพี่น้องกัน คือเป็นโอรสของ
พระกัศยปเทพบิดรและนางวินตาเป็นมารดา ส่วนมารดาของพญานาคคือนางกัทรุ
พูดง่าย ๆ ก็คือพ่อเดียวกันแต่คนละแม่ พญาครุฑเป็นใหญ่ทางฝ่ายอากาศ พญานาค
เป็นใหญ่ทางน้ำ ตามปรกติพญาครุฑเป็นพาหนะของพระนารายณ์ เพราะครั้งหนึ่ง
พญาครุฑกับพระนารายณ์ได้ประลองฤทธิ์กันและไม่สามารถเอาชนะกันได้ จึงตกลง
กันว่า ถ้าเวลาเดินทางไปไหน ให้พญาครุฑเป็นพาหนะของพระนารายณ์ แต่เวลา
อยู่กับที่ พญาครุฑนั่งสูงกว่าพระนารายณ์
ลักษณะของครุฑเป็นไปตามความคิดความเชื่อของแต่ละชาติ อินโดนีเซียคิดไป
อย่างหนึ่ง เนปาลคิดไปอีกอย่างหนึ่ง ฉะนั้นรูปร่างของครุฑจึงแตกต่างกันไป ท่าน
ที่ต้องการเปรียบเทียบลักษณะของครุฑจะหาอ่านได้จากหนังสือ "อมนุษย์นิยาย" โดย
"ส.พลายน้อย"
ตามคตินิยมของไทยได้ใช้รูปครุฑเป็นเครื่องหมายในผืนธง และเป็นพระ
ราชลัญจกรมาแต่โบราณกาล ในปัจจุบันใช้เป็นเครื่องหมายทางราชการ


หงส์
หงส์เป็นสัตว์ในวรรณคดีที่มีการกล่าวถึงมากที่สุด คำว่า หงส์ ในพจนานุกรม
ของจิลเดอร์แปลไว้ว่า a goose, a swan ตามโบราณสถานหลายแห่งทำรูปหงส์
เป็นห่าน เช่นในชวาทำรูปพาหนะของพระพรหมเป็นห่าน คำว่า ห่าน นั้น ก็เข้าใจ
ว่าจะมาจาก หันส ซึ่งตรงกับภาษาบาลีว่า หังส
ในสมัยสุโขทัย รูปหงส์ยังมีลักษณะเป็นห่านอยู่มาก คือยังไม่มีลวดลายหรือ
กระหนกมากเหมือนอย่างสมัยอยุธยาและกรุงเทพฯ รูปหงส์รุ่นเก่าจะดูได้จากภาพ
ปูนปั้นที่วัดพระพายหลวง สุโขทัย และหงส์ดินเผาประดับฐานเจดีย์วัดช้างรอบ
กำแพงเพชร (ดูภาพลายเส้นได้จากหนังสือ "พุทธศิลปสุโขทัย" ของ "สงวน รอด
บุญ")
ตามตำนานกล่าวว่า พระพรหมธาดาได้บันดาลให้บังเกิดเป็นสุวรรณหงส์ขึ้น
เพื่อเป็นพาหนะ จึงได้นามปรากฏว่า "ครรไลหงส์" บางตำราว่าพระพรหมประทับ
บนรถ มีหงส์เจ็ดตัวลากรถก็มี
ในนิยายของอินเดียกล่าวว่าหงส์อยู่ทางทิศใต้ของเขาไกรลาศ ณ ที่นั้นเป็น
สระสวยงาม อันมีนามว่า มานะสะ หรือ มานัส กล่าวกันว่างามหนักหนา หงส์ตัวใด
ไปแล้วต้องไปอีก ในชาดกมีกล่าวถึงหงส์หลายเรื่อง เช่นว่า ครั้งหนึ่งพระสารีบุตร
เกิดเป็นกษัตริย์ครองนครสาคล พระพุทธเจ้าเกิดเป็นพญาหงส์ พระอานนท์ก็เป็น
หงส์รวมอยู่ด้วยได้ปกครองพวกหงส์ถึง ๙๖,๐๐๐ ตัว (ดูเรื่อง หงส์ ในหนังสือ
"สัตวนิยาย" โดย "ส.พลายน้อย")
ตามนิยายโบราณของฝรั่ง เขาว่าหงส์ (Swan) ร้องครั้งเดียวเท่านั้นในชีวิต
คือเมื่อจะตาย ว่ากันตามเรื่อง หงส์เป็นสัตว์หิมพานต์แท้ ๆ เพราะมีที่อยู่แน่นอน ใน
แดนหิมพานต์


ติณราชสีห์
ติณราชสีห์ เป็นพวกราชสีห์กินหญ้า (ติณ แปลว่า หญ้า) ดังได้กล่าวไว้ในเวช
สันดรชาดกว่า "ติณราชสีห์เสพซึ่งเส้นหญ้าเป็นอาหาร" ดูเป็นพวกมังสวิรัติ (ปราศ
จากความยินดีในเนื้อคนและเนื้อสัตว์)
เมื่อเทียบติณราชสีห์กับบัณฑุราชสีห์แล้ว จะเห็นต่างกันได้ชัดอยู่ ๒ อย่าง
อย่างหนึ่งคือ ลาย ติณราชสีห์มีลายขดเป็นวง แต่บัณฑุราชสีห์มีลายเป็นแบบลายเสือ
ยิ่งมีสีเหลืองด้วยแล้ว ก็ใกล้เสือเข้าไปมาก
อีกอย่างหนึ่งที่ผิดกันที่หาง หางติณราชสีห์เป็นพวงงาม ลักษณะส่อให้เห็นขน
หางดกฟู ส่วนหางบัณฑุราชสีห์เป็นแบบหางสิงห์หรือหางราชสีห์ทั่ว ๆ ไป คือมีขน
เฉพาะที่ตอนปลายหางเท่านั้น
ถ้าดูตามอุปนิสัยที่กินหญ้า ติณราชสีห์ก็ดูไม่น่ากลัวอะไร แต่คำว่า ราชสีห์
นั้นยังแสดงอำนาจอยู่ อย่างน้อยเสียงคำรามก็คงทำเอาสัตว์อื่น ๆ ขนพองสยองเกล้า
ไปได้เหมือนกัน


กาสรสิงห์
การสรสิงห์นั้นมองดูเผิน ๆ เหมือนกับราชสีห์ทั่ว ๆ ไป แต่เมื่อพิเคราะห์ดู
ให้ดีแล้วแตกต่างกัน เพราะรวมลักษณะของ กาสร กับ สิงห์ ไว้ด้วยกัน ท่อนหัวและ
ตัวเป็นแบบสิงห์ มีลายขดเป็นวง แต่ส่วนขาและเท้าเป็นแบบสัตว์มีกีบ เห็นจะมี
ลักษณะของควาย เพราะกาสรแปลว่า ควาย
เรื่องของกีบสัตว์นี้ก็แปลก มีต่าง ๆ กันไป ในทางช่างเขียนของเรา ท่านจะ
ถือหลักธรรมชาติหรือว่าเขียนตามโบราณต่อ ๆ กันมาก็ไม่ทราบ เพราะเห็นเขียน
กีบสัตว์บางชนิดปน ๆ  กันอยู่ ถ้าว่าตามเรื่องสมัยดึกดำบรรพ์ทีเดียวก็
ต่างกับในปัจจุบัน อย่างกีบม้านั้น ท่านว่าแต่โบราณทีเดียวมีกีบคู่ นอกจากกีบไม่
เหมือนกันแล้ว เครื่องในบางอย่างก็ไม่เหมือนกันอีกด้วย
ถ้าว่าตามลักษณะของธรรมชาติ กาสรสิงห์ก็น่าจะมีกีบคู่แบบควาย แต่ตามรูป
เป็นแบบกีบเดียว จะว่าผิดก็ไม่ได้ เพราะรูปสัตว์เหล่านี้ไม่ใช่รูปสัตว์ตามธรรมชาติ
เป็นเรื่องของสัตว์ประสมตามจินตนาการ


บัณฑุราชสีห์
บัณฑุราชสีห์ เป็น ๑ ใน ๔ ของราชสีห์
ราชสีห์ในวรรณคดีมี ๔ ชนิด ดังมีพรรณาอยู่ในหนังสือมหาเวสสันดรชาดก
กัณฑ์ มหาพน ตอนหนึ่งว่า
"อนึ่งในห้องหิมพานต์ภูมิพนาวาสวิสัยสัตว์สุดที่จะรำพัน พวกคณานิกรสัตว์ทั้ง
หลายนั้น อนันต์อเนกนับมากกว่าหมื่นแสน ย่อมอาศัยในด้าวแดนดงกันการ ไพร
พฤกษาสารสโมสรสรรพสัตว์จัตุบทนิกรทวิบาท เป็นต้นว่า สัตว์สุรสีหชาติสี่จำพวก
พาฬผรุสร้ายราวีหนึ่งนามชื่อว่า ติณราชสีห์ เสพซึ่งเส้นหญ้าเป็นอาหาร หนึ่งชื่อว่า
กาฬสิงหะ  และ บัณฑุสุรมฤคินทร์ เสพซึ่งมังสนิกรกินเป็นภักษา สามราชสีห์มีสรีรกา
ยาพยพอย่างโคขนพิกลหลาก ๆ กัน  พรรณหม่นมอเป็นมันหมึกมืดดำสำลานเหลือง
เลื่อมแลประหลาดหนึ่งนาม ไกรสรสิงหราช ฤทธิเริงแรง ปลายหางและเท้าปาก
เป็นสีแดงดูดุจจะย้อมครั่งพรรณที่อื่นเอี่ยมดั่งสีสังข์ใสเศวตวิสุทธิสดสะอ้าน
ประสานลายวิไลผ่านกลางพื้นปฤษฎางค์แดงดั่งชุบชาด อันนายช่างชาญฉลาดลากลวดลง
พู่กันเขียนเบื้องอูรุนั้นเป็นรอยเวียนวงทักษิณาวัฏ เกสรสร้อยคอดั่งผ้ารัตตกัมพล"
กล่าวเฉพาะ  บัณฑุราชสีห์หรือบัฯฑุสุรมฤคินทร์นั้นจัดอยู่ในพวกสัตว์กินเนื้อ
ขนสีเหลืองอ่อนหรือขาวเหลือง เพราะคำว่า บัณฑุ แปลว่า เหลืองอ่อนหรือซีด


สิงหรามังกร
สิงหรามังกร เป็นสัตว์ผสมระหว่าง สิงห์ กับ มังกร
กล่าวตามพจนานุกรม สิงหรา หมายถึง สิงห์, สิงห์ตัวเมีย
ดูตามลักษณะลำตัวจะเป็นสิงห์ ท่อนหัวเป็นมังกร แต่ผิดกับตัวสิงห์ทั่ว ๆ ไป
คือ  แทนที่จะมีขนขดเป็นวง กลับมีเกล็ด เรียกว่า เอาเกล็ดมังกรมาประดับตัว
สิงห์แทน ส่วนหางยังเป็นลักษณะทางสิงห์ ถ้าว่ากันตามนิสัยและเผ่าพันธุ์ก็ไปด้วยกัน
ไม่ได้ สิงหราเป็นสัตว์อยู่ตามป่าตามถ้ำ ส่วนมังกร เป็นสัตว์น้ำหรือยู่ได้ทั้งในน้ำในอา
กาศ
มังกรเป็นสัตว์ในนิยายของจีน มีฤทธิ์มีอำนาจมาก สามารถบังคับฝนก็ได้
ลักษณะของมังกรมีกล่าวกันหลายตำรา บ้างก็ว่ามีหัวเหมือนม้า มีหูเหมือนวัว บ้างก็
ว่าไม่มีหูและว่ามังกรได้ยินเสียงจากเขาที่มีลักษณะเหมือนเขากวาง
ที่อยู่ของพวกมังกรนั้นว่าอยู่กลางทะเลลึก แต่ตามตำนานเขาแบ่งหน้าที่ของ
มังกรไว้  ๔  พวก คือ พวกรักษาวิมารเทวดา, พวกให้ลมให้ฝน, พวกรักษาแม่น้ำ
ลำธาร และพวกเฝ้าขุมทรัพย์


เหมราช
คำว่า  เหมราช จะแปลหรือหมายความว่าอะไรไม่รู้ ตามรูปคำน่าจะมาจาก "เหม" และ "ราช" ในพจนานุกรมให้ความหมายของคำ "เหม" ไว้ว่า "ทองคำ, ช้างพวกหนึ่ง  ในสิบตระกูลเรียกว่า  เหมหัตถี, เรียกฝาหียหรือภาชนะบางอย่างซึ่งยอดเขาแหลมปิดทอง,   เรียกส่วนยอดประสาทถัดปล้องไฉนลงมา"  ไม่มีคำว่า เหมราช ถ้าจะให้เดาเล่น ๆ สัตว์ที่มีชื่อว่า "เหม" คงจะหมายถึงสัตว์ที่มีหน้าแหลม ๆ ตามภาพเขียนก็เห็นทำเป็นแบบหน้าแหลม ๆ ปากยาวกว่าหงส์ บางท่านก็เขียนเครา บางท่านก็ไม่เขียน   บางทีจะหมายเอาที่มีเคราเป็นตัวผู้  ที่ไม่มีเคราเป็นตัวเมียกระมัง  ในสมัยก่อนเคยได้ยินพูดกันว่า  "ทำหน้าเป็นเหมทีเดียว" นึกไม่ออกว่าทำหน้าอย่างไร คงจะปากยื่นยาวกระมัง ในบทกวีโบราณมักกล่าวถึงคำว่า  เหม  คู่กับ หงส์ อย่างเช่นขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนปลอบวันทอง  มีกลอนตอนหนึ่งว่า  "ไปเป็นเพื่อนพี่บ้างในกลางดง  ชมหงส์เหมเล่นให้เย็นใจ" หรือในนิราศนรินทร์ มีโคลงอยู่บทหนึ่งว่า "วัดหงส์เหมราชร้าง รังถวาย" ซึ่งในทางกวีหมายถึง พญาหงส์ทอง คำว่า  เหมราช เมื่อเทียบกับคำ นาคราช, สีหราช, หงสราช แล้วก็น่าจะหมายเพียงว่า เป็นสัตว์ที่มีอำนาจราชศักดิ์เป็นพญาเหม แต่ตามภาพเขียนของเหมราชเขียนท่อนตัวเป็นสิงห์ หัวเป็นหงส์ คำว่า เหมราชจึงน่าจะเป็นเหมสีหราช หรือเหมราชสีห์มากกว่า

สกุณไกรสร
เมื่อเทียบดูระหว่างรูป "เหมราช" กับรูป "สกุณไกรสร" แล้ว จะเห็นว่า
เป็นสัตว์ประเภทเดียวกัน คือเป็นสัตว์ประสมระหว่าง นก กับ สิงห์ ต่างกันแต่ว่า
เป็นนกคนละชนิด
เหมราช  เป็นนกประเภทปากหงส์ คือ ปากยาว  ส่วนสกุณไกรสรเป็นนก
ประเภทปากสั้น ส่วนลำตัวนั้นก็เป็นแบบเดียวกัน คือ เป็นสัตว์ชนิดเท้ามีเล็บแบบสิงห์
จะผิดกันตรงที่หาง เหมราชมีหางเป็นแบบสิงห์ หรือราชสีห์ ปลายหางเป็นพวง ส่วน
สกุณไกรสร  มีหางเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งถ้าว่ากันตามความหมายทางภาษา ไกรสร
ก็คือ  สิงห์โต ซึ่งตามพจนานุกรมให้ความหมายไว้ว่า "สัตว์ในนิยายของจีน ถือว่ามี
ความดุร้ายและมีกำลังมาก"
คำว่า  ไกรสร นั้นว่าแผลงมาจาก เกสรี หมายความว่า มีขนสร้อยคอ ส่วน
ราชสีห์นั้นหมายถึงพญาสิงห์โต เรียกสิงห์โตสามัญที่เขียนรูปอย่างแบบไทย สรุปว่า
ไกรสร  สิงห์โต ราชสีห์ เป็นสัตว์ประเภทเดียวกัน แต่เมื่อเขียนให้เป็นไกรสรก็ทำ
หางให้เป็นอย่างหางสิงห์โตของจีน เมื่อเขียนเป็นราชสีห์ ก็ทำหางให้เป็นแบบ
ราชสีห์ไทย เรียกว่าผิดกันตรงหาง สกุณไกรสร จึงมีหางเป็นแบบหางสิงห์โต


ทักทอ
สัตว์ประหลาดที่เรียกกันว่า "ทักทอ" นั้น ดูเผิน ๆ เหมือนกับคชสีห์ เพราะ
มีจมูกยาวและมีงาด้วย ส่วนตัวนั้นเป็นสิงห์
"ทักทอ" เป็นภาษาอะไรก็ไม่ทราบ บรรดาครูช่างเขียนแต่ก่อนก็จนปัญญา
ตอบไม่ได้ นักเรียนก็อ่านไม่ออก ทัก-ทอ หรือ ทัก-กะ-ทอ บางคนตั้งแต่เกิดมายัง
ไม่เคยได้ยินแต่คนเก่าเขาอ่านว่า ทัก-กะ-ทอ
ทักทอ จะเขียนมาแต่เดิมอย่างไรไม่ทราบ แต่ได้พบในเอกสารเรื่องตำรา
หน้าที่ตำรวจในสมัยกรุงศรีอยุธยาว่ามี เรือทักทวง
เรือทักทวง  นี้มีผู้ให้ความเห็นว่า คือ เรือทักทอ หรือทักกะทอ นั่นเอง เรือ
ทักทอคู่กับเรือนรสิงห์ เป็นเรือขบวนสัตว์แสนยากร เข้าขบวนแห่ เมื่อเป็นเช่นนี้
คำว่า ทักทอ หรือตัวทักกะทอ ก็มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาโน้นแล้ว


โตเทพอัสดร
เป็นสัตว์อยู่ในพวก เหมราอัสดร หรือตัวเป็นม้า ผิดกันเฉพาะที่หัว โตเทพอัสดรมีหัวเป็นสิงห์โต คำว่า โต ในภาษาไทย หมายถึง สิงห์โต ได้ด้วย อย่างเช่น  เมื่อมีกลบทชนิดหนึ่ง  เรียกว่า  โตเล่นหาง ก็หมายถึง สิงห์โตเล่นหางนั่นเอง  ที่มีคำว่าเทพผสมเข้าไปด้วย  ก็เห็นจะให้หมายว่าเป็นสัตว์เทวดานั่นเอง มีสัตว์หิมพานต์ลักษณะเดียวกันนี้อีกแบบหนึ่ง เรียกกันว่า เทพีอัสดร เรื่องการตั้งชื่อสัตว์ประหลาด ๆ เหล่านี้ พวกช่างเองก็คงจะอึดอัดคิดไม่ค่อยออกเหมือนกันว่าจะตั้งชื่อว่าอะไรดี การตั้งชื่อจึงมีอยู่ ๒ ลักษณะ คือ๑.  เอาชื่อ  หรือลักษณะ หรือประเภทของแต่ละชนิดมารวมกัน เช่น พานรปักษา,นาคปักษิณ, สกุณไกรสร ฯลฯ คือเอาลักษณะของนกมารวมกับสัตว์อื่น แล้วหาคำเปลี่ยนไปให้แปลก ๆ ดังจะเห็นว่า ปักษา, ปักษิณ, สกุณ หมายถึงนกทั้งนั้น ชื่อเหล่านี้มักจะเป็นชื่อผสมขึ้นใหม่๒. ชื่อเฉพาะชนิด เป็นชื่อเดิมที่เรียกกันมาแต่โบราณ จะว่าเป็นสัตว์หิมพานต์รุ่นแรกก็เห็นจะได้ เช่น กินรี, กิเลน,เหรา, ทัณฑิมา เป็นต้น

สินธพนที
สินธพนที นั้น บางทีท่านก็เขียนว่า สินธพนัทธี ตามแบบโบราณ
สินธพนที  แปลตามตัวก็คือ ม้าน้ำ นั่นเอง แต่ถ้าแยกเป็นคำแล้ว ความหมาย
กว้างออกไปอีก
สินธพ  หมายถึง  ม้าพันธุ์ดีที่เกิดแถวลุ่มแม่น้ำสินธุ แม่น้ำสินธุเป็นแม่น้ำ
สำคัญสายหนึ่งในอินเดีย
นอกจากนี้ สินธุ ยังเป็นชื่อเมืองโบราณของอินเดียอีกด้วย เมืองสินธุนี้เข้าใจ
กันว่าจะเป็นเมืองหนึ่งของรัฐสินธ ในปัจจุบันเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงทางม้า ม้าดี
จึงมีนามว่า สินธพ หรือเรียกตามสันสกฤตว่า ไสนธวะ เรียกว่า ชื่อม้าเอามาจาก
ชื่อเมือง ชื่อแม่น้ำ แล้วเลยกลายเป็นศัพท์ที่ใช้เรียกม้ารวม ๆ กันไปด้วย
สินธพนที  หรือม้าน้ำ ก็มีลักษณะเป็นม้าธรรมดา ๆ นี่เอง จะผิดธรรมชาติ
อยู่ก็ตรงหางและเท้า
ปลา เป็นสัตว์น้ำ ตัดเอาหางปลามาต่อเข้าก็กลายเป็นม้าน้ำไปได้
ปลามีครีบ ก็เลยเอาครีบมาติดที่ขาม้าด้วย


เหมราอัสดร
เหมราอัสดร นั้น ตามตำราว่าตัวเป็น ม้า หน้าเป็น หงส์
ว่าตามศัพท์ คำว่า อัสดร หมายถึง ม้าดี แต่อีกทางหนึ่งว่าเป็นสัตว์พันธุ์พิเศษ
คือ เกิดจากพ่อที่เป็นลาและแม่ที่เป็นม้า หรือที่เรียกกันว่า ล่อ (พจนานุกรมไทย โดย
มานิต มานิตเจริญ)
แต่คำว่า ล่อ ในพจนานุกรมให้ความหมายไว้ว่า "สัตว์ลูกผสมชนิดหนึ่ง
ลักษณะครึ่งม้าครึ่งลา โดยมากแม่เป็นลา พ่อเป็นม้า" ความกลับกันกับที่กล่าวถึงใน
เรื่อง อัสดร
ในหนังสือนารายณ์สิบปางฉบับไทยกล่าวว่า พระพายเทวบุตรบันดาลให้เกิด
เป็นอัศวราช ม้าสี่ตระกูล
ชื่อ วลาหก เป็นตระกูลที่หนึ่ง
ชื่อ อาชาไนย เป็นตระกูลที่สอง
ชื่อ สินธพมโนมัย เป็นตระกูลที่สาม
ชื่อ อัสดร เป็นตระกูลที่สี่
ม้าทั้งสี่ตระกูลนี้นี้เป็นพาหนะของพระพายเทวบุตร

เมื่อแรกนั้น ม้าทั้งสี่ตระกูลนี้เหาะเหินเดินอากาศได้ แต่คราวหนึ่งม้าทั้งสี่
นี้ไปได้นางอัศวราช ซึ่งเป็นม้าเทียมรถพระอุมา แล้วหลงใหลใฝ่ฝัน ครั้นไม่พบหน้าก็
กระวนกระวาย พากันเหาะติดตาม แล้วหลงเข้าไปในสวนของพระอิศวร กินหญ้าในสวน
เพลิดเพลินไป อสูรนนทการผู้เฝ้าสวนมาพบเข้าจึงจับไปถวายพระอิศวร ผู้เป็นเจ้า
จึงมีเทวโองการ สั่งอสูรนนทการให้จัดเอ็นเหาะที่เท้าม้าทั้งสี่นั้นเสีย อย่าให้เหาะ
เหินเดินอากาศได้สืบไป
สรุปความตามนิยาย  "เหมราอัสดร" ก็เป็น หงส์ กับ อัสดร คือม้าตระกูลที่
๔ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนั่นเอง


กิเลน
คำว่า  "กิเลน" เป็นคำที่มาจากภาษาจีน เป็นชื่อของสัตว์ในเทพนิยาย
จีนที่ออกจะแปลก คือสัตว์อย่างเดียวกันแต่เรียกต่างกัน
ถ้าเป็นตัวผู้เรียกว่า "กี"
ถ้าเป็นตัวเมียเรียกว่า "เลน"
แล้วเอามาเรียกกันว่า "กีเลน" หรือ "กิเลน"

กิเลน ตามตำนานจีนว่ามีรูปร่างเหมือนกวาง แต่มีเขาเดียว หางเหมือนโค
หัวเป็นมังกร ตีนมีกีบเหมือนม้า (บางตำราว่ามีตัวเป็นสุนัข ลำตัวเป็นเนื้อสมัน)
ว่าเกิดจากธาตุทั้งห้า คือ ดิน น้ำ ไฟ ไม้ และโลหะ ผสมกัน ข้อสำคัญว่ามีอายุ
อยู่ได้ถึงพันปี และถือว่าเป็นยอดแห่งสัตว์ทั้งหลาย เป็นสัญลักษณ์แห่งคุณงามความดี
ปรากฏให้เห็นเมื่อใด ก็จะเกิดผู้มีบุญมาปกครองบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุขเมื่อ
นั้นเป็นหนึ่งในสี่ของสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ มี หงส์ เต่า มังกร และกิเลน
ไทยเราคงรู้จักกิเลนของจีนมานานแล้ว ในสมุดภาพสัตว์ป่าหิมพานต์ที่ช่าง
โบราณได้ร่างแบบสำหรับผูกหุ่นเข้ากระบวนแห่พระบรมศพ ครั้งรัชกาลที่ ๓ ก็มีรูป
กิเลนจีนทำหนวดยาว ๆ
ส่วนภาพกิเลนในนี้เป็นกิเลนแบบไทย มีกระหนกและเครื่องประดับเป็นแบบ
ไทย ๆ  การจัดลายประกอบผิดไปจากในสมุดภาพสัตว์ป่าหิมพานต์ของโบราณนั้นบ้าง ที่
แปลกอีกอย่างหนึ่ง คือ กิเลนไทยมีสองเขา ของจีนแท้ ๆ มีเขาเดียว


เหรา
ในวรรณคดีมักจะกล่าวถึงสัตว์ทะเลชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า "เหรา" อย่างใน
เรื่องอุณรุท ก็มีกล่าวถึงตอนนางศรีสุดาลงสำเภาไปในทะเลว่า

"เงือกงามหน้ากายคล้ายมนุษย์ เคล้าคู่พู่ผุดในชลฉาน
ราหูว่ายหาปลาวาฬ โลมาผุดพ่านอลวน
พิมทองท่องเล่นเป็นหมู่หมู่ สีเสียดปนอยู่กับยี่สน
จันทรเม็ดแมวม้าหน้าคน ฉลามลอยล่องพ่นวาริน
มังกรเกี้ยวกันกลับกลอก เหราเล่นระลอกกระฉอกกสินธุ์
ช้างน้ำงามล้ำหัสดิน ผุดเคล้านางกรินกำเริบฤทธิ์"

ในเรื่องนี้ไม่บอกว่า เหรา มีรูปร่างเป็นอย่างไร แต่พอจับความได้ว่า เป็น
สัตว์ทะเล ในพจนานุกรมอธิบายไว้ว่า เหรา เป็น "สัตว์ในนิยาย มีรูปครึ่งนาค
ครึ่งจรเข้" อ่านคำอธิบายแล้วยังไม่รู้ว่าครึ่งไหนเป็นอะไร ต้องฟังเพลงโบราณจึง
จะรู้ประวัติ เพลงโบราณเล่าถึงประวัติ เหรา ไว้ว่า

"บิดานั้นนาคา มารดานั้นมังกร
มีตีนทั้งสี่ หน้ามีทั้งครีบทั้งหงอน"

มีแปลกอีกอย่างหนึ่ง คือ ในทางช่างกลับเรียกว่า "เหราพด" ทำไมจึงเรียก
อย่างนั้นก็ไม่ทราบ


พญานาค
เป็นสัตว์น้ำตามนิยายที่มีฤทธิ์อำนาจมาก ตามตำนานกล่าวว่า พญานาคเป็นโอรสของพระกัศยปเทพบิดร และนางกัทรุเป็นมารดา นี่ว่าตามนิยายอินเดีย เรื่องของนาคหรือพญานาค (คือสัตวที่มีตัวยาวเหมือนงู มีหงอน) มีเรื่องรวมอยู่ในนิยายนิทานเก่า ๆ ของไทยมากมายหลายเรื่อง อย่างเช่นเรื่องนางมโนราห์ก็มี พระยาจิตรชมภูนาคราช ซึ่งอยู่ในเมืองอุดรปัญจาล์ และทำให้เมืองนี้อุดมสมบูรณ์ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พระยาจิตรชมภูนี้มีเมืองอยู่ในน้ำใต้แผ่นดิน มีนาคสาว ๆ ห้อมล้อมมากมาย  และมีอาวุธสำคัญอยู่อย่างหนึ่งคือบ่วงบาศ ซึ่งครุฑกลัวมาก และต่อมาพรานบุญได้มาขอเอาไปจับนางมโนราห์ ตามปกติแล้ว นาคจะเป็นอาหารของครุฑ แต่ถ้านาคตัวไหนนับถือพุทธศาสนาก็จะปลอดภัยจากปากครุฑ นี่ว่าตามตำนานข้างฝ่ายพุทธ ในตำนานข้างพระพุทธศาสนา มีเรื่องเกี่ยวกับพญานาคหลายเรื่อง เช่น มากำบังฝนให้พระพุทธองค์ ซึ่งเราเรียกพระพุทธรูปปางนี้ว่า พระปางนาคปรก เป็นต้น(เรื่องพิสดารของ พญานาค มีอธิบายไว้ในหนังสือ "อมนุษยนิยาย" โดย "ส.พลายน้อย")

มัจฉานุ
มัจฉานุ  ไม่ใช่สัตว์หิมพานต์ เป็นสัตว์ในวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ แต่มี
อะไรพิเศษกระเดียดไปทางสัตว์หิมพานต์อยู่เหมือนกัน คือตัวเป็นลิงแต่มีหางเป็นปลา
ต้นเรื่องเกิดขึ้นเมื่อครั้งพระรามจองถนนข้ามไปกรุงลงกา การจองถนนต้อง
ใช้ก้อนหินถม แต่ถมเท่าไรก็ไม่เต็ม เพราะพวกรักษาท้องน้ำของทศกัณฑ์ให้พวกปลา
มาขนเอาไปหมด    เรื่องก็เดือดร้อนถึงหนุมาน ต้องแผลงฤทธิ์ไปดูเหตุการณ์ใต้
ท้องทะเล  ปราบพวกก่อการร้ายทำลายถนนเสียราบ แต่มีอยู่รายหนึ่งที่ไม่ใช้อาวุธ
รุนแรงประหาร  ก็ไม่ใช่ใคร นางสุวรรณมัจฉา ลูกสาวของทศกัณฑ์นั่นเอง หนุมาน
ใช้ศิลปะของการเจรจาจนผูกใจนางสุวรรณมัจฉาไว้ได้และยอมมอบตัวให้แต่โดยดี
นางให้พวกปลานำก้อนหินกลับมาถมจนสำเร็จเป็นถนน หนุมานเกลี้ยกล่อมผู้ก่อการ
ร้ายทำลายถนนสำเร็จ  และยังได้ผลผลิตติดตามมา คือ มัจฉานุ ซึ่งเกิดแต่นาง
สุวรรณมัจฉา


แรด
สมัยนี้ถ้าใครพูดว่า "สิบ-เอ็ด-รอ-ดอ" ก็รู้กันว่าหมายถึง แรด เพราะสระ
แอเวลาเขียนแล้วเหมือนเลข ๑๑
แต่ความหมายของ สิบ-เอ็ด-รอ-ดอ หรือ แรด ที่กล่าวนี้กระเดียดไปใน
ทางแส่หรือจัดจ้าน ในพจนานุกรมให้ความหมายของคำว่า แรด ไว้ว่า "ชื่อสัตว์ป่า
ขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง หนังหนา หยาบ เท้ามีกีบคล้ายเท้าควาย ที่สันจมูกมีเขา
เรียกว่า นอ บางตัวมีนอเดียว บางตัวมี ๒ นอ" ก็ไม่รู้ว่า แรด ไปเกี่ยว
อะไรกับเขาด้วย
แรดนี้ บางทีเขาก็เรียกกันว่า ระมาด ตามภาษาเขมร คนโบราณเองก็ไม่
ค่อยรู้จักแรด เมื่อช่างจะเขียนรูปแรดจึงทำเป็นรูปมีงวงคล้ายตัวสมเสร็จ ดัง
ที่ปรากฏในดวงตราพระเพลิงทรงระมาด ซึ่งเคยใช้เป็นตราประจำตำแหน่ง
เสนาบดีกระทรวงธรรมการอยู่สมัยหนึ่ง (มีรูปอยู่ในหนังสือ "เรื่องตราต่าง ๆ "
โดย "ส.พลายน้อย")
ครั้นถึงสมัยรัชการลที่ ๕ เจ้าเมืองน่านส่งลูกแรดมาถวายตัวหนึ่ง คนกรุงเทพฯ 
จึงรู้จักแรดตัวจริงในครั้งนั้น และเคยเอาบุษบกเพลิงตั้งบนหลังแรดตัวนั้นแห่พระ
ศพครั้งหนึ่ง
ที่เอาบุษบกเพลิงตั้งบนหลังแรดก็เพราะมีตำนานว่า พระเพลิงมีพาหนะเป็น
แรดตั้งแต่ได้เห็นแรดตัวจริงแล้ว รูปแรดในตำราสัตว์หิมพานต์ก็ยกเลิกไป ไม่มีใคร
เขียนรูปแรดเป็นแบบตัวสมเสร็จอีก


มัชฉวาฬ
สัตว์หิมพานต์คราวนี้ดู ๆ ไม่น่าแปลก เพราะดูแล้วก็รู้ว่าเป็นปลา จะแปลกก็
ที่ชื่อ "มัชฉวาฬ" แปลว่าอะไรก็ไม่รู้
ได้ตรวจดูชื่ออะไรต่าง ๆ ที่คนโบราณเขียนไว้ในชุดสัตว์หิมพานต์ หรือภาพ
เทวดา  ปรากฏว่ามีชื่อแปลก ๆ หาที่มาไม่พบอยู่มาก บางชื่อก็เพี้ยนเพียงเล็กน้อย
พอเดาได้
คำว่า "มัชฉวาฬ" นี้ก็น่าจะอยู่ในจำพวก "เพี้ยน"
"มัชฉ" น่าจะเป็น "มัจฉ" ที่แปลว่า ปลา ฉะนั้น คำว่า มัชฉวาฬ ก็น่า
จะเป็น มัจฉวาฬ หมายถึง ปลาวาฬ นั่นเอง
ปลาวาฬ เป็นสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นสัตว์ทะเล คนไทยเห็นจะรู้จัก
ปลาวาฬมานาน เคยอ่านพบว่าในสมัยโบราณ เคยมีปลาวาฬมีเกยตื้นในคลอง
แห่งหนึ่ง ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คลองนั้นเลยเรียกว่า คลองปลาวาฬ
ปลามัชฉวาฬตัวนี้มีที่แปลกอยู่อย่างหนึ่งคือ มีเขี้ยว ท่าทางออกจะดุร้าย มี
หนวดมีเครา   แต่เมื่อเขียนออกมาเป็นแบบไทย ๆ แล้วก็น่ารักไม่ใช่แต่น่ารัก
เฉพาะปลา แม้แต่คลื่นก็น่ารัก


กุญชรวารี
กุญชรวารี แปลตามตัวก็คือ ช้างน้ำ แบบเดียวกับ สินธพนที คือ ม้าน้ำ จะ
แปลกกันก็ตรงที่ ม้าน้ำ เป็นม้าทั้งตัวแล้วมีหางเป็นปลา เรียกว่าเปลี่ยนเฉพาะหาง
เท่านั้น ส่วน กุญชรวารี ตัวเป็นปลา หัวกับเท้าหน้าเป็นช้าง กุญชรวารี เป็นภาพ
สัตว์หิมพานต์ที่นิยมเขียนไว้ตามผนังโบสถ์ที่มีเรื่องเกี่ยวกับทะเล ก็จะมีช้างน้ำ
ว่ายคลอเคลีย อยู่ อย่างเช่นที่วัดช่องนนทรีย์ก็มี เมื่อดูามรูป กุญชรวารี ก็น่า
จะเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก คือไปได้ทั้งบนบกและในน้ำ เมื่อจะเดินบนบกก็มี
เท้าสองหน้าพาเดินไปได้ หรือจะว่ายน้ำก็คงสะดวก เพราะมีเท้าช่วยพุ้ยน้ำ มีหาง
ปลาช่วยโบกส่งท้ายอีกแรง
ประวัติของกุญชรวารีจะมีมาอย่างไรไม่ทราบ ก็คงจะทำนอง
เดียวกับสัตว์หิมพานต์อื่น ๆ ที่ช่างเขียนคิดประสมกันเอาเอง แต่แปลกอยู่อย่าง
หนึ่งคือ น่าจะเอาคำที่หมายถึง ปลา มามีส่วนในชื่อด้วย
จะเป็น กุญชรมัจฉา หรือ คชมัจฉา ก็น่าจะได้
กลับใช้ชื่อว่า กุญชรวารี คงจะต้องการให้เป็นช้างน้ำเท่านั้นเอง

Thursday, February 5, 2009

สมบัติอมรินทร์คำกลอน

บ่า่งองล์อัมเรสร์อดิศร

ผ่านสมบัติในสุทัสนนคร สถาวรไปด้วยทิพศวรรยา
เอาสูงพื้นหมื่นแสนพระเมรุมาศ เป็นอาสน์ทองรองดาวดึงสา
กว้างยาวหมึ่นโยชน์คณนา ประคับปราการแก้วแกมกัน
สี่ทิศมีมหาทวาเรศ ระหว่างเขตหมึ่นโยชน์ระยะคั่น
ประตูรายหมายยอคสำกัญพัน มีสระสวนทุกหลั่นทวาไร ๆ
เจ็ดชั้นวชยันคปราสาท สี่มุขมาศคาดแก้วจำรัสไข
สูงพันโยชน์งามทีที่ใกล้ไกล มีธงชัยเฉลิมยอคพิมานทอง
ดังเบื้องพระกรพระบรมพรหเบศร์ กวักประเวศเทวัญบัญชาสนอง
ระยับคั่นแก้วกั้นกระหนกกรอง ประลองแสงล้ำแสงพระสุริยา
ที่เชิงปรางค์ในระหว่างจังหวัดนั้น รูปเทวัญถือทิพบุปผา
บ้า้งทรงปัญจาวุธบนอาชา เอามุกดาเป็นสร้อยวลัยกร
งามคณานางชูสุหร่ายสรง รูปอนงค์แก้วประพาฬประภัสสร
สลับไพฑูรย์องค์วิชาธร ทรงอาภรณ์ล้วนมณีนิล
หนึ่งแถวไม้กำมพฤกษ่ที่นึกทิพ จะนับแสนแทนสิบก็เกินถวิล
มีทรายทองรองรับกับพื้นดิน ประพรมสินธุ์เสาวรสจรุงใจ
ก่าแพงแก้วล้วนแก้วทองเจ็คชั้น ตาลสุวววณรุ่นรื่นเรียงไสว
เมึ่อลมพัดก็สะบัดสำเนียงใบ เฉลิมโสตหฤทัยดังดนตรี
หนึ่งโรงเทวสภาอันเนืองนิจ ควรพิศพื้นแก้วทั้งเจ็ดสี
สูงหาร้อยโยชน์สุดบราลี ท่วงทีเทิ้งทองทิฆัมพร
ฉลุบันก้านเกี้ยวเลี้ยวลด ช้อยชดเศียรสีหไกรสร
ช่อฟ้าชวนฟ้าให้ชมงอน แก้วทอนท่อนช้อนลำยองเรียง
บุพปขดารด้านฝาผนังเพชร มุมเม็ดเก็จกั้นเชิงเฉลียง
จระนำเจียระไนไพฑูรย์แท่ง ดวงแดงสุริยาวายังหมอง
บังอวจพิงอิงพาดจพนักรอง เขนยทองขนัดแท่นมณีนิล ฯ
ชานชาลาหน้าหลังพระลานมาศ ศิลาลาดแลกว้างเล่ห์ทางสินธุ์
อ่อนละไมใยทิพโกมิน มลทินมิได้สุมอยู่รุมราย
มีลมหนึ่งหอบหวนประมวลพัด ระบัดดวงปทุมามากรองถวาย
เป็นสิงหราชผาดเผ่นผยองกาย คชาส่ายงารำสำเริงเริง
บ้างร้อยรุมโกสุมเป็นสิงห์ขนัด ดูเอี้ยวอัดชัดเท้าจะโลดเถลิง
งามบุปผาอาชาประลองเชิง ที่ละเลิงเลี้ยวไล่ลำพองคะนอง
มะลุลีสารภีพิกุลแก้ว เป็นถ่องแถ้วมฤคีที่เยื้องย่อง
บ้างพัดดวงมณฑามากรายกรอง บนตั่งทองหอมฟุ้งจรุงใจ
ยังมีลมหนื่งรับเอาบุปผา ที่โรยรสพัดพาไปเนินไศล
เอาสินธุใสสินมลทินไคล มาพรมในรัถยาศิลาลาย ๆ 1
หนึ่งเจดีย์พระจุฬามณีสถต อันไพจิตรด้วยฤทธิ์สุเรนทร์ถวาย
สูงร้อยโยชนโชติช่วงประกายพราย ยิ่งแสงสายอสุนีในอัมพร
เชิญเขี้ยวขวาเบื้องบนซระทนต์ธาตุ ทรงวิลาศไปด้วยสีประภัสสร
แทนสมเด็จพระสรรเพชญ์ชิเนนทร สถาวรไว้ในห้องพระเจคีย์
ประดิษฐ์บนพระมหาจุฬารัตน่ เป็นที่แสนโสมนัสแห่งโกสีย์
กับสุราสุรเทพนารี ดั่งจะชี้ศิวโมกข์ให้เทวัญ
ประดับค้วยราชวัติฉัตรแก้ว พรายแพร้วลายทรงบรรจงสรรค์
ระบายห้อยพลอยนิลสุวรรณพรรณ เจ็ดชั้นเรียวรัดสันทัดงาม
ดั่งฉัตรเศวตพรหเมศร์ครรไลหงส์ เมื่อกั้นทรงพุทธาภิเษกสนาม
ยื่งดวงจันทร์พ้นแสงสมัยยาม อร่ามทองแกมแก้วอลงกรณ่
ครั้นถ้วนถึงวันครบอุโบสถ กำหนดพร้อมด้วยสุราสรางค์สมร
บูชาเครึ่องเสาวรสสุคนธร ข้าวตอกแก้วแกมช้อนสุมามาลย์
บ้างเริงรึ่นชึ่นชมประนมหัตถ์ กระทำทักษิกาวัฏบรรณสถาน
ประนอมจบเคารพไตรทวาร แล้วลีลาศยังสถานพิมานจันทน์ี้
มีพระยาไม้ปาริกชาติ ประจำเชิงเมรุมาศมไหศวรรย์
สูงร้อยโยชน์ยิ่งไม้ในหิมวันต์ ทรงสุคันธ์ทิพรสขจายจร
กลิ่นบุปผาฟุ้งฟ้าไปร้อยโยชน์ อบเอารสธาโรชเกสร
ทั่วสถานพิมานเทวนิกร เบิกบัญชรพิศงามเมื่อยามบาน
เพึ่อองค์วาสวรินทร์เทวราช ประเวศน์อาสน์ร่มไม้มณฑลสถาน
ประยูรหมู่สุรเทพเยาวมาลย์ สำราญรมย์ชมช่อมณีผกา
บักฑุกัมพลอาสน์ศิลาทิพ กำหนดสิบห้าโยชน์โดยหนา
กว้างสองหมึ่นโยชน์เจษฏา เป็นมหาบัลลังก์แก้วอำไพ
ยาวหกหมึ่นโยชน์แดงก่ำ ดั่งน้ำปัทมราชอันสุกใส
เจริญสวสัสดิโสมนัสแก่หัสนัยน์ ชุ่มฤทัยไปด้วยรสสุมาลี ฯ
อันภายนอกพระนครทั้งสี่ทิศ ย่อมโสภิตสระสวนเกษมศรี
แต่นามนันทวันโบกขรณี เป็นพื้นที่สนานสนุกแห่งเทวัญ
ระเบียบสระทั้งสี่วารีทิพ เหมือนจะหยิบเสาวรสให้ทรงสรรค์
มีโกสุมปทุมช้อนสลับกัน ทั้งชั้นสัตวาจงกลบาน
กว้างยาวร้อยโยชน์จตุรัส ให้โสมนัสในท่าสินธุสนาน
แม้นจิตสวิลว่าจะลงไปสรงธาร ก็บันดาลพุ่งพุ็งมายังองก์
มีขนานนาวาเป็นคู่คู่ ลอยชูกิ่งแก้วอันระหง
พระที่นั่งบุษบกบัลลังก์ทรง อลงกตด้วยโฉมสุรางค์นาง
งามระหงทรงพู่มรกค ช้อยชดช่อห้อยกระหนกหาง
ทรงชึ่งมุขสี่ด้านพิมานปรางค์ ไว้หว่างท่วงทีละอย่างกัน
หนึ่งเรือชัยฉากพายทองท่อง นางประจำลำร้องเพลงสวรรค์
หวนสำเนียงครวญเสียงโอดพัน เกษมสันต์ด้วยเทวนิกร ฯ
ในอุทยานนันทวันที่ประพาส รุกขชาติร่มรึ่นเกษมสลอน
มณฑาไม้ทิพรสขจายกร แก้วซ้อนเกดแ็ซมผกากาญจน์
รกฟ้ารังฟุ้งหวนหอม ประยงค์เปรียงพะยอมกลิ่นหอมหวาน
เสาวรสส่งรสสุมามาลย์ ลมพานเลึ่อนพวงลงร่วงราย
อุทยานมีมิ่งไม้สูงระหง จันทน์แดงเดื่อดงขล้อขลาย
กุหลาบกาหลงแลยางทราย กุ่มงอกแกมหงายสลับกัน
พุดจีบพวงจาบพิมเสนสน จำปาจวงปนนมสวรรค์
แคฝอยเค็ดฝิ่นโมกมัน กลำพอกลำพันคนทา
ควรพิศจิตรลดาวันสถาน มะลิพันเลื้อยพานพฤกษา
ช้องนางช้างน้าวมะลิลา มะลุลีลอยฟ้าดอกสะพรั่งไพร
ยมโดยแย้มดอกออกสลอน อัญชันอ่อนช้อยยอดไสว
สายหยุคส่งเสาวรสไกล กล้วยไม้เกลึ่อนหมู่เถาวัลย์
อันปารุสกวันซึ่งทรงผล ปรางปนปริงปานดังรังสรรค์
พวงหว้าพลับหวานม่วงมัน เกดจันทน์กำจัดไฟเฟือง
แลยอลำไยเรียงขนัด ขวิดสละขว้าวสลัดใบเหลือง
สวายสอไสวสีเึ่รื่อเรือง ชิดเนึ่องชั้นเนินกัทลี ฯ
พระอินทร์ตามนางสุชาดา
ปิ่นบูรินทรราชอคิศร ขจรเกียรติเกริ่นฟ้าทุกราศี
กับสามองค์อัคเรศเทวี มีพระนามเนืองนับสุธรรมา
สุจิตราสุนันทาวิไลลักษณ์ เจริญพักตร์ในเทวนาถา
สุรางค์นาฎชึ่งเป็นบาทบริจา ดั่งดาราในหมึ่นจักรวาล
พระลดองก์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ เกษมสวัสดิ์ด้วยบำรุงบำเรอสถาน
พลางพิศโฉมวธุรสยุพาพาล ชึ่งโดยเสด็จมาสำราญพิมานทอง
คำนึงถึงสุชาดายุพาพักตร์ เคยร่วมรักฤๅมาร้างดังหมางหมอง
นิจจาเอ๋ยเหมือนพี่เมินสะเทิ้นครอง ไฉนน้องเจ้ามาไค้อาดูร
จึงส่องดวงเนตรทิพลงหยิบเหตุ เห็นประเวศอยู่ในภพอสูร
จะสำราญยังพิมานไพฑูรย์ ฤๅจะพูนสวัสดิ์ในวิไชยันต์
โอ้ปางนี้ควรพี่จะพาสมร เดินอัมพรมาพิมานแมนสวรรค์
จะไว้ยศปรากฎให้พร้อมกัน เป็นจอมจรรโลงเทพนารี
ครั้นเสร็จถวิลปิ่นภพอัมเรศร์ ไม่สั่งองค์อัคเรศมเหสี
พระทรงวชิราวุธแล้วจรลี ยังมหาธานีอสุรา ฯ
บังองก์สารถีผู้ชาญฤทธิ กำหนดคิดดำเนินเทวนาถา
ก็แจ้งในฤทัยทิพอัชฌา จึงแต่งรัถาตามเสด็จจร
มหาเวชยันต์ราชรถ อลงกตด้วยแก้วประภัสสร
หกหมึ่นเส้นสุดท้ายธงเงื้อมงอน เทวบุตรอัสดรกำหนดพัน
นิรมิตเป็นสินธพชัก จักรดุมเลื่อนเหียนดั่งกังหัน
งามดังดวงเทพสุริยัน เมึ่อพุ่งแสงสัตพ้นไปอัสดง
บัลลังก์แก้วแลคันเศวตฉัตร กำหนดยาวโยชน์ทัดงามระหง
เครึ่องสูงจูงจิตให้พิศทรง ก็ขับลงยังพิภพอสุรี
ฝ่ายองกเนวาสิกาสูร สมบูรณ์ด้วยสมบัติดังโกสีย์
ตั้งพิมานสถานราชธานี ในระหว่างตรีกูฏใต้พระเมรุธร
ประดับด้วยเสนางค์สุรางค์นาฎ ท้าวมีราชธิดาดวงสมร
ไม่ประสงค์ที่จะทรงสยุมพร ก็อาวรณ์ทื่จะครองพระวงศ์ไป
ให้ประชุมมาวหมู่อสูรภพ ในมณฑปไพชยนต์พินิจฉัย
เสด็จนำพระยาธิดาใจ ให้นั่งในอาสน์แก้วอันพรรณราย
ฝ่ายองค์วาสวรินทร์ผู้ทรงจักร ประเวศยังกรุงยักษ์ก็สมหมาย
จึ่งอ่านเวทบังเนตรจำแลงกาย ก็กลายเป็นพฤฒาอสุรี
ยุรยายรเข้าในอาสนบประชุมพร้อม นั่งปลอมองค์อยู่ด้วยวงศ์ยักษี
พินิจพิศโฉมราชเทวี พลางระวังมารที่จะราญรอน ๆ
ส่วนเนวาสิกาสูรราช ถนอมสวาทพระธิดาดวงสมร
อ้าแม้มีพักตร์อันสุนทร จงผ่อนจิตคิดคำของบิดา
อสูรใคที่จะครองประคองสม เป็นคู่ชมชูชื่นเสน่หา
จงสวมพวงทองทิพมาลา ที่หัตถาให้ประจักษ์อสุรี
บัดองค์สุชาดาวิไลลักษณ์ เฟี้ยมพักตร์คิคคำท้าวยักษี
ความอายฤๅจะวายแก่สตรี มิรู้ที่จะประกอบให้ชอบการ
จำจิตเกรงฤทธิ์พระปิตุราช เบื้องวิลาสจาอาสน์พิมานสถาน
ชม้ายชายนัยนายุพาพาล ที่ประชุมมารหมู่พลากร
เห็นโฉมเทพสุราพฤฒาสูร ให้พูนสวัสดิ์โสมนัสฤทัยสมร
สลัดพวงเสาวรธสุคนธร ไปสวมกรอสุราชหัสนัยน์
โฉมสุรางค์อสุรีอันมีศักดิ์ เหล่าย้กษ์ที่ประชุมก็สงสัย
องค์ธิดามิได้คิดอาลัยใจ เสน่ห์ในอสุราทิพาพงศ์
กระสันแสนเสน่หาพฤฒายักษ์ ไปรักกาพาสูญประยูรหงส์
ก็ซร้องเสียงพร้อมทูลพระบิตุรงค์ ให้เชิญองค์นางคืนพิมานจันทน์ ฯ
ปิ่นบุรินทรราชอันเรึองฤทธิ์ ประกาศิคในสองชั้นสวรรค์
แสดงกายให้ประจักษ์แก่กุมภัณฑ์ ผันพักคร์เข้าประคองพนิคา
อุ้มนางทางเทวสิงหนาท ร้องประกาศเหวยมารยักษา
กูเรืองฤทธิ์อิศเรศในเทวา ผ่านมหาสุทัสนธานี
หวังว่าจะพาดวงสวาท นิราศจากอสูรภพแห่งยักษี
แลวผาดแผลงแกว่งจักรด้วยฤทธี จรลีขึ้นยังทิฆัมพร ฯ
เนวาสิกาสูรฤทธิรงก์ เห็นองค์วัชรินทร์พาสมร
ในท่ามกลางแสนยาพลากร ให้อาวรณ์ร้อนเร่าซึ่งอัประมาณ
ดั่งไฟฟ้าผ่าดวงมาโนช อสูรโกรธคือเพลิงเถลิงผลาญ
แล้วเผ่นโผนเหาะไล่ไปรอนราญ กำลังหาญจะให้ทันัซึ่งไพรี
เหลียวสั่งหมู่มารยันชาญฤทธิ์ เร่งประชิดติดตามท้าวโกสีย์
ไม่ต่อรับจับเป็นไปธานี เเม้นตอบตีโยธีจึงเอาตาย
เสนารับรสพจนารถ ประกาศหมู่อสูรทั้งหลาย
เห็นได้ทีไพรีแต่เดียวกาย ก็รีบหมายไล่ชิงซึ่งกัลยา ๆ
พระจอมมิ่งมงกุฎทิพเทเวศ หัตถ์ซ้ายอุ้มอัคเรศเสน่หา
กรขวาทรงจักรอันศักคา เหาะมาพบรถวิไชยันค์
สมประสงค์ดั่งองค์สเรนทร์คิด เทวฤทธิ์ปรีดิ์เปรมเกษมสันต์
ประคองโฉมสุชาดาวิลาวัลย์ จรจรัลขึ้นราชรถชัย
วางองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ พระกล่าวอรรถโอภาปราศรัย
เจ้าดวงสมรแม่อย่าอาวรณ์ใจ อันภัยมารมิให้ระคายกาย
สุชาดาน้อมองค์ลงทูลสนอง ไม่ปองจิตคิดจงจำนงหมาย
คืนไปกรุงอสุรีให้มีลาย จะสู้วายชีพใต้บทมาลย์
พอเหลือบเห็นอสุราเข้ามาชิด ประกาศิคชึ่งเทวบรรหาร
ให้รีบเร่งรถแก้วสุรกานฑ์ ผยองผ่านสิมพลีสกุณา
สารถีให้ทีสินธพชัก จักรกงกำก้องพระเวหา
สนั่นเสียงเท้าเทวอาชา เริงร่าลำพองด้วยฤทธี
ส่วนสุบรรณโปดกปักษิน ได้ยินกงรถแห่งโกสีย์
ก้องสะเทือนเลึ่อนลั่นถึงสิมพลี ดั่งอสุนีผ่าพื้นพิมานทอง
ต่างตระหนกตกใจไมมีขวัญ สร้อยเศียรชูชันเสียวสยอง
กระหยับหางกางปีกกระพือลอง ก็บรรสานเสียงร้องขึ้นทุกคน
พระตรัสถามสารถีที่ขับรถ สำเนียงใดปรากฏในกลางหน
น้อมภิวาททูลบาทยุคล ว่ามาใกล้ไพชยนต์สิมพลี
ลูกสุบรรณตกใจวิไชยันต์ กงสนั่นลั่นก้องถึงปักษี
ประหวั่นพรั่นเสียงรถและพาชี สกุณีจึ่งร้องด้วยกลัวภัย ๆ
ผ่า่ยองค์วัชรินทร์เทวราช ได้เสาวนารถมาตุลีก็หม่นไหม้
ให้อาวรณ์เร่าร้อนในฤทัย จะรีบไยไปให้พ้นอสุรา
เหมือนไมีมีอาลัยแก่ปักพิน แม้นม้วยด้วยไพรินยักษา
ไม่สูญเสียทางธรรม์อันศักคา จะตั้งเมตตาไว้ให้ถาวร
จึงสั่งให้กลับราชรถทรง ดุรงค์รู้บรรหารด้วยชาญสมร
ประทับไว้ในวิถีทิฆัมพร เฉลิมงอนต่อพาลไพรี ๆ
ฝ่ายเนวาสิกาสุรราช ผาดเห็นธงรถทรงท้าวโกสีย์
สะบัดโบกหน้ามายังโยธี หมายว่าหนีฤๅจะพ้นชึ่งมือมาร
แล้วประหวั่นพรั่นในฤทัยคิด ด้วยบุญฤทธิ์อัมราศักคาหาญ
ดั่งเทวัญพันหมื่นจักรวาล มาคงราญรอนทัพอสุรา
ให้สลดระทดระทวยองค์ เหมือนจะท่าวทบลงในเวหา
ไม่อาจรอต่อเทวศักคา เลิกแสนยากรกลับไปธานี ๆ
วัชรินทรราชฤทธิรงค์ เห็นองก์เนวาสิกาสูรยักษี
แสยงเดชอิศเรศไม่ต่อตีI ยกโยธีหนีกลับไปเมืองมาร
สั่งให้เดินโยธาวิชัยรถ บทจรคืนไพชยนต์สถาน
สารถีรับเทวโองการ ก็ขับผ่านสิมพลีพิมานไป ๆ

พระอินทร์คืนนคร
ดำเนินโดยอากาศวิถี ตามราศีจักรวาลหว่างไศล
พระชี้ชวนสุชาดายาใจ ให้ชมน้ำในสีทันดร
แปดหมึ่นสี่พันโยชน์ลึกกว้าง อยู่หว่างมหาสิงขร
กำหนดเขาสัตตภัณฑ์ชโลธร ชะง่อนสูงกว้างลึกละกึ่งกัน
ใสสะอาดมาตรแม้นมยุรหงส์ จะวางแววหางลงไม่หวนหัน
จนกระทั่งทรายแก้วอันแพรวพรรณ เจ็ดชั้นล้อมรอบพระเมรุทอง
ฝูงพระยาวาสุกรีลงสรงเล่น โลดเต้นฝ่าหลังชลาล่อง
ฉวัดเฉวียนเวียนพ่นบังหวนฟอง ละอองน้ำดั่งสายสุหร่ายริน
จึ่งเบือนพักตร์ไปพิศสาคเรศ นอกเขตเขาอัสกรรณกระแสสินธุ์
ดั่งคงคาในท่ามุจลินท์ สิ่งมลทินมิได้ปนระคนพาน
ขนองคลื่นสูงแต่พื้นสมุทร หกสิบโยชน์โดยสุดประมาณสถาน
ชมมหามัจฉาเจ็ดประการ บ้างว่ายแหวกแถกธารในวังวน
เหล่ามหิรมิงศโรหา มินคลาไล่คู่อยู่สับสน
ติมิงคล์ชิงมิงเชยชล อานนท์ลอยเศียรหางขึ้นขวางกาย
ยาวพันโยชน์เยิ่นดั่งเนินผา กลอกตาดูดวงพระสุริย์ฉาย
ไม่ย้ายเยี้องแพลงพลิกกระดิกกาย ก็ถอยหลังยังสายชโลธร ๆ
พลางชวนชมอัสกรรณวิเชียรรัตน์ ดั่งวงฉัตรปวะเทศสิงขร
วารีพุพุ่งพุงลงสาคร หมู่ทวยเทพนิกรมาเชยชม
วินันตกงามกลมประสมศร ด้วยไพรทีแก้วลายระบายถม
มีวุ้งเวิ้งแท่นทองที่ต้องลม เตือนอารมณ์ให้เกษมในไสยา
เนมินท์พิศทรงเหมือนกงรถ จอมบรรพตเลิศล้วนมณีผา
กระลอกรุงพุงพรายถึงเมฆา เล่ห์วลาหกทิพอันพรวยพรำ
โน่นสุทัสน์ควรทัสนาสถาน แก้วประพาฬย่อมแท่งดูแดงขำ
ชะง่อนเงื้อมง้ำแหว่งดั่งแกล้งทำ มีคูหาท่าน้ำทุกแนวเนิน
นั่นเชิงชั้นการวิกบรรพต ง้ำกำหนดชั้นการเวกเหิน
เป็นหุบเหวตรวยตรงลงโตรกเตริน สว่างเพลินไปด้วยแก้วสุรกานต์ ๆ
สิขรินอิสินธรรัตน์ แจ่มจำรัสไขสีมุกดาหาร
เมื่อน้อมยอดรองบาทพิชิตมาร ประสานเสียงคู่ขุนยุคุนธร
คิรีนี้ล้วนแก้วมณีโชติ จืงแผลงแสงรุ่งโ่รจน์่ประภัสสร
สูงเสมอปรางค์จันทน์ทินกร เดินอัมพรไปทั้งสองเทวัญ
ธตรฐเนาในบูรพทิศ ไพจิตรไปด้วยทิพรังสรรค์
บริวารล้วนเทพคนธรรพ์ งามมไหศวรรยาและธานี
เวสสุวรรณอันทรงมเหศร สถิตที่อุครราศี
แสนเกษมสมบัติสวัสดี เป็นจรรโลงโมลีอสุรา
นั่นองค์วิรุฬปักษ์เทเวศ อยู่ประเทศปราจิมทิศา
เป็นปิ่นมงกุฏแห่งนาคา ทรงศักคาฤทธิราญรอน
วิรุฬหกเป็นใหญ่ในกุมภัณฑ์ พิมานเมศเจ็ดชั้นประภัสสร
ประจำทิศทักษิณยุคุนธร ดำรงทิพนครละกลกัน ฯ
พลางชมชวนยวนเย้าเสน่หา หวังให้ดวงวนิดาเกษมสันต์
แล้วรีบเร่งรถาวิไลวรรณ ก็บรรลุยังสุทัสนธานี
ประทับรถเข้าเคียงกับเกยมาศ จึ่งจงกรเยาวราชมเหสี
โดยเสด็จวรบาทจรลี เข้าสู่ที่แท่นแก้วอลงกรณ์ ฯ
ลดองค์ลงแนบกนิษฐา พระจึ่งกล่าววาจาประโลมสมร
เจ้าพวงทิพเสาวรสสุคนธร แต่เรียมจรจากน้องก็นมนาน
สุดแสนอาดูรพูนเทวษ เพราะทุเรศแรมรสฤดีสมาน
เมึ่อสามองค์นงลักษณ์ยุพาพาล ได้สำราญในพิมานวิไชยันต์
ไม่เห็นดวงพักตร์มิ่งสมรมิตร ปิ้มชีวิตพี่จะม้วยด้วยโศกศัลย์
แค่เคร่าครองปองโฉมวิไลวรรณ เพิ่งไค้ขวัญเนตรมายังธานี
เชิญร่วมสุขเศวตฉัตรสมบัติทิพ อันลอยลิบเลิศจักรราศี
เป็นจอมจรรโลงเทพนารี มิให้สายสวาทพี่อนาทร ๆ
บัดองค์อัปสรสมรนาฏ บังคมทูลเทวราชมเหศร
คุณพระล้ำดินฟ้าแลสาคร ซึ่งอาวรณ์ด้วยทรงพระเมตยา
หากว่าน้องมิได้แจ้งในใจทิพ ชื่งเลือกหยิบเอาแค่ข้อเสน่หา
จะเชึ่อขานคำหวานพระพรรณนา แต่ชาวฟ้าท่านที่เคยภักคี
แม้นรักจริงฤๅจะทิ้งให้ทนเทวษ ไปเนาในนักเ็รศแห่งยักษี 1
นี่จงชมสมบัติในธานี จึ่งลีลาศไปประพาสถืงเมืองมาร
พอสบคล้องก็ได้น้องมารองบาท ดั่งโศกแสนพิศวาสพระบรรหาร
ยังไม่ควรรับเทวโองการ อันประทานที่ปิ่นสนมใน ฯ
เจ้าดวงสมรอดิศรอัคเรศ แม่ขวัญเนครผู้ยอดพิสมัย
อย่านึกแหนงแคลงคำให้ช้ำใจ ว่าเรียมไม่อาลัยพนิคา
เมึ่อเรื่มพรากจากไปเป็นปักษิน อยู่รัหว่างวารินที่เนินผา
ประพฤติเพศโดยพรรณสกุณา แสวงหามัสยาในสาชล
แล้วอุ้มนาฏปักษามาไพชยนค์ ให้ชมสระโกมลลดาวัลย์
แต่หากน้องข้องขัดไม่อยู่ได้ ก็วอนให้พาคืนวนาสัณฑ์
เพราะเวรหลังกำจัดจึ่งพลัดกัน ผูกพัน่เคียดแค้นด้วยข้อใด
แสนเสน่หาน้องถึงเพียงนี้ คิดดูเถิดว่าจะดีหรือหาไม่
พลางสัมผัสให้ปรากฎซึ่งรสใจ แล้วคว้าไขวในเชิงภิรมยา ฯ
สุชาดาป้องปัดสลัดกร คมค้อนผลักทิพหัตถา
เลึ่อนองก์ลงจากอาสน์ที่นิทรา ชายตาต่อตาสุเรนทร
นิลเนตรต่อนิลเนตรนาฏ ดั่งพรหมาสตร์แผลงซ้ำกระหน่ำศร
ไปทอแทงแสงรัชนีกร สะท้อนถึงท้องถ้ำสุรกานต์
เลี่ยงพักตร์เบี่ยงบงกชรัตน์ วัชรินทรพร้องสนองสาร
เจ้างามงอนยุพเรศสุมามาลย์ จะรอนราญรสรักพี่กลใด
นิจจาเอ๋ยกระไรเลยไม่คิดบ้าง ให้เจ็บจากพรากร้างไปถึงไหน
มาเถิดมามิ่งสมรมิตร จะครองไมตรีจิตกนิษฐา
เฉวียนกรอุ้มแก้วกัลยา มายังแท่นรัตนอันรูจี
โฉมอนงค์องค์เทพอัปสร ประจงกรเปลื้องกรท้าวโกสีย์
ให้ปรากฏยศเทวสตรี แสร้งวาทีแยบเยื้องรำพัน
พระเป็นใหญ่ในสองชั้นฟ้า ชื่งพามาให้ครองมไหศวรรย์
ดั่งดอกไม้รังพื้นพนาวัน ฤๅจะทันมณฑาที่เคยทรง ฯ
เจริญศรีสวัสดีดวงสมร งอนคำน้ำเพชรสุหร่ายสรง
อย่าหมองข้องเคืองระคายองค์ พี่จงรักฤๅมาชักให้ช้าที
พลางจุมพิตพักตร์อัคเรศ เสพสมรมเยศเกษมศรี
กระแหม่วแนวนวลทิพนาภี ดวงฤดีดัดฤดีประลองคะนอง
กรสอดสอดเลี้ยวเกี้ยวกระหวัด สะพัดแอบแนบชิดสนิทสอง
ดั่งแท่งแก้วอันทำเป็นลำยอง สะดุ้งหลังแท่นทองที่ไพชยนต์
วลาหกเทวบุตรเมื่อคิมหันค์ ก็อัดอั้นดั่งจะปรายซึ่งสายฝน
พายุพัดกลัดเมฆที่มัวมน มิให้หล่นลั่นฟ้าลงมาดิน
นันทโบกขรณีสี่สถาน บันดาลแล้งแห้งทางระหว่างสินธุ์
ส่วนพระยาคชเรศเทวินทร์ กระหายวารีดิ้นพิมานทอง
หนึ่งดอกดวงพวงพุ่มผกามาศ ครั้นอากาศมืดคลุ้มชอุ่มหมอง
ก็คลี่คลายขจายกลบเรณูรอง ละอองสร้อยเสาวรสรำเพยพาน
แล้วเชยดวงพวงทิพสังวาส ปรามาสมณฑาทองสองสมาน
ค่อยชึ่นเริงเชิงเล่ห์ระเริงลาน เป็นสุขสุดสำราญในเทวัญ
พระลืมชมอุทยานสนานสินธุ์ โฉมยุพินลืมสิ่งเกษมสันต์
สุเรนทร์ลืมออกมุขวิไชยันย่ นางลืมพงศ์กุมภัณฑ์แลธานี ฯ
ครั้นเว้นว่างทางเทวสัมผัส นางแย้มวัจนาทูลท้าวโกสีย์
น้องไกลองค์ปิตุเรศอสุรี ด้วยภักดีโดยบาทบดินทร
แม้นพระจากไพชยนต์วิมลมาศ ขอลีลาศโดยเสด็จอดิศร
จำเริญสวัสดิ์โสมนัสถาวร ด้วยพรปิ่นเทวราชบัญชา ฯ
เจ้างามล้ำอัปสรสมรมิตร สมดั่งคิดเรียมแสนเสน่หา
จงประสิทธิ์ดั่งจิตเจตนา กนิษฐาอย่าร้อนอาวรณ์ใจ
แล้วปลุกปลื้มอารมณ์ให้ชมช้ำ พระรื้อรำ่เรื่องรสพิสมัย
สองสมานสำราญทิพฤทัย อยู่ในปรางค์แก้วเจ็ดประทาร ฯ
ฝ่ายเนวาพิกาสูรราช ลีลาศถืงนครบวรสถาน
สถิตย์ยังบัลลังก์รัตน์ช้ชวาล ให้ดาลเดือดฤทัยแก่ไพรี
แค้นอายดังจะวายชีวิตม้วย ด้วยโกมินทร์หมิ่นศักดิ์ยักษี
กำจัดพรากจากเทวธานี แล้วมิหนำซ้ำพาธิดาไป
เจ้าดวงเนตรของปิตุเรศเอ๋ย จะชื่นเชยชมชิดพิสมัย
อสุรินสุริยวงศพระองค์ใด ไม่เห็นใครที่จะสืบศฤงคาร
สงวนไว้จะบำรุงเป็นสูงภพ เจ้างามลบโฉมโลกทุกสถาน
แม่เจริญสวัสดิ์อยู่ในรัตนพิมาน พ่อสำราญฤทัยไม่เว้นวาย
อสูรเอ๋ยอัปยศในครั้งนี้ ไม่รู้ที่จะล้างครหาหาย
ถึงจะคืนบุตรีก็มีลาย จะเอาอายนั้นไปแฝงที่แห่งไร ฯ
ครั้นระงับดับอาดูรสวาท ลีลาสออกพิมานพินิจฉัย
เถลิงบัลลังกอาสน์อำไพ ในภายใต้ฉัตรแก้วสุรกานต์
หมู่เสนางค์ต่างเฝ้าประจำองค์ ทรงดำริด้วยราชบรรหาร
พอแคฝอยคลี่สร้อยสุมามาลย์ เบ่งบานเสาวรสรำเพยขจร
คิดคำนึงถึงปาริกชาติ เคยประพาสเชยทิพเกสร
จำทะทำสงครามวัชรินทร คืนสุทัสน์พระนครสวรรยา ฯ
จึ่งสั่งสามอสุรีที่ชาญฤทธิ์ จิตราสูรอุปราชเป็นทัพหน้า
ทัพสองกาลสุทอสุรา เอาเสนากาลสูรเป็นตรีทัพ
จะขึ้นไปรณรงค์ด้วยโกสีย์ เหวยอสูรหัตถีเครื่องประดับ
โยธาเราคณานับ มาคอยรับเสด็จหน้าพระลานชัย
พอล่วงราชบบัญชาประกาศิต ก็แจ้งจิตไปด้วยทิพนิสัย
ตลอดจนอสุรภพทั้งใกล้ไกล มาพร้อมในที่ประชุมพลากร ฯ
ฝ่ายองค์จอมอสุเรศอันเรืองยศ อลงกตทิพยรัตน์ประภัสสร
ทรงวิเชียรเสโลแล้วบทจร มาขึ้นยานกุญชรอันนฤมิต น
มหิสูรแปลงกายเป็นหัตถี มีสีดังเงินยวงท้าวสถิต
สูงร้อยห้าสิบโยชน์กำลังฤทธิ์ เหมือนจะปิดสุริยาลงมาดิน
เครึ่องประดับสรรพทั่วสารพางค์ แค่ละอย่างช้างทรงองค์โกสินทร์
หมายประจญเอราวัณอินทร์ จะเพิกพังปฐพินพระเมรุทอง
ส่ายหน้าร่างากระหึมมัน กระชันหูชูงวงเยื้องย่อง
ดุเดือดเงือดเงื้อจะแทงลอง คะนองเสียงเพียงสังข์พิชัยยุทธ์
พวกพลโยธากว่าแสน เนืองแน่นโกลาอุตลุต
พลมารห้าวหาญชาญยุทธ์ มาหยุคยั้งเชิงเมรุคิรี ๆ
สั่งให้เข้าหักด่านตาล จับนาคพลทหารของโกสีย์
ครั้นได้ฟังสารสั่งอสุรี แผลงฤทธีหมายจับซึ่งภุชงค์ ฯ
คณานาคพันโกฏิอันรักษา เชิงมหาศิขเรศก็พิศวง
เห็นอสูรสงครามรณรงค์ ไม่องอาจที่จะรอต่อมือมาร
ดังกุญชรกาสรมฤคเพศ แสยงฤทธิ์สิงหเรศประหารผลาญ
ภุชงค์หนีไพรีไม่ต่อพาล ไปชั้นบาดาลปฐพี ฯ
จอมภพสุรพงศ์ผู้ทรงสวัสดิ์ ให้รีบรุดโคยเมรุวิถี
ถึงสุบรรณอันประดับด้วยโยธี ยกเข้าตีปักษินไพชยนต์ ฯ
ส่วนพระยาทิชาชาติก็หวาดจิต เห็นฤทธิ์อสุรีคะลึงฉงน
เล็งด้วยทิพยสิบทั่วไม่สิ้นพล ดังสายฝนช่านไปในจักรวาล
หมู่สุบรรณพันโกฏในสิมพลี ทฤษฎีแล้วทุเรศจากสถาน
ก็เหาะหนีอสุรีไม่รอนราญ ไปพิมานชั้นประชุมซึ่งกุมภัณฑ์ ฯ
ปิ่นมกุฎอสุรีสวัสดิราช หมายคืนกรุงเมรุมาศมไหศวรรย์
ครั้นมีชัยในราชสุบรรณ ให้ยกตีชั้นสามไม่คร้ามคิค ๆ
ทัพพระยากุมภัณฑ์อันรักษา ชั้นมหาบรรพตอันไพจิตร
เห็นสงครามลามล่วงกระชั้นชิด กำล้งฤทธิ์เพียงเพชรปาณี
ครั้กกะสู้ดูหนึ่งไม่มีสัตย์ ดำรัสแล้วพาพวกโยธีหนี
ก็แตกร่นย่นฤทธิ์อสุรี ถึงชั้นสี่ทีป่ระชุมไพชยนต์ยักษ์ ฯ
องก์อสูรอันสมบูรณ์อิสริยศ ก็ปรากฎอดิศรขจรศักคื้
ดังได้สมบัติในจตุรพักตร์ ให้เร่งยกหักด่านบุรินทร
ส่วนสาตาคิรีผู้เป็นใหญ่ นภาลัยมณฑลสิงขร
ทั้งเสนามาตยาพลากร ก็ณาญรอนฤๅไพรี
เห็นสามชั้นมิได้กั้นประจามิตร ให้ติดตามมาสงครามถึงยักษี
ไม่สามารถตั้งมั่นประจัญตี พาโยธีหนีไปกุนทริน ฯ
ฝ่ายองค์เนวาสิกาสูร ยิ่งเพิ่มพูนสุรฤทธิ์ดังจิตถวิต
ให้ทัพหน้าเร่งเร้าพลพฤนท์ เหาะข้ามสินธุไปยังขุนยุคนธร ฯ
ฝ่ายจาตุมหาราชิการาช ทรงซึ่งทิพอาสน์มเหศร
เป็นอิสระอยู่ในสันดร ขจรยศปรากฎทั้งจ้กรวาล
ครั้นแจ้งว่าสุราอสุรภพ จะรบชั้นเทวัญวิมานสถาน
ดำรัสเรียกซึ่งดุรงค์บวรยาน หมู่เทเวศบริวารในธานี ฯ
เหล่าสุราภพพลมาตย์ ได้ฟังวราชบัญชาทุกราศี
มาชุมพร้อมกันที่จอมโยธี โดยวิถีเทวราชบทจร ฯ
ตระบัดท้าวฟังศรีผู้มีสวัสดิ์ ประจงโจงทิพรัตน์ประภัสสร
ดูเปล่งปลาบอาบศรีฉวีวร แล้วทรงขรรค์กรายกรขึ้นม้มา ฯ
สินธพเทเวศนฤมิคต เป็นสีทองชวลิตทั่วมังสา
สูงระหงทรงทิพโอภา รจนาเครื่องประดับสำหรับยศ
เหาะรอบขอบจักรวาลไม่ทันช้า สี่เท้าเร็วยิ่งกว่าลมกรด
ให้คลายคลี่โยธีเป็นหลั่นลด บทจรไปต่อด้วยไพรี ฯ
เหลือบเห็นพลอสุราเสนาทัพ ให้หวาดหวั่นพรั่นพลับอาชาหนี
พาซึ่งเทพเจ้าและโยธี ก็จรลีไปสุทัสนนคร ฯ
เข้าทูลองค์วาสรินทร์เทวราช ตามแต่บาทยุคลอดิศร
อสุรีกรีทัพแสนยากร มารุกรอนชั้นยอดยุคละรินทร์
หมู่สงครามลามล่วงกำเริบนัก พระปิ่นปักหลักโลกจงทรงถวิล
จะหมิ่นยศเทวาชั่วฟ้าดิน องค์ศักรินทรืได้เมตตา

(จบฉบับเพียงนี้)

Wednesday, February 4, 2009

การ์ตูนคัมภีร์ธรรม

กฎแห่งกรรม
เหตุต้น-ผลกรรม
จงทำดี ได้ดี มีความสุข
ปลดความทุกข์ เบิกบานใจ หรรษา
มีหนังสือเล่มนี้ คอยนำพา
ขอเชิญมา เปิดอ่านให้เข้าใจ

เหตุใดชาตินี้มียศฐาฯ
ปิดทองพระพุทธชาติก่อนไว้
ชาติก่อนสร้างสมกุศลไวง้
ทั้งวอนไหว้ถวายผ้าครองพระองค์
ปิดทองพระหรือว่าไปปิดกายตน
ครองผ้าบนองค์พระ ตนก็ได้
อย่าหมายว่ามียศฐาฯ นั้นง่ายดาย
ไม่ได้สร้างสมไว้ ฤๅ ได้มา

เหตุใด ได้ขี่ม้ามีพาหนะนั่งคานหาม
ผลจาก ชาติก่อนซ่อมสร้งสะพานทางสัญจร

เหตุใด สวมใส่แพรพรรณอันงดงาม
ผลจาก ชาติก่อนถวานจีวรแด่พระสงฆ์

เหตุใด มีเสื้อผ้าอาหารบริบูรณ์
ผลจาก ชาติก่อนเกื้อหนุนข้าวน้ำแก่คนจน
เหตุใด อัตคัตอดอยากยากไร้
ผลจาก ชาติก่อนเฟื้องไพไม่ให้ทาน

เหตุใด มีบ้านเรือนใหญ่โตโอฬาร
ผลจาก ชาติก่อนนั้นถวายข้าวสารเข้าวัด

เหตุใด บุญวาสนาสักการะบริบูรณ์
ผลจาก ชาติก่อนสร้างวัด, ศาลาพักร้อน

เหตุใด เกิดมางามสง่าหน้าตาดี
ผลจาก ชาติก่อนถวายดอกไม้สดบูชาพระ

เหตุใด เกิดมาปราดเปรื่องเรืองปัญญา
ผลจาก ชาติก่อนภาวนาหมั่นสวดมนต์

เหตุใด สามีภรรยาครองกันอยู่
ผลจาก ชาติก่อนถวายผ้าคู่บูชาพระคู่ประดับพระ

เหตุใด มีพ่อมีแม่อยู่พร้อมหน้า
ผลจาก ชาติก่อนไม่ดูแคลนคนไร้ญาติ
เหตุใด ขาดพ่อขาดแม่เป็นกำพร้า
ผลจาก ชาติก่อนพรากลูกนกลูกกา

เหตุใด ลูกหลานมากมายใกล้ชิด
ผลจาก ชาติก่อนช่วยชีวิต ปล่อยนกกา
เหตุใด ชาตินี้ไม่มีลูก
ผลจาก ชาติก่อนผู้ใจเกลียดลูกหลานเขา

เหตุใด ชาตินี้มีอายุยั่งยืนนาน
ผลจาก ชาติก่อนทำทานซื้อสัตว์ปล่อย
เหตุใด อายุสั้นในชาตินี้
ผลจาก ชาติก่อนคร่าชีวิตสัตว์ทั้งหลาย

เหตุใด ชาตินี้ขาดสามีต้องเป็นหม้าย
ผลจาก ชาติก่อนทำร้ายเหยียดสามี
เหตุใด ชาตินี้ไม่มีเมีย
ผลจาก ชาติก่อนลักลอบเป็นชู้ลูกเมียเขา

เหตุใด ชาตินี้ต้องต่ำเป็นบ่าวไพร่
ผลจาก ชาติก่อนเนรคุณไม่ช่วยเหลือใคร

เหตุใด ชาตินี้มีดวงตาสว่างใส
ผลจาก ชาติก่อนจุดโคมไฟถวายน้ำมัน

เหตุใด ชาตินี้เป็นหนวกใบ้
ผลจาก ชาติก่อนด่าพ่อแม่พูดหยาบคาย

เหตุใด ชาตินี้จึงหลังโก่งค่อมคด
ผลจาก ชาติก่อนเยาะเย้ยนักพรต คนไหว้พระ

เหตุใด เกิดเป็นม้าวัวควายในชาตินี้
ผลจาก ชาติก่อนเป็นหนี้ไม่จ่ายคืน

เหตุใด ชาตินี้สุขภาพดีไร้โรคภัย
ผลจาก ชาติก่อนบริจาคยาช่วยคนไข้

เหตุใด ยากจนไร้ญาติขาดมิตร
ผลจาก ชาติก่อนใจร้ายไม่ลดลา

เหตุใด เลี้ยงลูกไม่โตซ้ำขี้โรค
ผลจาก ชาติก่อนพยาบาทคาดแค้นใครเขาไว้

เหตุใด นัยน์ตาบอดมืดมน
ผลจาก ชาติก่อนจัดพิมพ์จำหน่ายหนังสือลามก

เหตุใด เกิดชาตินี้ปากแหว่งจมูกโหว่
ผลจาก ชาติก่อนชอบยุแหย่ให้เขาแตกกัน

เหตุใด ชาตินี้มืององ่อยเปลี้ย เสียแขน
ผลจาก ชาติก่อนตีพ่อตีแม่ทารุณท่าน

เหตุใด ชาตินี้ขาลีบงอคดโก่งพิการ
ผลจาก ชาติก่อนทำลายสะพานทางสัญจร

เหตุใด ชาตินี้โรคมากลำบากกาย
ผลจาก ชาติก่อนเห็นใครวอดวายนึกยินดี

เหตุใด ชาตินี้เกิดมาเป็นหมูหมา
ผลจาก ชาติก่อนเจตนาหลอกลวงคน

เหตุใด ชาตินี้ถูกจองจำ
ผลจาก ชาติก่อนเห็นใครอันตรายไม่คิดช่วย

เหตุใด ชาตินี้น่าสงสารต้องอดตาย
ผลจาก ชาติก่อนเยอะหยันด่าขอทาน

เหตุใด ชาตินี้เกิดมารูปชั่ว ต่ำเตี้ย
ผลจาก ชาติก่อนดูถูกคนรับใช้

เหตุใด ชาตินี้ต้องอาเจียนเป็นโลหิต
ผลจาก ชาติก่อนใส่ไคล้ยุแหย่คน

เหตุใด ชาตินี้หูหนวกไม่ได้ยิน
ผลจาก ชาติก่อนปิดใจไม่เชื่อพระธรรมคำสอน

เหตุใด ชาตินี้เป็นโรคเรื้อนแผลเน่าเรื้อรัง
ผลจาก ชาติก่อนทำร้ายทารุณสัตว์ไม่ปรานี

เหตุใด ชาตินี้กลิ่นตัวแรงน่ารังเกียจ
ผลจาก ชาติก่อนอิจฉาริษยาใครดีเกินหน้า

เหตุใด ชาตินี้ต้องแขวนคอตายเพื่อใช้กรรม
ผลจาก ชาติก่อนทำผู้อื่นเสียหายจนได้ดี

เหตุใด ชาตินี้จึงอ้างว้างเป็นหม้าย
ผลจาก ชาติก่อนใจร้ายไม่รักลูกเมีย

เหตุใด ชาตินี้ต้องเจ็บปวดเพราะไฟไหม้ ฟ้าผ่า
ผลจาก ชาติก่อนใส่ไคล้คนบวชเรียน

เหตุใด ชาตินี้ถูกงูเสือกัดทำร้ายเอา
ผลจาก ชาติก่อนก่อภัยสร้างศัตรู

เหตุใด สร้างข่าวลือทำลายใครต่อใคร
ผลจาก จะต้องตายเพราะถูกคนวางยา

เหตุใด ล่วงเกินลูกใครเมียเขา
ผลจาก ตัวเจ้าขาดคนครองคู่

เหตุใด อนุโมทนาร่วมทำบุญทั่วไป
ผลจาก จะได้ภรรยาสวยสะใภ้ดีเป็นศรีศักดิ์

เหตุใด เกิดเป็นสุนัขเฝ้าบ้าน
ผลจาก ชาติก่อนคิดร้ายกับผู้มีพระคุณ

เหตุใด เกิดเป็นหมู ไก่ให้คนกิน
ผลจาก ชาติก่อนโกงเงินทำบุญ

Monday, January 12, 2009

นิทานเวตาล เรื่องที่ ๒

ฝ่ายพระวิกรมาทิตย์ ครั้นเวตาลหลุดลอยไปแล้วก็ยืนตะลึงนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง จึงหันพระพักตร์พาพระ
ราชบุตรดำเนินไปยังต้นอโศก ครั้นถึงก็ปีนขึ้นไปปลดเวตาลลงมาบรรจุลงย่ามแบกดำเนินกลับมา
เวตาลก็เล่าเรื่อง ซึ่งกล่าวว่าเป็นเรื่องจริงอีกเรื่องหนึ่งดังนี้
ในเมือง โภควด ี มีพระราชกุมารองค์หนึ่งซึ่งข้าพเจ้าจะกล่าวได้ว่าทรงเกียรติคุณ แลทรงศักดิ์
ประดุจดังพระราชบุตรแห่งพระองค์ซึ่งตามเสด็จอยู่ ณ บัดนี้ เวตาลทูลดังนั้น ประสงค์จะทูลพระ
ราชาทางอ้อมแต่พระราชามิได้รับสั่งประการใดเพราะไม่โปรดการยอ แต่ถ้าจำเป็นใครจะต้องยอ
ใครแล้ว พระวิกรมาทิตย์โปรดให้ยอพระองค์เอง ไม่ต้องให้ยอผ่านคนอื่น พระหฤทัยในข้อ
นี้เนาวรัตนกวีย่อมทราบ แลใช้เป็นหลักในการยอพระเกียรติ แลใช้การยอพระเกียรติเป็น
หลักแห่งความมั่งคั่งของเจ้าบทเจ้ากลอนทั้งเก้านั้น
เวตาลเล่าต่อไปว่า พระราชกุมารองค์นั้นทรงนาม พระรามเสน เป็นพระราชบุตรของพระราชาธิบดี
ซึ่งข้าพเจ้าจำต้องกล่าวว่าผิดกับพระองค์มาก เพราะพระราชาองค์นั้นโปรดเข้าป่าล่าเนื้อ โปรดเล่น
สกา โปรดบรรทมกลางวัน เสวยน้ำจัณฑ์กลางคืน โปรดความสำราญซึ่งเป็นไปในทางกาม
ประกอบด้วยคุณชั่วหลายอย่าง คุณดีหายากแต่เป็นที่รักที่นับถือของพระราชบุตรแลธิดา เพราะเธอ
ทรงเอาใจใส่ที่จะให้เป็นเช่นนั้น เธอไม่วางลงเป็นบัญญัติมาแต่สวรรค์ว่าจะมีเหตุอันควรก็ดี มิมีก็ดี
ลูกจำเป็นต้องรักพ่อให้เต็มความรักซึ่งมีในใจ มิฉะนั้นก็ต้องตกนรก ไม่เหมือนพ่อแม่บางคนซึ่งถือ
ตัวว่าทรงคุณธรรมอันดี แต่ใช้ลูกวิ่งตามหลังประหนึ่ง...
เวตาลพูดไม่ทันขาดคำ พระวิกรมาทิตย์ทรงพิโรธเป็นกำลังก็เอื้อมพระหัตถ์ไปข้างหลัง จับแขน
เวตาลเต็มกำกระชากด้วยกำลังแรง เวตาลร้องโอยๆ เหมือนหนึ่งเจ็บปวดมาก แต่ถ้าจะสังเกตก็
เหมือนแกล้งร้องเป็นเชิงเยาะเย้ย ไม่ใช่ร้องด้วยเจ็บ เพราะเมื่อพระราชาหยุดกระชาก เวตาลก็
กล่าวต่อไปด้วยสำเนียงแจ่มใสว่า
พ่อทั้งหลายแบ่งเป็นสามประเภท แลถ้าจะกล่าวการจำแนกประเภทแห่งแม่ก็ฉันเดียวกัน พ่อ
ประเภทที่หนึ่ง เป็นคนชนิดที่กล่าวได้โดยอุปมาว่า มีอกกว้างสามศอก มีใจกว้างตาม
ขนาดแห่งอก พ่อชนิดนี้เป็นคนใจดี ชอบสนุก เอาใจลูก มักจะจน แต่ลูกรักเหมือนเทวดา
พ่อประเภทที่สองอกกว้างเพียงศอกคืบ มีใจแคบเข้ามาตามส่วนแห่งอก พ่อชนิดนี้ถ้าได้ยิน
ข้าพเจ้าพูดดังที่พระองค์ได้ยินอยู่เดี๋ยวนี้ก็คงคิดในใจว่าอ้ายตัวนี่มันพูดถูก กูจะจำคำของมันเป็นคติ
ลองดูว่าจะเป็นผลอย่างไรบ้าง คิดดังนั้นแล้วก็กลับไปบ้าน ปฏิบัติการเอาใจลูกเป็นขนานใหญ่ แต่
ไม่ช้าก็กลับเป็นอย่างเก่าเพราะความเที่ยงในใจไม่มี พ่อประเภทที่สามเป็นคนอกกว้างศอก
เดียวไม่มีเศษ สมมุติเป็นที่สุดแห่งความแคบ แลใจก็ได้ขนาดกับอก
พระองค์ผู้เป็นพระราชาธิบดีอันสูงสุด เป็นตัวอย่างพ่ออกศอกเดียวคือประเภทที่สามนี้ เมื่อยังทรง
พระเยาว์ พระองค์ทรงเรียนวิชาซึ่งมีผู้สั่งสอนถวาย เช่น ความรู้ที่ว่า ไม้เรียวเป็นต้นไม้ซึ่งคนอาจ
ปีนขึ้นไปได้ถึงสวรรค์ เป็นต้น ครั้นพระองค์ทรงชนมายุถึงมัชฌิมวัย ก็ทรงใช้ความรู้ที่เรียนมาใน
เบื้องต้น ทรงปลูกไม้เรียวสำหรับให้พระราชบุตรปีนขึ้นไปสู่ทิพยโลก พระองค์จะสอนอะไรตน
เองก็สอนไม่ได้ ก่อนที่หนวดแห่งพระองค์งอกงามเป็นช่อ ครั้นเมื่องอกงามแล้วใครจะสอน
อะไรพระองค์ก็ไม่ได้เหมือนกัน ถ้าใครเพียรจะทำให้พระองค์เปลี่ยนความเห็น พระองค์ก็
กล่าวคำที่กวีโง่ๆ กล่าวไว้ว่า
o อะไรใหม่มิใช่ความจริงแน่ ความจริงแท้เกิดใหม่เกิดได้หรือ
อะไรใหม่ไม่จริงทุกสิ่งคือ อะไรจริงใช่ชื่อว่าใหม่เอย ฯ
แต่พระองค์ก็เป็นประโยชน์แก่โลกเหมือนสิ่งอื่นๆ ในแผ่นดิน เมื่อทรงชนมายุก็อยู่เหมือน
อูฐซึ่งรับใช้การ เมื่อสิ้นชนมายุแล้ว เถ้าแลถ่านอัฐิแห่งพระองค์ก็ประสมธาตุอย่างเดียวกับ
เถ้าแลถ่านอัฐิแห่งผู้มีปัญญา
พระราชาทรงจับย่ามกระชาก เวตาลร้องเหมือนเจ็บ ครั้นพระราชาทรงหยุดกระชาก มันก็หัวเราะ
แล้วทูลต่อไปว่า ข้าพเจ้ากล่าวตรงไปตรงมามิได้อ้อมค้อม เพราะถ้าไม่พูดตรง จะต้องพูดยืดยาวจึง
จะได้ความเท่าที่พูดนี้ บัดนี้จะทูลเล่าเรื่องต่อไปว่า
ครั้นพระราชากรุงโภควดีเป็นอากาศปนกับอากาศไปแล้ว พระรามเสนก็ได้รับราชสมบัติเป็นมรดก
สืบไป พระรามเสนมีนกแก้วตัวหนึ่ง ซึ่งได้รับเป็นมรดกจากพระราชบิดา นกแก้วตัวนี้เป็นมรดกมีค่า
ยิ่งทรัพย์สินเงินทองทั้งหลาย มีชื่อว่า จุรามัน พูดสันสกฤตคล่องราวกับบัณฑิต รู้ศาสตร์ทั้งหลาย
แลมีความคิดราวกับเทวดา เว้นแต่ถ้าเทวดาจะไม่มีความคิดแล้วก็จนใจอยู่ นกจุรามันนี้เป็นที่
ปรึกษาของพระราชาองค์ใหม่ในกิจส่วนพระองค์แลราชการบ้านเมืองทั่วไป
วันหนึ่งพระราชาตรัสแก่นกจุรามันว่า "เจ้ามีความรู้ทุกอย่าง เจ้าจงบอกแก่ข้าว่าข้าจะหานางได้ที่
ไหนผู้จะเป็นคู่สมควรแก่ข้าทุกประการ คัมภีร์ศาสตร์กล่าวว่า ชายจะมีเมียไม่ควรเลือกหญิง ในสกุล
ซึ่งกล่าวต่อไปนี้ แม้สกุลจะมั่งคั่งด้วยโค ด้วยแพะ ด้วยแกะ ด้วยทองแลด้วยธัญญาหารก็ต้องห้าม
ถ้าเป็นสกุลซึ่งไม่กระทำการบูชาตามบัญญัติ ในคัมภีรศาสตร์ หรือเป็นสกุลซึ่งไม่มีลูกชาย หรือเป็น
สกุลซึ่งไม่มีใครเคยเรียนพระเวท หรือเป็นสกุลซึ่งคนมีขนขึ้นมากตามกาย หรือเป็นสกุลซึ่งมีโรค
ติดต่อกันมาแต่ปู่แลบิดา ชายจะเลือกภริยาควรเลือกนางซึ่งมีกายไม่มีตำหนิ ซึ่งมีนามไพเราะ ซึ่ง
เดินงามเหมือนช้างอ่อนอายุ ซึ่งมีฟันแลผมพอดีทั้งขนาดแลปริมาณ ซึ่งมีกายอันอ่อนนุ่ม คัม
ภีรศาสตร์กล่าวเช่นนี้ เจ้าจะเห็นนางที่ไหนสมควรแก่ข้าบ้าง"
นกจุรามันทูลตอบว่า "ข้าแต่พระราชา ในเมืองมคธมีพระราชาทรงนาม ท้าวมคเธศวร มีพระราช
ธิดาทรงนาม จันทราวดี นางนี้จะได้กับพระองค์เป็นแน่ นางประกอบด้วยความรู้แลงดงามนัก มีฉวี
เหลืองแลนาสิกเหมือนดอกงา ชงฆ์เรียวเหมือนต้นกล้วย เนตรใหญ่เหมือนใบบัว คิ้วจดกรรณทั้ง
สองข้าง ริมพระโอษฐ์เหมือนใบมะม่วงอ่อน พักตร์เหมือนจันทร์เพ็ญ สำเนียงเหมือนนกกาเหว่า กร
ยาวถึงเข่า ศอเหมือนคอนกเขา เอวเหมือนเอวสิงห์ เกศาห้อยยาวถึงเอว ทนต์เหมือนเมล็ดแห่งผล
ทับทิม ดำเนินเหมือนช้างเมามัน"
พระรามเสนได้ทรงฟังนกจุรามันชมโฉมนางดังนั้นก็เป็นที่พอพระราชหฤทัย เราท่านทั้งหลายจะ
ต้องคิดว่าพระรามเสนเป็นแขก อาจเห็นงามในทางซึ่งเราท่านเห็นน่าเกลียดเป็นที่สุด อนึ่งนกจุรา
มันเป็นนกแขกแล้วมิหนำซ้ำพูดสันสกฤตคล่องด้วย เหตุดังนั้นความเปรียบของนกคงจะผิดกับ
ความเปรียบของท่านแลข้าพเจ้า ซึ่งไม่ใช่นกแลพูดสันสกฤตไม่เป็น
จะอย่างไรก็ตามคำชมโฉมของนกนั้น กระทำให้พระรามเสนคิดใคร่จะได้นางเป็นชายาแต่ยังไม่แน่
ในพระหฤทัยทีเดียว จึงตรัสเรียกพระราชครูไทวะจินตกะเข้าไปเฝ้าตรัสถามว่า "ข้าจะได้ใครเป็น
เมีย" พระราชครูตรวจตำราแม่นยำแล้วทูลว่า "นางที่จะเป็นพระราชชายาทรงพระนาม นางจัน
ทราวดี ไม่ช้าคงจะได้มีการวิวาหะพระองค์กับนางองค์นั้น" พระราชาได้ทรงฟังก็ยินดี แม้ไม่เคย
ทรงเห็นนางก็เกิดรักแลใคร่เป็นกำลัง จึงทรงจัดให้พราหมณ์คนหนึ่งเป็นทูตไปเฝ้าท้าวมคเธศวร
ขอพระราชธิดา ทรงสัญญาแก่พราหมณ์นั้นว่า ถ้าจัดการสำเร็จจะประทานรางวัลให้สมกับความ
ชอบ คำที่ทรงสัญญานี้เสมอกับทำให้ปีกงอกบนหลังพราหมณ์ มีคำกล่าวว่าไม่เคยมีใครเดินทาง
เร็วเท่าพราหมณ์คนนั้น
ฝ่ายพระราชธิดาท้าวมคเธศวรมีนกขุนทองตัวหนึ่งพูดสันสกฤตคล่องไม่หย่อนกว่านกแก้วของพระ
รามเสน นกขุนทองนั้นเป็นนางนกชื่อ โสมิกา มีความรู้อยู่ในใจหลายร้อยเล่มสมุด จะหานกไหน
ทรงความรู้เช่นนั้นไม่มี ถ้าจะเว้นก็มีแต่นกแก้วของพระรามเสนกระมัง พระองค์ทรงทราบว่าในกาล
โบราณ คนมีความรู้ทำสัตว์พูดได้แลเข้าใจภาษามนุษย์ แม้ภาษาสันสกฤตซึ่งใช้ไวยากรณ์ยากที่
สุด นกก็พูดได้ไม่พลาดพลั้ง ดังนกชื่อจุรามัน แลนางนกชื่อโสมิกานี้เป็นตัวอย่าง
การทำให้นกพูดได้นี้ กล่าวกันว่าเป็นความคิดของนักปราชญ์คนหนึ่งซึ่งผ่าลิ้นนกออกให้เป็นสอง
ภาค แล้วเปลี่ยนรูปสมองด้วยวิธีผูกรัดหัวกะโหลกเบื้องหลัง จนหัวกะโหลกเบื้องหลังยื่นออกมา
ทำให้เกิดมันสมอง จนถึงรู้คิดแลพูดได้เป็นภาษาคน การที่นักปราชญ์คิดทำให้นกรู้ประสาเช่นนี้ก็มี
คุณดีบ้าง แต่มีคุณชั่วมาก เหมือนความคิดนักปราชญ์ทั้งปวง คือเมื่อนกมีความคิดแลพูดได้แล้วก็
คิดอย่างฉลาดแลพูดอย่างดี คำที่กล่าวล้วนเป็นคำสัตย์ ครั้นมนุษย์พูดเหลวไหล ปราศจากสัตย์
นกก็พูดติเตียนจนมนุษย์เบื่อความสัตย์เข้าเต็มที่ ก็ทิ้งวิชาทำให้นกพูดได้นั้นเสีย ความรู้จึงเสื่อม
ด้วยประการเช่นนี้ ในปัจจุบันถ้านกแก้วแลนกขุนทองยังพูดได้ ก็พูดเหลวๆ เพราะความจำอย่าง
เดียว ไม่ใช่พูดด้วยรู้คิดอย่างแต่ก่อน มนุษย์ไม่ต้องเดือดร้อนด้วยความสัตย์แห่งนกอีกต่อไป
วันหนึ่งนางจันทราวดีพระราชกุมารี ทรงนั่งตรัสกับนางนกในที่รโหฐาน ข้อความที่ตรัสนั้นไม่เป็นข้อ
ความแปลก เพราะหญิงสาวในยุคทั้งหลายเมื่อพูดกับผู้ที่ไว้ใจสนิท จะเป็นเรื่องให้ช่วยพยากรณ์
การภายหน้าก็ตาม ให้ทำนายฝันก็ตาม จะหารือความในใจก็ตาม ใจความที่พูดนั้นอย่าง เดียวกัน
หมด จะพูดเรื่องอื่นเป็นไม่มี เรื่องที่พูดนั้น เรื่องที่พูดนั้นพระองค์ควรทราบได้ด้วยไม่ต้องถามว่า
อะไร พระวิกรมาทิตย์ทรงนิ่งอยู่ เวตาลก็กล่าวต่อไปว่า
นางจันทราวดีตรัสวนเวียนสักครู่หนึ่ง ก็ไปถึงปัญหาซึ่งได้ตรัสถามแล้วในเดือนนั้นประมาณร้อยครั้ง
ว่า ชายที่สมควรเป็นสามีแห่งนางมีหรือไม่ นางนกทูลว่า "ข้าพเจ้ามีความยินดีที่จะทูลให้ทรงทราบ
ได้ในวันนี้ อันที่จริงความมิดเมี้ยนในใจแห่งเราผู้เป็นหญิง..." นกทูลยังไม่ทันขาดคำ นางจัน
ทราวดีชิงตรัสว่า "เจ้าจงหยุดแสดงธรรมในทันที มิฉะนั้นเจ้าจะต้องกินข้าวกับเกลือแทนข้าวกับ
ไข่"
เวตาลกล่าวต่อไปว่า พระองค์ย่อมทราบว่านกขุนทองชอบกินข้าวกับไข่ ไม่ชอบข้าวกับเกลือ เมื่อ
นางจันทราวดีตรัสขู่ดังนั้นนกก็งดการสำแดงปัญญา ซึ่งอาจเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ที่ได้สดับต่อๆ
กันมา นกทูลว่า "ข้าพเจ้าเห็นการภายหน้าได้ถนัด พระรามเสนพระราชาธิบดีครองกรุงโภควดี จะ
เป็นพระราชสามีแห่งนาง นางจะเป็นความสุขแก่พระรามเสน ดังซึ่งพระรามเสนจะเป็นความสุขแก่
นาง เธอเป็นชายหนุ่มงดงาม มั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติ มีหฤทัยเผื่อแผ่แก่คนอื่น สนุกง่าย ไม่ฉลาด
เกิน แลไม่มีโอกาสจะเป็นคนเจ็บได้เลย"
พระราชธิดาได้ฟังดังนั้น แม้ไม่เคยได้เห็นพระรามเสนก็บังเกิดความรักใคร่ กล่าวสั้นๆ พระราชา
หนุ่มและพระนารีสาวต่างก็เป็นปฏิพัทธ์กันอยู่ไกลๆ แต่เพราะเหตุที่พระแลนางอยู่ในตำแหน่ง สูง
สมควรกัน ความรักอยู่ห่างๆ จึงสำเร็จได้ดังประสงค์
เมื่อพราหมณ์ซึ่งพระรามเสนให้เป็นทูตไปกล่าวขอนางนั้น ไปถึงกรุงมคธ ท้าวมคเธศวรก็ทรง
รับรองเป็นอันดี แลตรัสอวยพระราชธิดาแก่พระรามเสน ทรงแต่งให้พราหมณ์ในกรุงมคธไปกรุง
โภควดีเป็นทางจำเริญไมตรี แล้วตรัสให้เตรียม การมงคล ฝ่ายพระรามเสนเมื่อทรงทราบข่าวดี ก็
แช่มชื่นในพระหฤทัย ประทานรางวัลแก่พราหมณ์กรุงมคธเป็นอันมาก ครั้นถึงวันฤกษ์ดีก็ออก
จากกรุงโภควดี แวดล้อมด้วยพหลแสนยากร รอนแรมไปในป่าจนถึงกรุงมคธ ก็เข้าเฝ้าท้าวมคเธศว
ร กระทำการเคารพแลแสดงไมตรีอันดี
ครั้นถึงฤกษ์งามยามบุญ ท้าวมคเธศวรก็จัดการวิวาหะพระราชธิดา มีการเลี้ยงดูอย่างใหญ่ มีการ
ตกแต่งด้วยโคมไฟแลจุดดอกไม้เพลิง มีการสวดร้องตามซึ่งบัญญัติไว้ในพระเวท มีการแห่แลการ
ดนตรี มีเสียงดังเอ็ดไปทั้งพระนคร ครั้นพิธีวิวาหะสำเร็จแล้ว นางจันทราวดีล้างขมิ้นจากพระหัตถ์
แทบจะยังไม่ทันหายเหลือง พระรามเสนก็ทูลลาท้าวมคเธศวรพานางกลับกรุงโภควดี
นางจันทราวดีจะจากพระราชบิดาแลบ้านเมืองไปก็มีความสร้อยเศร้าจึงต้องพาโสมิกา คือนางนก
ขุนทองไปด้วย ไปตามทาง นางเล่าถึงนกแลความฉลาดของนกถวายพระสามี แลทั้งทูลว่านกเป็น
ผู้กล่าวพระนามพระราชาให้นางทราบก่อนที่ได้ยินทางอื่น
ฝ่ายพระรามเสนได้ทรงฟังก็เล่าถึงจุรามันนกแก้วของพระองค์ ทรงชี้แจงความฉลาดแลความรู้ของ
นกนั้น รวมทั้งข้อที่พูดสันสกฤตคล่องนั้นด้วย
พระราชินีได้ฟังดังนั้นก็ทูลพระราชาว่า "เมื่อนกสองตัวของเราวิเศษถึงปานนี้ก็ควรจะเลี้ยงในกรง
เดียวกันแลให้วิวาหะกันโดยคนธรรพ์ลักษณะ นกทั้งสองจะได้เป็นสุข" พระราชินีได้วิวาหะใหม่ๆ ก็
ใคร่จะจัดการวิวาหะให้คู่อื่นบ้าง ตามซึ่งมักจะเป็นไปโดยมากในหมู่หญิงสาวซึ่งได้ผัวใหม่ๆ
พระราชาตรัสว่า นางตรัสถูกแล้ว ถ้านกทั้งสองไม่มีคู่จะมีสุขอย่างไรได้ การที่ตรัสอย่างนี้เพราะ
พระองค์กำลังเพลินในการมีคู่ ย่อมจะนึกตามอารมณ์ของผู้มีเมียใหม่ว่านอกจากคนมีเมียแล้ว ไม่มี
ใครมีความสุขเป็นอันขาด ความทุกข์จะเกิดแก่ผู้มีเมียนั้นไม่อาจมีได้ในโลก
ครั้นสององค์เสด็จถึงกรุงโภควดีแล้ว ก็ตรัสให้เจ้าพนักงานยกกรงใหญ่มาตั้งจำเพาะพระพักตร์ ทรง
จับนกปล่อยเข้าไปในกรงทั้งสองตัว ฝ่ายนกจุรามันเกาะอยู่บนคอนเอียงคอดูนกขุนทอง นางโสมิ
กานกขุนทองจับอยู่อีกคอนหนึ่ง ยกหน้าชูปากขึ้นไปบนฟ้าโดยกิริยาดูหมิ่นแล้วกระโดดไปเกาะ
คอนอื่นที่ห่างออกไป
นกแก้วนิ่งดูอยู่ครู่หนึ่งก็พูดภาษาสันสกฤตว่า "นางนกขุนทอง เจ้าคงจะกล่าวดอกกระมังว่า เจ้าไม่
อยากได้คู่" นางนกขุนทองตอบในภาษาเดียวกันว่า "ท่านเดาเห็นจะไม่ผิด" นกแก้ว "เพราะเหตุไร
เจ้าจึงไม่อยากมีคู่" นกขุนทอง "เพราะใจของข้าเป็นอย่างนั้น" นกแก้ว "นี่พูดอย่างผู้หญิงทีเดียว
ข้าจะขอยืมคำพระราชาของข้ามากล่าวว่า ที่อธิบายเช่นนี้เป็นปัญญาหญิง คือไม่ใช่ปัญญาแลไม่ใช่
อธิบายเลย เจ้าจะพูดให้แจ่มแจ้งกว่านี้สักหน่อยจะได้หรือไม่ หรือรังเกียจที่จะพูดให้ผู้อื่นเข้าใจ"
นกขุนทองโกรธจนแทบจะลืมไวยากรณ์สันสกฤต ตอบว่า "ข้าไม่รังเกียจเลย ข้าจะบอกให้แจ่มแจ้ง
ที่สุด บางทีจะแจ่มแจ้งเกินความพอใจของเจ้า พวกเจ้าซึ่งเป็นเพศชายย่อมประกอบขึ้นด้วยความ
บาป ความโกง ความล่อหลอก ความเห็นแก่ตัว ความปราศจากธรรมในใจ คล่องในการทำลาย
พวกเราซึ่งมีเพศเป็นหญิง เพื่อความสำราญของพวกเจ้า"
พระราชาตรัสแก่พระราชินีว่า "นางนกตัวนี้กล้าหาญ พูดจาไม่เกรงใจใครเลย" นกแก้วทูลพระราชา
ว่า "พระองค์จงถือว่าคำที่นางนกกล่าวนั้นเหมือนหนึ่งลมซึ่งเข้ากรรณนี้ไปออกกรรณโน้นเถิด (แล้ว
เหลียวไปพูดกับนกขุนทองว่า) นางนกขุนทอง พวกเจ้านั้นถ้าไม่ได้ประกอบขึ้นด้วยความล่อหลอก
แลความคดในใจแลความไม่รู้ ก็ประกอบขึ้นด้วยอันใดเล่า พวกเจ้ามีปรารถนาอยู่อย่างเดียวแต่จะ
ไม่ให้มีชีวิตเป็นเครื่องสำราญได้ในโลกนี้เป็นอันขาด"
พระราชินีทูลพระราชาว่า "นกของพระองค์ตัวนี้ พูดจาก้าวร้าว ไม่ยำเกรงใครเลย" นกขุนทอง
ทูลพระราชินีว่า "คำที่ข้าพเจ้ากล่าวนั้นอาจนำพยานมาสำแดงได้" นกแก้วทูลพระราชาว่า ข้าพเจ้า
อาจนำนิทานมาเล่าให้ผู้หญิงเห็นจริงได้"
พระราชาแลพระราชินีได้ทรงฟังดังนั้น ก็ตกลงกันให้นกทั้งสองนำหลักฐานมาสำแดง เป็นพยานคำ
ที่กล่าว พระราชินีขอให้นกขุนทองแสดงก่อน พระราชายอมตกลง นางนกขุนทองกล่าวดังนี้
นิทานของนกขุนทอง
เมื่อก่อนที่ข้าพเจ้ามาเป็นข้าพระองค์นั้น ข้าพเจ้าเคยอยู่กับ นางรัตนาวดี ธิดาพ่อค้าผู้มั่งคั่งด้วย
ทรัพย์สมบัติ นางรัตนาวดีเป็นหญิงน่ารักน่าชมทุกประการ (นกขุนทองกล่าวเท่านั้นก็ร้องไห้ พระ
ราชินีทรงสงสารก็รับสั่งปลอบโยนเป็นอันดี นกก็เล่าต่อไปว่า)
ใน เมืองอิลาบุรี มีพ่อค้ามั่งมีคนหนึ่ง ได้ความเดือดร้อนเพราะไม่มีบุตร พ่อค้าจึงทำโยคะคืออด
ข้าวเป็นต้น แลทั้งเที่ยวไปในบุณยสถานต่างๆ เพื่อจะขอลูก เมื่ออยู่บ้านก็อ่านปุราณะแลให้ทานแก่
พราหมณ์ ด้วยประสงค์อันนั้น
ต่อมาพระผู้เป็นเจ้าโปรดประทานให้มีบุตรชายมาเกิดคนหนึ่ง พ่อค้ายินดีก็มีงานสมโภชลูกชาย
ใหญ่โต ให้ทานแก่พราหมณ์ผู้สวดกลอนยอ แลพราหมณ์อื่นๆ เป็นอันมาก ผู้ที่จนก็ได้รับเงินแจก
แลเสื้อผ้า ผู้ที่หิวก็ได้รับแจกอาหารแลของอื่นๆ เป็นอันมาก
พ่อค้าทำนุบำรุงเลี้ยงบุตรชายมาจนอายุได้ห้าขวบก็หาผู้มาสอนให้อ่านหนังสือ ครั้นโตขึ้นอีกก็ส่ง
ให้ไปอยู่กับครูผู้มีชื่อว่ามีความรู้แลสั่งสอนดี บุตรชายโตขึ้นมีรูปสมบัติดูไม่ได้ เค้าหน้าเหมือนลิง
ขาเหมือนขานกกระเรียน หลังโกงเหมือนหลังอูฐ พระองค์คงจะทราบภาษิตโบราณว่า ถ้าพบ
คนขาเขยกให้เชื่อใจได้ว่าพบความคด ๓๒ ข้อ ถ้าพบคนตาบอดข้างหนึ่ง พบความคด ๘๐
ข้อ ถ้าพบคนหลังกุ้งให้สวดมนต์อ้อนวอนพระมเหศวรให้คุ้มครองตน
บุตรชายพ่อค้านั้น เมื่อไปเรียนหนังสือกับครูก็มิได้ไปถึงครู ไปเที่ยวแวะเล่นเบี้ยกับเพื่อนที่เป็นพาล
ด้วยกัน ต่างคนมีใจชั่วและประพฤติทุจริตต่างๆ เมื่อพบผู้หญิงก็เข้าเกี้ยวชักชวนในเชิงกาม และ
กระทำการลามกจนบิดาเสียใจเป็นโรคหนักอยู่หน่อยหนึ่ง ก็ถึงแก่ความตาย
ครั้นบิดาสิ้นชีวิตแล้ว บุตรชายได้รับมรดกก็จ่ายทรัพย์เปลืองไปในการพนันแลบำรุงความชั่ว ไม่ช้า
ทรัพย์มรดกซึ่งได้รับเป็นอันมากนั้นก็สิ้นไปจนไม่มีอะไรเหลือ ครั้นทรัพย์ของตนหมดก็ทำลาย
ทรัพย์เพื่อนบ้านจนในที่สุดเขาจับได้ว่าเป็นขโมย เผอิญหลบหลีกได้ไม่ถูกประหารชีวิตตามอาญา
เมือง จนในที่สุดกล่าวลบหลู่เทวดาว่าให้แต่โชคร้าย แล้วหนีออกจากเมืองไปเดินป่าอยู่พักหนึ่ง ถึง
เมืองซึ่งเป็นที่อยู่แห่ง เหมคุปต์ เศรษฐีผู้บิดานางรัตนาวดี ได้ยินชื่อเหมคุปต์ก็นึกขึ้นได้ว่าเมื่อบิดา
ของตนยังมีชีวิตอยู่นั้น ได้ทำการค้าขายติดต่อ จึงเข้าไปหาเหมคุปต์ แจ้งความว่าตนเป็นบุตรแห่ง
พ่อค้าที่ได้เคยค้าขายติดต่อกัน บัดนี้บิดาสิ้นชีวิตเสียแล้ว พูดเท่านั้นก็ร้องไห้ร่ำไรไปเป็นอันมาก
ฝ่ายเหมคุปต์ ครั้นได้ยินแลเห็นชายหนุ่มแต่งกายทรุดโทรมดังนั้น ก็ประหลาดใจแลคิดสงสาร จึง
ปลอบโยนซักถามว่าเหตุไฉนจึงเป็นเช่นนี้ ชายหนุ่มหลังโกงเหมือนอูฐตอบว่า ข้าพเจ้าจัดสินค้า
บรรทุกเรือไปค้าขายในเมืองอื่น ครั้นขายของหมดแล้ว ข้าพเจ้าซื้อสินค้าเมืองนั้น บรรทุกเรือจะ
กลับไปขายในเมืองของข้าพเจ้า แล่นใบไปในกลางทะเล ถูกพายุใหญ่เป็นอันตรายในทะเลทั้งเรือ
แลสินค้า ข้าพเจ้าเกาะกระดานลอยไปคนเดียว เผอิญยังไม่ถึงเวลาสิ้นชีวิต จึงรอดขึ้นฝั่งได้แลเดิน
ทางมา จนถึงเมืองนี้ ข้าพเจ้าไม่มีหน้าจะกลับไปเมืองของตนได้ เพราะสิ้นทรัพย์แล้วก็ไม่มีใคร
นับถือ ผู้ที่เป็นศัตรูก็มีแต่จะด่าว่าข่มขี่ต่างๆ บิดามารดาของข้าพเจ้าก็สิ้นชีวิตเสียนานแล้ว ข้าพเจ้า
ไม่รู้จะหันหน้าไปหาใคร ทั้งนี้ก็เป็นผลแห่งกรรมซึ่งกระทำไว้แต่ปางก่อน พูดเท่านั้นแล้วก็ร้องไห้
ร่ำไรไป
ฝ่ายเหมคุปต์เศรษฐีได้ยินชายหลังอูฐร้องไห้เล่าเรื่องให้ฟังดังนั้นก็เกิดสงสารเป็นกำลัง จึงต้อนรับ
เลี้ยงดูให้ชายหลังอูฐอาศัยอยู่ในบ้านของตน ชายชั่วเห็นทางจะได้ดีด้วยทำดีก็ขืนใจปฏิบัติเป็นคน
ดี จนเหมคุปต์ไว้ใจให้มีส่วนในการค้าขาย ชายหนุ่มก็ยิ่งแสร้งทำดีจนเหมคุปต์ไว้ใจแลเอ็นดูยิ่งขึ้น
วันหนึ่งเหมคุปต์ตรึกตรองในใจว่า เรานี้มีความร้อนใจมาหลายปีแล้วเพราะบกพร่องในครอบครัว
เพื่อนบ้านของเราก็ซุบซิบนินทาเรามาช้านาน บ้างก็พูดอ้อมค้อม บ้างก็พูดตรงๆ ว่า ธรรมดาคนมี
ลูกสาว เมื่อลูกอายุถึง ๗ ขวบ ๘ ขวบ พ่อก็ต้องจัดการให้มีผัว เพราะธรรมศาสตร์บัญญัติอย่างนั้น
แต่บุตรสาวเหมคุปต์เศรษฐีนี้พ้นอายุที่ควรแต่งงานมาหลายปี จนบัดนี้อายุถึง ๑๓ หรือ ๑๔ ปี นาง
เป็นคนร่างใหญ่รูปอวบ ดูเหมือนหญิงอายุ ๓๐ ปีที่มีผัวแล้ว แต่บิดาก็ยังหาจัดการให้มีผัวไม่ บิดา
จะกินแลนอนเป็นสุขอย่างไร การที่ปล่อยให้เป็นเช่นนี้ย่อมเป็นที่ครหา เป็นโทษโดยคดีโลกแลคดี
ธรรม แม้ญาติวงศ์ที่สิ้นชีวิตไปแล้วย่อมได้ทุกข์เพราะเหตุที่ญาติในมนุษยโลกปล่อยลูกสาวไว้มิให้
มีผัวจนป่านนี้ ข้อติเตียนข้อนี้ก็ทำให้เราเดือดร้อนมาช้านานแล้วแต่เรามิรู้จะแก้ไขอย่างไรได้ บัดนี้
พระผู้เป็นเจ้าโปรดให้เราสิ้นทุกข์ จึงบันดาลให้ชายหนุ่มนี้มาถึงบ้านเรา เขาก็เป็นคนดี ปฏิบัติอยู่ใน
คลองธรรมเป็นที่ชอบใจเรา จำเราจะยกลูกสาวให้แก่ชายหนุ่มนี้ตามโอกาสที่พระผู้เป็นเจ้าประทาน
แก่เรา เราจะชักช้าต่อไปไม่ควร เพราะสิ่งใดที่จะทำได้ในวันนี้ สิ่งนั้นเป็นดีที่สุด พรุ่งนี้จะเป็นอย่าง
ไรเราทราบไม่ได้
เหมคุปต์ตรึกตรองตกลงใจดังนี้แล้ว ก็ไปพูดกับภริยาว่า ความเกิด ๑ การวิวาหะ ๑ ความตาย ๑
ทั้ง ๓ อย่างนี้ย่อมเป็นไปแล้วแต่เทวดาจะบัญญัต ิ เราต้องการให้ลูกหญิงของเราได้ผัวที่เกิดใน
สกุลดี เป็นผู้มั่งมี เป็นผู้มีรูปงาม เป็นคนฉลาด แลเป็นผู้มีความสัตย์ แต่เราจะหาชายหนุ่มเช่นนั้นไม่
ได้ เจ้ากล่าวว่าถ้าเจ้าบ่าวขาดคุณดีเหล่านี้ การวิวาหะก็จะไม่เป็นผลดังประสงค์ แต่ถ้าจะไม่ให้ลูกมี
ผัวไซร้ เราจะเอาเชือกผูกคอลูกเราถ่วงลงในคูนี้ก็ไม่ได้ เหตุดังนั้น ถ้าเจ้าเห็นว่าบุตรพ่อค้าซึ่งข้า
ได้รับเข้าไว้เป็นสหายในการค้าขายของข้านี้ เป็นคนดี ควรจะให้ลูกสาวเราได้ เราจะรีบจัดการ
วิวาหะโดยเร็ว
ภริยาเหมคุปต์ได้ยินสามีพูดดังนั้นก็ดีใจ เพราะชายหนุ่มหลังอูฐได้ล่อลวงให้ลุ่มหลงอยู่แล้ว นางจึง
ตอบสามีว่า เมื่อพระผู้เป็นเจ้าชี้ทางให้เห็นชัดอยู่เช่นนี้ ถ้าเราไม่ทำตามก็คือขืนคำเทพยดา เรามิ
ได้ไปเที่ยวแสวงหาที่ไหน เจ้าบ่าวก็มีมาเอง เหตุดังนั้นเราไม่ควรจะชักช้าไปเลย ท่านจงรีบจัดการ
เถิด
สามีภริยาปรึกษากันเช่นนี้แล้วก็เรียกบุตรสาวเข้าไปหา นางนั้นงามสมควรเป็นที่รักของคนธรรพ์
นางมีเกศายาวอันเป็นสีม่วงอ่อน เพราะแสงแห่งความเป็นสาว เป็นมันเหมือนปีกแมลงภู่
ขนงบริสุทธิ์แลใสเหมือนโมรา แก้วประพาฬอันเกิดแต่ทะเลนั้น เมื่อเทียบกับริมฝีปากแห่งนาง แก้ว
ประพาฬก็มีสีเผือดไป ทนต์ของนางเสมอกับไข่มุก ภาคต่างๆ ในกายนางล้วนประกอบขึ้นสำหรับ
เป็น ที่รักทั้งนั้น เมื่อใครได้เห็นเนตรแห่งนาง ก็ใคร่จะเห็นอีก แลเห็นอยู่เสมอไป ใครได้ยินเสียง
นางก็ใคร่จะได้ยินดนตรีนั้นอยู่เสมอ ความดีของนางเสมอกับความงาม เป็นที่รักของบิดามารดาแล
ญาติพี่น้องทั่วไป เพื่อนฝูงของนางจะหาที่ตินางก็มิได้ ถ้าข้าพเจ้าจะเล่าคุณความดีของนางก็คงไม่
มีเวลาสิ้นสุดได้ นกขุนทองเล่ามาเพียงนี้ก็ร้องไห้ร่ำไรอยู่ครู่หนึ่งจึงเล่าต่อไป
เมื่อบิดามารดาเรียกนางรัตนาวดีมาบอกความประสงค์ให้ทราบ นางก็ตอบว่าแล้วแต่บิดามารดา
เพราะนางไม่ใช่หญิงชนิดที่เกลียดอะไรไม่เกลียดเท่าชายที่พ่อแม่บัญชาให้รัก อันที่จริงข้าพเจ้า
ทราบว่านางจะดูชายหนุ่มที่จะเป็นเจ้าบ่าวก็ดูไม่ได้เต็มตา เพราะความขี้ริ้วของชายนั้น แต่ไม่ช้า
ความช่างพูดของเจ้าบ่าวก็ทำให้นางเกิดความนิยมขึ้นทีละน้อย แลทั้งนางรู้สึกคุณชายหนุ่มที่
อุตส่าห์เอาใจใส่เอื้อเฟื้อต่อบิดามารดา นับถือความประพฤติของชายหนุ่มซึ่งแสร้งทำดี สงสารด้วย
ตกยาก จนในที่สุดก็ลืมความขี้ริ้วของชายนั้น
เมื่อก่อนการวิวาหะ นางได้สัญญาในใจไว้ว่า เมื่อแต่งงานแล้ว แม้หน้าที่แห่งภริยาจะไม่เป็นที่ชอบ
ใจเพียงไร นางก็จะอุตส่าห์ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหน้าที่ ครั้นแต่งงานแล้ว ความไม่พอใจในหน้าที่
นั้นหามีไม่ นางกลับรักสามีเสียอีก ส่วนความขี้ริ้วของสามีนั้นไม่เป็นเหตุให้นางเกลียดชัง อันที่จริง
กลับจะรักยิ่งขึ้นเพราะความขี้ริ้วนั้น
ความรักนี้เป็นของน่าพิศวงมาก เป็นแสงฟ้าฉายความสุขลงมายังแผ่นดินอันมืดแลเต็มไปด้วยความ
ซึมเซา เป็นมนตร์ซึ่งทำให้เรารำลึกถึงความมีชาติที่สูงกว่านี้ เป็นความสุขในขณะนี้แลเป็นทางพา
ให้คิดถึงสุขในเบื้องหน้า ทำให้ความขี้ริ้วกลับเป็นความงาม ทำให้ความโง่กลายเป็นความฉลาด
ทำให้ความแก่เป็นความหนุ่ม ทำให้บาปเป็นบุญ ทำให้ความซึมเซาเป็นความแช่มชื่น ทำให้ใจ
แคบเป็นใจกว้าง ความรักนี้เป็นโอสถอย่างเอก ชักให้ความตรงกันข้ามมาเดินลงรอยเดียวกัน
นกขุนทองกล่าวดังนี้ พลางแลดูนกแก้ว นกแก้วกล่าวว่า ถ้าเอาคำโบราณมาพูดน้อยกว่านี้จะเป็น
การสำแดงความคิดตนเองมากขึ้น การที่จำเอาคำเก่าๆ มากล่าวเช่นนี้ ไม่เป็นไปตามทำนองผู้มี
ปัญญาเลย นกขุนทองกล่าวต่อไปว่า คำโบราณกล่าวว่า เสือจะกลายเป็นลูกแกะนั้นยังไม่เคยมี
เหตุดังนั้นถึงชายหนุ่มหลังอูฐจะได้แสร้งประพฤติเป็นคนดีอยู่คราวหนึ่งก็หาดีได้จริงไม่
อยู่มาวันหนึ่ง ชายหนุ่มรำลึกในใจว่า ผู้มีปัญญาย่อมเอาตัวออกห่างจากความเหนี่ยวรั้งแห่งครอบ
ครัว แลปลดตัวจากความรักลูกรักเมียแลรักบ้าน คิดดังนี้ชายหนุ่มจึงกล่าวแก่ภริยาว่า ข้าได้จาก
เมืองมาอยู่ในเมืองเจ้านี้ก็หลายปีแล้ว ไม่ได้ข่าวคราวญาติพี่น้องในเมืองข้าเลย ใจข้าจึงเศร้า เจ้า
จงกล่าวแก่แม่ของเจ้า ขออนุญาตให้ข้ากลับไปบ้านเมือง แลถ้าเจ้าจะใคร่ไปด้วยก็ได้ นางรัตนาวดี
ได้ยินสามีว่าดังนั้น ก็รีบไปบอกมารดาตามคำซึ่งสามีกล่าว มารดาได้ทราบก็ไปแจ้งแก่เหมคุปต์
เหมคุปต์ตอบอนุญาต ให้บุตรเขยกลับบ้านเมืองได้ตามใจ แลถ้าบุตรีจะยอมไปกับสามีก็อนุญาต
ครั้นตกลงกันดังนี้แล้ว เหมคุปต์เศรษฐีก็ให้ทรัพย์สินแก่บุตรเขยเป็นอันมาก ทั้งให้แก่บุตรสาวอีก
ส่วนหนึ่ง แลจัดทาสีให้ไปด้วยคนหนึ่ง บุตรเขยแลบุตรสาวก็ลาออกเดินทางเข้าป่าไป
ฝ่ายชายหนุ่มหลังอูฐ พาภริยาเดินทางไปหลายวัน นิ่งตรึกตรองไม่ใคร่จะตกลงในใจว่าจะทำวิธีใด
จึงจะทิ้งภริยาเสียได้ การที่จะพาไปยังเมืองของตนนั้นไม่ได้เป็นอันขาด เพราะเมื่อไปถึงเมืองเข้า
นางก็จะจับเท็จทั้งปวงได้ อนึ่งชายหลังอูฐอยากได้นางเป็นภริยาก็เพราะอยากได้ทรัพย์สมบัติ ไม่
อยากได้ตัวนางเอง ครั้นเมื่อพ้นตาพ่อแม่มาเช่นนี้ก็คิดหาทางจะทิ้งนางเสียแต่ตรึกตรองอยู่หลาย
วัน จนไปถึงป่าเปลี่ยวก็หยุดพักแล้วบอกแก่นางว่าตำบลนั้นโจรผู้ร้ายชุกชุม นางจงปลดเครื่อง
ประดับกายทั้งปวงซึ่งมีค่าเป็นอันมากออกให้สามีซ่อนไว้ในไถ้ ครั้นนางทำตามแล้วชายสามีก็ล่อ
ทาสีไปห่างที่ซึ่งภริยานั่งคอยอยู่ แล้วเอามีดเชือดคอทาสี ทิ้งศพไว้เป็นอาหารสัตว์ในป่า แล้วกลับ
ไปหาภริยา ล่อให้เดินไปใกล้เหว แล้วผลักตกลงไปในเหว เผอิญก้นเหวนั้นมีกิ่งไม้แลใบไม้รองอยู่
มากนางจึงไม่สิ้นชีวิต
ฝ่ายชายหลังอูฐครั้นผลักภริยาลงเหวแล้วก็รวบรวมทรัพย์สมบัติทั้งปวงออกเดินทางไปสู่เมืองของ
ตน ไม่ช้ามีชายอีกคนหนึ่งเดินมาในป่าเปลี่ยว ได้ยินเสียงคนร้องไห้ก็หยุดยืนฟังแลนึกในใจว่า ป่า
นี้เปลี่ยวนักหนา เหตุใดมีคนมาร้องไห้อยู่ในดงชัฏ ครั้นยืนฟังอยู่ครู่หนึ่งแล้วก็เดินไปในทางซึ่งได้
ยินเสียงร้องไห้ ครั้นไปถึงเหวก็หยุดชะโงกดูเห็นผู้หญิงร้องไห้อยู่ก้นเหว ชายนั้นก็ปลดผ้าโพกแล
สายรัดตัวออกต่อกันเป็นสายยาวหย่อนลงไปในเหว ร้องให้นางเอาปลายผ้าผูกตัวเข้าแล้วฉุดขึ้นมา
ได้ แลถามนางว่าเกิดเหตุอย่างไรจึงเป็นเช่นนี้
นางรัตนาวดีตอบว่า ข้าพเจ้าเป็นบุตรีเหมคุปต์พ่อค้าเศรษฐีใหญ่ในกรุงจันทปุระ ข้าพเจ้าเดินทาง
มากับสามี พบโจรมีกำลังช่วยกันฆ่าทาสีของข้าพเจ้าเสียแล้วมัดสามีข้าพเจ้าพาตัวไป แลเมื่อได้
ปลดเครื่องประดับกายของข้าพเจ้าออกหมดแล้วก็ผลักข้าพเจ้าตกอยู่ในเหวนี้ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่า
สามีจะเป็นตายประการใด แลสามีข้าพเจ้าก็ไม่ทราบว่า ข้าพเจ้ายังอยู่หรือสิ้นชีวิตแล้ว
ชายเดินป่าได้ฟังนางเล่าดังนั้นก็เชื่อแลพานางไปเมืองจันทปุระส่งยังบ้านบิดา เมื่อนางไปถึงบ้าน
บิดาก็เล่าเรื่องอย่างเดียวกับที่เล่าให้ชายเดินทางฟัง
เหมคุปต์เศรษฐีได้ยินเรื่องก็สงสารบุตรี จึงกล่าวปลอบโยนว่า "ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าร้อนใจไปเลย ผัว
ของเจ้ายังคงมีชีวิตอยู่เป็นแน่ ธรรมดาโจรย่อมจะแย่งชิงทรัพย์สมบัติของผู้อื่น ไม่แย่งชิงชีวิตผู้ไม่
มีทรัพย์เหลือ เหตุดังนี้เมื่อไรพระผู้เป็นเจ้าโปรด ผัวของเจ้าก็จะกลับมาเมื่อนั้น จงตั้งใจคอยไป
เถิด"
เหมคุปต์กล่าวปลอบบุตรีฉะนี้พลางจัดเครื่องประดับกายอันหาค่ามิได้ให้แก่บุตรีเป็นอันมาก ทั้ง
บอกกล่าวญาติพี่น้องแลมิตรทั้งปวงให้มาเยี่ยม แลปลอบโยนชี้แจงแก่นางรัตนาวดีโดยนัยเดียวกัน
แต่นางก็มิได้วายเศร้า เพราะเรื่องในใจผิดกับเรื่องที่เล่าบอกแก่บิดาแลญาติมิตรทั้งนั้น
จะกล่าวถึงชายหลังอูฐ เมื่อผลักภริยาตกแหวแล้ว ก็รวบรวมของมีราคาทั้งหลายรีบไปยังเมืองของ
ตน เพื่อนฝูงทั้งปวงก็ช่วยกันต้อนรับเป็นอันดี เพราะเหตุที่มีทรัพย์เป็นอันมาก เพื่อนนักเลงก็พากัน
มากลุ้มรุม ชวนเล่นชวนกินอย่างแต่ก่อน การพนันแลการเสพย์เครื่องมึนเมาต่างๆ ก็กลับทำ ตาม
เดิม โทษทั้งหลายก็กลับเกิด ทรัพย์สินทั้งหลายก็เปลืองไป ในที่สุดก็หมดลงอีกครั้งหนึ่ง ชนทั้ง
หลายที่เป็นสหายในการทำชั่วแลเป็นมิตรในการช่วยกันกินกันเล่นต่างก็ชักห่างออกไป
ในที่สุดเมื่อชายหลังอูฐสิ้นทรัพย์แน่แล้วก็ไม่มีใครคบค้าสมาคม เมื่อไปถึงบ้านผู้ที่เคยเป็นมิตรเขา
ก็ปิดประตูเสีย หรือมิฉะนั้นขับไล่ไม่ให้เข้าเรือน ชายหลังอูฐสิ้นปัญญาก็กระทำโจรกรรม จนเขาจับ
ได้ก็ถูกเฆี่ยนตีลงโทษเป็นสาหัส ครั้นจะอยู่ในเมืองของตนต่อไปไม่ได้ ก็หนีออกจากเมืองอีกครั้ง
หนึ่ง เดินไปในป่า พลางคิดในใจว่า เราจะต้องกลับไปหาพ่อตาเล่านิทานให้ฟังว่า บัดนี้นาง
รัตนาวดีคลอดบุตรเป็นชายคนหนึ่งแล้ว เราจึงไปหาพ่อตาเพื่อจะบอกข่าวอันควรยินดีนี้ให้พ่อตา
ทราบ เราอาจจะได้ทรัพย์สมบัติอีกเพราะการไปบอกข่าวนี้
ชายหลังอูฐคิดดังนั้นแล้ว ก็ตั้งหน้าเดินไปเมืองจันทปุระ ตรงไปบ้านเหมคุปต์เศรษฐี ครั้นไปถึง
ประตูบ้านก็ตกใจเป็นกำลัง เพราะเห็นนางรัตนาวดีภริยาลงจากเรือนวิ่งออกมารับ ในชั้นต้นคิดว่าผี
เพราะนึกว่านางคงจะตายอยู่ในเหวนั้นเอง เมื่อคิดดังนี้ก็กลัวจึงหันหลังจะวิ่งหนี ต่อนางตะโกน
เรียก จึงหยุดยืนลังเลด้วยเข้าใจว่านางคงจะกลับไปเล่าเรื่องให้บิดาฟังตลอด เมื่อเหมคุปต์มาพบ
เข้าก็จะคงจับตัวลงโทษเป็นแน่
ฝ่ายรัตนาวดีเห็นสามียืนลังเล มีสีหน้าอันซีดด้วยความกลัวเช่นนั้น ก็กล่าวแก่สามีว่า "ท่านอย่า
สะดุ้งตกใจไปเลย ข้าพเจ้ามิได้เล่าความจริงแก่บิดาดอก ข้าพเจ้าได้เล่าว่าเราเดินทางไปกลางป่า
พบโจรหมู่หนึ่งมีกำลังมาก โจรฆ่าทาสีของข้าพเจ้าเสีย แย่งเครื่องประดับจากกายข้าพเจ้าหมด
แล้วผลักข้าพเจ้าตกลงในเหวแลทั้งมัดท่านพาตัวไป เมื่อท่านพบกับบิดาข้าพเจ้า ท่านจงเล่าเรื่อง
ให้ตรงกัน เราทั้งสองก็จะกลับได้ความสุขเหมือนเดิม ท่านจงระงับความร้อนใจเสียเถิด ข้าพเจ้าดู
อาการแห่งท่านเห็นว่าท่านจะได้ทุกข์มานักหนา เสื้อผ้าแลร่างกายจึงขะมุกขะมอมเหมือนเช่นที่
เห็นอยู่นี้ ท่านจงตามข้าพเจ้าขึ้นมาบนเรือนแลผลัดเสื้อผ้าโสมมนี้ สวมเสื้อผ้าที่ดีแลกินอาหารซึ่ง
ประกอบด้วยรสทั้งหก ท่านจงถือว่าเหย้าเรือนแลสมบัติเหล่านี้เป็นท่าน แลตัวข้าพเจ้าคือทาสีผู้จะ
ปฏิบัติท่านให้ได้ความสุขทุกประการ"
ชายหลังอูฐได้ฟังภริยากล่าวดังนั้น แม้ตัวจะเป็นผู้มีใจบึกบึน ก็บังเกิดใจอ่อนแทบจะร้องไห้ จึงตาม
ภริยาขึ้นไปบนเรือน ครั้นถึงห้องนางก็ล้างเท้าให้ แลจัดให้อาบน้ำชำระกาย แต่งเครื่องนุ่งห่มอย่าง
ดีมีค่าแล้วนำเอาอาหารมาให้กิน
ครั้นเหมคุปต์เศรษฐีและภริยากลับมาถึงบ้าน นางรัตนาวดีก็พาสามีไปหาแลเล่านิทานให้ฟังว่า ฝูง
โจรได้ปล่อยชายสามีกลับมาแล้ว เหมคุปต์แลภริยาได้ฟังก็ดีใจ จัดการให้บุตรเขยอยู่กินมีตำแหน่ง
ในครอบครัวอย่างแต่ก่อน
ชายหนุ่มหลังอูฐได้กินอยู่มีความสุข ก็พักอยู่กับพ่อตา ๒-๓ เดือน ระหว่างนั้นประพฤติตัวเป็นคนดี
มีใจโอบอ้อมอารีต่อภริยา ผู้ที่ไม่รู้เรื่องไม่มีใครสงสัยว่าจะเป็นคนชั่วร้าย แต่การกระทำดีนั้นเป็นการ
ขืนนิสัย จะทำได้อย่างมากก็พักหนึ่งเท่านั้น ไม่ช้าก็คบกับโจรในเมืองนั้น นัดหมายกันเข้า ปล้น
บ้านเหมคุปต์เศรษฐี ครั้นถึงวันนัดเวลาเที่ยงคืน นางรัตนาวดีกำลังหลับสนิท ชายหลังอูฐก็เอามีด
แทงนางตาย แล้วเปิดประตูรับพวกโจรเข้าไปในเรือน ช่วยกันฆ่าเหมคุปต์แลภริยาตาย แล้วช่วยกัน
ขนทรัพย์สมบัติล้วนแต่ที่มีราคาออกจากเรือนไป
นางนกขุนทองเล่ามาเพียงนี้ ก็ร้องไห้สะอึกสะอื้นอยู่ครู่หนึ่งจึงกล่าวต่อไปว่า
เมื่อชายหลังอูฐเดินผ่านกรงข้าพเจ้า เวลาจะออกจากบ้านหนีไปนั้น มันแลดูข้าพเจ้าแลหยุดยืนจับ
ประตูกรง จะ เปิดจับข้าพเจ้าออกมาหักคอ เผอิญหมาเห่าขึ้นมันตกใจก็รีบหนีไป ข้าพเจ้าจึงรอด
ชีวิตอยู่ได้ นางนกขุนทองร้องไห้สะอึกสะอื้นอยู่อีกครู่หนึ่งจึงทูลพระมเหสีว่า เรื่องนี้ข้าพเจ้ายินด้วย
หู รู้ด้วยตามาเอง แลเป็นเรื่องที่ทำให้ข้าพเจ้าได้ความทุกข์ ในเวลายังอ่อนอายุ จึงเป็นเหตุให้
ข้าพเจ้ารังเกียจชายทั้งหลาย จะขออยู่ไม่มีคู่ไปจนสิ้นชีวิต พระองค์จงทรงดำริว่า นางรัตนาวดีไม่
ได้ทำความผิดอะไรเลย ยังเป็นได้ถึงเพียงนั้นเพราะผู้ชายย่อมมีน้ำใจเป็นโจรทั้งหมด แลผู้หญิงซึ่ง
ยอมเป็นมิตรกับชายนั้นเสมอกับเอางูเห่ามาเลี้ยงไว้บนอก
นางนกขุนทองทูลพระมเหสีเช่นนี้แล้วก็หันไปพูดกับนกแก้วว่า นี่แน่ะเจ้านกแก้ว ข้าได้เล่าเรื่องเป็น
พยานคำของข้าแล้ว ข้าไม่มีอะไรจะพูดอีก นอกจากจะกล่าวว่าผู้ชายทั้งปวงเป็นจำพวกคดโกงล่อ
ลวงผู้อื่น เห็นแก่ตัวแลมีใจบาปหยาบร้ายหาที่สุดมิได้
นกแก้วทูลพระราชาว่า พระองค์จงฟังเถิด เมื่อหญิงกล่าวว่าไม่มีอะไรจะพูดที่เป็นข้อสำคัญจะอยู่ใน
คำแถมทั้งนั้น แลคำแถมย่อมจะยาวกว่าคำพูดที่พูดมาแล้วหลายสิบเท่า นางนกตัวนี้ก็ได้พูดมาจน
น่าจะเบื่อเต็มทีอยู่แล้ว แต่อย่างนั้นยังนับว่าพึ่งจะขึ้นต้นเท่านั้น พระราชาตรัสว่าเจ้ามีเรื่องอะไรจะ
นำมากล่าวเป็นพยานคำติเตียนหญิง เจ้าก็จงเล่าไปเถิด นกแก้วกล่าวว่า ข้าพเจ้าจะเล่าเรื่องซึ่งเกิด
แต่เมื่อข้าพเจ้ายังอ่อนอายุ แลทำให้ข้าพเจ้าทำความตกลงในใจว่าจะอยู่ไม่มีคู่ไปตราบจนวันตาย
นิทานของนกแก้ว
เมื่อข้าพเจ้าเป็นลูกนก ยังไม่ทันได้ร่ำเรียนอันใดก็ติดกรงหับ แล้วมีผู้นำไปขายพ่อค้าเศรษฐีชื่อ
สาครทัต ซึ่งเป็นพ่อหม้าย มีลูกสาวคนหนึ่งชื่อ นางชัยศิร ิ สาครทัตกระทำการค้าขายกว้างขวาง
มีธุระอยู่ที่ร้านตลอดวันแลครึ่งคืน ใช้เวลาในการก้มมองดูตัวเลขในบัญชี แลดุด่าเสมียนรับใช้ ไม่มี
เวลาดูแลบุตรสาว นางชัยศิริประพฤติตนตามอำเภอใจแลอำเภอใจของนางนั้นไม่มีอำเภออันดีเลย
ชายทั้งปวงที่มีลูกสาว อาจกระทำผิดเป็นข้อใหญ่ได้สองทางคือ ระมัดระวังน้อยไปทางหนึ่ง ระมัด
ระวังมากไปทางหนึ่ง พ่อแม่บางจำพวกคอยจ้องมองดูลูกสาวมิให้คลาดตาไปเลย คอย
สงสัยว่าลูกสาวมีความคิดชั่วร้ายในใจอยู่เป็นนิตย์ พ่อแม่ชนิดนี้มักจะเขลา แลเพราะเขลา
จึงแสดงความสงสัยให้ลูกเห็น เมื่อลูกเห็นว่าสงสัยว่าคิดชั่วก็เสมอกับยุ เพราะหญิงสาว
ย่อมมีมานะโดยความคิด ตื้นๆ ว่า เราจะทำชั่วโดยเร็วให้สมกับโทษที่เราได้รับอยู่แล้ว ใน
เวลานี้เรายังไม่ได้ทำชั่วอะไรเลย แต่ก็ได้รับโทษเสมอกับว่าได้ทำชั่วมาช้านาน ความ
สำราญแห่งการทำชั่วนั้นเรายังไม่ได้รับ ได้รับแต่ทุกข์แห่งความทำชั่ว ไหนๆ ก็ได้รับทุกข์
แล้ว เราจะทิ้งความสำราญเสียทำไมเล่า เราต้องรีบทำชั่วทันที เพราะเราได้ทุกข์มานาน
แล้ว เมื่อคิดดังนี้แล้วก็ประพฤติการเป็นโทษต่างๆ ที่พ่อแม่ไม่อาจรู้เห็น เพราะพ่อแม่นั้นถึงจะ
ระมัดระวังอย่างไร ลูกสาวก็คงหลบหลีกได้เสมอ พ่อแม่จะนั่งจ้องอยู่วันยังค่ำคืนยังรุ่งไม่ได้ ต้องมี
เวลาหลับตาลงบ้าง
พ่อแม่อีกประเภทหนึ่ง ทำผิดในทางที่ระมัดระวังลูกสาวน้อยไป คือไม่ระมัดระวังเสียเลย
ปล่อยให้ลูกนั่งเล่นอยู่เปล่าๆ ไม่มีอะไรทำเสมอกับฝึกหัดให้ขี้เกียจ แลเพาะพืชความชั่ว
ปล่อยให้คบกับคนซึ่งมีความคิดบาป คือให้โอกาสให้ปฏิบัติเป็นโทษ หญิงสาวซึ่งบิดา
มารดาปล่อยตามอำเภอใจเช่นนี้ มักจะเดินเข้าสู่บ่วงซึ่งผู้มีเจตนาชั่ววางดักไว้แลประพฤติ
ตัวเป็นโทษด้วยประการต่างๆ เพราะความไม่ระมัดระวังตัวแล เพราะความล่อลวงของพวก
มีเจตนาชั่ว อันเป็นชนจำพวกซึ่งมีความเพียรยิ่งกว่าผู้มีเจตนาดี ก็บิดามารดาซึ่งมีปัญญานั้น
ควรทำอย่างไรเล่าจึงจะหลีกทางทั้งสองนี้ได้
ธรรมดาบิดามารดาผู้มีปัญญาย่อมเอาใจใส่สังเกตนิสัยบุตรของตน แลดำเนินการระมัดระวังตาม
นิสัยซึ่งมีในตัวบุตร ถ้าลูกสาวมีนิสัยดีอยู่ในตัว บิดามารดาที่ฉลาดก็คงจะวางใจปล่อยให้ดำเนิน
ความประพฤติตามใจในเขตอันควร ถ้าบุตรสาวมีนิสัยกล้าแข็ง บิดามารดาก็คงจะแสดงกิริยา
ประหนึ่งว่าไว้วางใจในบุตร แต่คงจะลอบระมัดระวังอยู่เสมอ
นกแก้วแสดงวิธีเลี้ยงลูกสาวถวายพระราชารามเสนเช่นนี้ต่อไปอีกครู่หนึ่งจึงเล่าถึงนางศิริชัยว่า
นางนั้นเป็นคนสูง ค่อนข้างจะอ้วน รูปทรงดี ครอบงำน้ำใจตนเองไม่ใคร่ได้ นางมีเนตรใหญ่แลหลัง
ตากว้าง มือมีรูปอันดีแต่ไม่เล็ก ฝ่ามือมีไอร้อนแลเป็นเหงื่ออยู่เสมอๆ เสียงค่อนข้างแหลมแลบางที
ฟังเหมือนเสียงผู้ชาย ผมดำเป็นมันเหมือนขนนกกาเหว่า ผิวเหมือนดอกพุทธชาด ลักษณะเหล่านี้
เป็นลักษณะซึ่งคนโดยมากมักจะแลดู แต่นางจะเป็นคนงามก็ไม่เชิง ไม่งามก็ไม่เชิง กล่าวได้ว่าอยู่
ในระหว่างคนสวยแลคนขี้ริ้วอันเป็นความดีแก่ตัวหญิง เพราะความอยู่กลางๆ นี้สำคัญอยู่ หญิงที่
งามนักอย่าว่าแต่ใครแม้นางสีดายังถูกทศกัณฐ์ลักพาไป
นกแก้วกล่าวต่อไปว่า แต่ถึงกระนั้นข้าพเจ้าก็จำต้องกล่าวว่า หญิงงามมักจะมีธรรมในใจมากกว่า
หญิงขี้ริ้ว หญิงงามได้รับชักชวนจูงใจไปในทางชั่วแต่มีความหยิ่งเป็นเครื่องต่อสู้ป้องกันตัวได้
เพราะความหยิ่งนั้นทำให้หญิงงามสัญญาในใจตัวเองว่า จะได้รับชักโยงไปในทางเดียวกันบ่อยๆ
เพราะฉะนั้นถึงจะไม่ยอมไป ในคราวนี้ก็ไม่สิ้นโอกาสที่จะได้รับเชื้อเชิญต่อไป
กล่าวอีกนัยหนึ่งหญิงงามไม่เดินทางชั่วเพราะมีความหยิ่งในใจว่า จะเดินเมื่อไหร่ก็เดินได้ ส่วน
หญิงขี้ริ้วนั้นจำเป็นต้องชักโยงคนอื่น ไม่ใช่มีคนอื่นมาชักโยง เมื่อตนโยงแล้วตนก็ต้องตามและเมื่อ
ความโยงสำเร็จด้วยความตาม ฉะนี้ ความหยิ่งแลความมุ่งหมายของหญิงขี้ริ้ว ก็ย่อมสมหวังด้วย
ความตาม ไม่ใช่ด้วยต่อสู้ความชักโยง
เราท่านอ่านถ้อยคำของนกจุรามันมาเพียงนี้ก็ต้องพิศวง ว่านกแก้วพูดดังนั้นหมายความว่าอย่างไร
ถ้าตรึกตรองดูสัก ๕ นาที ก็คงจะเห็นพร้อมกันหมดว่า นกแก้วหมายความว่าอย่างไรเหลือที่จะรู้ได้
ที่เป็นดังนี้เห็นจะเป็นเพราะเวลาผิดกันประมาณ ๒๐๐ ปี อย่างหนึ่ง เพราะจุรามันเป็นนกท่านแล
ข้าพเจ้าเป็นคนอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเพราะนกจุรามันเป็นนกพูดสันสกฤตจึงเหลือที่ท่านแล
ข้าพเจ้าจะเข้าใจได้
นกจุรามันกล่าวต่อไปว่า ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วว่า หญิงขี้ริ้วมักมีใจเหี้ยมโหดกว่าหญิงงาม เหตุดัง
นั้นเมื่อหมายอย่างไรก็ย่อมจะสมหมายบ่อยกว่ากัน ผู้มีปัญญาในโลกธรรมกล่าวภาษิตที่เป็นความ
จริงไว้ว่า "ชายรักหญิงงาม บูชาหญิงขี้ริ้ว" แลเมื่อถามว่าเหตุใดจึงบูชาหญิงขี้ริ้ว ก็มีคำตอบว่า
เพราะหญิงขี้ริ้วไม่ช่วยแสดงท่าทางว่าคิดถึงตัวเองยิ่งกว่าคิดถึงเรา
ส่วนนางศิริชัยนั้น ก็ใช้ความงามซึ่งมีส่วนน้อยนั้นเป็นเครื่องล่อให้ชายตามตอมได้มาก แต่ใช้ความ
ไม่สงบเสงี่ยมเป็นเครื่องล่อได้มากกว่า แลใช้ความมีทรัพย์ของบิดาเป็นเครื่องล่อได้มากที่สุด นาง
ชัยศิริไม่มีความเขินขวยเสียเลย ไม่ยอมให้มีชายตามน้อยกว่าคราวละครึ่งโหลเป็นอันขาด นาง
รื่นรมย์ในการรับแขกชายหนุ่มๆ เหล่านั้นติดต่อกันไปตามเวลานัด บางคราวกำหนดเวลาให้สั้น
สำหรับจะได้ไล่คนเก่า ให้มีที่ว่างสำหรับคนใหม่ ถ้าชายคนไหนบังอาจแสดงกิริยาวาจาหวงหึงหรือ
ติเตียนวิธีของนางก็ตาม ชายนั้นจะถูกเชิญให้ทราบประตูทางออกโดยเร็ว
ครั้นนางชัยศิริมีอายุ ๑๓ ปี มีชายหนุ่มคนหนึ่งกลับจากเมืองไกล ชายหนุ่มคนนี้เป็นลูกพ่อค้าซึ่งมี
เคหสถานอยู่ในที่ใกล้ แลบิดาเป็นเพื่อนกับสาครทัตบิดานางชัยศิริ ชายหนุ่มนั้นชื่อ ศรีทัต ไปค้า
ขายเมืองไกลหลายปี แลได้เคยรักนางชัยศิริมาแต่นางยังเป็นเด็ก ครั้นกลับมาถึงเมืองของตนก็
เห็นสิ่งทั้งปวงเป็นที่แช่มชื่นไปหมด ตั้งแต่ลุงขี้เหนียวโทโสร้ายไปจนหมาแก่ที่เห่าอยู่ในลานบ้านก็
เห็นน่ารัก คนที่จากบ้านเมืองไปช้านาน เมื่อแรกกลับมาถึง ใจคอมักเป็นเช่นนี้
ส่วนนางชัยศิรินั้น ศรีทัตแลไม่เห็นว่าได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก แลมิได้เปลี่ยนไปในทางที่ดี
ขึ้นเลย จมูกนางโตออกไปก็ไม่เห็น หลังตากว้างออกไปแลหนาขึ้นก็ไม่เห็น กิริยากระด้างขึ้นก็ไม่
เห็น เสียงแข็งขึ้นกว่าแต่ก่อนก็ไม่ได้ยิน ไม่ได้สังเกตว่านางชำนาญการติแลชมเครื่องแต่งตัวชาย
ไม่สังเกตว่านางชอบคนชำนาญเพลงดาบ แลชอบคนรบเก่งบนหลังม้าแลช้าง
ข้อความเหล่านี้ศรีทัตไม่เห็น จึงไปกล่าวแก่บิดาของตน ในเรื่องที่จะใคร่ได้นางชัยศิริเป็นภริยา
ครั้นบิดาอนุญาตแล้วไม่ทันได้กล่าวแก่สาครทัต ก็ตรงไปกล่าวแก่ตัวนางทีเดียว แต่นางชัยศิริเป็น
หญิงชนิดใหม่ ที่ไม่ต้องการความเห็นบิดาในเรื่องที่จะเลือกผัว ครั้นศรีทัตไปกล่าวดังนั้น นางก็ทำ
ทีเหมือนหนึ่งตกลง ทำให้ชายหนุ่มคนนั้นยินดีโลดโผนอยู่หน่อยหนึ่งแล้วก็บอกให้รู้ว่า นางชอบใจ
ศรีทัตในทางเป็นเพื่อน แต่ถ้าเป็นผัวจะเกลียดที่สุด
นกจุรามันกล่าวต่อไปว่า ความรู้สึกซึ่งหญิงมีต่อชายนั้นมีสามอย่าง อย่างที่ ๑ คือความรัก อย่างที่
๒ คือความเกลียด อย่างที่ ๓ คือความเฉยๆ ไม่รักไม่เกลียด ความรู้สึกประเภทที่ ๑ คือ ความรัก
นั้นอ่อนที่สุดแลเคลื่อนง่ายที่สุด หญิงอาจจะตกสู่ความรักง่ายเท่าตกจากความรัก อธิบายว่า
ประเดี๋ยวอย่างนั้น ประเดี๋ยวอย่างนี้ จะเอาแน่ไม่ได้ ส่วนความเกลียดนั้นเป็นของคู่กันกับความรัก
ชายมีปัญญาอาจเปลี่ยนความเกลียดให้เป็นความรักได้เสมอ แล ความรักซึ่งเกิดแต่ความเกลียด
นั้นมักจะอยู่ทนกว่าความรักล้วน ส่วนความเฉยๆ คือความไม่เกลียดไม่รักนั้น ชายผู้ชำนาญในลีลา
ศาสตร์ย่อมเปลี่ยนความเฉยๆ ให้เป็นความเกลียดได้เสมอ แลเมื่อเปลี่ยนเป็นความเกลียดแล้ว ก็
อาจเปลี่ยนเป็นความรักได้อีกชั้นหนึ่ง ดังนี้ประเภทความรู้สึกทั้ง ๓ ก็ลงรอยเดียวกัน
เวตาลเล่ามาเพียงนี้ ก็ทูลถามพระวิกรมาทิตย์ว่า ตามที่ข้าพเจ้าเล่าถึงนกขุนทองแลนกแก้วมาเช่น
นี้ พระองค์ทรงเห็นว่านกตัวไหนกล่าวความจริงในสันดานมนุษย์ลึกซึ้งกว่ากัน
แต่อุบายของเวตาลที่จะทำให้พระราชาตรัสตอบปัญหานั้นไม่สำเร็จ พระวิกรมาทิตย์ทรงรู้ทีก็นิ่ง
รีบทรงดำเนินไป เวตาลเห็นไม่สมประสงค์ก็เล่านิทานต่อไปว่า
ฝ่ายศรีทัตเมื่อได้ทราบว่านางชัยศิริไม่ยอมเป็นภริยาก็เดือดร้อนในใจเป็นกำลัง กำหนดใจจะ
กระโดดน้ำตาย จะกระโดดจากยอดเขาแลทำอะไรต่างๆ ที่แปลกแลโง่ รวมทั้งการออกป่าเป็นโยคี
ด้วย ครั้นตรึกตรองอยู่ช้านานว่าจะทำอย่างไหนจึงจะดีที่สุดก็เห็นว่าจะทำสิ่งโง่ๆเหล่านั้นก็ล้วนแต่
ไม่ดีทั้งนั้น เพราะการกระโดดน้ำตายก็ดี การกระโดดจากยอดเขาก็ดี การออกป่าเป็นฤาษีก็ดี ไม่
เป็นวิธีที่จะได้นางชัยศิริมาเป็นภริยาทั้งนั้น ครั้นมีเวลาตรึกตรองมากๆ เข้าก็ได้ความคิดซึ่งใครๆ
เขารู้กันมาช้านานแล้วว่า ขันติเป็นธรรมะประเสริฐ จึงบังคับตัวเองให้ตั้งอยู่ในขันติ ไม่ช้านานก็
สำเร็จประสงค์ แต่ความสำเร็จประสงค์นั้นเป็นโทษแก่ศรีทัตเป็นอันมาก ดังจะเห็นได้ภายหลัง
ฝ่ายนางชัยศิริเมื่อตกลงใจแน่นอนแล้วว่า จะไม่รับศรีทัตเป็นสามี ก็ยั่งยืนในใจอยู่พักหนึ่งไม่สู้ช้าก็
เปลี่ยนใจใหม่ตามเคย ศรีทัตได้ทราบว่านางยินยอมก็ดีใจโลดโผน เรียกตัวเองว่าบุรุษผู้มีความสุข
ที่สุดในโลก แลทั้งกระทำบูชาแก้สินบนเทวดาที่โปรดบันดาลให้นางเปลี่ยนใจมายอมเป็นภริยาตน
แลทั้งทำอะไรที่แปลกอีกหลายอย่าง ซึ่งคนที่ไม่บ้าหรือไม่ดีใจเหลือเกินคงไม่ทำเป็นอันขาด ต่อ
มาไม่ช้าศรีทัตแลนางชัยศิริก็แต่งงานกันตามธรรมเนียม
ฝ่ายนางชัยศิริเมื่อได้ทำงานมงคลกับศรีทัตแล้วไม่ช้าก็เบื่อจนเกลียดสามีเพราะเป็นนิสัยของนางที่
จะเป็นเช่นนั้น ครั้นเกลียดสามีเช่นนี้แล้วก็หันไปใคร่ครวญหาชายหนุ่มเสเพลคนหนึ่งซึ่งไม่เคยรัก
นางเลย ศรีทัตผู้สามียิ่งสำแดงเสน่หาต่อนาง นางก็ยิ่งสำแดงความขึ้งโกรธ เมื่อสามีหยอกเย้าก็ทำ
ให้เกิดหมั่นไส้ เมื่อพูดล้อก็เห็นไม่ขัน ครั้นหญิงสหายช่วยกันว่ากล่าวทัดทานมิให้นางสำแดงกิริยา
เป็นอริต่อสามี นางก็กลับแสดงกิริยาขุ่นเคือง เมื่อสามีนำเครื่องประดับกายมาให้เป็นของกำนัลนาง
ก็ปัดเสีย หันหนีพลางกล่าวว่าบ้า นางออกจากเรือนไปเที่ยวอยู่ที่อื่นวันยังค่ำ แล้วพูดแก่เพื่อนหญิง
ซึ่งอายุรุ่น ราวคราวกันว่า ความเป็นสาวของข้านี้ผ่านพ้นไปทุกๆ วัน ข้าไม่ได้รับความสำราญอัน
ควรจะได้รับตามวัยของข้านี้เลย ความสนุกในโลกนี้มีอย่างไรข้าก็หารู้รสไม่
ครั้นกลับไปถึงบ้าน นางก็ขึ้นไปแอบมองอยู่บนช่องหน้าต่าง เมื่อเห็นชายเสเพลซึ่งเป็นที่ใฝ่ฝันเดิน
มาตามถนน นางก็เรียกหญิงสหายให้ไปเชื้อเชิญขึ้นมาบนเรือน ครั้นหญิงสหายไม่ทำตามด้วย
ความกลัวภัยจากศรีทัตผู้สามี นางก็โกรธแลมีอาการกระสับกระส่าย บอกตัวเองว่าไม่รู้จะพูดว่า
กระไร ไม่รู้จะทำอะไร ไม่รู้จะไปไหนจึงจะถูกใจตัว จะกินก็ไม่ได้ จะนอนก็ไม่หลับ จะร้อนก็ไม่
สบาย จะหนาวก็ไม่สบาย อะไรๆ ก็ไม่ถูกใจทั้งนั้น
นางชัยศิริกระสับกระส่ายอยู่เช่นนี้หลายวันจึงตกลงในใจว่าถ้าขืนอยู่ห่างชายเสเพลซึ่งเป็นที่รัก ก็
ไม่มีความสุขได้เป็นอันขาด คืนหนึ่งครั้นสามีหลับสนิท นางก็ลุกจากที่นอนย่องออกจากเรือนเดิน
ไปตามถนนมุ่งหน้าไปยังเรือนชายเสเพล ขณะนั้นมีโจรคนหนึ่งเดินมาตามทางเห็นนางชัยศิริเดิน
ไปก็นึกในใจว่า หญิงคนนี้ประดับกายด้วยเครื่องทองคำแลเพชรพลอย จะเดินไปไหนในเวลาเที่ยง
คืน จำเราจะสะกดรอยไป เมื่อได้ทีจะได้แย่งเอาของเหล่านั้น คิดดังนี้โจรก็เดินตามมิให้นางรู้ตัว
ฝ่ายนางชัยศิริครั้นไปถึงเรือนชายเสเพลก็ขึ้นบันไดไปพบชายเจ้าของเรือนนอนอยู่หน้าประตู นาง
คิดว่าชายคนนั้นนอนหลับด้วยความเมา แต่อันที่จริงชายคนนั้นสิ้นชีวิตเสียแล้ว เพราะได้ถูกขโมย
แทงก่อนที่นางไปถึงไม่สู้ช้านัก
ฝ่ายนางชัยศิริเมื่อเห็นชายหนุ่มนอนอยู่ดังนั้น นางก็นั่งลงข้างตัว จับสั่นจะให้ตื่นก็ไม่ตื่น นางเชื่อ
แน่ว่าเป็นโดยพิษความเมา นางก็เอามือช้อนศีรษะขึ้นกอดรัดสำแดงเสน่หาต่างๆ
ขณะนั้น ปิศาจตนหนึ่งนั่งอยู่บนต้นไม้หน้าบันไดเรือนชายหนุ่ม ครั้นเห็นนางไปนั่งกอดรัดสำแดง
เสน่หาต่อศพดังนั้น ปิศาจก็เห็นสนุก จึงโดดลงจากต้นไม้ตรงเข้าสิงในศพชายหนุ่ม ศพนั้นก็ตื่นขึ้น
จากความตายเหมือนคนตื่นจากความหลับ แล้วกระหวัดรัดกายนางเหมือนหนึ่งเสน่หา นางชัยศิริ
ยินดีในความเล้าโลมของปิศาจก็ก้มหน้าเข้าไปหาหน้าศพ ปิศาจได้ทีก็กัดจมูกนางแหว่งไปทั้งชิ้น
แล้วออกจากศพกลับขึ้นไปนั่งหัวเราะอยู่บนต้นไม้ตามเดิม
ฝ่ายนางชัยศิริเมื่อจมูกแหว่งไปเช่นนั้น ก็ตกใจเป็นกำลัง แต่ไม่สิ้นสติ นางจึงนั่งตรึกตรองอยู่กับที่
ครู่หนึ่ง แล้วรีบออกเดินกลับไปบ้าน ครั้นถึงบ้านก็ตรงเข้าไปในห้องซึ่งสามีนอนอยู่ ปิดประตูห้อง
แล้วก็เอามือกุมจมูกร้องครวญคราง ได้ยินไปตลอดจนถึงเพื่อนบ้าน
ญาติพี่น้อง แลเพื่อนบ้านได้ยินเสียงโวยวาย คิดว่าเกิดเหตุใหญ่โตก็พากันมาช่วยเป็นอันมาก ครั้น
ไปถึงเรือนศรีทัตแลภริยาก็เข้าไปถึงประตูห้อง เสียงนางร้องอยู่ในห้อง แต่ประตูห้องนั้นปิด คนทั้ง
หลายก็พังประตูเข้าไปเห็นนางชัยศิริเอามือกุมจมูกเลือดไหล ศรีทัตทำกิริยางุ่มง่ามไม่ปรากฏว่าจะ
ทำอะไรแน่
ครั้นญาติแลเพื่อนบ้านไปถึงพร้อมกัน แลเห็นนางชัยศิริจมูกแหว่งดังนั้นก็กล่าวแก่ศรีทัตว่า เจ้านี้
เป็นคนชั่วร้ายนักหนา ไม่มียางอาย ไม่มีกรุณาแลไม่ยำเกรงกฎหมายบ้านเมืองเลย เจ้ากัดจมูกนาง
เสียเช่นนี้ด้วยเหตุไร
ฝ่ายศรีทัตเมื่อได้ยินดังนั้น ก็รู้สึกว่าถูกกลภริยาจึงกล่าวแก่ตนเองว่า บุรุษไม่ควรวางความเชื่อในคน
ซึ่งเปลี่ยนใจหนึ่ง งูดำหนึ่ง ศัตรูซึ่งถืออาวุธหนึ่ง แลควรระวังภัยอันเกิดแต่ความประพฤติแห่งหญิง
ในโลกนี้ไม่มีอะไรซึ่งกวีปริยายไม่ได้ ไม่มีอะไรซึ่งโยคีไม่รู้ ไม่มีคำพล่ามคำใดซึ่งคนเมาไม่พูด ไม่
มีเขตตรงไหนซึ่งเป็นที่สุดแห่งมารยาหญิง เทวดานั้นมีความรู้มากก็จริงอยู่ แต่ไม่รู้ลักษณะชั่วแห่ง
ม้า ไม่รู้ลักษณะแห่งอัสนีในหมู่เมฆ ไม่รู้ความประพฤติแห่งหญิง ไม่รู้โชคของชายในภายหน้า ก็
เมื่อเทวดายังไม่รู้เช่นนี้ เราผู้เป็นคนจะรู้ได้อย่างไรเล่า
ศรีทัตกล่าวเช่นนี้แล้วก็ร้องไห้แลสาบานต่อหน้าต้นแมงลัก(ตุลสิ) แลสิ่งซึ่งเป็นที่นับถือทั้งปวง ว่า
มิได้ทำผิดเช่นที่ถูกกล่าวหานั้นเลย ถ้าพูดไม่จริงขอให้เสียโค แลข้าวสาลีแลทองจนสิ้นไปเถิด คำ
ที่ศรีทัตกล่าวเช่นนี้หามีใครเชื่อไม่
ฝ่ายพ่อค้าผู้เป็นบิดานางชัยศิริ ครั้นเห็นเหตุเกิดแก่ลูกสาวดังนั้น ก็รีบไปฟ้องต่อผู้บังคับการตำรวจ
ผู้บังคับการตำรวจก็ใช้คนไปจับศรีทัต ส่งไปให้ตุลาการชำระ ตุลาการก็ชำระไต่สวนเสร็จแล้วก็พา
ตัวโจทก์จำเลยไปยังที่เฝ้าพระราชา เผอิญเป็นเวลาซึ่งพระราชามีพระราชประสงค์จะลงโทษแก่
ใครสักคนหนึ่งให้เป็นตัวอย่างแก่คนทำผิดซึ่งเผอิญมีมากในเวลานั้น พระราชาทรงทราบเรื่อง จึง
ตรัสให้นางชัยศิริทูลให้การตามที่เกิดโดยสัตย์จริง นางก็ชี้ที่จมูกแหว่งแล้วทูลว่า ข้าแต่พระมหา
ราชา เรื่องสัตย์จริงปรากฏอยู่ในที่ซึ่งควรมีจมูกติดอยู่นี้
พระราชาได้ฟังคำให้การซึ่งทรงเห็นแจ่มแจ้งดังนั้น ก็ตรัสให้จำเลยให้การ จำเลยทูลว่า จมูกนางจะ
ขาดไปด้วยเหตุอันใดข้าพเจ้าไม่ทราบเลย ข้าพเจ้านอนหลับอยู่ ตื่นขึ้นในเวลาเที่ยงคืนก็เห็นนาง
เป็นอยู่เช่นนี้ พระราชาได้ทรงฟังก็ตรัสว่า ถ้าจำเลยไม่รับเป็นสัตย์จะตัดแขนขวาเสีย ครั้นยังไม่รับก็
ตรัสว่าจะตัดแขนซ้ายด้วย ครั้นศรีทัตไม่รับทั้งไม่ขอประทานโทษ ก็ทรงพิโรธเป็นกำลัง ตรัสถาม
ศรีทัตว่า คนใจเหี้ยมโหดอย่างเจ้านี้จะทำอย่างไรจึงจะสมแก่โทษ ศรีทัตทูลว่า พระองค์ทรงดำริ
อย่างไร ก็โปรดอย่างนั้นเถิด พระราชายิ่งทรงกริ้ว ก็ตรัสให้พาศรีทัตไปเสียบไว้ทั้งเป็น ราชบุรุษได้
ฟังก็เข้าจับตัวศรีทัตจะพาไปลงโทษตามรับสั่ง
ฝ่ายขโมยซึ่งทราบเหตุแต่ต้นจนปลายนั้น ตามเข้าไปฟังชำระอยู่ด้วย ครั้นได้ยินคำตัดสินลงโทษ
คนไม่มีความผิด ก็เกิดยุติธรรมขึ้นในใจ จึงวิ่งแหวกคนเข้าไปร้องทูลพระราชาว่า พระมหากษัตริย์
จงทรงฟังข้าพเจ้าก่อน พระองค์เป็นพระราชาธิบดี มีหน้าที่ยกย่องคนดีแลลงโทษคนชั่ว อย่าเพิ่ง
ประหารชีวิตชายคนนี้ พระราชาได้ทรงฟังดังนั้น ก็ตรัสให้ขโมยเล่าเรื่องถวายแต่ตามสัตย์จริง
ขโมยทูลว่า ข้าพเจ้าเป็นขโมย แลชายคนนี้ไม่มีความผิด พระองค์จะลงโทษคนผิดตัวอยู่แล้ว
ขโมยก็เล่าเรื่องถวายแต่ต้นจนปลายเว้นแต่ข้อที่ตนไปแทงชายเสเพลตายนั้นหาได้ทูลไม่
พระราชาได้ทรงฟังตลอด ก็ตรัสสั่งราชบุรุษว่าเจ้าจงไปตรวจศพชายซึ่งเป็นที่รักของหญิงนี้ ถ้าพบ
จมูกหญิงในปากคนตาย คำของขโมยผู้มาเป็นพยานนี้ก็เป็นความจริง แลชายผู้ผัวนี้ก็เป็นคนไม่มี
โทษ ราชบุรุษได้ฟังรับสั่งดังนั้นก็ไปตรวจศพชายหนุ่มตามรับสั่ง ไม่ช้าได้จมูกนางกลับมาทูลว่า
ได้ค้นจมูกพบในปากแห่งศพสมดังคำซึ่งขโมยทูล พระราชาทรงทราบดังนั้นก็ตรัสให้ศรีทัตพ้น
โทษ แลรับสั่งให้เอาดินหม้อประสมน้ำมันทาหน้านางชัยศิริ ทั้งโกนผมแลคิ้วจนเกลี้ยงแล้วให้เอา
ตัวขึ้นขี่ลาหันหน้าไปข้างหาง ให้จูงลาเที่ยวประจานรอบพระนครแล้วให้ขับนางไปสู่ป่า เมื่อทรง
ตัดสินลงโทษดังนี้แล้ว ก็ประทานหมากพลูแลสิ่งอื่นๆ แก่ศรีทัตแลขโมย รวมทั้งพระราโชวาทยืด
ยาว ซึ่งคนทั้งสองไม่ต้องการนั้นด้วย
นกจุรามันกล่าวต่อไปว่า หญิงประกอบขึ้นด้วยคุณชนิดที่ข้าพเจ้าเล่านิทานเป็นตัวอย่างมานี้ คำ
โบราณกล่าวว่า ผ้าเปียกย่อมจะดับไฟ อาหารชั่วย่อมจะทำลายกำลัง ลูกชายชั่วย่อมจะทำลาย
สกุล แลเพื่อนที่โกรธย่อมจะทำลายชีวิต แต่หญิงนั้นย่อมจะทำทุกข์ให้แก่ผู้อื่นทั้งในคราวรักแล
คราวเกลียด จะทำอะไรๆ ก็คงจะเป็นไปในทางที่ทำความเดือดร้อนให้แก่เราทั้งนั้น อนึ่ง ความงาม
ของนกปรอดอยู่ในสำเนียง ความงามของชายขี้ริ้วอยู่ในวิชา ความงามของโยคีอยู่ในความไม่โกรธ
ความงามของหญิงอยู่ในสัตย์ แต่หญิงมีความงามจะหาที่ไหนจึงจะพบได้เล่า อนึ่งพระนารทเป็นผู้
ฉลาดโดยมายาในหมู่ฤาษี หมาจิ้งจอกในหมู่สัตว์ กาในหมู่นก ช่างตัดผมในหมู่คน หญิงในโลก
นกแก้วกล่าวต่อไปว่า เรื่องที่ข้าพเจ้าทูลมานี้เป็นเรื่องที่ข้าพเจ้ายินด้วยหูรู้ด้วยตามาเอง ในเวลานั้น
ข้าพเจ้ายังเป็นนกอ่อน แม้กระนั้นยังทำให้ข้าพเจ้ากำหนดใจมาจนบัดนี้ว่า หญิงทั้งหลายเกิดมา
สำหรับทำลายความสุขแห่งเราเท่านั้น
เวตาลเล่าต่อไปว่า เมื่อนกขุนทองแลนกแก้วเล่านิทานมาแล้วเช่นนี้ ก็เกิดทุ่มเถียงกันเป็นขนาน
ใหญ่ นกขุนทองก็กล่าวติเตียนชายแลยกยอหญิง นกแก้วก็กล่าวยกยอชายแลติเตียนหญิงอย่าง
ร้ายแรงจนนางจันทราวดีพระมเหสีทรงพิโรธนกแก้วตรัสว่า ผู้ที่ดูหมิ่นหญิงมีแต่พวกที่สมาคมกับ
พวกต่ำช้า หาความเที่ยงธรรมในใจมิได้ อนึ่งนกจุรามันควรละอายคำตนเองที่กล่าวติเตียนหญิง
เพราะแม่ของนกจุรามันก็เป็นนกตัวเมียเหมือนกัน
ฝ่ายพระราชารามเสน เมื่อได้ยินนกขุนทองก็กริ้ว แลตรัสสำแดงพิโรธจนนกขุนทองเกาะคอน
ร้องไห้ ประกาศว่าชีวิตไม่พึงสงวนเสียแล้ว เวตาลกล่าวต่อไปว่า พูดสั้นๆ เจ้าสององค์แลนกสอง
ตัวก็ทุ่มเถียงคัดค้านขัดคอกัน หญิงจะชั่วกว่าชาย หรือชายจะชั่วกว่าหญิงก็ไม่ตกลงกันได้ ถ้าหาก
พระองค์เสด็จอยู่ในที่นั้นด้วย ปัญหาก็คงจะได้รับคำตัดสินที่ถูกต้อง เพราะพระองค์ทรงปัญญารอบ
รู้ อาจชี้แจงข้อความชนิดนี้ให้แจ่มแจ้งได้ อันที่จริงตามเรื่องที่ข้าพเจ้าเล่าถวายเป็นปัญหาเช่นนี้
พระองค์คงจะได้ทรงดำริแน่นอนในพระหฤทัยแล้วว่า ใครจะชั่วกว่าใคร ข้าพเจ้าเองตรึกตรองในใจ
มาช้านาน ก็ยังไม่ทราบได้แน่นอนจนบัดนี้
พระวิกรมาทิตย์ตรัสตอบว่า หญิงย่อมจะชั่วกว่าชายอยู่เอง ชายนั้นถึงจะชั่วปานใดก็ยังรู้ผิดรู้ถูกอยู่
บ้าง หญิงนั้นไม่รู้เสียเลยทีเดียว
เวตาลหัวเราะด้วยเสียงอันดังแล้วตอบว่า พระองค์ทรงเห็นเช่นนั้นเพราะเป็นชายดอกกระมัง
ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้ฟังดำริแห่งพระองค์ เพราะพระดำรินั้นเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าจะได้กลับไปอยู่
ต้นอโศกเดี๋ยวนี้ เวตาลพูดเท่านั้น แล้วก็ลอยออกจากย่ามหัวเราะก้องฟ้ากลับไปห้อยหัวอยู่ยังต้น
อโศกตามเดิม