Monday, January 12, 2009

นิทานเวตาล เรื่องที่ ๒

ฝ่ายพระวิกรมาทิตย์ ครั้นเวตาลหลุดลอยไปแล้วก็ยืนตะลึงนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง จึงหันพระพักตร์พาพระ
ราชบุตรดำเนินไปยังต้นอโศก ครั้นถึงก็ปีนขึ้นไปปลดเวตาลลงมาบรรจุลงย่ามแบกดำเนินกลับมา
เวตาลก็เล่าเรื่อง ซึ่งกล่าวว่าเป็นเรื่องจริงอีกเรื่องหนึ่งดังนี้
ในเมือง โภควด ี มีพระราชกุมารองค์หนึ่งซึ่งข้าพเจ้าจะกล่าวได้ว่าทรงเกียรติคุณ แลทรงศักดิ์
ประดุจดังพระราชบุตรแห่งพระองค์ซึ่งตามเสด็จอยู่ ณ บัดนี้ เวตาลทูลดังนั้น ประสงค์จะทูลพระ
ราชาทางอ้อมแต่พระราชามิได้รับสั่งประการใดเพราะไม่โปรดการยอ แต่ถ้าจำเป็นใครจะต้องยอ
ใครแล้ว พระวิกรมาทิตย์โปรดให้ยอพระองค์เอง ไม่ต้องให้ยอผ่านคนอื่น พระหฤทัยในข้อ
นี้เนาวรัตนกวีย่อมทราบ แลใช้เป็นหลักในการยอพระเกียรติ แลใช้การยอพระเกียรติเป็น
หลักแห่งความมั่งคั่งของเจ้าบทเจ้ากลอนทั้งเก้านั้น
เวตาลเล่าต่อไปว่า พระราชกุมารองค์นั้นทรงนาม พระรามเสน เป็นพระราชบุตรของพระราชาธิบดี
ซึ่งข้าพเจ้าจำต้องกล่าวว่าผิดกับพระองค์มาก เพราะพระราชาองค์นั้นโปรดเข้าป่าล่าเนื้อ โปรดเล่น
สกา โปรดบรรทมกลางวัน เสวยน้ำจัณฑ์กลางคืน โปรดความสำราญซึ่งเป็นไปในทางกาม
ประกอบด้วยคุณชั่วหลายอย่าง คุณดีหายากแต่เป็นที่รักที่นับถือของพระราชบุตรแลธิดา เพราะเธอ
ทรงเอาใจใส่ที่จะให้เป็นเช่นนั้น เธอไม่วางลงเป็นบัญญัติมาแต่สวรรค์ว่าจะมีเหตุอันควรก็ดี มิมีก็ดี
ลูกจำเป็นต้องรักพ่อให้เต็มความรักซึ่งมีในใจ มิฉะนั้นก็ต้องตกนรก ไม่เหมือนพ่อแม่บางคนซึ่งถือ
ตัวว่าทรงคุณธรรมอันดี แต่ใช้ลูกวิ่งตามหลังประหนึ่ง...
เวตาลพูดไม่ทันขาดคำ พระวิกรมาทิตย์ทรงพิโรธเป็นกำลังก็เอื้อมพระหัตถ์ไปข้างหลัง จับแขน
เวตาลเต็มกำกระชากด้วยกำลังแรง เวตาลร้องโอยๆ เหมือนหนึ่งเจ็บปวดมาก แต่ถ้าจะสังเกตก็
เหมือนแกล้งร้องเป็นเชิงเยาะเย้ย ไม่ใช่ร้องด้วยเจ็บ เพราะเมื่อพระราชาหยุดกระชาก เวตาลก็
กล่าวต่อไปด้วยสำเนียงแจ่มใสว่า
พ่อทั้งหลายแบ่งเป็นสามประเภท แลถ้าจะกล่าวการจำแนกประเภทแห่งแม่ก็ฉันเดียวกัน พ่อ
ประเภทที่หนึ่ง เป็นคนชนิดที่กล่าวได้โดยอุปมาว่า มีอกกว้างสามศอก มีใจกว้างตาม
ขนาดแห่งอก พ่อชนิดนี้เป็นคนใจดี ชอบสนุก เอาใจลูก มักจะจน แต่ลูกรักเหมือนเทวดา
พ่อประเภทที่สองอกกว้างเพียงศอกคืบ มีใจแคบเข้ามาตามส่วนแห่งอก พ่อชนิดนี้ถ้าได้ยิน
ข้าพเจ้าพูดดังที่พระองค์ได้ยินอยู่เดี๋ยวนี้ก็คงคิดในใจว่าอ้ายตัวนี่มันพูดถูก กูจะจำคำของมันเป็นคติ
ลองดูว่าจะเป็นผลอย่างไรบ้าง คิดดังนั้นแล้วก็กลับไปบ้าน ปฏิบัติการเอาใจลูกเป็นขนานใหญ่ แต่
ไม่ช้าก็กลับเป็นอย่างเก่าเพราะความเที่ยงในใจไม่มี พ่อประเภทที่สามเป็นคนอกกว้างศอก
เดียวไม่มีเศษ สมมุติเป็นที่สุดแห่งความแคบ แลใจก็ได้ขนาดกับอก
พระองค์ผู้เป็นพระราชาธิบดีอันสูงสุด เป็นตัวอย่างพ่ออกศอกเดียวคือประเภทที่สามนี้ เมื่อยังทรง
พระเยาว์ พระองค์ทรงเรียนวิชาซึ่งมีผู้สั่งสอนถวาย เช่น ความรู้ที่ว่า ไม้เรียวเป็นต้นไม้ซึ่งคนอาจ
ปีนขึ้นไปได้ถึงสวรรค์ เป็นต้น ครั้นพระองค์ทรงชนมายุถึงมัชฌิมวัย ก็ทรงใช้ความรู้ที่เรียนมาใน
เบื้องต้น ทรงปลูกไม้เรียวสำหรับให้พระราชบุตรปีนขึ้นไปสู่ทิพยโลก พระองค์จะสอนอะไรตน
เองก็สอนไม่ได้ ก่อนที่หนวดแห่งพระองค์งอกงามเป็นช่อ ครั้นเมื่องอกงามแล้วใครจะสอน
อะไรพระองค์ก็ไม่ได้เหมือนกัน ถ้าใครเพียรจะทำให้พระองค์เปลี่ยนความเห็น พระองค์ก็
กล่าวคำที่กวีโง่ๆ กล่าวไว้ว่า
o อะไรใหม่มิใช่ความจริงแน่ ความจริงแท้เกิดใหม่เกิดได้หรือ
อะไรใหม่ไม่จริงทุกสิ่งคือ อะไรจริงใช่ชื่อว่าใหม่เอย ฯ
แต่พระองค์ก็เป็นประโยชน์แก่โลกเหมือนสิ่งอื่นๆ ในแผ่นดิน เมื่อทรงชนมายุก็อยู่เหมือน
อูฐซึ่งรับใช้การ เมื่อสิ้นชนมายุแล้ว เถ้าแลถ่านอัฐิแห่งพระองค์ก็ประสมธาตุอย่างเดียวกับ
เถ้าแลถ่านอัฐิแห่งผู้มีปัญญา
พระราชาทรงจับย่ามกระชาก เวตาลร้องเหมือนเจ็บ ครั้นพระราชาทรงหยุดกระชาก มันก็หัวเราะ
แล้วทูลต่อไปว่า ข้าพเจ้ากล่าวตรงไปตรงมามิได้อ้อมค้อม เพราะถ้าไม่พูดตรง จะต้องพูดยืดยาวจึง
จะได้ความเท่าที่พูดนี้ บัดนี้จะทูลเล่าเรื่องต่อไปว่า
ครั้นพระราชากรุงโภควดีเป็นอากาศปนกับอากาศไปแล้ว พระรามเสนก็ได้รับราชสมบัติเป็นมรดก
สืบไป พระรามเสนมีนกแก้วตัวหนึ่ง ซึ่งได้รับเป็นมรดกจากพระราชบิดา นกแก้วตัวนี้เป็นมรดกมีค่า
ยิ่งทรัพย์สินเงินทองทั้งหลาย มีชื่อว่า จุรามัน พูดสันสกฤตคล่องราวกับบัณฑิต รู้ศาสตร์ทั้งหลาย
แลมีความคิดราวกับเทวดา เว้นแต่ถ้าเทวดาจะไม่มีความคิดแล้วก็จนใจอยู่ นกจุรามันนี้เป็นที่
ปรึกษาของพระราชาองค์ใหม่ในกิจส่วนพระองค์แลราชการบ้านเมืองทั่วไป
วันหนึ่งพระราชาตรัสแก่นกจุรามันว่า "เจ้ามีความรู้ทุกอย่าง เจ้าจงบอกแก่ข้าว่าข้าจะหานางได้ที่
ไหนผู้จะเป็นคู่สมควรแก่ข้าทุกประการ คัมภีร์ศาสตร์กล่าวว่า ชายจะมีเมียไม่ควรเลือกหญิง ในสกุล
ซึ่งกล่าวต่อไปนี้ แม้สกุลจะมั่งคั่งด้วยโค ด้วยแพะ ด้วยแกะ ด้วยทองแลด้วยธัญญาหารก็ต้องห้าม
ถ้าเป็นสกุลซึ่งไม่กระทำการบูชาตามบัญญัติ ในคัมภีรศาสตร์ หรือเป็นสกุลซึ่งไม่มีลูกชาย หรือเป็น
สกุลซึ่งไม่มีใครเคยเรียนพระเวท หรือเป็นสกุลซึ่งคนมีขนขึ้นมากตามกาย หรือเป็นสกุลซึ่งมีโรค
ติดต่อกันมาแต่ปู่แลบิดา ชายจะเลือกภริยาควรเลือกนางซึ่งมีกายไม่มีตำหนิ ซึ่งมีนามไพเราะ ซึ่ง
เดินงามเหมือนช้างอ่อนอายุ ซึ่งมีฟันแลผมพอดีทั้งขนาดแลปริมาณ ซึ่งมีกายอันอ่อนนุ่ม คัม
ภีรศาสตร์กล่าวเช่นนี้ เจ้าจะเห็นนางที่ไหนสมควรแก่ข้าบ้าง"
นกจุรามันทูลตอบว่า "ข้าแต่พระราชา ในเมืองมคธมีพระราชาทรงนาม ท้าวมคเธศวร มีพระราช
ธิดาทรงนาม จันทราวดี นางนี้จะได้กับพระองค์เป็นแน่ นางประกอบด้วยความรู้แลงดงามนัก มีฉวี
เหลืองแลนาสิกเหมือนดอกงา ชงฆ์เรียวเหมือนต้นกล้วย เนตรใหญ่เหมือนใบบัว คิ้วจดกรรณทั้ง
สองข้าง ริมพระโอษฐ์เหมือนใบมะม่วงอ่อน พักตร์เหมือนจันทร์เพ็ญ สำเนียงเหมือนนกกาเหว่า กร
ยาวถึงเข่า ศอเหมือนคอนกเขา เอวเหมือนเอวสิงห์ เกศาห้อยยาวถึงเอว ทนต์เหมือนเมล็ดแห่งผล
ทับทิม ดำเนินเหมือนช้างเมามัน"
พระรามเสนได้ทรงฟังนกจุรามันชมโฉมนางดังนั้นก็เป็นที่พอพระราชหฤทัย เราท่านทั้งหลายจะ
ต้องคิดว่าพระรามเสนเป็นแขก อาจเห็นงามในทางซึ่งเราท่านเห็นน่าเกลียดเป็นที่สุด อนึ่งนกจุรา
มันเป็นนกแขกแล้วมิหนำซ้ำพูดสันสกฤตคล่องด้วย เหตุดังนั้นความเปรียบของนกคงจะผิดกับ
ความเปรียบของท่านแลข้าพเจ้า ซึ่งไม่ใช่นกแลพูดสันสกฤตไม่เป็น
จะอย่างไรก็ตามคำชมโฉมของนกนั้น กระทำให้พระรามเสนคิดใคร่จะได้นางเป็นชายาแต่ยังไม่แน่
ในพระหฤทัยทีเดียว จึงตรัสเรียกพระราชครูไทวะจินตกะเข้าไปเฝ้าตรัสถามว่า "ข้าจะได้ใครเป็น
เมีย" พระราชครูตรวจตำราแม่นยำแล้วทูลว่า "นางที่จะเป็นพระราชชายาทรงพระนาม นางจัน
ทราวดี ไม่ช้าคงจะได้มีการวิวาหะพระองค์กับนางองค์นั้น" พระราชาได้ทรงฟังก็ยินดี แม้ไม่เคย
ทรงเห็นนางก็เกิดรักแลใคร่เป็นกำลัง จึงทรงจัดให้พราหมณ์คนหนึ่งเป็นทูตไปเฝ้าท้าวมคเธศวร
ขอพระราชธิดา ทรงสัญญาแก่พราหมณ์นั้นว่า ถ้าจัดการสำเร็จจะประทานรางวัลให้สมกับความ
ชอบ คำที่ทรงสัญญานี้เสมอกับทำให้ปีกงอกบนหลังพราหมณ์ มีคำกล่าวว่าไม่เคยมีใครเดินทาง
เร็วเท่าพราหมณ์คนนั้น
ฝ่ายพระราชธิดาท้าวมคเธศวรมีนกขุนทองตัวหนึ่งพูดสันสกฤตคล่องไม่หย่อนกว่านกแก้วของพระ
รามเสน นกขุนทองนั้นเป็นนางนกชื่อ โสมิกา มีความรู้อยู่ในใจหลายร้อยเล่มสมุด จะหานกไหน
ทรงความรู้เช่นนั้นไม่มี ถ้าจะเว้นก็มีแต่นกแก้วของพระรามเสนกระมัง พระองค์ทรงทราบว่าในกาล
โบราณ คนมีความรู้ทำสัตว์พูดได้แลเข้าใจภาษามนุษย์ แม้ภาษาสันสกฤตซึ่งใช้ไวยากรณ์ยากที่
สุด นกก็พูดได้ไม่พลาดพลั้ง ดังนกชื่อจุรามัน แลนางนกชื่อโสมิกานี้เป็นตัวอย่าง
การทำให้นกพูดได้นี้ กล่าวกันว่าเป็นความคิดของนักปราชญ์คนหนึ่งซึ่งผ่าลิ้นนกออกให้เป็นสอง
ภาค แล้วเปลี่ยนรูปสมองด้วยวิธีผูกรัดหัวกะโหลกเบื้องหลัง จนหัวกะโหลกเบื้องหลังยื่นออกมา
ทำให้เกิดมันสมอง จนถึงรู้คิดแลพูดได้เป็นภาษาคน การที่นักปราชญ์คิดทำให้นกรู้ประสาเช่นนี้ก็มี
คุณดีบ้าง แต่มีคุณชั่วมาก เหมือนความคิดนักปราชญ์ทั้งปวง คือเมื่อนกมีความคิดแลพูดได้แล้วก็
คิดอย่างฉลาดแลพูดอย่างดี คำที่กล่าวล้วนเป็นคำสัตย์ ครั้นมนุษย์พูดเหลวไหล ปราศจากสัตย์
นกก็พูดติเตียนจนมนุษย์เบื่อความสัตย์เข้าเต็มที่ ก็ทิ้งวิชาทำให้นกพูดได้นั้นเสีย ความรู้จึงเสื่อม
ด้วยประการเช่นนี้ ในปัจจุบันถ้านกแก้วแลนกขุนทองยังพูดได้ ก็พูดเหลวๆ เพราะความจำอย่าง
เดียว ไม่ใช่พูดด้วยรู้คิดอย่างแต่ก่อน มนุษย์ไม่ต้องเดือดร้อนด้วยความสัตย์แห่งนกอีกต่อไป
วันหนึ่งนางจันทราวดีพระราชกุมารี ทรงนั่งตรัสกับนางนกในที่รโหฐาน ข้อความที่ตรัสนั้นไม่เป็นข้อ
ความแปลก เพราะหญิงสาวในยุคทั้งหลายเมื่อพูดกับผู้ที่ไว้ใจสนิท จะเป็นเรื่องให้ช่วยพยากรณ์
การภายหน้าก็ตาม ให้ทำนายฝันก็ตาม จะหารือความในใจก็ตาม ใจความที่พูดนั้นอย่าง เดียวกัน
หมด จะพูดเรื่องอื่นเป็นไม่มี เรื่องที่พูดนั้น เรื่องที่พูดนั้นพระองค์ควรทราบได้ด้วยไม่ต้องถามว่า
อะไร พระวิกรมาทิตย์ทรงนิ่งอยู่ เวตาลก็กล่าวต่อไปว่า
นางจันทราวดีตรัสวนเวียนสักครู่หนึ่ง ก็ไปถึงปัญหาซึ่งได้ตรัสถามแล้วในเดือนนั้นประมาณร้อยครั้ง
ว่า ชายที่สมควรเป็นสามีแห่งนางมีหรือไม่ นางนกทูลว่า "ข้าพเจ้ามีความยินดีที่จะทูลให้ทรงทราบ
ได้ในวันนี้ อันที่จริงความมิดเมี้ยนในใจแห่งเราผู้เป็นหญิง..." นกทูลยังไม่ทันขาดคำ นางจัน
ทราวดีชิงตรัสว่า "เจ้าจงหยุดแสดงธรรมในทันที มิฉะนั้นเจ้าจะต้องกินข้าวกับเกลือแทนข้าวกับ
ไข่"
เวตาลกล่าวต่อไปว่า พระองค์ย่อมทราบว่านกขุนทองชอบกินข้าวกับไข่ ไม่ชอบข้าวกับเกลือ เมื่อ
นางจันทราวดีตรัสขู่ดังนั้นนกก็งดการสำแดงปัญญา ซึ่งอาจเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ที่ได้สดับต่อๆ
กันมา นกทูลว่า "ข้าพเจ้าเห็นการภายหน้าได้ถนัด พระรามเสนพระราชาธิบดีครองกรุงโภควดี จะ
เป็นพระราชสามีแห่งนาง นางจะเป็นความสุขแก่พระรามเสน ดังซึ่งพระรามเสนจะเป็นความสุขแก่
นาง เธอเป็นชายหนุ่มงดงาม มั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติ มีหฤทัยเผื่อแผ่แก่คนอื่น สนุกง่าย ไม่ฉลาด
เกิน แลไม่มีโอกาสจะเป็นคนเจ็บได้เลย"
พระราชธิดาได้ฟังดังนั้น แม้ไม่เคยได้เห็นพระรามเสนก็บังเกิดความรักใคร่ กล่าวสั้นๆ พระราชา
หนุ่มและพระนารีสาวต่างก็เป็นปฏิพัทธ์กันอยู่ไกลๆ แต่เพราะเหตุที่พระแลนางอยู่ในตำแหน่ง สูง
สมควรกัน ความรักอยู่ห่างๆ จึงสำเร็จได้ดังประสงค์
เมื่อพราหมณ์ซึ่งพระรามเสนให้เป็นทูตไปกล่าวขอนางนั้น ไปถึงกรุงมคธ ท้าวมคเธศวรก็ทรง
รับรองเป็นอันดี แลตรัสอวยพระราชธิดาแก่พระรามเสน ทรงแต่งให้พราหมณ์ในกรุงมคธไปกรุง
โภควดีเป็นทางจำเริญไมตรี แล้วตรัสให้เตรียม การมงคล ฝ่ายพระรามเสนเมื่อทรงทราบข่าวดี ก็
แช่มชื่นในพระหฤทัย ประทานรางวัลแก่พราหมณ์กรุงมคธเป็นอันมาก ครั้นถึงวันฤกษ์ดีก็ออก
จากกรุงโภควดี แวดล้อมด้วยพหลแสนยากร รอนแรมไปในป่าจนถึงกรุงมคธ ก็เข้าเฝ้าท้าวมคเธศว
ร กระทำการเคารพแลแสดงไมตรีอันดี
ครั้นถึงฤกษ์งามยามบุญ ท้าวมคเธศวรก็จัดการวิวาหะพระราชธิดา มีการเลี้ยงดูอย่างใหญ่ มีการ
ตกแต่งด้วยโคมไฟแลจุดดอกไม้เพลิง มีการสวดร้องตามซึ่งบัญญัติไว้ในพระเวท มีการแห่แลการ
ดนตรี มีเสียงดังเอ็ดไปทั้งพระนคร ครั้นพิธีวิวาหะสำเร็จแล้ว นางจันทราวดีล้างขมิ้นจากพระหัตถ์
แทบจะยังไม่ทันหายเหลือง พระรามเสนก็ทูลลาท้าวมคเธศวรพานางกลับกรุงโภควดี
นางจันทราวดีจะจากพระราชบิดาแลบ้านเมืองไปก็มีความสร้อยเศร้าจึงต้องพาโสมิกา คือนางนก
ขุนทองไปด้วย ไปตามทาง นางเล่าถึงนกแลความฉลาดของนกถวายพระสามี แลทั้งทูลว่านกเป็น
ผู้กล่าวพระนามพระราชาให้นางทราบก่อนที่ได้ยินทางอื่น
ฝ่ายพระรามเสนได้ทรงฟังก็เล่าถึงจุรามันนกแก้วของพระองค์ ทรงชี้แจงความฉลาดแลความรู้ของ
นกนั้น รวมทั้งข้อที่พูดสันสกฤตคล่องนั้นด้วย
พระราชินีได้ฟังดังนั้นก็ทูลพระราชาว่า "เมื่อนกสองตัวของเราวิเศษถึงปานนี้ก็ควรจะเลี้ยงในกรง
เดียวกันแลให้วิวาหะกันโดยคนธรรพ์ลักษณะ นกทั้งสองจะได้เป็นสุข" พระราชินีได้วิวาหะใหม่ๆ ก็
ใคร่จะจัดการวิวาหะให้คู่อื่นบ้าง ตามซึ่งมักจะเป็นไปโดยมากในหมู่หญิงสาวซึ่งได้ผัวใหม่ๆ
พระราชาตรัสว่า นางตรัสถูกแล้ว ถ้านกทั้งสองไม่มีคู่จะมีสุขอย่างไรได้ การที่ตรัสอย่างนี้เพราะ
พระองค์กำลังเพลินในการมีคู่ ย่อมจะนึกตามอารมณ์ของผู้มีเมียใหม่ว่านอกจากคนมีเมียแล้ว ไม่มี
ใครมีความสุขเป็นอันขาด ความทุกข์จะเกิดแก่ผู้มีเมียนั้นไม่อาจมีได้ในโลก
ครั้นสององค์เสด็จถึงกรุงโภควดีแล้ว ก็ตรัสให้เจ้าพนักงานยกกรงใหญ่มาตั้งจำเพาะพระพักตร์ ทรง
จับนกปล่อยเข้าไปในกรงทั้งสองตัว ฝ่ายนกจุรามันเกาะอยู่บนคอนเอียงคอดูนกขุนทอง นางโสมิ
กานกขุนทองจับอยู่อีกคอนหนึ่ง ยกหน้าชูปากขึ้นไปบนฟ้าโดยกิริยาดูหมิ่นแล้วกระโดดไปเกาะ
คอนอื่นที่ห่างออกไป
นกแก้วนิ่งดูอยู่ครู่หนึ่งก็พูดภาษาสันสกฤตว่า "นางนกขุนทอง เจ้าคงจะกล่าวดอกกระมังว่า เจ้าไม่
อยากได้คู่" นางนกขุนทองตอบในภาษาเดียวกันว่า "ท่านเดาเห็นจะไม่ผิด" นกแก้ว "เพราะเหตุไร
เจ้าจึงไม่อยากมีคู่" นกขุนทอง "เพราะใจของข้าเป็นอย่างนั้น" นกแก้ว "นี่พูดอย่างผู้หญิงทีเดียว
ข้าจะขอยืมคำพระราชาของข้ามากล่าวว่า ที่อธิบายเช่นนี้เป็นปัญญาหญิง คือไม่ใช่ปัญญาแลไม่ใช่
อธิบายเลย เจ้าจะพูดให้แจ่มแจ้งกว่านี้สักหน่อยจะได้หรือไม่ หรือรังเกียจที่จะพูดให้ผู้อื่นเข้าใจ"
นกขุนทองโกรธจนแทบจะลืมไวยากรณ์สันสกฤต ตอบว่า "ข้าไม่รังเกียจเลย ข้าจะบอกให้แจ่มแจ้ง
ที่สุด บางทีจะแจ่มแจ้งเกินความพอใจของเจ้า พวกเจ้าซึ่งเป็นเพศชายย่อมประกอบขึ้นด้วยความ
บาป ความโกง ความล่อหลอก ความเห็นแก่ตัว ความปราศจากธรรมในใจ คล่องในการทำลาย
พวกเราซึ่งมีเพศเป็นหญิง เพื่อความสำราญของพวกเจ้า"
พระราชาตรัสแก่พระราชินีว่า "นางนกตัวนี้กล้าหาญ พูดจาไม่เกรงใจใครเลย" นกแก้วทูลพระราชา
ว่า "พระองค์จงถือว่าคำที่นางนกกล่าวนั้นเหมือนหนึ่งลมซึ่งเข้ากรรณนี้ไปออกกรรณโน้นเถิด (แล้ว
เหลียวไปพูดกับนกขุนทองว่า) นางนกขุนทอง พวกเจ้านั้นถ้าไม่ได้ประกอบขึ้นด้วยความล่อหลอก
แลความคดในใจแลความไม่รู้ ก็ประกอบขึ้นด้วยอันใดเล่า พวกเจ้ามีปรารถนาอยู่อย่างเดียวแต่จะ
ไม่ให้มีชีวิตเป็นเครื่องสำราญได้ในโลกนี้เป็นอันขาด"
พระราชินีทูลพระราชาว่า "นกของพระองค์ตัวนี้ พูดจาก้าวร้าว ไม่ยำเกรงใครเลย" นกขุนทอง
ทูลพระราชินีว่า "คำที่ข้าพเจ้ากล่าวนั้นอาจนำพยานมาสำแดงได้" นกแก้วทูลพระราชาว่า ข้าพเจ้า
อาจนำนิทานมาเล่าให้ผู้หญิงเห็นจริงได้"
พระราชาแลพระราชินีได้ทรงฟังดังนั้น ก็ตกลงกันให้นกทั้งสองนำหลักฐานมาสำแดง เป็นพยานคำ
ที่กล่าว พระราชินีขอให้นกขุนทองแสดงก่อน พระราชายอมตกลง นางนกขุนทองกล่าวดังนี้
นิทานของนกขุนทอง
เมื่อก่อนที่ข้าพเจ้ามาเป็นข้าพระองค์นั้น ข้าพเจ้าเคยอยู่กับ นางรัตนาวดี ธิดาพ่อค้าผู้มั่งคั่งด้วย
ทรัพย์สมบัติ นางรัตนาวดีเป็นหญิงน่ารักน่าชมทุกประการ (นกขุนทองกล่าวเท่านั้นก็ร้องไห้ พระ
ราชินีทรงสงสารก็รับสั่งปลอบโยนเป็นอันดี นกก็เล่าต่อไปว่า)
ใน เมืองอิลาบุรี มีพ่อค้ามั่งมีคนหนึ่ง ได้ความเดือดร้อนเพราะไม่มีบุตร พ่อค้าจึงทำโยคะคืออด
ข้าวเป็นต้น แลทั้งเที่ยวไปในบุณยสถานต่างๆ เพื่อจะขอลูก เมื่ออยู่บ้านก็อ่านปุราณะแลให้ทานแก่
พราหมณ์ ด้วยประสงค์อันนั้น
ต่อมาพระผู้เป็นเจ้าโปรดประทานให้มีบุตรชายมาเกิดคนหนึ่ง พ่อค้ายินดีก็มีงานสมโภชลูกชาย
ใหญ่โต ให้ทานแก่พราหมณ์ผู้สวดกลอนยอ แลพราหมณ์อื่นๆ เป็นอันมาก ผู้ที่จนก็ได้รับเงินแจก
แลเสื้อผ้า ผู้ที่หิวก็ได้รับแจกอาหารแลของอื่นๆ เป็นอันมาก
พ่อค้าทำนุบำรุงเลี้ยงบุตรชายมาจนอายุได้ห้าขวบก็หาผู้มาสอนให้อ่านหนังสือ ครั้นโตขึ้นอีกก็ส่ง
ให้ไปอยู่กับครูผู้มีชื่อว่ามีความรู้แลสั่งสอนดี บุตรชายโตขึ้นมีรูปสมบัติดูไม่ได้ เค้าหน้าเหมือนลิง
ขาเหมือนขานกกระเรียน หลังโกงเหมือนหลังอูฐ พระองค์คงจะทราบภาษิตโบราณว่า ถ้าพบ
คนขาเขยกให้เชื่อใจได้ว่าพบความคด ๓๒ ข้อ ถ้าพบคนตาบอดข้างหนึ่ง พบความคด ๘๐
ข้อ ถ้าพบคนหลังกุ้งให้สวดมนต์อ้อนวอนพระมเหศวรให้คุ้มครองตน
บุตรชายพ่อค้านั้น เมื่อไปเรียนหนังสือกับครูก็มิได้ไปถึงครู ไปเที่ยวแวะเล่นเบี้ยกับเพื่อนที่เป็นพาล
ด้วยกัน ต่างคนมีใจชั่วและประพฤติทุจริตต่างๆ เมื่อพบผู้หญิงก็เข้าเกี้ยวชักชวนในเชิงกาม และ
กระทำการลามกจนบิดาเสียใจเป็นโรคหนักอยู่หน่อยหนึ่ง ก็ถึงแก่ความตาย
ครั้นบิดาสิ้นชีวิตแล้ว บุตรชายได้รับมรดกก็จ่ายทรัพย์เปลืองไปในการพนันแลบำรุงความชั่ว ไม่ช้า
ทรัพย์มรดกซึ่งได้รับเป็นอันมากนั้นก็สิ้นไปจนไม่มีอะไรเหลือ ครั้นทรัพย์ของตนหมดก็ทำลาย
ทรัพย์เพื่อนบ้านจนในที่สุดเขาจับได้ว่าเป็นขโมย เผอิญหลบหลีกได้ไม่ถูกประหารชีวิตตามอาญา
เมือง จนในที่สุดกล่าวลบหลู่เทวดาว่าให้แต่โชคร้าย แล้วหนีออกจากเมืองไปเดินป่าอยู่พักหนึ่ง ถึง
เมืองซึ่งเป็นที่อยู่แห่ง เหมคุปต์ เศรษฐีผู้บิดานางรัตนาวดี ได้ยินชื่อเหมคุปต์ก็นึกขึ้นได้ว่าเมื่อบิดา
ของตนยังมีชีวิตอยู่นั้น ได้ทำการค้าขายติดต่อ จึงเข้าไปหาเหมคุปต์ แจ้งความว่าตนเป็นบุตรแห่ง
พ่อค้าที่ได้เคยค้าขายติดต่อกัน บัดนี้บิดาสิ้นชีวิตเสียแล้ว พูดเท่านั้นก็ร้องไห้ร่ำไรไปเป็นอันมาก
ฝ่ายเหมคุปต์ ครั้นได้ยินแลเห็นชายหนุ่มแต่งกายทรุดโทรมดังนั้น ก็ประหลาดใจแลคิดสงสาร จึง
ปลอบโยนซักถามว่าเหตุไฉนจึงเป็นเช่นนี้ ชายหนุ่มหลังโกงเหมือนอูฐตอบว่า ข้าพเจ้าจัดสินค้า
บรรทุกเรือไปค้าขายในเมืองอื่น ครั้นขายของหมดแล้ว ข้าพเจ้าซื้อสินค้าเมืองนั้น บรรทุกเรือจะ
กลับไปขายในเมืองของข้าพเจ้า แล่นใบไปในกลางทะเล ถูกพายุใหญ่เป็นอันตรายในทะเลทั้งเรือ
แลสินค้า ข้าพเจ้าเกาะกระดานลอยไปคนเดียว เผอิญยังไม่ถึงเวลาสิ้นชีวิต จึงรอดขึ้นฝั่งได้แลเดิน
ทางมา จนถึงเมืองนี้ ข้าพเจ้าไม่มีหน้าจะกลับไปเมืองของตนได้ เพราะสิ้นทรัพย์แล้วก็ไม่มีใคร
นับถือ ผู้ที่เป็นศัตรูก็มีแต่จะด่าว่าข่มขี่ต่างๆ บิดามารดาของข้าพเจ้าก็สิ้นชีวิตเสียนานแล้ว ข้าพเจ้า
ไม่รู้จะหันหน้าไปหาใคร ทั้งนี้ก็เป็นผลแห่งกรรมซึ่งกระทำไว้แต่ปางก่อน พูดเท่านั้นแล้วก็ร้องไห้
ร่ำไรไป
ฝ่ายเหมคุปต์เศรษฐีได้ยินชายหลังอูฐร้องไห้เล่าเรื่องให้ฟังดังนั้นก็เกิดสงสารเป็นกำลัง จึงต้อนรับ
เลี้ยงดูให้ชายหลังอูฐอาศัยอยู่ในบ้านของตน ชายชั่วเห็นทางจะได้ดีด้วยทำดีก็ขืนใจปฏิบัติเป็นคน
ดี จนเหมคุปต์ไว้ใจให้มีส่วนในการค้าขาย ชายหนุ่มก็ยิ่งแสร้งทำดีจนเหมคุปต์ไว้ใจแลเอ็นดูยิ่งขึ้น
วันหนึ่งเหมคุปต์ตรึกตรองในใจว่า เรานี้มีความร้อนใจมาหลายปีแล้วเพราะบกพร่องในครอบครัว
เพื่อนบ้านของเราก็ซุบซิบนินทาเรามาช้านาน บ้างก็พูดอ้อมค้อม บ้างก็พูดตรงๆ ว่า ธรรมดาคนมี
ลูกสาว เมื่อลูกอายุถึง ๗ ขวบ ๘ ขวบ พ่อก็ต้องจัดการให้มีผัว เพราะธรรมศาสตร์บัญญัติอย่างนั้น
แต่บุตรสาวเหมคุปต์เศรษฐีนี้พ้นอายุที่ควรแต่งงานมาหลายปี จนบัดนี้อายุถึง ๑๓ หรือ ๑๔ ปี นาง
เป็นคนร่างใหญ่รูปอวบ ดูเหมือนหญิงอายุ ๓๐ ปีที่มีผัวแล้ว แต่บิดาก็ยังหาจัดการให้มีผัวไม่ บิดา
จะกินแลนอนเป็นสุขอย่างไร การที่ปล่อยให้เป็นเช่นนี้ย่อมเป็นที่ครหา เป็นโทษโดยคดีโลกแลคดี
ธรรม แม้ญาติวงศ์ที่สิ้นชีวิตไปแล้วย่อมได้ทุกข์เพราะเหตุที่ญาติในมนุษยโลกปล่อยลูกสาวไว้มิให้
มีผัวจนป่านนี้ ข้อติเตียนข้อนี้ก็ทำให้เราเดือดร้อนมาช้านานแล้วแต่เรามิรู้จะแก้ไขอย่างไรได้ บัดนี้
พระผู้เป็นเจ้าโปรดให้เราสิ้นทุกข์ จึงบันดาลให้ชายหนุ่มนี้มาถึงบ้านเรา เขาก็เป็นคนดี ปฏิบัติอยู่ใน
คลองธรรมเป็นที่ชอบใจเรา จำเราจะยกลูกสาวให้แก่ชายหนุ่มนี้ตามโอกาสที่พระผู้เป็นเจ้าประทาน
แก่เรา เราจะชักช้าต่อไปไม่ควร เพราะสิ่งใดที่จะทำได้ในวันนี้ สิ่งนั้นเป็นดีที่สุด พรุ่งนี้จะเป็นอย่าง
ไรเราทราบไม่ได้
เหมคุปต์ตรึกตรองตกลงใจดังนี้แล้ว ก็ไปพูดกับภริยาว่า ความเกิด ๑ การวิวาหะ ๑ ความตาย ๑
ทั้ง ๓ อย่างนี้ย่อมเป็นไปแล้วแต่เทวดาจะบัญญัต ิ เราต้องการให้ลูกหญิงของเราได้ผัวที่เกิดใน
สกุลดี เป็นผู้มั่งมี เป็นผู้มีรูปงาม เป็นคนฉลาด แลเป็นผู้มีความสัตย์ แต่เราจะหาชายหนุ่มเช่นนั้นไม่
ได้ เจ้ากล่าวว่าถ้าเจ้าบ่าวขาดคุณดีเหล่านี้ การวิวาหะก็จะไม่เป็นผลดังประสงค์ แต่ถ้าจะไม่ให้ลูกมี
ผัวไซร้ เราจะเอาเชือกผูกคอลูกเราถ่วงลงในคูนี้ก็ไม่ได้ เหตุดังนั้น ถ้าเจ้าเห็นว่าบุตรพ่อค้าซึ่งข้า
ได้รับเข้าไว้เป็นสหายในการค้าขายของข้านี้ เป็นคนดี ควรจะให้ลูกสาวเราได้ เราจะรีบจัดการ
วิวาหะโดยเร็ว
ภริยาเหมคุปต์ได้ยินสามีพูดดังนั้นก็ดีใจ เพราะชายหนุ่มหลังอูฐได้ล่อลวงให้ลุ่มหลงอยู่แล้ว นางจึง
ตอบสามีว่า เมื่อพระผู้เป็นเจ้าชี้ทางให้เห็นชัดอยู่เช่นนี้ ถ้าเราไม่ทำตามก็คือขืนคำเทพยดา เรามิ
ได้ไปเที่ยวแสวงหาที่ไหน เจ้าบ่าวก็มีมาเอง เหตุดังนั้นเราไม่ควรจะชักช้าไปเลย ท่านจงรีบจัดการ
เถิด
สามีภริยาปรึกษากันเช่นนี้แล้วก็เรียกบุตรสาวเข้าไปหา นางนั้นงามสมควรเป็นที่รักของคนธรรพ์
นางมีเกศายาวอันเป็นสีม่วงอ่อน เพราะแสงแห่งความเป็นสาว เป็นมันเหมือนปีกแมลงภู่
ขนงบริสุทธิ์แลใสเหมือนโมรา แก้วประพาฬอันเกิดแต่ทะเลนั้น เมื่อเทียบกับริมฝีปากแห่งนาง แก้ว
ประพาฬก็มีสีเผือดไป ทนต์ของนางเสมอกับไข่มุก ภาคต่างๆ ในกายนางล้วนประกอบขึ้นสำหรับ
เป็น ที่รักทั้งนั้น เมื่อใครได้เห็นเนตรแห่งนาง ก็ใคร่จะเห็นอีก แลเห็นอยู่เสมอไป ใครได้ยินเสียง
นางก็ใคร่จะได้ยินดนตรีนั้นอยู่เสมอ ความดีของนางเสมอกับความงาม เป็นที่รักของบิดามารดาแล
ญาติพี่น้องทั่วไป เพื่อนฝูงของนางจะหาที่ตินางก็มิได้ ถ้าข้าพเจ้าจะเล่าคุณความดีของนางก็คงไม่
มีเวลาสิ้นสุดได้ นกขุนทองเล่ามาเพียงนี้ก็ร้องไห้ร่ำไรอยู่ครู่หนึ่งจึงเล่าต่อไป
เมื่อบิดามารดาเรียกนางรัตนาวดีมาบอกความประสงค์ให้ทราบ นางก็ตอบว่าแล้วแต่บิดามารดา
เพราะนางไม่ใช่หญิงชนิดที่เกลียดอะไรไม่เกลียดเท่าชายที่พ่อแม่บัญชาให้รัก อันที่จริงข้าพเจ้า
ทราบว่านางจะดูชายหนุ่มที่จะเป็นเจ้าบ่าวก็ดูไม่ได้เต็มตา เพราะความขี้ริ้วของชายนั้น แต่ไม่ช้า
ความช่างพูดของเจ้าบ่าวก็ทำให้นางเกิดความนิยมขึ้นทีละน้อย แลทั้งนางรู้สึกคุณชายหนุ่มที่
อุตส่าห์เอาใจใส่เอื้อเฟื้อต่อบิดามารดา นับถือความประพฤติของชายหนุ่มซึ่งแสร้งทำดี สงสารด้วย
ตกยาก จนในที่สุดก็ลืมความขี้ริ้วของชายนั้น
เมื่อก่อนการวิวาหะ นางได้สัญญาในใจไว้ว่า เมื่อแต่งงานแล้ว แม้หน้าที่แห่งภริยาจะไม่เป็นที่ชอบ
ใจเพียงไร นางก็จะอุตส่าห์ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหน้าที่ ครั้นแต่งงานแล้ว ความไม่พอใจในหน้าที่
นั้นหามีไม่ นางกลับรักสามีเสียอีก ส่วนความขี้ริ้วของสามีนั้นไม่เป็นเหตุให้นางเกลียดชัง อันที่จริง
กลับจะรักยิ่งขึ้นเพราะความขี้ริ้วนั้น
ความรักนี้เป็นของน่าพิศวงมาก เป็นแสงฟ้าฉายความสุขลงมายังแผ่นดินอันมืดแลเต็มไปด้วยความ
ซึมเซา เป็นมนตร์ซึ่งทำให้เรารำลึกถึงความมีชาติที่สูงกว่านี้ เป็นความสุขในขณะนี้แลเป็นทางพา
ให้คิดถึงสุขในเบื้องหน้า ทำให้ความขี้ริ้วกลับเป็นความงาม ทำให้ความโง่กลายเป็นความฉลาด
ทำให้ความแก่เป็นความหนุ่ม ทำให้บาปเป็นบุญ ทำให้ความซึมเซาเป็นความแช่มชื่น ทำให้ใจ
แคบเป็นใจกว้าง ความรักนี้เป็นโอสถอย่างเอก ชักให้ความตรงกันข้ามมาเดินลงรอยเดียวกัน
นกขุนทองกล่าวดังนี้ พลางแลดูนกแก้ว นกแก้วกล่าวว่า ถ้าเอาคำโบราณมาพูดน้อยกว่านี้จะเป็น
การสำแดงความคิดตนเองมากขึ้น การที่จำเอาคำเก่าๆ มากล่าวเช่นนี้ ไม่เป็นไปตามทำนองผู้มี
ปัญญาเลย นกขุนทองกล่าวต่อไปว่า คำโบราณกล่าวว่า เสือจะกลายเป็นลูกแกะนั้นยังไม่เคยมี
เหตุดังนั้นถึงชายหนุ่มหลังอูฐจะได้แสร้งประพฤติเป็นคนดีอยู่คราวหนึ่งก็หาดีได้จริงไม่
อยู่มาวันหนึ่ง ชายหนุ่มรำลึกในใจว่า ผู้มีปัญญาย่อมเอาตัวออกห่างจากความเหนี่ยวรั้งแห่งครอบ
ครัว แลปลดตัวจากความรักลูกรักเมียแลรักบ้าน คิดดังนี้ชายหนุ่มจึงกล่าวแก่ภริยาว่า ข้าได้จาก
เมืองมาอยู่ในเมืองเจ้านี้ก็หลายปีแล้ว ไม่ได้ข่าวคราวญาติพี่น้องในเมืองข้าเลย ใจข้าจึงเศร้า เจ้า
จงกล่าวแก่แม่ของเจ้า ขออนุญาตให้ข้ากลับไปบ้านเมือง แลถ้าเจ้าจะใคร่ไปด้วยก็ได้ นางรัตนาวดี
ได้ยินสามีว่าดังนั้น ก็รีบไปบอกมารดาตามคำซึ่งสามีกล่าว มารดาได้ทราบก็ไปแจ้งแก่เหมคุปต์
เหมคุปต์ตอบอนุญาต ให้บุตรเขยกลับบ้านเมืองได้ตามใจ แลถ้าบุตรีจะยอมไปกับสามีก็อนุญาต
ครั้นตกลงกันดังนี้แล้ว เหมคุปต์เศรษฐีก็ให้ทรัพย์สินแก่บุตรเขยเป็นอันมาก ทั้งให้แก่บุตรสาวอีก
ส่วนหนึ่ง แลจัดทาสีให้ไปด้วยคนหนึ่ง บุตรเขยแลบุตรสาวก็ลาออกเดินทางเข้าป่าไป
ฝ่ายชายหนุ่มหลังอูฐ พาภริยาเดินทางไปหลายวัน นิ่งตรึกตรองไม่ใคร่จะตกลงในใจว่าจะทำวิธีใด
จึงจะทิ้งภริยาเสียได้ การที่จะพาไปยังเมืองของตนนั้นไม่ได้เป็นอันขาด เพราะเมื่อไปถึงเมืองเข้า
นางก็จะจับเท็จทั้งปวงได้ อนึ่งชายหลังอูฐอยากได้นางเป็นภริยาก็เพราะอยากได้ทรัพย์สมบัติ ไม่
อยากได้ตัวนางเอง ครั้นเมื่อพ้นตาพ่อแม่มาเช่นนี้ก็คิดหาทางจะทิ้งนางเสียแต่ตรึกตรองอยู่หลาย
วัน จนไปถึงป่าเปลี่ยวก็หยุดพักแล้วบอกแก่นางว่าตำบลนั้นโจรผู้ร้ายชุกชุม นางจงปลดเครื่อง
ประดับกายทั้งปวงซึ่งมีค่าเป็นอันมากออกให้สามีซ่อนไว้ในไถ้ ครั้นนางทำตามแล้วชายสามีก็ล่อ
ทาสีไปห่างที่ซึ่งภริยานั่งคอยอยู่ แล้วเอามีดเชือดคอทาสี ทิ้งศพไว้เป็นอาหารสัตว์ในป่า แล้วกลับ
ไปหาภริยา ล่อให้เดินไปใกล้เหว แล้วผลักตกลงไปในเหว เผอิญก้นเหวนั้นมีกิ่งไม้แลใบไม้รองอยู่
มากนางจึงไม่สิ้นชีวิต
ฝ่ายชายหลังอูฐครั้นผลักภริยาลงเหวแล้วก็รวบรวมทรัพย์สมบัติทั้งปวงออกเดินทางไปสู่เมืองของ
ตน ไม่ช้ามีชายอีกคนหนึ่งเดินมาในป่าเปลี่ยว ได้ยินเสียงคนร้องไห้ก็หยุดยืนฟังแลนึกในใจว่า ป่า
นี้เปลี่ยวนักหนา เหตุใดมีคนมาร้องไห้อยู่ในดงชัฏ ครั้นยืนฟังอยู่ครู่หนึ่งแล้วก็เดินไปในทางซึ่งได้
ยินเสียงร้องไห้ ครั้นไปถึงเหวก็หยุดชะโงกดูเห็นผู้หญิงร้องไห้อยู่ก้นเหว ชายนั้นก็ปลดผ้าโพกแล
สายรัดตัวออกต่อกันเป็นสายยาวหย่อนลงไปในเหว ร้องให้นางเอาปลายผ้าผูกตัวเข้าแล้วฉุดขึ้นมา
ได้ แลถามนางว่าเกิดเหตุอย่างไรจึงเป็นเช่นนี้
นางรัตนาวดีตอบว่า ข้าพเจ้าเป็นบุตรีเหมคุปต์พ่อค้าเศรษฐีใหญ่ในกรุงจันทปุระ ข้าพเจ้าเดินทาง
มากับสามี พบโจรมีกำลังช่วยกันฆ่าทาสีของข้าพเจ้าเสียแล้วมัดสามีข้าพเจ้าพาตัวไป แลเมื่อได้
ปลดเครื่องประดับกายของข้าพเจ้าออกหมดแล้วก็ผลักข้าพเจ้าตกอยู่ในเหวนี้ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่า
สามีจะเป็นตายประการใด แลสามีข้าพเจ้าก็ไม่ทราบว่า ข้าพเจ้ายังอยู่หรือสิ้นชีวิตแล้ว
ชายเดินป่าได้ฟังนางเล่าดังนั้นก็เชื่อแลพานางไปเมืองจันทปุระส่งยังบ้านบิดา เมื่อนางไปถึงบ้าน
บิดาก็เล่าเรื่องอย่างเดียวกับที่เล่าให้ชายเดินทางฟัง
เหมคุปต์เศรษฐีได้ยินเรื่องก็สงสารบุตรี จึงกล่าวปลอบโยนว่า "ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าร้อนใจไปเลย ผัว
ของเจ้ายังคงมีชีวิตอยู่เป็นแน่ ธรรมดาโจรย่อมจะแย่งชิงทรัพย์สมบัติของผู้อื่น ไม่แย่งชิงชีวิตผู้ไม่
มีทรัพย์เหลือ เหตุดังนี้เมื่อไรพระผู้เป็นเจ้าโปรด ผัวของเจ้าก็จะกลับมาเมื่อนั้น จงตั้งใจคอยไป
เถิด"
เหมคุปต์กล่าวปลอบบุตรีฉะนี้พลางจัดเครื่องประดับกายอันหาค่ามิได้ให้แก่บุตรีเป็นอันมาก ทั้ง
บอกกล่าวญาติพี่น้องแลมิตรทั้งปวงให้มาเยี่ยม แลปลอบโยนชี้แจงแก่นางรัตนาวดีโดยนัยเดียวกัน
แต่นางก็มิได้วายเศร้า เพราะเรื่องในใจผิดกับเรื่องที่เล่าบอกแก่บิดาแลญาติมิตรทั้งนั้น
จะกล่าวถึงชายหลังอูฐ เมื่อผลักภริยาตกแหวแล้ว ก็รวบรวมของมีราคาทั้งหลายรีบไปยังเมืองของ
ตน เพื่อนฝูงทั้งปวงก็ช่วยกันต้อนรับเป็นอันดี เพราะเหตุที่มีทรัพย์เป็นอันมาก เพื่อนนักเลงก็พากัน
มากลุ้มรุม ชวนเล่นชวนกินอย่างแต่ก่อน การพนันแลการเสพย์เครื่องมึนเมาต่างๆ ก็กลับทำ ตาม
เดิม โทษทั้งหลายก็กลับเกิด ทรัพย์สินทั้งหลายก็เปลืองไป ในที่สุดก็หมดลงอีกครั้งหนึ่ง ชนทั้ง
หลายที่เป็นสหายในการทำชั่วแลเป็นมิตรในการช่วยกันกินกันเล่นต่างก็ชักห่างออกไป
ในที่สุดเมื่อชายหลังอูฐสิ้นทรัพย์แน่แล้วก็ไม่มีใครคบค้าสมาคม เมื่อไปถึงบ้านผู้ที่เคยเป็นมิตรเขา
ก็ปิดประตูเสีย หรือมิฉะนั้นขับไล่ไม่ให้เข้าเรือน ชายหลังอูฐสิ้นปัญญาก็กระทำโจรกรรม จนเขาจับ
ได้ก็ถูกเฆี่ยนตีลงโทษเป็นสาหัส ครั้นจะอยู่ในเมืองของตนต่อไปไม่ได้ ก็หนีออกจากเมืองอีกครั้ง
หนึ่ง เดินไปในป่า พลางคิดในใจว่า เราจะต้องกลับไปหาพ่อตาเล่านิทานให้ฟังว่า บัดนี้นาง
รัตนาวดีคลอดบุตรเป็นชายคนหนึ่งแล้ว เราจึงไปหาพ่อตาเพื่อจะบอกข่าวอันควรยินดีนี้ให้พ่อตา
ทราบ เราอาจจะได้ทรัพย์สมบัติอีกเพราะการไปบอกข่าวนี้
ชายหลังอูฐคิดดังนั้นแล้ว ก็ตั้งหน้าเดินไปเมืองจันทปุระ ตรงไปบ้านเหมคุปต์เศรษฐี ครั้นไปถึง
ประตูบ้านก็ตกใจเป็นกำลัง เพราะเห็นนางรัตนาวดีภริยาลงจากเรือนวิ่งออกมารับ ในชั้นต้นคิดว่าผี
เพราะนึกว่านางคงจะตายอยู่ในเหวนั้นเอง เมื่อคิดดังนี้ก็กลัวจึงหันหลังจะวิ่งหนี ต่อนางตะโกน
เรียก จึงหยุดยืนลังเลด้วยเข้าใจว่านางคงจะกลับไปเล่าเรื่องให้บิดาฟังตลอด เมื่อเหมคุปต์มาพบ
เข้าก็จะคงจับตัวลงโทษเป็นแน่
ฝ่ายรัตนาวดีเห็นสามียืนลังเล มีสีหน้าอันซีดด้วยความกลัวเช่นนั้น ก็กล่าวแก่สามีว่า "ท่านอย่า
สะดุ้งตกใจไปเลย ข้าพเจ้ามิได้เล่าความจริงแก่บิดาดอก ข้าพเจ้าได้เล่าว่าเราเดินทางไปกลางป่า
พบโจรหมู่หนึ่งมีกำลังมาก โจรฆ่าทาสีของข้าพเจ้าเสีย แย่งเครื่องประดับจากกายข้าพเจ้าหมด
แล้วผลักข้าพเจ้าตกลงในเหวแลทั้งมัดท่านพาตัวไป เมื่อท่านพบกับบิดาข้าพเจ้า ท่านจงเล่าเรื่อง
ให้ตรงกัน เราทั้งสองก็จะกลับได้ความสุขเหมือนเดิม ท่านจงระงับความร้อนใจเสียเถิด ข้าพเจ้าดู
อาการแห่งท่านเห็นว่าท่านจะได้ทุกข์มานักหนา เสื้อผ้าแลร่างกายจึงขะมุกขะมอมเหมือนเช่นที่
เห็นอยู่นี้ ท่านจงตามข้าพเจ้าขึ้นมาบนเรือนแลผลัดเสื้อผ้าโสมมนี้ สวมเสื้อผ้าที่ดีแลกินอาหารซึ่ง
ประกอบด้วยรสทั้งหก ท่านจงถือว่าเหย้าเรือนแลสมบัติเหล่านี้เป็นท่าน แลตัวข้าพเจ้าคือทาสีผู้จะ
ปฏิบัติท่านให้ได้ความสุขทุกประการ"
ชายหลังอูฐได้ฟังภริยากล่าวดังนั้น แม้ตัวจะเป็นผู้มีใจบึกบึน ก็บังเกิดใจอ่อนแทบจะร้องไห้ จึงตาม
ภริยาขึ้นไปบนเรือน ครั้นถึงห้องนางก็ล้างเท้าให้ แลจัดให้อาบน้ำชำระกาย แต่งเครื่องนุ่งห่มอย่าง
ดีมีค่าแล้วนำเอาอาหารมาให้กิน
ครั้นเหมคุปต์เศรษฐีและภริยากลับมาถึงบ้าน นางรัตนาวดีก็พาสามีไปหาแลเล่านิทานให้ฟังว่า ฝูง
โจรได้ปล่อยชายสามีกลับมาแล้ว เหมคุปต์แลภริยาได้ฟังก็ดีใจ จัดการให้บุตรเขยอยู่กินมีตำแหน่ง
ในครอบครัวอย่างแต่ก่อน
ชายหนุ่มหลังอูฐได้กินอยู่มีความสุข ก็พักอยู่กับพ่อตา ๒-๓ เดือน ระหว่างนั้นประพฤติตัวเป็นคนดี
มีใจโอบอ้อมอารีต่อภริยา ผู้ที่ไม่รู้เรื่องไม่มีใครสงสัยว่าจะเป็นคนชั่วร้าย แต่การกระทำดีนั้นเป็นการ
ขืนนิสัย จะทำได้อย่างมากก็พักหนึ่งเท่านั้น ไม่ช้าก็คบกับโจรในเมืองนั้น นัดหมายกันเข้า ปล้น
บ้านเหมคุปต์เศรษฐี ครั้นถึงวันนัดเวลาเที่ยงคืน นางรัตนาวดีกำลังหลับสนิท ชายหลังอูฐก็เอามีด
แทงนางตาย แล้วเปิดประตูรับพวกโจรเข้าไปในเรือน ช่วยกันฆ่าเหมคุปต์แลภริยาตาย แล้วช่วยกัน
ขนทรัพย์สมบัติล้วนแต่ที่มีราคาออกจากเรือนไป
นางนกขุนทองเล่ามาเพียงนี้ ก็ร้องไห้สะอึกสะอื้นอยู่ครู่หนึ่งจึงกล่าวต่อไปว่า
เมื่อชายหลังอูฐเดินผ่านกรงข้าพเจ้า เวลาจะออกจากบ้านหนีไปนั้น มันแลดูข้าพเจ้าแลหยุดยืนจับ
ประตูกรง จะ เปิดจับข้าพเจ้าออกมาหักคอ เผอิญหมาเห่าขึ้นมันตกใจก็รีบหนีไป ข้าพเจ้าจึงรอด
ชีวิตอยู่ได้ นางนกขุนทองร้องไห้สะอึกสะอื้นอยู่อีกครู่หนึ่งจึงทูลพระมเหสีว่า เรื่องนี้ข้าพเจ้ายินด้วย
หู รู้ด้วยตามาเอง แลเป็นเรื่องที่ทำให้ข้าพเจ้าได้ความทุกข์ ในเวลายังอ่อนอายุ จึงเป็นเหตุให้
ข้าพเจ้ารังเกียจชายทั้งหลาย จะขออยู่ไม่มีคู่ไปจนสิ้นชีวิต พระองค์จงทรงดำริว่า นางรัตนาวดีไม่
ได้ทำความผิดอะไรเลย ยังเป็นได้ถึงเพียงนั้นเพราะผู้ชายย่อมมีน้ำใจเป็นโจรทั้งหมด แลผู้หญิงซึ่ง
ยอมเป็นมิตรกับชายนั้นเสมอกับเอางูเห่ามาเลี้ยงไว้บนอก
นางนกขุนทองทูลพระมเหสีเช่นนี้แล้วก็หันไปพูดกับนกแก้วว่า นี่แน่ะเจ้านกแก้ว ข้าได้เล่าเรื่องเป็น
พยานคำของข้าแล้ว ข้าไม่มีอะไรจะพูดอีก นอกจากจะกล่าวว่าผู้ชายทั้งปวงเป็นจำพวกคดโกงล่อ
ลวงผู้อื่น เห็นแก่ตัวแลมีใจบาปหยาบร้ายหาที่สุดมิได้
นกแก้วทูลพระราชาว่า พระองค์จงฟังเถิด เมื่อหญิงกล่าวว่าไม่มีอะไรจะพูดที่เป็นข้อสำคัญจะอยู่ใน
คำแถมทั้งนั้น แลคำแถมย่อมจะยาวกว่าคำพูดที่พูดมาแล้วหลายสิบเท่า นางนกตัวนี้ก็ได้พูดมาจน
น่าจะเบื่อเต็มทีอยู่แล้ว แต่อย่างนั้นยังนับว่าพึ่งจะขึ้นต้นเท่านั้น พระราชาตรัสว่าเจ้ามีเรื่องอะไรจะ
นำมากล่าวเป็นพยานคำติเตียนหญิง เจ้าก็จงเล่าไปเถิด นกแก้วกล่าวว่า ข้าพเจ้าจะเล่าเรื่องซึ่งเกิด
แต่เมื่อข้าพเจ้ายังอ่อนอายุ แลทำให้ข้าพเจ้าทำความตกลงในใจว่าจะอยู่ไม่มีคู่ไปตราบจนวันตาย
นิทานของนกแก้ว
เมื่อข้าพเจ้าเป็นลูกนก ยังไม่ทันได้ร่ำเรียนอันใดก็ติดกรงหับ แล้วมีผู้นำไปขายพ่อค้าเศรษฐีชื่อ
สาครทัต ซึ่งเป็นพ่อหม้าย มีลูกสาวคนหนึ่งชื่อ นางชัยศิร ิ สาครทัตกระทำการค้าขายกว้างขวาง
มีธุระอยู่ที่ร้านตลอดวันแลครึ่งคืน ใช้เวลาในการก้มมองดูตัวเลขในบัญชี แลดุด่าเสมียนรับใช้ ไม่มี
เวลาดูแลบุตรสาว นางชัยศิริประพฤติตนตามอำเภอใจแลอำเภอใจของนางนั้นไม่มีอำเภออันดีเลย
ชายทั้งปวงที่มีลูกสาว อาจกระทำผิดเป็นข้อใหญ่ได้สองทางคือ ระมัดระวังน้อยไปทางหนึ่ง ระมัด
ระวังมากไปทางหนึ่ง พ่อแม่บางจำพวกคอยจ้องมองดูลูกสาวมิให้คลาดตาไปเลย คอย
สงสัยว่าลูกสาวมีความคิดชั่วร้ายในใจอยู่เป็นนิตย์ พ่อแม่ชนิดนี้มักจะเขลา แลเพราะเขลา
จึงแสดงความสงสัยให้ลูกเห็น เมื่อลูกเห็นว่าสงสัยว่าคิดชั่วก็เสมอกับยุ เพราะหญิงสาว
ย่อมมีมานะโดยความคิด ตื้นๆ ว่า เราจะทำชั่วโดยเร็วให้สมกับโทษที่เราได้รับอยู่แล้ว ใน
เวลานี้เรายังไม่ได้ทำชั่วอะไรเลย แต่ก็ได้รับโทษเสมอกับว่าได้ทำชั่วมาช้านาน ความ
สำราญแห่งการทำชั่วนั้นเรายังไม่ได้รับ ได้รับแต่ทุกข์แห่งความทำชั่ว ไหนๆ ก็ได้รับทุกข์
แล้ว เราจะทิ้งความสำราญเสียทำไมเล่า เราต้องรีบทำชั่วทันที เพราะเราได้ทุกข์มานาน
แล้ว เมื่อคิดดังนี้แล้วก็ประพฤติการเป็นโทษต่างๆ ที่พ่อแม่ไม่อาจรู้เห็น เพราะพ่อแม่นั้นถึงจะ
ระมัดระวังอย่างไร ลูกสาวก็คงหลบหลีกได้เสมอ พ่อแม่จะนั่งจ้องอยู่วันยังค่ำคืนยังรุ่งไม่ได้ ต้องมี
เวลาหลับตาลงบ้าง
พ่อแม่อีกประเภทหนึ่ง ทำผิดในทางที่ระมัดระวังลูกสาวน้อยไป คือไม่ระมัดระวังเสียเลย
ปล่อยให้ลูกนั่งเล่นอยู่เปล่าๆ ไม่มีอะไรทำเสมอกับฝึกหัดให้ขี้เกียจ แลเพาะพืชความชั่ว
ปล่อยให้คบกับคนซึ่งมีความคิดบาป คือให้โอกาสให้ปฏิบัติเป็นโทษ หญิงสาวซึ่งบิดา
มารดาปล่อยตามอำเภอใจเช่นนี้ มักจะเดินเข้าสู่บ่วงซึ่งผู้มีเจตนาชั่ววางดักไว้แลประพฤติ
ตัวเป็นโทษด้วยประการต่างๆ เพราะความไม่ระมัดระวังตัวแล เพราะความล่อลวงของพวก
มีเจตนาชั่ว อันเป็นชนจำพวกซึ่งมีความเพียรยิ่งกว่าผู้มีเจตนาดี ก็บิดามารดาซึ่งมีปัญญานั้น
ควรทำอย่างไรเล่าจึงจะหลีกทางทั้งสองนี้ได้
ธรรมดาบิดามารดาผู้มีปัญญาย่อมเอาใจใส่สังเกตนิสัยบุตรของตน แลดำเนินการระมัดระวังตาม
นิสัยซึ่งมีในตัวบุตร ถ้าลูกสาวมีนิสัยดีอยู่ในตัว บิดามารดาที่ฉลาดก็คงจะวางใจปล่อยให้ดำเนิน
ความประพฤติตามใจในเขตอันควร ถ้าบุตรสาวมีนิสัยกล้าแข็ง บิดามารดาก็คงจะแสดงกิริยา
ประหนึ่งว่าไว้วางใจในบุตร แต่คงจะลอบระมัดระวังอยู่เสมอ
นกแก้วแสดงวิธีเลี้ยงลูกสาวถวายพระราชารามเสนเช่นนี้ต่อไปอีกครู่หนึ่งจึงเล่าถึงนางศิริชัยว่า
นางนั้นเป็นคนสูง ค่อนข้างจะอ้วน รูปทรงดี ครอบงำน้ำใจตนเองไม่ใคร่ได้ นางมีเนตรใหญ่แลหลัง
ตากว้าง มือมีรูปอันดีแต่ไม่เล็ก ฝ่ามือมีไอร้อนแลเป็นเหงื่ออยู่เสมอๆ เสียงค่อนข้างแหลมแลบางที
ฟังเหมือนเสียงผู้ชาย ผมดำเป็นมันเหมือนขนนกกาเหว่า ผิวเหมือนดอกพุทธชาด ลักษณะเหล่านี้
เป็นลักษณะซึ่งคนโดยมากมักจะแลดู แต่นางจะเป็นคนงามก็ไม่เชิง ไม่งามก็ไม่เชิง กล่าวได้ว่าอยู่
ในระหว่างคนสวยแลคนขี้ริ้วอันเป็นความดีแก่ตัวหญิง เพราะความอยู่กลางๆ นี้สำคัญอยู่ หญิงที่
งามนักอย่าว่าแต่ใครแม้นางสีดายังถูกทศกัณฐ์ลักพาไป
นกแก้วกล่าวต่อไปว่า แต่ถึงกระนั้นข้าพเจ้าก็จำต้องกล่าวว่า หญิงงามมักจะมีธรรมในใจมากกว่า
หญิงขี้ริ้ว หญิงงามได้รับชักชวนจูงใจไปในทางชั่วแต่มีความหยิ่งเป็นเครื่องต่อสู้ป้องกันตัวได้
เพราะความหยิ่งนั้นทำให้หญิงงามสัญญาในใจตัวเองว่า จะได้รับชักโยงไปในทางเดียวกันบ่อยๆ
เพราะฉะนั้นถึงจะไม่ยอมไป ในคราวนี้ก็ไม่สิ้นโอกาสที่จะได้รับเชื้อเชิญต่อไป
กล่าวอีกนัยหนึ่งหญิงงามไม่เดินทางชั่วเพราะมีความหยิ่งในใจว่า จะเดินเมื่อไหร่ก็เดินได้ ส่วน
หญิงขี้ริ้วนั้นจำเป็นต้องชักโยงคนอื่น ไม่ใช่มีคนอื่นมาชักโยง เมื่อตนโยงแล้วตนก็ต้องตามและเมื่อ
ความโยงสำเร็จด้วยความตาม ฉะนี้ ความหยิ่งแลความมุ่งหมายของหญิงขี้ริ้ว ก็ย่อมสมหวังด้วย
ความตาม ไม่ใช่ด้วยต่อสู้ความชักโยง
เราท่านอ่านถ้อยคำของนกจุรามันมาเพียงนี้ก็ต้องพิศวง ว่านกแก้วพูดดังนั้นหมายความว่าอย่างไร
ถ้าตรึกตรองดูสัก ๕ นาที ก็คงจะเห็นพร้อมกันหมดว่า นกแก้วหมายความว่าอย่างไรเหลือที่จะรู้ได้
ที่เป็นดังนี้เห็นจะเป็นเพราะเวลาผิดกันประมาณ ๒๐๐ ปี อย่างหนึ่ง เพราะจุรามันเป็นนกท่านแล
ข้าพเจ้าเป็นคนอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเพราะนกจุรามันเป็นนกพูดสันสกฤตจึงเหลือที่ท่านแล
ข้าพเจ้าจะเข้าใจได้
นกจุรามันกล่าวต่อไปว่า ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วว่า หญิงขี้ริ้วมักมีใจเหี้ยมโหดกว่าหญิงงาม เหตุดัง
นั้นเมื่อหมายอย่างไรก็ย่อมจะสมหมายบ่อยกว่ากัน ผู้มีปัญญาในโลกธรรมกล่าวภาษิตที่เป็นความ
จริงไว้ว่า "ชายรักหญิงงาม บูชาหญิงขี้ริ้ว" แลเมื่อถามว่าเหตุใดจึงบูชาหญิงขี้ริ้ว ก็มีคำตอบว่า
เพราะหญิงขี้ริ้วไม่ช่วยแสดงท่าทางว่าคิดถึงตัวเองยิ่งกว่าคิดถึงเรา
ส่วนนางศิริชัยนั้น ก็ใช้ความงามซึ่งมีส่วนน้อยนั้นเป็นเครื่องล่อให้ชายตามตอมได้มาก แต่ใช้ความ
ไม่สงบเสงี่ยมเป็นเครื่องล่อได้มากกว่า แลใช้ความมีทรัพย์ของบิดาเป็นเครื่องล่อได้มากที่สุด นาง
ชัยศิริไม่มีความเขินขวยเสียเลย ไม่ยอมให้มีชายตามน้อยกว่าคราวละครึ่งโหลเป็นอันขาด นาง
รื่นรมย์ในการรับแขกชายหนุ่มๆ เหล่านั้นติดต่อกันไปตามเวลานัด บางคราวกำหนดเวลาให้สั้น
สำหรับจะได้ไล่คนเก่า ให้มีที่ว่างสำหรับคนใหม่ ถ้าชายคนไหนบังอาจแสดงกิริยาวาจาหวงหึงหรือ
ติเตียนวิธีของนางก็ตาม ชายนั้นจะถูกเชิญให้ทราบประตูทางออกโดยเร็ว
ครั้นนางชัยศิริมีอายุ ๑๓ ปี มีชายหนุ่มคนหนึ่งกลับจากเมืองไกล ชายหนุ่มคนนี้เป็นลูกพ่อค้าซึ่งมี
เคหสถานอยู่ในที่ใกล้ แลบิดาเป็นเพื่อนกับสาครทัตบิดานางชัยศิริ ชายหนุ่มนั้นชื่อ ศรีทัต ไปค้า
ขายเมืองไกลหลายปี แลได้เคยรักนางชัยศิริมาแต่นางยังเป็นเด็ก ครั้นกลับมาถึงเมืองของตนก็
เห็นสิ่งทั้งปวงเป็นที่แช่มชื่นไปหมด ตั้งแต่ลุงขี้เหนียวโทโสร้ายไปจนหมาแก่ที่เห่าอยู่ในลานบ้านก็
เห็นน่ารัก คนที่จากบ้านเมืองไปช้านาน เมื่อแรกกลับมาถึง ใจคอมักเป็นเช่นนี้
ส่วนนางชัยศิรินั้น ศรีทัตแลไม่เห็นว่าได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก แลมิได้เปลี่ยนไปในทางที่ดี
ขึ้นเลย จมูกนางโตออกไปก็ไม่เห็น หลังตากว้างออกไปแลหนาขึ้นก็ไม่เห็น กิริยากระด้างขึ้นก็ไม่
เห็น เสียงแข็งขึ้นกว่าแต่ก่อนก็ไม่ได้ยิน ไม่ได้สังเกตว่านางชำนาญการติแลชมเครื่องแต่งตัวชาย
ไม่สังเกตว่านางชอบคนชำนาญเพลงดาบ แลชอบคนรบเก่งบนหลังม้าแลช้าง
ข้อความเหล่านี้ศรีทัตไม่เห็น จึงไปกล่าวแก่บิดาของตน ในเรื่องที่จะใคร่ได้นางชัยศิริเป็นภริยา
ครั้นบิดาอนุญาตแล้วไม่ทันได้กล่าวแก่สาครทัต ก็ตรงไปกล่าวแก่ตัวนางทีเดียว แต่นางชัยศิริเป็น
หญิงชนิดใหม่ ที่ไม่ต้องการความเห็นบิดาในเรื่องที่จะเลือกผัว ครั้นศรีทัตไปกล่าวดังนั้น นางก็ทำ
ทีเหมือนหนึ่งตกลง ทำให้ชายหนุ่มคนนั้นยินดีโลดโผนอยู่หน่อยหนึ่งแล้วก็บอกให้รู้ว่า นางชอบใจ
ศรีทัตในทางเป็นเพื่อน แต่ถ้าเป็นผัวจะเกลียดที่สุด
นกจุรามันกล่าวต่อไปว่า ความรู้สึกซึ่งหญิงมีต่อชายนั้นมีสามอย่าง อย่างที่ ๑ คือความรัก อย่างที่
๒ คือความเกลียด อย่างที่ ๓ คือความเฉยๆ ไม่รักไม่เกลียด ความรู้สึกประเภทที่ ๑ คือ ความรัก
นั้นอ่อนที่สุดแลเคลื่อนง่ายที่สุด หญิงอาจจะตกสู่ความรักง่ายเท่าตกจากความรัก อธิบายว่า
ประเดี๋ยวอย่างนั้น ประเดี๋ยวอย่างนี้ จะเอาแน่ไม่ได้ ส่วนความเกลียดนั้นเป็นของคู่กันกับความรัก
ชายมีปัญญาอาจเปลี่ยนความเกลียดให้เป็นความรักได้เสมอ แล ความรักซึ่งเกิดแต่ความเกลียด
นั้นมักจะอยู่ทนกว่าความรักล้วน ส่วนความเฉยๆ คือความไม่เกลียดไม่รักนั้น ชายผู้ชำนาญในลีลา
ศาสตร์ย่อมเปลี่ยนความเฉยๆ ให้เป็นความเกลียดได้เสมอ แลเมื่อเปลี่ยนเป็นความเกลียดแล้ว ก็
อาจเปลี่ยนเป็นความรักได้อีกชั้นหนึ่ง ดังนี้ประเภทความรู้สึกทั้ง ๓ ก็ลงรอยเดียวกัน
เวตาลเล่ามาเพียงนี้ ก็ทูลถามพระวิกรมาทิตย์ว่า ตามที่ข้าพเจ้าเล่าถึงนกขุนทองแลนกแก้วมาเช่น
นี้ พระองค์ทรงเห็นว่านกตัวไหนกล่าวความจริงในสันดานมนุษย์ลึกซึ้งกว่ากัน
แต่อุบายของเวตาลที่จะทำให้พระราชาตรัสตอบปัญหานั้นไม่สำเร็จ พระวิกรมาทิตย์ทรงรู้ทีก็นิ่ง
รีบทรงดำเนินไป เวตาลเห็นไม่สมประสงค์ก็เล่านิทานต่อไปว่า
ฝ่ายศรีทัตเมื่อได้ทราบว่านางชัยศิริไม่ยอมเป็นภริยาก็เดือดร้อนในใจเป็นกำลัง กำหนดใจจะ
กระโดดน้ำตาย จะกระโดดจากยอดเขาแลทำอะไรต่างๆ ที่แปลกแลโง่ รวมทั้งการออกป่าเป็นโยคี
ด้วย ครั้นตรึกตรองอยู่ช้านานว่าจะทำอย่างไหนจึงจะดีที่สุดก็เห็นว่าจะทำสิ่งโง่ๆเหล่านั้นก็ล้วนแต่
ไม่ดีทั้งนั้น เพราะการกระโดดน้ำตายก็ดี การกระโดดจากยอดเขาก็ดี การออกป่าเป็นฤาษีก็ดี ไม่
เป็นวิธีที่จะได้นางชัยศิริมาเป็นภริยาทั้งนั้น ครั้นมีเวลาตรึกตรองมากๆ เข้าก็ได้ความคิดซึ่งใครๆ
เขารู้กันมาช้านานแล้วว่า ขันติเป็นธรรมะประเสริฐ จึงบังคับตัวเองให้ตั้งอยู่ในขันติ ไม่ช้านานก็
สำเร็จประสงค์ แต่ความสำเร็จประสงค์นั้นเป็นโทษแก่ศรีทัตเป็นอันมาก ดังจะเห็นได้ภายหลัง
ฝ่ายนางชัยศิริเมื่อตกลงใจแน่นอนแล้วว่า จะไม่รับศรีทัตเป็นสามี ก็ยั่งยืนในใจอยู่พักหนึ่งไม่สู้ช้าก็
เปลี่ยนใจใหม่ตามเคย ศรีทัตได้ทราบว่านางยินยอมก็ดีใจโลดโผน เรียกตัวเองว่าบุรุษผู้มีความสุข
ที่สุดในโลก แลทั้งกระทำบูชาแก้สินบนเทวดาที่โปรดบันดาลให้นางเปลี่ยนใจมายอมเป็นภริยาตน
แลทั้งทำอะไรที่แปลกอีกหลายอย่าง ซึ่งคนที่ไม่บ้าหรือไม่ดีใจเหลือเกินคงไม่ทำเป็นอันขาด ต่อ
มาไม่ช้าศรีทัตแลนางชัยศิริก็แต่งงานกันตามธรรมเนียม
ฝ่ายนางชัยศิริเมื่อได้ทำงานมงคลกับศรีทัตแล้วไม่ช้าก็เบื่อจนเกลียดสามีเพราะเป็นนิสัยของนางที่
จะเป็นเช่นนั้น ครั้นเกลียดสามีเช่นนี้แล้วก็หันไปใคร่ครวญหาชายหนุ่มเสเพลคนหนึ่งซึ่งไม่เคยรัก
นางเลย ศรีทัตผู้สามียิ่งสำแดงเสน่หาต่อนาง นางก็ยิ่งสำแดงความขึ้งโกรธ เมื่อสามีหยอกเย้าก็ทำ
ให้เกิดหมั่นไส้ เมื่อพูดล้อก็เห็นไม่ขัน ครั้นหญิงสหายช่วยกันว่ากล่าวทัดทานมิให้นางสำแดงกิริยา
เป็นอริต่อสามี นางก็กลับแสดงกิริยาขุ่นเคือง เมื่อสามีนำเครื่องประดับกายมาให้เป็นของกำนัลนาง
ก็ปัดเสีย หันหนีพลางกล่าวว่าบ้า นางออกจากเรือนไปเที่ยวอยู่ที่อื่นวันยังค่ำ แล้วพูดแก่เพื่อนหญิง
ซึ่งอายุรุ่น ราวคราวกันว่า ความเป็นสาวของข้านี้ผ่านพ้นไปทุกๆ วัน ข้าไม่ได้รับความสำราญอัน
ควรจะได้รับตามวัยของข้านี้เลย ความสนุกในโลกนี้มีอย่างไรข้าก็หารู้รสไม่
ครั้นกลับไปถึงบ้าน นางก็ขึ้นไปแอบมองอยู่บนช่องหน้าต่าง เมื่อเห็นชายเสเพลซึ่งเป็นที่ใฝ่ฝันเดิน
มาตามถนน นางก็เรียกหญิงสหายให้ไปเชื้อเชิญขึ้นมาบนเรือน ครั้นหญิงสหายไม่ทำตามด้วย
ความกลัวภัยจากศรีทัตผู้สามี นางก็โกรธแลมีอาการกระสับกระส่าย บอกตัวเองว่าไม่รู้จะพูดว่า
กระไร ไม่รู้จะทำอะไร ไม่รู้จะไปไหนจึงจะถูกใจตัว จะกินก็ไม่ได้ จะนอนก็ไม่หลับ จะร้อนก็ไม่
สบาย จะหนาวก็ไม่สบาย อะไรๆ ก็ไม่ถูกใจทั้งนั้น
นางชัยศิริกระสับกระส่ายอยู่เช่นนี้หลายวันจึงตกลงในใจว่าถ้าขืนอยู่ห่างชายเสเพลซึ่งเป็นที่รัก ก็
ไม่มีความสุขได้เป็นอันขาด คืนหนึ่งครั้นสามีหลับสนิท นางก็ลุกจากที่นอนย่องออกจากเรือนเดิน
ไปตามถนนมุ่งหน้าไปยังเรือนชายเสเพล ขณะนั้นมีโจรคนหนึ่งเดินมาตามทางเห็นนางชัยศิริเดิน
ไปก็นึกในใจว่า หญิงคนนี้ประดับกายด้วยเครื่องทองคำแลเพชรพลอย จะเดินไปไหนในเวลาเที่ยง
คืน จำเราจะสะกดรอยไป เมื่อได้ทีจะได้แย่งเอาของเหล่านั้น คิดดังนี้โจรก็เดินตามมิให้นางรู้ตัว
ฝ่ายนางชัยศิริครั้นไปถึงเรือนชายเสเพลก็ขึ้นบันไดไปพบชายเจ้าของเรือนนอนอยู่หน้าประตู นาง
คิดว่าชายคนนั้นนอนหลับด้วยความเมา แต่อันที่จริงชายคนนั้นสิ้นชีวิตเสียแล้ว เพราะได้ถูกขโมย
แทงก่อนที่นางไปถึงไม่สู้ช้านัก
ฝ่ายนางชัยศิริเมื่อเห็นชายหนุ่มนอนอยู่ดังนั้น นางก็นั่งลงข้างตัว จับสั่นจะให้ตื่นก็ไม่ตื่น นางเชื่อ
แน่ว่าเป็นโดยพิษความเมา นางก็เอามือช้อนศีรษะขึ้นกอดรัดสำแดงเสน่หาต่างๆ
ขณะนั้น ปิศาจตนหนึ่งนั่งอยู่บนต้นไม้หน้าบันไดเรือนชายหนุ่ม ครั้นเห็นนางไปนั่งกอดรัดสำแดง
เสน่หาต่อศพดังนั้น ปิศาจก็เห็นสนุก จึงโดดลงจากต้นไม้ตรงเข้าสิงในศพชายหนุ่ม ศพนั้นก็ตื่นขึ้น
จากความตายเหมือนคนตื่นจากความหลับ แล้วกระหวัดรัดกายนางเหมือนหนึ่งเสน่หา นางชัยศิริ
ยินดีในความเล้าโลมของปิศาจก็ก้มหน้าเข้าไปหาหน้าศพ ปิศาจได้ทีก็กัดจมูกนางแหว่งไปทั้งชิ้น
แล้วออกจากศพกลับขึ้นไปนั่งหัวเราะอยู่บนต้นไม้ตามเดิม
ฝ่ายนางชัยศิริเมื่อจมูกแหว่งไปเช่นนั้น ก็ตกใจเป็นกำลัง แต่ไม่สิ้นสติ นางจึงนั่งตรึกตรองอยู่กับที่
ครู่หนึ่ง แล้วรีบออกเดินกลับไปบ้าน ครั้นถึงบ้านก็ตรงเข้าไปในห้องซึ่งสามีนอนอยู่ ปิดประตูห้อง
แล้วก็เอามือกุมจมูกร้องครวญคราง ได้ยินไปตลอดจนถึงเพื่อนบ้าน
ญาติพี่น้อง แลเพื่อนบ้านได้ยินเสียงโวยวาย คิดว่าเกิดเหตุใหญ่โตก็พากันมาช่วยเป็นอันมาก ครั้น
ไปถึงเรือนศรีทัตแลภริยาก็เข้าไปถึงประตูห้อง เสียงนางร้องอยู่ในห้อง แต่ประตูห้องนั้นปิด คนทั้ง
หลายก็พังประตูเข้าไปเห็นนางชัยศิริเอามือกุมจมูกเลือดไหล ศรีทัตทำกิริยางุ่มง่ามไม่ปรากฏว่าจะ
ทำอะไรแน่
ครั้นญาติแลเพื่อนบ้านไปถึงพร้อมกัน แลเห็นนางชัยศิริจมูกแหว่งดังนั้นก็กล่าวแก่ศรีทัตว่า เจ้านี้
เป็นคนชั่วร้ายนักหนา ไม่มียางอาย ไม่มีกรุณาแลไม่ยำเกรงกฎหมายบ้านเมืองเลย เจ้ากัดจมูกนาง
เสียเช่นนี้ด้วยเหตุไร
ฝ่ายศรีทัตเมื่อได้ยินดังนั้น ก็รู้สึกว่าถูกกลภริยาจึงกล่าวแก่ตนเองว่า บุรุษไม่ควรวางความเชื่อในคน
ซึ่งเปลี่ยนใจหนึ่ง งูดำหนึ่ง ศัตรูซึ่งถืออาวุธหนึ่ง แลควรระวังภัยอันเกิดแต่ความประพฤติแห่งหญิง
ในโลกนี้ไม่มีอะไรซึ่งกวีปริยายไม่ได้ ไม่มีอะไรซึ่งโยคีไม่รู้ ไม่มีคำพล่ามคำใดซึ่งคนเมาไม่พูด ไม่
มีเขตตรงไหนซึ่งเป็นที่สุดแห่งมารยาหญิง เทวดานั้นมีความรู้มากก็จริงอยู่ แต่ไม่รู้ลักษณะชั่วแห่ง
ม้า ไม่รู้ลักษณะแห่งอัสนีในหมู่เมฆ ไม่รู้ความประพฤติแห่งหญิง ไม่รู้โชคของชายในภายหน้า ก็
เมื่อเทวดายังไม่รู้เช่นนี้ เราผู้เป็นคนจะรู้ได้อย่างไรเล่า
ศรีทัตกล่าวเช่นนี้แล้วก็ร้องไห้แลสาบานต่อหน้าต้นแมงลัก(ตุลสิ) แลสิ่งซึ่งเป็นที่นับถือทั้งปวง ว่า
มิได้ทำผิดเช่นที่ถูกกล่าวหานั้นเลย ถ้าพูดไม่จริงขอให้เสียโค แลข้าวสาลีแลทองจนสิ้นไปเถิด คำ
ที่ศรีทัตกล่าวเช่นนี้หามีใครเชื่อไม่
ฝ่ายพ่อค้าผู้เป็นบิดานางชัยศิริ ครั้นเห็นเหตุเกิดแก่ลูกสาวดังนั้น ก็รีบไปฟ้องต่อผู้บังคับการตำรวจ
ผู้บังคับการตำรวจก็ใช้คนไปจับศรีทัต ส่งไปให้ตุลาการชำระ ตุลาการก็ชำระไต่สวนเสร็จแล้วก็พา
ตัวโจทก์จำเลยไปยังที่เฝ้าพระราชา เผอิญเป็นเวลาซึ่งพระราชามีพระราชประสงค์จะลงโทษแก่
ใครสักคนหนึ่งให้เป็นตัวอย่างแก่คนทำผิดซึ่งเผอิญมีมากในเวลานั้น พระราชาทรงทราบเรื่อง จึง
ตรัสให้นางชัยศิริทูลให้การตามที่เกิดโดยสัตย์จริง นางก็ชี้ที่จมูกแหว่งแล้วทูลว่า ข้าแต่พระมหา
ราชา เรื่องสัตย์จริงปรากฏอยู่ในที่ซึ่งควรมีจมูกติดอยู่นี้
พระราชาได้ฟังคำให้การซึ่งทรงเห็นแจ่มแจ้งดังนั้น ก็ตรัสให้จำเลยให้การ จำเลยทูลว่า จมูกนางจะ
ขาดไปด้วยเหตุอันใดข้าพเจ้าไม่ทราบเลย ข้าพเจ้านอนหลับอยู่ ตื่นขึ้นในเวลาเที่ยงคืนก็เห็นนาง
เป็นอยู่เช่นนี้ พระราชาได้ทรงฟังก็ตรัสว่า ถ้าจำเลยไม่รับเป็นสัตย์จะตัดแขนขวาเสีย ครั้นยังไม่รับก็
ตรัสว่าจะตัดแขนซ้ายด้วย ครั้นศรีทัตไม่รับทั้งไม่ขอประทานโทษ ก็ทรงพิโรธเป็นกำลัง ตรัสถาม
ศรีทัตว่า คนใจเหี้ยมโหดอย่างเจ้านี้จะทำอย่างไรจึงจะสมแก่โทษ ศรีทัตทูลว่า พระองค์ทรงดำริ
อย่างไร ก็โปรดอย่างนั้นเถิด พระราชายิ่งทรงกริ้ว ก็ตรัสให้พาศรีทัตไปเสียบไว้ทั้งเป็น ราชบุรุษได้
ฟังก็เข้าจับตัวศรีทัตจะพาไปลงโทษตามรับสั่ง
ฝ่ายขโมยซึ่งทราบเหตุแต่ต้นจนปลายนั้น ตามเข้าไปฟังชำระอยู่ด้วย ครั้นได้ยินคำตัดสินลงโทษ
คนไม่มีความผิด ก็เกิดยุติธรรมขึ้นในใจ จึงวิ่งแหวกคนเข้าไปร้องทูลพระราชาว่า พระมหากษัตริย์
จงทรงฟังข้าพเจ้าก่อน พระองค์เป็นพระราชาธิบดี มีหน้าที่ยกย่องคนดีแลลงโทษคนชั่ว อย่าเพิ่ง
ประหารชีวิตชายคนนี้ พระราชาได้ทรงฟังดังนั้น ก็ตรัสให้ขโมยเล่าเรื่องถวายแต่ตามสัตย์จริง
ขโมยทูลว่า ข้าพเจ้าเป็นขโมย แลชายคนนี้ไม่มีความผิด พระองค์จะลงโทษคนผิดตัวอยู่แล้ว
ขโมยก็เล่าเรื่องถวายแต่ต้นจนปลายเว้นแต่ข้อที่ตนไปแทงชายเสเพลตายนั้นหาได้ทูลไม่
พระราชาได้ทรงฟังตลอด ก็ตรัสสั่งราชบุรุษว่าเจ้าจงไปตรวจศพชายซึ่งเป็นที่รักของหญิงนี้ ถ้าพบ
จมูกหญิงในปากคนตาย คำของขโมยผู้มาเป็นพยานนี้ก็เป็นความจริง แลชายผู้ผัวนี้ก็เป็นคนไม่มี
โทษ ราชบุรุษได้ฟังรับสั่งดังนั้นก็ไปตรวจศพชายหนุ่มตามรับสั่ง ไม่ช้าได้จมูกนางกลับมาทูลว่า
ได้ค้นจมูกพบในปากแห่งศพสมดังคำซึ่งขโมยทูล พระราชาทรงทราบดังนั้นก็ตรัสให้ศรีทัตพ้น
โทษ แลรับสั่งให้เอาดินหม้อประสมน้ำมันทาหน้านางชัยศิริ ทั้งโกนผมแลคิ้วจนเกลี้ยงแล้วให้เอา
ตัวขึ้นขี่ลาหันหน้าไปข้างหาง ให้จูงลาเที่ยวประจานรอบพระนครแล้วให้ขับนางไปสู่ป่า เมื่อทรง
ตัดสินลงโทษดังนี้แล้ว ก็ประทานหมากพลูแลสิ่งอื่นๆ แก่ศรีทัตแลขโมย รวมทั้งพระราโชวาทยืด
ยาว ซึ่งคนทั้งสองไม่ต้องการนั้นด้วย
นกจุรามันกล่าวต่อไปว่า หญิงประกอบขึ้นด้วยคุณชนิดที่ข้าพเจ้าเล่านิทานเป็นตัวอย่างมานี้ คำ
โบราณกล่าวว่า ผ้าเปียกย่อมจะดับไฟ อาหารชั่วย่อมจะทำลายกำลัง ลูกชายชั่วย่อมจะทำลาย
สกุล แลเพื่อนที่โกรธย่อมจะทำลายชีวิต แต่หญิงนั้นย่อมจะทำทุกข์ให้แก่ผู้อื่นทั้งในคราวรักแล
คราวเกลียด จะทำอะไรๆ ก็คงจะเป็นไปในทางที่ทำความเดือดร้อนให้แก่เราทั้งนั้น อนึ่ง ความงาม
ของนกปรอดอยู่ในสำเนียง ความงามของชายขี้ริ้วอยู่ในวิชา ความงามของโยคีอยู่ในความไม่โกรธ
ความงามของหญิงอยู่ในสัตย์ แต่หญิงมีความงามจะหาที่ไหนจึงจะพบได้เล่า อนึ่งพระนารทเป็นผู้
ฉลาดโดยมายาในหมู่ฤาษี หมาจิ้งจอกในหมู่สัตว์ กาในหมู่นก ช่างตัดผมในหมู่คน หญิงในโลก
นกแก้วกล่าวต่อไปว่า เรื่องที่ข้าพเจ้าทูลมานี้เป็นเรื่องที่ข้าพเจ้ายินด้วยหูรู้ด้วยตามาเอง ในเวลานั้น
ข้าพเจ้ายังเป็นนกอ่อน แม้กระนั้นยังทำให้ข้าพเจ้ากำหนดใจมาจนบัดนี้ว่า หญิงทั้งหลายเกิดมา
สำหรับทำลายความสุขแห่งเราเท่านั้น
เวตาลเล่าต่อไปว่า เมื่อนกขุนทองแลนกแก้วเล่านิทานมาแล้วเช่นนี้ ก็เกิดทุ่มเถียงกันเป็นขนาน
ใหญ่ นกขุนทองก็กล่าวติเตียนชายแลยกยอหญิง นกแก้วก็กล่าวยกยอชายแลติเตียนหญิงอย่าง
ร้ายแรงจนนางจันทราวดีพระมเหสีทรงพิโรธนกแก้วตรัสว่า ผู้ที่ดูหมิ่นหญิงมีแต่พวกที่สมาคมกับ
พวกต่ำช้า หาความเที่ยงธรรมในใจมิได้ อนึ่งนกจุรามันควรละอายคำตนเองที่กล่าวติเตียนหญิง
เพราะแม่ของนกจุรามันก็เป็นนกตัวเมียเหมือนกัน
ฝ่ายพระราชารามเสน เมื่อได้ยินนกขุนทองก็กริ้ว แลตรัสสำแดงพิโรธจนนกขุนทองเกาะคอน
ร้องไห้ ประกาศว่าชีวิตไม่พึงสงวนเสียแล้ว เวตาลกล่าวต่อไปว่า พูดสั้นๆ เจ้าสององค์แลนกสอง
ตัวก็ทุ่มเถียงคัดค้านขัดคอกัน หญิงจะชั่วกว่าชาย หรือชายจะชั่วกว่าหญิงก็ไม่ตกลงกันได้ ถ้าหาก
พระองค์เสด็จอยู่ในที่นั้นด้วย ปัญหาก็คงจะได้รับคำตัดสินที่ถูกต้อง เพราะพระองค์ทรงปัญญารอบ
รู้ อาจชี้แจงข้อความชนิดนี้ให้แจ่มแจ้งได้ อันที่จริงตามเรื่องที่ข้าพเจ้าเล่าถวายเป็นปัญหาเช่นนี้
พระองค์คงจะได้ทรงดำริแน่นอนในพระหฤทัยแล้วว่า ใครจะชั่วกว่าใคร ข้าพเจ้าเองตรึกตรองในใจ
มาช้านาน ก็ยังไม่ทราบได้แน่นอนจนบัดนี้
พระวิกรมาทิตย์ตรัสตอบว่า หญิงย่อมจะชั่วกว่าชายอยู่เอง ชายนั้นถึงจะชั่วปานใดก็ยังรู้ผิดรู้ถูกอยู่
บ้าง หญิงนั้นไม่รู้เสียเลยทีเดียว
เวตาลหัวเราะด้วยเสียงอันดังแล้วตอบว่า พระองค์ทรงเห็นเช่นนั้นเพราะเป็นชายดอกกระมัง
ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้ฟังดำริแห่งพระองค์ เพราะพระดำรินั้นเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าจะได้กลับไปอยู่
ต้นอโศกเดี๋ยวนี้ เวตาลพูดเท่านั้น แล้วก็ลอยออกจากย่ามหัวเราะก้องฟ้ากลับไปห้อยหัวอยู่ยังต้น
อโศกตามเดิม

Sunday, January 11, 2009

นิทานเวตาล เรื่องที่ ๑

ในกรุงพาราณสีมีพระราชาทรงศักดิ์ใหญ่ครองราชย์สมบัติ ทรงนามพระประตาปมุกุฏ มีราชบุตร ทรงนามวัชรมุกุฏ มี
เรื่องดังต่อไปนี้
เช้าวันหนึ่ง พระวัชรมุกุฏกับสหาย ชื่อพุทธิศริระ พากันขี่ม้าออกเที่ยวล่าเนื้อในป่า พุทธิ- ศริระเป็นบุตรของประธาน คือ
หัวหน้าอำมาตย์ในพระนครนั้น ชายหนุ่มทั้งสองขี่ม้าไปในป่า พบสระใหญ่สระหนึ่งมีกำแพงล้อมรอบริมสระเป็นที่ร่มรื่น
ตลบด้วยกลิ่นดอกไม้ ฝูงนกคือหงส์แลนกจากพรากเป็นต้น ลงลอยอยู่ในสระ ในหมู่ดอกบัวอันชูก้านขึ้นมาพ้นน้ำเป็นที่
ชวนชม แมลงภู่ทั้งหลายพากันร่อนอยู่เหนือน้ำ แลกินรสดอกบัวในสระนั้น พระราชบุตรแลสหาย ไม่เคยไปพบสระนั้นใน
ป่าต่างก็พิศวงจึงลงจากหลังม้า ผูกม้าไว้แทบใต้ต้นไม้ แล้วเดินเข้าไปริมสระชำระพระพักตร์และหัตถ์ แล้วก็เข้าไปใน
ศาลพระมหาเทพซึ่งอยู่ใกล้ฝั่งสระ ต่างคนกระทำการนอบน้อมแลสวดมนต์
สักครู่หนึ่งมีหญิงสาวเป็นอันมาก ห้อมล้อมด้วยทาสีพากันมาที่ริมสระฟากโน้น ครั้นมาถึงก็ยืนสนทนาแลสำรวลกันอยู่ที่
ขอบสระ บางนางก็ลงอาบน้ำ แต่นางผู้เป็นหัวหน้าคือพระราชบุตรีนั้นมิได้ลงสระน้ำ เสด็จเดินเที่ยวเล่นใต้ร่มไม้กับนาง
อีกคนหนึ่งห่างฝูงนางออกไป
ฝ่ายพระราชบุตรปล่อยให้พุทธิศริระนั่งสวดมนต์อยู่ในศาลพระมหาเทพคนเดียว พระองค์เสด็จออกจากศาลเดินเดี่ยวไป
ในหมู่ไม้ มิช้าพระราชบุตรแลพระราชธิดาก็สบพระเนตรกัน นางสะดุ้งเหมือนหนึ่งตกพระหฤทัย พระราชบุตรทรงใฝ่ฝัน
ในทันทีที่ทอดพระเนตรเห็นนาง แลตรัสออกมาว่า "กามเทพเอย เหตุไรท่านจึงมารบกวนเราเช่นนี้" พระราชธิดาได้ยิน
ทรงยิ้มหยุดยืนดูกิริยาพระราชบุตร เพราะเธอตกประหม่ามิรู้จะกล่าวแลทำประการใดได้ นางนิ่งดูอยู่ครู่หนึ่งก็ทำการ
เหมือนพิโรธตรัสแก่หญิงสหายซึ่งแสร้งหันหลังเก็บดอกมะลิว่า เหตุไรจึงปล่อยให้ชายหนุ่มมายืนจ้องดูนางอยู่เช่นนี้
ฝ่ายหญิงสหายเมื่อได้ยินดังนั้น ก็หันมากล่าวคำเกรี้ยวกราดขับไล่ให้พระราชบุตรไปเสียจากที่ แลให้พาความละลาบ
ละล้วงไปเสียด้วย มิฉะนั้นจะเรียกทหารมาจับตัวทิ้งลงไปในสระให้สมแก่โทษ ฝ่ายพระราชบุตรยืนตกตะลึงดูนาง มิได้
ยินคำที่หญิงสหายกล่าวขู่ นางทั้งสองเห็นดังนั้นก็พากันเดินห่างออกไป
ครั้นถึงขอบสระฟากข้างโน้น พระราชธิดาก็เหลียวดูว่าชายหนุ่มผู้ตกประหม่ายังนิ่งอยู่กับที่หรือทำอย่างไรต่อไป ครั้น
เห็นพระราชบุตรยังยืนจ้องดูอยู่ นางก็ทรงยิ้มแล้วเสด็จลงไปที่ขอบสระ เก็บดอกบัวดอกหนึ่งชูขึ้นไหว้ฟ้าแล้วเอาเสียบ
เกศาแล้วทัดที่กรรณ แล้วกัดด้วยทนต์ แล้วทิ้งลงเหยียบด้วยบาท แล้วกลับหยิบขึ้นปักที่อุระ ครั้นทำเช่นนี้แล้วนางก็
เสด็จไปขึ้นยานกลับคืนสู่นิเวศน์แห่งนาง
ฝ่ายพระราชบุตร ครั้นนางไปแล้วก็เร่าร้อนในพระหฤทัย เสด็จกลับไปยังศาลพระมหาเทพ พบพุทธิศริระเดินออกมาจาก
ศาล พระราชบุตรก็รับสั่งว่า "สหายเอย ข้าได้เห็นนางหนึ่งงามนัก จะเป็น นางดนตรีของพระอินทร์ในสวรรค์ หรือจะเป็น
นางมาจากทะเลหรือธิดาแห่งนาคราช หรือบุตรีพระราชาในแผ่นดิน ก็หาทราบไม่" พุทธิศริระผู้จะเป็นอำมาตย์มีปัญญา
ในภายหน้าทูลว่า "พระองค์จงกล่าวโฉมหน้านางให้ข้าพเจ้าฟังเถิด" พระราชบุตรตรัสว่า "พักตร์นางเหมือนพระจันทร์
ยามเพ็ญ ผมเหมือนหมู่ผึ้งอันเกาะห้อยอยู่บนช่อดอกไม้ ปลายขนงยาวจรดถึงกรรณ โอษฐ์มีรสเหมือนจันทรามฤต เอว
เหมือนเอวสิงห์ ทรงดำเนินเหมือนราชหงส์ กล่าวเทียบเครื่องแต่งกายนางคือสีขาว กล่าวเทียบฤดูนางคือวสันตฤดู
กล่าวเทียบ ดอกไม้นางคือพุทธชาด กล่าวสำเนียงนางคือนกกาเหว่า กล่าวความหอมนางคือชะมดเชียง กล่าวความ
งามนางคือพระศรี กล่าวความเป็นนางคือความรัก ถ้าข้ามิได้นางมา ข้าจะไม่ทรงชีวิตไปเป็นอันขาด ข้าได้ตกลงในใจ
เช่นนี้แล้ว"
พุทธิศริระได้ฟังพระราชบุตรตรัสดังนั้น ก็มิได้ร้อนใจ เกรงจะปลงพระชนม์ลงในกลางป่า เพราะเคยได้ยินพระราชบุตร
ตรัสอย่างเดียวกันทุกครั้งที่ได้เห็นนางงาม มิได้คิดว่าจะเป็นไปลึกซึ้งยิ่งกว่าคราวก่อนๆ พุทธิศริระจึงทูลว่า ถ้าไม่ขึ้นม้า
เดี๋ยวนี้คงจะค่ำอยู่กลางป่าไม่กลับถึงนครได้ในเวลาอันควร พุทธิศริระกล่าวดังนั้นแล้ว เจ้าแลข้าก็ชวนกันขึ้นม้าหันกลับ
เข้าเมือง
ในเวลาเดินทางอยู่ประมาณ ๓ ชั่วโมงนั้น ชายหนุ่มทั้งสองเกือบจะมิได้สนทนากันเลย พระวัชรมุกุฏนิ่งนึกถึงนางมิได้รับ
สั่งประการใด เมื่อพุทธิศริระทูลอะไรก็ต้องทูลดังๆถึงสามสี่ครั้ง จึงจะตรัสตอบคำเดียวหรือสองคำเป็นอย่างมาก ฝ่าย
พุทธิศริระเมื่อเห็นพระราชบุตรนิ่งอยู่ดังนั้น ก็มิได้ทูลอันใดต่อไป คิดในใจว่าถ้าพระราชบุตรอยากได้ความเห็นแลความ
แนะนำก็ให้หารือมาเถิด
พุทธิศริระคิดดังนี้ เพราะดำเนินความคิดตามวิธีของบิดาผู้เป็นอำมาตย์มีปัญญา ซึ่ง มิได้ให้ปัญญาแก่ผู้ใดที่มิได้ขอนั้น
เป็นอันขาด ถึงแม้ผู้ที่ขอปัญญาบางทีก็ได้เห็นสิ่งตรงกันข้าม อันผู้ฉลาดไม่เรียกว่าปัญญาเป็นอันขาด
ฝ่ายพุทธิศริระ เมื่อขี่ม้านิ่งๆ เวลานั้นก็ตรึกตรองข้อความลึกลับอันหนึ่ง ซึ่งขึ้นต้นไว้แต่เวลาเช้าเพราะชายหนุ่มคนนี้มีวิธี
ฝึกฝนปัญญาให้คมกล้า คือเมื่อตื่นขึ้นเช้าก็คิดตั้งปัญหาถามตัวเองข้อหนึ่งซึ่งมีใจความลึกลับ แลตรึกตรองตอบปัญหา
นั้นทุกขณะ ที่มีเวลาว่าง ข้อความที่ลึกลับแลละเอียด ถ้าเกี่ยวกับปัญหานั้นก็นำเอามาตรึกตรองจนสิ้นเชิง แลเมื่อได้ทำ
เช่นนี้มาสองสามปีก็ควรเป็นที่เชื่อได้ว่า ชายหนุ่มคนนี้มีปัญญารุ่งโรจน์มาก
ครั้นกลับถึงวังในตอนค่ำ พระราชบุตรก็บรรทมกระสับกระส่ายอยู่ตลอดคืน แลเป็นเช่นนั้นตลอดวันรุ่ง ครั้นวันที่สองถึง
แก่ประชวรมีอาการเป็นไข้ การเขียนการอ่านการกินการนอนก็งดหมด ราชการซึ่งพระราชบิดามอบเฉพาะพระองค์ก็งด
การอื่นๆ ก็งด เพราะรับสั่งว่าจะสิ้นพระชนม์อยู่แล้ว ครั้นพระชนม์ยังไม่สิ้นก็ทรงเขียนรูปนางงามผู้เก็บดอกบัวมาทำ
แปลกๆ จนฝังอยู่ในพระหฤทัย กล่าวกันว่าเขียนเหมือนอย่างที่สุด ครั้นเขียนแล้วก็บรรทมพิศดูรูป ด้วยพระเนตรอันฉ่ำ
ด้วยน้ำ อีกครู่หนึ่งลุกทะลึ่งขึ้นฉีกรูปนั้นเสีย แล้วชกพระเศียรประหนึ่งว่าพระเศียรได้กระทำความผิดเป็นข้อใหญ่ แล้วก็
เขียนรูปนางอีกรูปหนึ่งงามยิ่งกว่ารูปก่อน
อีกวันสองวัน พระราชบุตรตรัสให้เรียกพุทธิศริระเข้าไปเฝ้า พุทธิศริระทราบอยู่หลายวันแล้วว่าคงจะเรียก ครั้นเข้าไปเฝ้า
ถึงที่บรรทม เห็นพระราชบุตรพระพักตร์เผือดแลทรงบ่นว่าปวดพระเศียร พุทธิศริระทราบอยู่แล้วว่าจะรับสั่งเรื่องอะไร แต่
ยังไม่กล้ารับสั่งเพราะราชบุตรแลสหายคนนี้ได้สนทนาเรื่องผู้หญิงหลายครั้งแล้ว พระราชบุตรตรัสครั้งไร พุทธิศริระก็ยิ้ม
เย้ยแลกล่าวลบหลู่หญิงอย่างเรี่ยวแรงแลยังกล่าวติเตียนชายที่หลงรักหญิงอย่างเรี่ยวแรงยิ่งไปกว่าติเตียนหญิงเสียอีก
เหตุดังนี้พระราชบุตรจึงอ้ำอึ้งยังไม่กล่าวเรื่องที่อยู่ในพระหฤทัย พุทธิศริระรู้ทีแลอยากให้ตรัสออกมาจึงทูลว่า
"โรคชนิดนี้ต้องเสวยยาขมแลอดของแสลงให้จริง มิฉะนั้นโรคไม่บรรเทาได้"
พระราชบุตรได้ฟังพุทธิศริระสำแดงความร้อนใจ ดังนั้นก็สิ้นความอ้ำอึ้ง พระหัตถ์จับมือพุทธิศริระน้ำพระเนตรตกตรัสว่า
"ชายใดเข้าเดินในทางแห่งความรักชายนั้นจะรอดชีวิตไปมิได้ หรือถ้ายังไม่สิ้นชีวิต ชีวิตก็มิใช่อื่น คือความทุกข์ที่ยืด
ยาวออกไปนั้นเอง" พุทธิศริระทูลว่า "พระองค์รับสั่งถูกเป็นแน่แล้ว กวีโบราณย่อมกล่าวว่า วิถีแห่งความรักนั้นไม่มีต้น
แลไม่มีปลาย บุรุษพึงตรึกตรองให้ถ่องแท้แล้วจึงวางเท้าลงในวิถีนั้น ผู้มีปัญญารู้สิ่งทั้งสามคือความใคร่ หญิงหนึ่ง
กระดานสกาหนึ่ง การดื่มน้ำเมาหนึ่ง อาจให้ผลแก่คนในทางที่ไม่อาจทำนายได้ เหตุดังนั้นวิธีที่จะปฏิบัติการทั้งสามสิ่งนี้
ดีที่สุดก็คือไม่ปฏิบัติเสียเลย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเว้นให้ขาด แต่วิธีของโลกนี้ ถ้าไม่มีวัวตัวเมียก็ต้องรีดนมตัวผู้แทน"
คำสอนของผู้มีปัญญากล่าวเช่นนี้ จะแปลว่ากระไรก็ตาม พระราชบุตรย่อมจะทรงเห็นว่าเป็นคำสอนที่กล่าวช้าไปไม่ทัน
กาลเสียแล้ว เธอนิ่งอยู่ครู่หนึ่งจึงตรัสว่า "ข้าได้ย่างเท้าเดินทางนั้นเสียแล้ว ที่สุดแห่งทางจะเป็นความทุกข์หรือความ
สุขก็ตามบุญตามกรรม" ตรัสดังนั้นแล้วก็ทรงถอนใจใหญ่ ฝ่ายพุทธิศริระเห็นพระราชบุตรมีอาการดังนั้น ก็คิดสงสารจึง
ทูลถามว่า "นางนั้นคือนางซึ่งพบที่สระในป่านั้นหรือ" พระราชบุตรพยักพระพักตร์ พุทธิศริระทูลถามว่า "เมื่อนางจะไป
นั้นนางได้กล่าวอะไรแก่พระองค์หรือเปล่า หรือพระองค์ได้กล่าวอะไรแก่นางบ้าง" พระราชบุตรตรัสว่า "ไม่ได้กล่าวอะไร
แก่กันเลย" พุทธิศริระกล่าวว่า "ถ้าเช่นนั้นก็ยากที่สุดที่จะได้นางมา" พระราชบุตรตรัสว่า "ถ้าเช่นนั้นข้าก็ใกล้เวลาตาย
แลชีวิตเป็นความทุกข์ตั้งแต่บัดนี้ไปจวบเวลาขาดลมหายใจ"
พุทธิศริระคิดขัดใจที่พระราชบุตรพูดนอกเรื่อง เพราะการกล่าวถึงความตายไม่ใช่ทางที่จะได้นางมาเป็นอันขาด พุทธิศริ
ระนิ่งอยู่ครู่หนึ่งจึงทูลถามว่า "นางไม่ได้ให้สัญญาอะไรบ้างหรือ พระองค์จงเล่าให้ข้าพเจ้าฟังให้ละเอียด คนไข้ที่บอก
อาการโรคครึ่งๆ กลางๆ ไม่มีประโยชน์เลย" ครั้นพุทธิศริระทูลดังนั้น พระราชบุตรก็ตรัสเล่าตั้งแต่ต้นจนปลาย กล่าว
โทษพระองค์เองที่ตกตะลึงแลสะทกสะท้านมิได้กล่าวอันใดแก่นาง ในที่สุดเล่าถึงกิริยาที่นางเก็บดอกบัวมาทำท่าต่างๆ
พุทธิศริระได้ยินดังนั้น ก็นิ่งตรองอยู่สักครู่หนึ่งแล้วทูลพระราชบุตร สำแดงคุณชั่วแห่งแห่งความสะทกสะเทิ้นในขณะที่
อยู่ใกล้หญิง ถ้าพระราชบุตรจะเป็นผู้มีความสุขต้องสำแดงพระองค์เป็นคนกล้าในคราวหน้าที่พบนางจึงจะสำเร็จ
ประสงค์ พระราชบุตรตรัสสัญญาว่าถ้าได้พบนางก็จะเป็นคนกล้าตามคำสอนนั้น แต่เมื่อไม่พบจะกล้าอย่างไรได้ พุทธิศริ
ระกล่าวว่า "พระองค์จงสงบลงบ้างเถิด ข้าพเจ้ารู้ชื่อนางแลที่อยู่ของนางแล้ว เมื่อนางเก็บดอกบัวขึ้นชูไหว้ไปในฟ้านั้น
คือนางสำแดงความยินดีต่อเทวะที่ได้อำนวยให้นางได้พบพักตร์อันประเสริฐของพระองค์"
พระราชบุตรได้ทรงฟังก็ยิ้มออกมาได้ แลยิ้มครั้งแรกในเวลาหลายวัน พุทธิศริระทูลต่อไปว่า "เมื่อนางยกดอกบัวขึ้นทัด
หูนั้น เป็นที่หมายให้ทราบว่านางเป็นชาวเมืองกรรณาฏกะ แลเมื่อนางกัดดอกบัวด้วยทนต์นั้นนางทำสัญญาณให้ทรง
ทราบว่านางเป็นราชธิดาท้าวทันตวัต พระองค์ย่อมทราบว่า ท้าวทันตวัตนี้เป็นอริใหญ่ของพระราชบิดาแห่งพระองค์ ไม่
มีท่าทางจะปรองดองกันได้เป็นอันขาด" พระราชบุตรได้ยินดังนั้น ก็ครางด้วยความเศร้าพระหฤทัย พุทธิศริระกล่าวต่อ
ไปว่า "เมื่อนางเหยียบดอกบัวนั้น นางให้เครื่องหมายว่านางชื่อปัทมาวดี แลเมื่อนางเอาดอกบัวปักที่อุระนั้นเป็นที่หมาย
ว่า พระองค์สิงอยู่ในหฤทัยแห่งนาง" พระวัชรมุกุฏได้ทรงฟังดังนั้นก็ผุดลุกขึ้นด้วยความยินดี อาการไข้ก็เปลื้องปลดไป
ทันที ทรงกำลังกระปรี้กระเปร่าเหมือนแต่ก่อน ตรัสชมความรอบรู้ของพุทธิศริระ พลางรับสั่งอ้อนวอนให้ช่วยทูลขอ
อนุญาตพระราชบิดาไปยังนครอันเป็นที่อยู่แห่งนางนั้น
ฝ่ายพุทธิศริระโดยความภักดีต่อราชบุตร ก็เข้าไปทูลพระราชาธิบดีว่า พระราชบุตรไม่ใคร่ทรงสบาย ควรเสด็จเที่ยวใน
ประเทศต่างๆ เพราะพระกายต้องการเปลี่ยนน้ำพระหฤทัยต้องการเปลี่ยนที่อยู่ ครั้นพระราชบิดาประทานอนุญาตแล้ว
พระวัชรมุกุฏก็หยุดพักอยู่ริมทาง แล้วพุทธิศริระก็แต่งตัวเป็นคนเดินทางขึ้นม้าไปหลายวัน ถึงนครกรรณาฏกะก็หยุดพัก
อยู่ริมทาง แล้วพุทธิศริระก็นำพระราชบุตรออกเที่ยวถามหาหญิงผู้มีปัญญาโดยอธิบายว่าต้องการจะให้ดูเคราะห์ใน
อนาคต แลชี้แจงต่อพระราชบุตรอีกขั้นหนึ่งว่าหญิงเอาใจใส่ต่อกิจการในอนาคตนั้น ย่อมจะเอื้อเฟื้อต่อกิจการปัจจุบัน
ด้วยเหตุดังนั้นควรสืบหาหญิงหมอดูเป็นผู้ช่วยให้สำเร็จกิจอันประสงค์
พุทธิศริระเที่ยวถามอยู่ครู่หนึ่ง มีผู้ชี้หญิงแก่ผู้หนึ่งซึ่งนั่งปั่นฝ้ายอยู่หน้ากระท่อม พุทธิศริระจึงเข้าไปหาหญิงแก่นั้น
กระทำการเคารพเป็นอันดีแล้วพูดว่า "ข้าพเจ้าเป็นพ่อค้ามาจากเมืองไกลสองคนด้วยกัน สินค้าของเราตามมาข้างหลัง
เราล่วงหน้ามาก่อนเพื่อจะหาที่พัก ถ้ามารดายอมให้เราพักในเรือนนี้ เราคงจะอยู่เป็นสุขแลให้เงินแก่มารดาโดยอัตราอัน
สูง" ฝ่ายหญิงแก่นั้นนอกจากเป็นหมอดู ยังเป็นผู้รู้ลักษณะคนอีกด้วย ครั้นเห็นเค้าหน้าชายหนุ่มทั้งสองก็ชอบ เพราะคิ้ว
กว้างแลปากมีลักษณะว่าไม่ตระหนี่ จึงตอบพุทธิศริระว่า "กระท่อมนี้เหมือนหนึ่งเรือนของท่าน เชิญมาพักอยู่ให้สบาย
เถิด" พูดเท่านั้นแล้วก็พาชายหนุ่มทั้งสองเข้าไปในเรือน กล่าวติเตียนความรุงรังของตนเองแล้วเชิญให้ชายทั้งสองพัก
ผ่อนกายอยู่ในเรือนนั้น สักครู่หนึ่งหญิงแก่กลับมายังห้องซึ่งชายหนุ่มทั้งสองพัก พุทธิศริระจึงถามว่า "มารดาอยู่ที่นี้มี
ความสุขอยู่หรือ ญาติวงศ์สหายอยู่พร้อมกันหรืออย่างไร แลมารดาหากินทางไหน" หญิงแก่ตอบว่า "ลูกชายของข้า
เป็นคนใช้สนิทของท้าวทันตวัตผู้เป็นพระราชาของเรา ข้าเป็นนางนมของนางปัทมาวดีพระราชธิดาองค์ใหญ่ ครั้นข้าแก่
ชราก็มาอยู่ในเรือนนี้ ไม่ต้องกังวลการหากิน เพราะพระราชาประทานทุกอย่าง ข้าไปในวังเฝ้าพระราชบุตรีวันละครั้ง
นางเป็นหญิงงามอย่างประหลาด เป็นคนดีมีปัญญาหาเสมอมิได้"
พระวัชรมุกุฏพักอยู่ที่เรือนหญิงแก่ อันเป็นนางนมของพระราชธิดาหลายวัน แลกระทำให้นางนมเอื้อเฟื้อรักใคร่ด้วย
ความไม่ตระหนี่ ด้วยวาจาอ่อนหวานและด้วยรูปสมบัติของพระองค์ ครั้นคุ้นเคยแลรู้ใจกันมากขึ้น พระวัชรมุกุฏก็ตรัสถึง
พระราชธิดา แลกล่าวแก่หญิงนางนมว่า เมื่อไปเฝ้านางปัทมาวดีคราวหน้าขอให้ช่วยถือหนังสือไปถวายฉบับหนึ่งจะได้
หรือไม่ นางนมมีความยินดี เพราะเป็นธุระของนางนมที่จะต้องยินดีตามแบบนิทานชนิดนี้ จึงกล่าวแก่พระวัชรมุกุฏว่า
"ลูกเอย ไม่จำเป็นจะต้องคอยถึงพรุ่งนี้ เจ้าจงเขียนหนังสือเถิด มารดาจะถือไปเดี๋ยวนี้" พระวัชรมุกุฏพระองค์สั่นด้วย
ความยินดี รีบเสด็จไปหาพุทธิศริระ ซึ่งนั่งอ่านหนังสืออยู่นอกเรือน แล้วรับสั่งบอกว่า นางนมรับแล้วที่จะถือหนังสือไป
ถวายพระราชธิดา ปัญหายังมีแต่เพียงว่าจะเขียนหนังสืออย่างไรจึงจะดี จะผูกประโยคแลใช้ศัพท์ชั้นไหนจึงจะถูกพระ
หฤทัยนาง จะใช้ศัพท์เรียกนางว่า "แก้วตาแห่งตู" จะเบาไป แลศัพท์ "โลหิตในตับแห่งข้า" จะหนักไปดอกกระมัง อนึ่ง
การแต่งหนังสือสำคัญเช่นนั้นจะทำให้แล้วเร็วทันในวันนั้นก็ยาก เป็นเรื่องที่หนักพระหฤทัยอยู่ ฝ่ายพุทธิศริระเมื่อได้ยิน
ดังนั้นก็ทูลว่า อย่าให้ทรงเดือดร้อนเลย จะทำถวายให้เสร็จ แล้วพุทธิศริระก็ไปหยิบเครื่องเขียนมานั่งเขียนอยู่ครู่หนึ่ง
ครั้นสำเร็จแล้วก็พับหนังสือนั้นปิดผนึก เขียนรูปดอกบัวลงบนหลังผนึกดอกหนึ่ง แล้วส่งถวายพระราชบุตร พระราชบุตร
ก็นำหนังสือนั้นไปส่งให้หญิงแก่นางนมถือไปถวายพระราชธิดา
นางนมได้รับหนังสือแล้วก็รีบเข้าวังไปที่ตำหนักพระราชบุตรีตามเคย ฝ่ายนางปัทมาวดีครั้นเห็นนางนมเข้าไปเฝ้า ก็ตรัส
เรียกให้นั่งแลสนทนาด้วย นางนมพูดถึงเรื่องอื่นๆ อยู่สักครู่จึงจึงทูลว่า "เมื่อนางยังอยู่ในความเป็นเด็กอ่อน ข้าได้เลี้ยง
ดูนางมาด้วยความภักดี บัดนี้เทพดาให้รางวัลแก่ข้าด้วยประทานความงาม ความไม่มีโรค แลความดีแก่นางในเวลาที่
ทรงจำเริญเพียงนี้ หัวใจของข้าจะใคร่เห็นความสุขของนางยิ่งๆ ขึ้นไปตราบชีวิตข้าหาไม่ นางจงทรงอ่านหนังสือนี้ซึ่ง
มาจากชายหนุ่มงามที่สุด แลดีที่สุดซึ่งข้าได้เคยเห็นเป็นขวัญตา"
พระราชธิดาทรงรับหนังสือไปทอดพระเนตรดอกบัวบนหลังผนึก แล้วทรงเปิดออกอ่านพบอินทรวิเชียรฉันท์ดังนี้
o ได้เห็นพระเพ็ญโฉม ดุจโสมสว่างหน
ราดเร้ากำเดาดล จิตเดือดบ่เหือดลง
o ศรทรงอนงค์แผลง พิษแสร้งจะเสียบองค์
ปักในหฤทัยตรง อุระแค้นเพราะแสนคม
o วันพบประสบพักตร์ ศุภลักษณ์มโนรมย์
อิ่มใจจะใคร่ชม บ่มิพริบกระหยิบตา
o เพ็ญโสมบ่เพ็ญศรี ดุจนี้ ณ เวหา
แสงส่องบ่ผ่องปรา กฎอย่างพระนางนวล
o งอนงามอร่ามโรจน์ ฉวิโชติประชันชวน
แข่งขันพระจันทร์บวรณ์ ศศิแน่จะแพ้นาง
o ยามยลพิมลโฉม อุระโหมพระเพลิงพลาง
ร้อนรักตระหนักกลาง จิตข้าศิขาดูร
o นางกลับและลับเนตร ก็เทวศทวีคูณ
เร่าร้อนบ่ผ่อนภูล พิษรักประจักษ์แด
o คิดไปก็ใจหาย เพราะกระต่ายจะหมายแข
เวียนหวังระวังแล ศศิไซร้บ่ไยดี
o อ้านางสอางรัตน วรขัติยนารี
โปรดด้วยอำนวยชี วะบ่ตัดสลัดตูฯ
พระราชธิดาทรงอ่านหนังสือตลอดแล้วก็สำแดงอาการพิโรธ ตรัสแก่นางนมด้วยสำเนียงอันขุ่นแค้นว่า "นี่แกเป็นอะไรไป
จึงบังอาจนำหนังสือนี้มาให้ คนโง่ที่เขียนหนังสือนี้ แต่งฉันท์ไม่เป็นก็แค่นจะแต่งกับเขาด้วย คนแต่งฉันท์เลวๆ เช่นนี้ยัง
อาจมาแต่งถวายพระราชธิดา อยากรู้ว่าเรียนหนังสือมาแต่สำนักไหนจึงเลวถึงเท่านี้" นางตรัสพลางทรงฉีกหนังสือตอนที่
ว่า "ศศิไซร้บ่ไยดี" ส่งให้นางนมแล้วตรัสว่า "แกจงนำเอาคำตอบนี้ไปให้ชายที่แต่งฉันท์ไม่เป็น แลตัวแกเองจงอย่าทำ
เอื้อมอาจถือหนังสือเข้ามาเช่นนี้อีกเป็นอันขาด"
หญิงแก่นางนมได้ฟังพระราชธิดากริ้วถึงเพียงนั้นก็เสียใจรีบกลับไปบ้าน พบพระราชบุตรตามทางก็เล่าให้ฟังทุกประการ
พระราชบุตรได้ทรงฟังแลอ่านคำตอบแล้วก็เสียพระหฤทัยยิ่งนัก เมื่อทรงดำเนินกลับนั้นทรงคิดถึงวิธีทำลายชีวิตตนเอง
หลายอย่าง เช่น กระโดดน้ำ ผูกคอตนเองแขวน แทงอกตนเอง เป็นต้น ยังไม่ทนตกลงว่าอย่างไหนจะดีก็พอถึงที่พัก พบ
พุทธิศริระนั่งอยู่หน้าเรือน ก็ตรัสเล่าให้ฟังแลทรงสำแดงความเสียใจยิ่งนัก
พุทธิศริระนิ่งฟังตลอดแล้วทูลว่า "พระองค์อย่าเพ่อตีตนเองก่อนไข้ จงทรงตรึกตรองใจความที่นางตรัสให้ถ่องแท้ก่อน ต่อ
ไปข้างหน้าเมื่อพระองค์ได้สมาคมกับหญิงมากๆ แล้ว จะทรงทราบว่าเมื่อหญิงกล่าวว่าไม่ไยดีนั้นแปลว่ายินดี เพราะฉะนั้น
ตามที่เราทำมาเพียงนี้นับว่าสำเร็จดังหมาย อนึ่งเมื่อนางทรงถามว่าพระองค์ทรงเรียนหนังสือจากสำนักไหนนั้น ถ้าจะแปล
เป็นภาษาผู้ชายแปลว่าท่านคือใคร"
พระวัชรมุกุฏได้ทรงฟังดังนั้นก็ยินดี ครั้นวันรุ่งขึ้นก็ทรงบอกนางนมว่า พระองค์เป็นยุพราชกรุงพาราณสีให้นางนมเข้าไป
ทูลพระราชธิดาเถิด ฝ่ายนางนมได้ทราบดังนั้นก็ดีใจ แต่กล่าวว่าทราบมาแต่แรกแล้ว เช้าวันนั้นก็เข้าไปในวังเฝ้าพระราช
ธิดาทูลว่า
"พระยุพราชซึ่งนางได้ทำให้มีใจใฝ่ฝันตั้งแต่วันที่ได้เห็นกันริมสระ เมื่อวันขึ้น ๕ ค่ำ เดือนก่อนนั้น เสด็จมาที่เรือนข้าพเจ้า
แลให้ข้าพเจ้ามาทูลว่าพระองค์เสด็จมาแล้ว นางทำกิริยาเป็นสัญญาณที่ริมสระอย่างไร ก็จงทำตามสัญญาณนั้นเถิด พระ
ราชบุตรองค์นี้ทรงศักดิ์สมควรแก่นางแท้ นางจงฟังคำข้าพเจ้าเถิด"
นางปัทมาวดีได้ทรงฟังดังนั้นก็สำแดงความโกรธยิ่งกว่าครั้งก่อน นางเสด็จลุกไปเอากระแจะจันทน์ละเลงบนพระหัตถ์ทั้ง
สองพระหัตถ์แล้วตบเข้าที่แก้มนางนมทั้งสองแก้ม ตรัสว่า "แกจงรีบไปจากวังนี้โดยเร็ว มิฉะนั้นจะต้องรับโทษยิ่งกว่านี้ แก
จำไม่ได้หรือว่าข้าห้ามไม่ให้เอาเรื่องนี้มาพูดต่อไปเป็นอันขาด" นางนมอกจากวังกลับไปทูลพระวัชรมุกุฏ ต่างคนเสียใจที่
ไปหลงเชื่อพุทธิศริระ
ครั้นเล่าความให้พุทธิศริระฟัง พุทธิศริระก็ทูลพระราชบุตรว่า "พระองค์อย่าทรงตกใจ การที่พระราชธิดาเอากระแจะจันทน์
ทาแก้มนางนมด้วยนิ้ว ๑๐ นิ้วนั้น หมายความว่ากลางคืนยังมีแสงพระจันทร์อยู่อีก ๑๐ คืน เมื่อพ้น ๑๐ คืนไปแล้ว นางจะ
ออกมาพบพระองค์ในที่มืด พระองค์จงหักความกระวนกระวายในพระหฤทัยคอยไปอีก ๑๐ วันเถิด"
พุทธศริระทูลแปลกิริยาแห่งพระราชธิดาแล้ว ก็ทูลต่อไปว่านางองค์นี้เห็นจะฉลาดเกินที่จะเป็นความสุขแก่สามี เพราะ
ฉะนั้นพระราชบุตรควรหยุดยั้งชั่งพระหฤทัยดู แต่ในขณะที่ยังมีเวลาจะถอนพระองค์ได้ คำตักเตือนอันนี้ พระวัชรมุกุฏไม่
ทรงฟังเลย
ครั้นพ้นกำหนด ๑๐ วันไปแล้ว ชายหนุ่มทั้งสองก็ให้นางนมเข้าไปเฝ้าพระราชธิดา คราวนี้นางเอาหญ้าฝรั่นทานิ้วพระหัตถ์
๓ นิ้วแล้วประไว้บนแก้มนางนม ครั้นนางนมกลับมาเล่า พุทธิศริระก็อธิบายว่า นางขอผลัดอีก ๓ วัน เพราะยังประชวรพระ
โรคลำดับเดือน วันที่สี่เป็นวันนัดให้เสด็จ ครั้นวันที่สี่นางนมเข้าไปเฝ้าอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้พระราชธิดากริ้วมาก เสด็จทรง
ฉุดตัวนางนมไปที่ประตูด้านตะวันตก ทรงผลักให้ออกประตูนั้น แลตรัสว่าถ้ากลับเข้าไปอีกจะตีด้วยแส้
ครั้นนางนมกลับไปเล่าให้พุทธิศริระฟัง พุทธิศริระอธิบายว่า พระราชธิดาเชิญพระราชบุตรให้เสด็จไปพรุ่งนี้เวลากลางคืน
แลให้เข้าทางประตูด้านตะวันตก ครั้นเวลากลางคืนวันรุ่งขึ้น พุทธิศริระทูลเตือนพระวัชรมุกุฏให้เตรียมพระองค์ พระวัชรมุ
กุฏไม่ต้องให้มีใครเตือน กำลังแต่งพระองค์อยู่แล้ว แท้จริงแต่งพระองค์อยู่หลายชั่วโมงจึงเสร็จ ครั้นแล้วก็เสด็จออกมา
ถามพุทธิศริระว่า ใช้ได้หรือยัง พุทธิศริระทูลตอบว่างามมาก แล้วทูลเตือนอีกครั้งหนึ่งว่า สังเกตเห็นนางฉลาดเกินไป ถ้า
จะได้เป็นเมียเห็นจะไม่มีสุขอย่างเมียโง่ๆ
ครั้นเวลาเที่ยงคืน ชายหนุ่มทั้งสองก็พากันออกเดินไปยังประตูด้านตะวันตกแห่งพระราชวัง ครั้นถึงประตูเห็นปิดงับแง
พุทธิศริระก็ย่องเข้าไปดูเห็นนายประตูนั่งหลับอยู่ แลเห็นหญิงคนหนึ่งมีผ้าคลุมหัวยืนคอยอยู่ข้างใน พุทธิศริระก็ย่องกลับ
ไปทูลพระราชบุตร พระราชบุตรก็เสด็จย่องเข้าประตูไป พุทธิศริระคอยอยู่สักครู่หนึ่งก็กลับไปที่พัก ฝ่ายพระราชบุตรครั้น
เข้าไปในประตูแล้ว หญิงที่ยืนคอยอยู่ก็จับพระหัตถ์แลทำสัญญาณให้เดินเบาๆ แล้วนำไปตามทางมืด บางแห่งจุดไฟริบหรี่
สักครู่หนึ่งไปถึงบันไดศิลาก็พากันขึ้นไปบนตำหนักพระราชธิดา พระวัชรมุกุฏเสด็จออกจากที่มืดเข้าไปที่สว่างก็มัวพระ
เนตรอยู่ครู่หนึ่ง ประเดี๋ยวทอดพระเนตรดูรอบห้องเป็นที่งดงามแต่งด้วยเครื่องบำรุงความสำราญต่างๆ กลิ่นควันเผาเครื่อง
หอมแลกลิ่นดอกไม้หอมตลบไปทั้งห้อง ตะเกียงเงินซึ่งจุดด้วยน้ำมันหอมก็ส่งกลิ่นอันพึงสูดดม ข้างหนึ่งมีดอกไม้กองรอบ
เตียงลาดผ้าขาวปักด้วยเส้นทอง โรยด้วยดอกพุทธชาดซึ่งเก็บใหม่ๆ อีกข้างหนึ่งมีภาชนะรองหีบหมากแลขวดน้ำดอกไม้
เทศ มีถาดรองเครื่องหอมต่างๆ แลภาชนะรองเครื่องหวานหลายอย่าง มีนางกำนัลคอยรับใช้ประจำที่ บ้างก็มีหน้าที่อ่าน
กาพย์กลอน บ้างก็มีหน้าที่ฟ้อนรำแลบรรเลงดนตรี รวมความว่าเครื่องสำราญตาสำราญใจมากอย่างมีอยู่ในห้องนั้น
สักครู่หนึ่งพระราชธิดาเสด็จเข้ามาเปลื้องผ้าคลุมพระพักตร์ออกสำแดงพระองค์ให้เห็น พระวัชรมุกุฏสะดุ้งด้วยความยินดี
นางเชิญพระราชกุมารให้นั่ง ทรงชโลมพระองค์ด้วยกระแจะจันทน์ แลโปรยน้ำกุหลาบถวาย แล้วทรงโบกพัดอันทำด้วยขน
นกยูงมีด้ามทอง พระวัชรมุกุฏตรัสแก่นางว่า
"พระหัตถ์อันอ่อนของนางนี้ไม่สมควรจะโบกพัด นางจงหยุดเสียเถิด ข้าได้เห็นนางก็มีความเอิบอิ่มในใจ แม้ไม่ต้องพัดก็
เย็นพออยู่แล้ว นางจงประทานพัดให้ข้าเถิด" นางปัทมาวดียิ้มพลางทูลว่า "พระองค์ทรงอุตส่าห์เข้ามาถึงที่นี้ เป็นพระเดช
พระคุณนักหนา สมควรข้าพเจ้าจะปฏิบัติพระองค์ด้วยความกตัญญู" ขณะนั้นนางกำนัลคนโปรดเข้ามารับพัดไปถวายอยู่
งาน ทูลว่า " หน้าที่ปฏิบัติของข้าพเจ้า สองพระองค์จงทรงสำราญเถิด"
เวตาลเล่ามาถึงเพียงนี้ก็หยุดพักครู่หนึ่ง แล้วเล่าต่อไปว่า "ครั้นเวลารุ่งเช้า นางปัทมาวดีก็ซ่อนพระราชกุมารไว้ในที่ลับ
ครั้นกลางคืนก็ทรงสำราญอย่างคืนก่อน พระราชกุมารมีความสุขจะหาเสมอมิได้ โลกใหญ่กว้างก็ทรงลืมหมด คงเหลืออยู่
แต่โลกในตำหนักนางเท่านั้น ฝ่ายนางปัทมาวดีเป็นหญิงเฉลียวฉลาด เมื่อได้สามีที่ปัญญาอ่อนก็ยิ่งผูกรักแน่นขึ้น ดังคำ
โบราณกล่าวว่า คนตรงกันข้ามในเชิงปัญญาย่อมล่อใจกัน ในชั้นต้นนางตั้งแต่งให้พระสวามีเป็นคนปราดเปรื่องโดยอธิบาย
ว่าน้ำนิ่งไหลลึก เมื่อพระราชกุมารไม่ใคร่ตรัสก็นึกว่าคงจะมีความคิดรุ่งโรจน์นิ่งไว้ในพระหฤทัย คนมีคิ้วกว้างแลโค้งงาม
เช่นนี้จะไม่ฉลาดอย่างไรได้ คนมีหนวดน่าดูเช่นนั้นคงจะต้องเป็นผู้มีใจโอบเอื้ออยู่เอง คนมีตาเช่นพระราชกุมารจะไม่เป็น
คนกล้านั้นไม่ได้ นางปัทมาวดีหลงคิดดังนี้ในชั้นต้น
ครั้นต่อมาก็เห็นพระสามีฉลาดเฉลียวน้อยลง แต่ความเสน่หาของนางมิได้ลดหย่อน กลับจะมากขึ้น เป็นต้นมาว่าเมื่อสอน
ให้ทรงท่องกาพย์กลอน เธอจำไม่ใคร่ได้ นางก็ทรงพระสรวลเห็นน่าเอ็นดู เมื่อเธอพูดสันสกฤตผิดไวยากรณ์ก็เห็นน่ารัก
เมื่อเธอสบถก็เห็นไพเราะ
ต่อๆ มานางก็สงสัยว่าจะมีใครอีกคนหนึ่ง ซึ่งล่วงรู้กับพระสวามีในเรื่องลอบรักกับนางนี้ แต่นางก็มิได้ทูลถามตรงๆ เป็นแต่
สังเกตวาจาที่ตรัสแลทูลไล่เลียงอ้อมค้อม จนในที่สุดวัชรมุกุฏทรงเล่าให้นางฟังถึงพุทธิศริระผู้มีปัญญา เริ่มแต่ความเห็น
ทับถมหญิงทั้งหลายตลอดจนแปลกิริยาต่างๆ ที่นางได้ทำเป็นเครื่องสัญญาณ ในที่สุดความเห็นของพุทธิศริระว่า นาง
ฉลาดเกินที่จะเป็นเมีย ซึ่งเป็นความสุขแก่ผัวนั้นก็ตรัสเล่าด้วย
นางปัทมาวดีทรงคิดในใจว่า "ถ้าเราไม่แก้แค้นชายคนนั้นได้ ขอให้เราเกิดเป็นลาของคนทำสวนในชาติหน้าเถิด" ทรงคิด
ดังนี้แล้ว นางก็ตรัสชมความฉลาดของพุทธิศริระยกขึ้นไปถึงฟ้า ตรัสว่าทรงรู้สึกบุญคุณของชายผู้นั้นที่ได้ช่วยให้นางถึง
ความสุข แลสำแดงประสงค์จะใคร่พบพุทธิศริระสักครั้งหนึ่ง
ฝ่ายพระวัชรมุกุฏเสด็จซ่อนอยู่ในนิเวศน์นางประมาณเดือนหนึ่งก็รำลึกถึงโลกภายนอก เธอเสวยมากไป ไม่ได้ออกขี่ม้าล่า
เนื้อบ่อยๆ เหมือนแต่ก่อนก็เกิดไม่สบาย พระพักตร์และพระเนตรเหลือง มีอาการหาวดังซึ่งคนตับพิการมักจะเป็น บางเวลา
ก็ปวดพระเศียรแลเสวยอาหารไม่ได้ จะซ่อนอยู่ก็ไม่เป็นสุข
วันหนึ่งอยู่พระองค์เดียวทรงนึกดังๆ ว่า "เราได้ทิ้งเมืองมาก็นานแล้ว แลสหายซึ่งได้ช่วย ให้เรา ได้รับความสุขเช่นนี้ก็ไม่
ได้พบกันมาตั้งเดือน สหายของเราจะบ่นอย่างไรบ้างแลจะอยู่เป็นสุขหรือไรเรา ก็ไม่ทราบได้เลย"
ขณะนั้นนางปัทมาวดีเข้าไปถึง ได้ยินหางเสียงที่ตรัสก็เข้าใจตลอด นางเห็นเป็นช่องอันดีที่จะสำเร็จความคิด จึงตรัสหา
ความพระสามีว่า พระหฤทัยไม่ยั่งยืนอยากจะเปลี่ยนบ่อยๆ ครั้นเห็นพระสามีตรัสปฏิเสธ นางก็กล่าวซ้ำจนเธอจวนจะกริ้ว
อยู่แล้ว เธอจึงตรัสอ้างคัมภีร์โบราณว่าภริยาที่ไม่มีลูก สามีควรทิ้งไปหาใหม่ในปีที่แปด ภริยาที่มีลูกเกิดมาตายหมดในปีที่
๑๐ ภริยาที่มีแต่ลูกหญิงในปีที่ ๑๑ แลภริยาซึ่งกล่าวดุดันสามีนั้น สามีควรทิ้งไปหาใหม่ทันที
นางได้ยินพระสามีตรัสดังนั้นก็อธิบายว่าคำที่นางกล่าวนั้น มิใช่กล่าวถึงความรักระหว่างระหว่างสองพระองค์ นางกล่าวถึง
ข้อที่พระสามีลืมพุทธิศริระผู้สหายนั้นดอก นางตรัสว่า "พระองค์เสด็จอยู่ที่นี่ พระหฤทัยออกไปอยู่กับสหายเช่นนี้จะมี
สุขอย่างไรได้ พระองค์ทรงซ่อนความในพระหฤทัยไว้ด้วยเหตุใด เกรงว่าถ้าข้าพเจ้าทราบข้าพเจ้าจะเดือดร้อนฉะนั้นหรือ
พระองค์จงเชื่อชายาของพระองค์ว่าคงจะไม่มีประสงค์ให้พระองค์เลิกร้างจากสหายซึ่งมีคุณแก่เราทั้งสองนั้นเป็นอันขาด"
นางปัทมาวดีทูลเช่นนั้นแล้วก็แนะนำให้เสด็จออกไปหาพุทธิศริระในคืนวันนั้น เพื่อจะได้สิ้นห่วงถึงสหาย อนึ่งนางจะฝาก
ของออกไปแทนคุณพุทธิศริระบ้าง พระวัชรมุกุฏทรงยินดีตรงเข้าสวมกอดนาง กลับทำให้นางโกรธในใจ เพราะเห็นว่าถนัด
ทรงยินดีที่จะทิ้งนางไปหาสหาย นางเกรงจะซ่อนความโกรธไว้ไม่ได้ก็รีบหนีไปจัดของที่จะฝากไปประทานพุทธิศริระ
สักครู่หนึ่งนางเสด็จกลับมาในห้องถือถุงบรรจุของกินมาส่งถวายทูลว่า ขอให้ประทานแก่พุทธิศริระว่าเป็นของซึ่งนางทำ
ด้วยพระหัตถ์ ถึงแม้คนมีปัญญาก็คงจะชมรสซึ่งมีในขนมนั้น
พระยุพราชเมื่อได้ล่ำลานาง สวมองค์แล้วสอดกรเล่า คำลาคำท้ายกลับเป็นคำต้นหลายครั้ง แล้วก็เสด็จเล็ดลอดออกจาก
วัง ครั้นผ่านพ้นประตูซึ่งนายประตูนั่งหลับตามเคย ถึงถนนใหญ่ก็รีบทรงดำเนินตรงไปบ้านหญิงนางนม เวลานั้นเป็นเวลา
เที่ยงคืนแม้ฉะนั้นพุทธิศริระยังนั่งอยู่หน้าเรือน ครั้นพระยุพราชเสด็จไปถึงต่างก็แสดงความยินดี พระวัชรมุกุฏตรัสแสดง
ความร้อนพระหฤทัยที่เห็นพุทธฺศริระมีอาการซูบซีด พุทธิศริระทูลว่าไม่ได้ยินข่าวเจ้าช้านานก็ร้อนใจกินไม่ได้ นอนไม่หลับ
จึงมีอาการเช่นนี้พระวัชรมุกุฏได้ทรงฟังอธิบายถึงความสำราญในวัง ซึ่งทรงคิดว่าไม่ยิ่งหย่อนกว่าความสุขในสวรรค์ ทั้งยกนางปัทมาวดี
เชิดชูขึ้นไปถึงฟ้า เทียบกับนางเทพธิดา ซึ่งเป็นหมู่ชนที่ไม่เคยทรงพบเห็นก็จริงอยู่ แต่คงจะไม่ล้ำเลิศเกินนางปัทมาวดี
ไปได้ ทั้งในความงามแลความเฉลียวฉลาดทุกประการ พุทธิศริระได้ยินรับสั่งยอพระเกียรตินางยืดยาวเช่นนั้น ก็โคลง
ศีรษะยิ้มมิได้กล่าวประการใด พระยุพราชทรงเห็นดังนั้นก็ตรัสว่า "อย่างเก่าอีกแล้ว ความสำราญของท่านอยู่ในความลบ
หลู่ปัญญาของผู้อื่น ไม่เปลี่ยนแปลงบ้างเลย ท่านคงจะคิดอิจฉานางเสียแล้ว อิจฉาว่ามีปัญญา แลอิจฉาว่านางรักข้า ท่าน
จงเชื่อข้าว่านางองค์นี้ดีหาที่เปรียบมิได้ ถึงแม้ท่านเกลียดผู้หญิง เมื่อได้ทราบคำสรรเสริญที่นางกล่าวถึงท่านทราบคำสั่ง
ที่นางสั่งมาถึง แลทราบรสแห่งของกินที่นางฝากมาประทานท่านจะเว้นชมนางไม่ได้เป็นแน่ นี่แน่ะท่านจงกินขนมนี้ ซึ่ง
นางฝากมาให้ท่านโดยเฉพาะ เป็นขนมซึ่งนางทำด้วยพระหัตถ์นางเอง"
พุทธิศริระทูลว่า "นางสั่งมาถึงข้าพเจ้าอย่างไรได้ อย่างไรนางจึงฝากของมาประทาน นางไม่ทรงทราบว่ามีข้าพเจ้าอยู่ใน
โลกนี้ พระองค์ไปรับสั่งถึงข้าพเจ้าขึ้นแล้วกระมัง" พระวัชรมุกุฏตรัสตอบว่า "คืนหนึ่งข้านั่งอยู่คนเดียวกำลังคิดถึงท่านก็มี
อาการซึมเซาไป นางเข้ามาพบก็ถามว่าเหตุไรจึงเป็นเช่นนั้น ข้าก็ตอบนางตามจริงแลเล่าให้ฟังถึงท่านแลความฉลาดของ
ท่าน นางได้ทราบก็อนุญาตให้ข้าออกมาหาท่าน แลส่งขนมนี้มาให้ท่านกิน ท่านจงกินให้สมศรัทธาของนางผู้ทำแลข้าผู้
ถือมาเถิด"
พุทธิศริระทูลว่า "พระองค์จงประทานอภัยแก่ข้าพเจ้าแลทรงฟังคำที่ข้าพเจ้าทูลนี้เถิด การที่รับสั่งบอกชื่อข้าพเจ้าแก่นาง
นั้นไม่ดีเลย ผู้ชายไม่ควรทำให้ผู้หญิงรู้ได้ว่าความลับซึ่งนางบอกแก่มือซ้ายแห่งชายนั้นทราบไปถึงมือขวา ถึงยิ่งทราบไป
ถึงคนอื่นด้วยยิ่งร้ายใหญ่ อีกอย่างหนึ่งการที่ทรงสำแดงให้นางทราบว่า ทรงพระเมตตาข้าพเจ้านั้นก็ไม่เป็นทางดี เพราะ
ผู้หญิงย่อมจะเกลียดเพื่อนของชายที่รัก " พระยุพราชตรัสว่า "ข้าจะทำอย่างไรได้ เมื่อข้ารักนางข้าก็ไม่อยากปกปิดข้อ
ความอะไร เมื่อนางถามก็บอกตรงๆ ทั้งนั้น" พุทธิศริระทูลว่า "พระหฤทัยเช่นนี้เมื่อพระองค์จำเริญพระชนม์ยิ่งขึ้นก็คงจะ
เปลี่ยน เพราะจะทรงทราบได้ว่า ความรักระหว่างหญิงกับชายนั้น คือการเล่นซึ่งต้องใช้ปัญญาระหว่างคนสองคนที่มีเพศ
ต่างกัน ฝ่ายหนึ่งเพียรจะเอาเปรียบมากที่สุด อีกฝ่ายหนึ่งเพียรจะเสียเปรียบน้อยที่สุดที่จะเป็นได้ คนทั้งสองต่อสู้กันบน
กระดานสกาเช่นนี้ ฝ่ายที่ปัญญาแหลมกว่าแลชำนาญกว่าย่อมชนะเสมอ ความไม่พูดนั้นเป็นสิ่งที่หัดทำได้ ถ้าพระองค์ทรง
ซ้อมอยู่สักปีหนึ่งจะทรงเห็นว่า การเปิดความลับนั้นยากกว่าการปิดไปเสียอีก ถ้าจะกล่าวถึงขนมที่นางประทานมานี้
ข้าพเจ้ายอมเอาชีวิตข้าพเจ้าเป็นสินพนันกับชีวิตหมาว่าขนมนี้ผสมด้วยยาพิษ" พระวัชรมุกุฏตรัสว่า "เป็นไปไม่ได้เป็นอัน
ขาด ไม่มีใครในโลกนี้จะทำอย่างที่ท่านว่า ถ้าคนไม่กลัวคนด้วยกันก็ต้องกลัวพระผู้เป็นเจ้าบ้าง" พุทธิศริระกล่าวว่า "
ข้าพเจ้าเกิดมายังไม่เคยรู้เลยว่า ผู้หญิงที่กำลังรักกลัวพระผู้เป็นเจ้าหรือกลัวอะไรบ้าง แต่ข้อที่ข้าพเจ้ากล่าวนั้นทดลองได้
ง่ายๆ (พูดพลางเรียกหมาที่นอนอยู่ข้างนั้น แล้วโยนขนมให้หน่อยหนึ่งกล่าวว่า) "เอ้า เอ็งไปหาญาติสามหัวของเอ็งซึ่ง
เป็นผู้รับใช้มัจจุราชนั้นเกิด"
หมาได้ยินก็ลุกขึ้นกินขนมที่พุทธิศริระโยนให้ ประเดี๋ยวก็ล้มลงขาดใจตาย พระยุพราชเห็นดังนั้นก็ทรงเสียใจเป็นกำลัง
ตรัสว่า "นางช่างเป็นเช่นนี้ได้ ไม่คิดเลยว่าจะชั่วช้าถึงปานนี้ ข้าหลงรักนางนักหนา ไม่รู้เลยว่าใจคอหยาบคายมาก ข้าจะ
กล้าอยู่กับนางไปอย่างไรได้" พุทธิศริระทูลว่า "สิ่งใดเกิดแล้วสิ่งนั้นย่อมเกิดแล้ว จะแก้ให้กลับไม่เกิดนั้นไม่ได้ ข้าพเจ้า
คิดเกรงมาแต่แรกแล้วว่า พระราชกุมารีทรงปัญญาหลักแหลมนักคงจะทำอะไรชนิดนี้เป็นแน่ เพราะคนเราไม่มีใครจะทำ
อะไรผิด จะทำอะไรโง่ๆ จะทำอะไรนอกคอกเหมือนหญิงสาวมีปัญญา แม้จะทำการที่มีโทษ ก็ทำให้สนิทสนมไม่ได้
ข้าพเจ้าขออยู่ห่างไกลปัญญาหญิง ขออยู่กับความโง่เขลาจึงจะเป็นสุข" ในตอนนี้ พระราชบุตรมิได้ทรงยกย่องความ
ฉลาดเลย พุทธิศริระจึงทูลต่อไปว่า "ข้าพเจ้าก็ได้ทูลกำชับแล้วเพราะเกรงจะเป็นเช่นนี้ แต่บัดนี้เมื่อได้เห็นฤทธิ์นางแล้วก็
เบาใจ นางคิดไม่สำเร็จครั้งนี้นับว่าสิ้นโอกาสที่จะทำการเช่นเดียวกันอีก หรือถ้าทำก็ไม่ใช่ทำในเร็ววันนี้ ข้าพเจ้าขอทูล
ถามปัญหาข้อหนึ่ง คือถ้าไม่ได้อยู่กับนางพระองค์จะมีความสุขได้หรือ" พระยุพราชทรงถอนใจใหญ่ตรัสว่า "ไม่ได้เป็นแน่"
พุทธิศริระทูลว่า "ถ้าไม่ได้ก็ต้องใช้ปัญญาด้วยมีความรู้ว่าไม่ได้นั้นเป็นบรรทัด เราจะต้องประชันหน้ากับนางในสนามรบ
แลเอาชัยในเชิงอาวุธที่นางใช้เอง อาวุธนั้นคือความหลอกล่อ ตามธรรมดาข้าพเจ้าไม่เต็มใจจะทำกลกับหญิง แต่นางองค์
นี้เห็นจะเป็นชายาดีของพระองค์แท้จริง การวางยาพิษนี้นางเพียรจะเอาชีวิตข้าพเจ้า มิใช่ชีวิตพระองค์ จะว่านาง
ประทุษร้ายต่อพระองค์ไม่ได้ พระองค์เสด็จออกมาครั้งนี้นางกำหนดให้เสด็จกลับเมื่อไร" พระยุพราชตรัสว่า "เมื่อข้าสิ้น
ห่วงท่านแล้วให้กลับเข้าไป" พุทธิศริระกล่าวว่า "ถ้าอย่างนั้นนางคอยท่าเสด็จกลับพรุ่งนี้กลางคืน เพราะจะเสด็จกลับเข้า
วังก่อนนั้นไม่ได้ ข้าพเจ้าจะขอทูลลาไปเข้าที่นอน เพื่อจะได้ตรึกตรองหาทางที่จะทำการให้สำเร็จประสงค์" พุทธิศริระทูล
ดังนั้นแล้วพระราชบุตรก็เข้าที่บรรทม พุทธิศริระก็ไปนอน
กลางคืนวันรุ่งขึ้นครั้นถึงเวลาเช้าพระวัชรมุกุฏก็เสด็จเข้าวัง พุทธิศริระไปส่งเสด็จตามทาง ทูลว่า "ความประสงค์ของเรา
คือจะพาตัวพระราชกุมารีไป พระองค์จงรับตรีศูล (คือสามง่าม) นี้ไปซ่อนในพระองค์ แลเมื่อพบนางจงสำแดงเสน่หาให้
มาก อย่าตรัสเล่าถึงการที่เป็นไปเมื่อคืนนี้ นางคอยฟังไม่เห็นตรัสว่ากระไรก็คงจะถามถึงข้าพเจ้า พระองค์จงตรัสบอกนาง
ว่าข้าพเจ้ากำลังไม่สบาย ยังไม่ได้กินขนมที่นางประทานออกมา ข้าพเจ้าเก็บขนมนั้นไว้ว่าจะกินคืนวันนี้ ในกลางคืนเมื่อ
นางบรรทมหลับ พระองค์จงลอบถอดเครื่องเพชรพลอยที่ประดับองค์นาง แล้วเอาตรีศูลนี่แทงที่ชงฆ์ข้างซ้ายแห่งนางแล้ว
รีบเสด็จออกมาหาข้าพเจ้า ถ้านางบรรทมยังไม่หลับจงประทานผงนี้ให้นางดม เมื่อดมผงนี้แล้วอย่าว่าแต่คน ถึงช้างก็จะ
หลับเหมือนตายไปจนรุ่งสว่าง แม้นแทงด้วยตรีศูลก็ไม่ตื่น ส่วนพระองค์เองนั้น อย่าลองดมยานี้เป็นอันขาด"
พระวัชรมุกุฏทรงรับยาจากพุทธิศริระแล้ว ก็ทรงเล็ดลอดเข้าไปในวัง ในเวลาซึ่งนายประตูนั่งหลับตามเคย ครั้นถึงตำหนัก
พบนางนั่งคอยท่าอยู่ สององค์ก็สำแดงยินดีต่อกันตามเยี่ยงอย่างหญิงชาย ฝ่ายนางปัทมาวดี แลดูพระเนตรแลสังเกต
กิริยาพระสามี เห็นยิ้มแย้มแจ่มใสดี นางก็หลอกผู้ซึ่งหญิงฉลาดชอบหลอก (คือตัวเอง) ว่า อุบายที่คิดไปนั้นสำเร็จ
ประสงค์ พระสามีไม่รู้กล แลตั้งแต่บัดนี้นับว่าไม่มีใครอื่น ซึ่งพระสามีจะห่วงถึงต่อไป นางทรงนึกรื่นรมย์ในหฤทัยเช่นนี้จน
บรรทมหลับไป
ฝ่ายพระวัชรมุกุฏ ครั้นนางหลับแล้วเกรงจะหลับยังไม่สนิทก็เอายาให้ดม แล้วถอดเครื่องเพชรพลอยซึ่งประดับองค์นางจน
หมด เอาตรีศูลแทงที่ชงฆ์ซ้ายแล้วรีบพาเครื่องประดับหนีออกจากวังไปหาพุทธิศริระ พุทธิศริระตรวจดูของเหล่านั้นแล้ว ก็
ฉวยย่ามห้อยบ่าเชิญให้ราชบุตรทรงดำเนินตามไป จนถึงป่าช้าแห่งหนึ่ง พุทธิศริระกับพระราชบุตรก็เปลี่ยนเครื่องแต่งกาย
พุทุธิศริระเองแต่งเป็นโยคี พระราชบุตรแต่งเป็นศิษย์ แล้วซ่อนเสื้อผ้าซึ่งผลัดออกนั้นสำเร็จแล้ว พุทธิศริระผู้เป็นครูจึง
กล่าวแก่พระราชกุมารผู้เป็นศิษย์ว่า
"ท่านจงไปในตลาดแลเที่ยวบอกขายเครื่องเพชรพลอยเหล่านี้ สำแดงของให้คนเห็นมากๆ ด้วยกัน แลถ้าใครจับกุมท่าน
จงพาตัวมาหาข้าพเจ้า"
ครั้นรุ่งเช้าพระวัชรมุกุฏก็พาเครื่องประดับอันมีราคาเป็นอันมากนั้นไปเที่ยวบอกขายในตลาด ครั้นไปถึงร้านช่างทองร้าน
หนึ่ง ยื่นของให้ดูแลบอกขายทั้งถามราคาของเหล่านั้นด้วย ช่างทองนั่นเป็นคนค้าขายโดยสุจริตต่อเมื่อจำเป็นจะสุจริต
ครั้นเห็นคนหนุ่มไม่รู้จักราคาของ นำเอาของราคามากไปบอกขายเช่นนั้นก็กล่าวว่าเป็นของเลว และจะรับซื้อเป็นราคา
เพียงหนึ่งในพันแห่งราคาจริง ราคาที่ช่างทองจะรับพระวัชรมุกุฏไม่ยอมขาย เพราะต้องการจะเที่ยวอวดของเหล่านั้นต่อ
ไปอีก ครั้นจะสด็จ ออกจากร้าน ช่างทองก็เข้ากั้นประตูไว้แล้วกล่าวว่า ถ้าไม่ยอมขายจะเรียกตำรวจจับ เพราะของเหล่า
นั้นช่างทองถูกขโมยไปเมื่อ ๒ - ๓ วันนั้นเอง
ฝ่ายพระราชกุมารเมื่อช่างทองกล่าวขู่ดังนั้นก็ไม่ทรงหวาดหวั่นกลับทรงพระสรวล ช่างทองลังเลในใจไม่กล้าเรียกตำรวจ
มาจริงๆ เพราะทราบว่าถ้าเรียกตำรวจมา สิ่งของเหล่านั้นจะเป็นลาภแก่ตำรวจ ยิ่งกว่าเป็นลาภแก่ช่างทองหลายร้อยเท่า
ช่างทองกำลังตรึกตรองยังไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรดี พอมีคนอีกคนหนึ่งเข้ามาในร้าน คนที่มาใหม่นั้นเป็นช่างทองหลวง
ครั้นเห็นเครื่องประดับเข้าก็จำได้แลกล่าวว่า "เครื่องประดับเพชรพลอยเหล่านี้เป็นของพระราชธิดา ข้าพเจ้าจำได้ถนัด
เพราะได้เป็นผู้ทำเมื่อ ๒ - ๓ เดือนนี้เอง (พูดเท่านั้น แล้วช่างทองหลวงหันไปถามพระราชกุมารว่า) "เจ้าได้ของเหล่านี้มา
แต่ไหน"
ในเวลาที่ไต่ถามกันอยู่เช่นนี้ มีคนมายืนมุงดูเป็นอันมาก จนข่าวทราบไปถึงผู้บังคับการตำรวจ ผู้บังคับการตำรวจจึงให้ตาม
ตัวพระราชกุมารแลช่างทองทั้งสองคนไปไต่สวน ครั้นไปถึงพร้อมกันแลตรวจของกลางแล้ว ผู้บังคับการตำรวจก็ถามพระ
ราชกุมารว่า "เจ้าได้ของเหล่านี้มาแต่ไหน จงให้การไปแต่ความจริง" พระวัชรกุมารแสร้งทำเป็นกลัว ตรัสตอบว่า "ครูของ
ข้าพเจ้ามอบของเหล่านี้ให้ข้าพเจ้าไปเที่ยวขาย ในเวลานี้ ครูของข้าพเจ้ากระทำการบูชาอยู่ที่ป่าช้านอกเมือง จะได้ของ
เหล่านี้มาจากไหนข้าพเจ้าหาทราบไม่ ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่มีความผิด ท่านจงปล่อยตัวข้าพเจ้าไปเถิด"
ผู้บังคับการตำรวจได้ยินดังนั้น ก็ให้ไปตามพุทธิศริระมาจากป่าช้า แล้วพาคนทั้งสองไปเฝ้าท้าวทันตวัต ทูลความให้ทรง
ทราบทุกประการ ท้าวทันตวัตทรงฟังเรื่องตลอดแล้วก็ตรัสถามพุทธิศริระว่า ได้ของเหล่านั้นมาแต่ไหน พุทธิศริระได้ยินรับ
สั่งถาม ก็คลี่หนังโครำออกปูเป็นอาสนะ แล้วนั่งลงชักประคำท่องมนต์อยู่เกือบชั่วโมงหนึ่ง จึงทูลตอบว่า
"ข้าพเจ้ากล่าวคำสัตย์ ด้วยมีพระมหาเทพเป็นพยานว่าของเหล่านี้เป็นสมบัติของข้าพเจ้า คือเมื่อวันแรมสิบสี่ค่ำกลางคืน
ข้าพเจ้าไปที่ป่าช้าเผาศพเพื่อจะสวดมนต์เรียกแม่มด ข้าพเจ้าสวดเรียกอยู่ช้านานจึงเรียกมาได้ ครั้นแม่มดมาแล้วก็ทำ
กิริยากำเริบอุกอาจ ข้าพเจ้าจึงต้องลงโทษแทงด้วยตรีศูลอันนี้ ถูกตรงขาซ้าย ถึงกระนั้นแล้วยังดื้อดึงอยู่อีก ข้าพเจ้าจึง
ปลดเอาของเหล่านี้ออกไว้เสีย แล้วไล่ให้ไปตามใจ แต่เช่นนั้นแล้วยังทำกิริยากำเริบอยู่อีกช้านาน ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นแม่
มดที่ดื้อดึงเช่นนั้นเลย ของเหล่านี้ข้าพเจ้าได้มาจากแม่มดนั้น โดยประการที่ทูลมาเช่นนี้"
ท้าวทันตวัตได้ทรงฟังดังนั้นก็ทรงเฉลียวใจขึ้นมา จึงตรัสให้โยคีคอยอยู่ที่ท้องพระโรง แล้วเสด็จขึ้นข้างใน พบพระราช
มารดาก็ทูลว่า "พระแม่จงเสด็จไปยังที่อยู่แห่งนางปัทมาวดี พระราชธิดาของข้าพเจ้า แลตรวจดูชงฆ์ซ้ายแห่งนางว่ามีรอย
อันใดบ้าง แลเป็นรอยชนิดไหน ข้าพเจ้าจะคอยฟังอยู่ที่นี้" พระราชมารดาเสด็จไปครู่หนึ่ง ก็เสด็จกลับมาตรัสแก่ท้าวทันต
วัตผู้พระราชบุตรว่า "แม่ได้ไปถึงห้องนางปัทมาวดีแล้ว นางนอนอยู่ในที่บรรทม มีแผลสามรอยอยู่ที่ชงฆ์ซ้าย มีอาการ
เหมือนหนึ่งเจ็บปวดมาก แม่ถามว่าได้แผลนั้นมาอย่างไร นางตอบว่าตะปูตำ แต่แม่ไม่เคยเห็นตะปูสามแหลมเช่นนี้ นางคง
จะได้ทุกข์มากเพราะแผลนั้น แม่จะรีบกลับไปดูแลรักษามิฉะนั้นอาจเป็นเหตุให้เกิดความเศร้าโศกในวงศ์ญาติ"
พระราชมารดาตรัสดังนั้นแล้ว ก็เสด็จกลับไปยังที่อยู่แห่งพระราชธิดา ฝ่ายท้าวทันตวัตได้ทรงฟังดังนั้นก็อ้ำอึ้งในพระ
หฤทัย ทรงคิดว่า " การในเรือนหนึ่ง ความคิดในใจหนึ่ง ความเสียหายหนึ่ง ไม่ควรจะบอกให้ใครทราบ เมื่อนางปัทมาวดี
เป็นแม่มดเช่นนี้ นางก็มิใช่บุตรีของเรา จำเราจะไปหารือโยคีดู" ตรัสเท่านั้นแล้วก็เสด็จออกไปที่ท้องพระโรง ตรัสให้ศิษย์
ของโยคีถอยออกไป แล้วก็ตรัสถามโยคีว่า "ท่านผู้ทรงความรู้จงบอกแก่ข้าว่า หญิงที่เป็นแม่มดนั้น ธรรมศาสตร์บัญชีให้
ลงโทษอย่างไร" พุทธิศริระผู้เป็นโยคีทูลว่า "ข้าแต่พระมหาราชา ธรรมศาสตร์กล่าวว่า ถ้าพราหมณ์หรือวัวหรือหญิงหรือ
เด็ก หรือผู้ที่อยู่ในปกครองของเรากระทำความผิดอันนั้นท่านให้ลงโทษไล่เสียจากบ้านเมือง ถึงแม้จะควรอย่างยิ่งที่จะลง
โทษประหารชีวิต ก็ลงโทษถึงปานนั้นไม่ได้เพราะพระลักษมีไม่โปรด"
พระราชาได้ทรงฟังดังนั้นก็ประทานรางวัลแก่โยคีเป็นอันมาก แล้วเสด็จขึ้นจากท้องพระโรง
ครั้นเวลาเที่ยงคืนก็ตรัสให้ราชบุรุษซึ่งเป็นที่ไว้พระหฤทัยจับนางปัทมาวดีคุมตัวออกไปนอกเมือง แลปล่อยทิ้งไว้กลางป่า
ซึ่งมากด้วยภูตผีปีศาจแลสิงห์เสือร้ายทั้งปวง
ฝ่ายพุทธิศริระกับพระราชกุมารออกจากที่เฝ้าก็รีบกลับไปป่าช้า ผลัดเครื่องแต่งกายตามเดิมแล้วก็กลับไปเรือนหญิงนาง
นม ให้รางวัลแก่หญิงนั้นมากมายจนแกนั่งร้องไห้ด้วยความยินดี แล้วชายทั้งสองก็ขึ้นม้าออกตามพวกราชบุรุษที่พานางไป
ปล่อย ครั้นพบนางกลางป่าก็ชวนไปกรุงพราณสี
เราท่านไม่ต้องสงสัยว่าเมื่อการเป็นเช่นนั้น นางจะยอมเที่ยวเตร็ดเตร่อยู่องค์เดียวในป่าหรือจะยอมไปกับพระราชกุมาร
เวตาลเล่ามาถึงเพียงนี้ ก็ทูลพระวิกรมาทิตย์ว่า "พระองค์ทรงนิ่งฟังมาช้านานยังมิได้ตรัสอะไรเลย ที่ทรงนิ่งฟังเช่นนี้ ก็คง
จะเป็นด้วยเพลินเรื่องที่ข้าพเจ้าเล่า แต่เมื่อข้าพเจ้าเล่ามาจบเช่นนี้แล้ว ถ้าพระองค์ไม่อธิบายปัญหาที่ข้าพเจ้าจะถามเดี๋ยว
นี้ พระองค์คงจะตกนรกเป็นแน่ ปัญหาของข้าพเจ้านั้นคือว่า ชายหนุ่มหนึ่ง สหายของชายหนุ่มหนึ่ง หญิงสาวหนึ่ง บิดา
ของหญิงสาวหนึ่ง ทั้งสี่นี้ควรจะติโทษใครมากที่สุด"
พระวิกรมาทิตย์ตรัสว่า "ท้าวทันตวัตเป็นผู้ที่ควรได้รับความติเตียนมากกว่าคนอื่น" เวตาลทูลถามว่าเพราะเหตุไร พระวิกร
มาทิตย์ตรัสว่า "พระวัชรมุกุฏนั้นอยู่ในเวลาที่ลุ่มหลงหญิง เหตุฉะนั้นเสมอกับคนบ้า จะให้รับผิดชอบความประพฤติของตน
เองนั้นไม่ได้ พุทธิศริระเป็นข้ารับใช้เจ้า เมื่อทำการให้สำเร็จประสงค์เจ้าแล้วก็นับว่ากระทำการดีโดยหน้าที่ ส่วนนางปัทมา
วดีนั้นนางเป็นหญิงสาว เพราะฉะนั้นอาจฆ่าคนได้อยู่เสมอไม่นับว่าทำอะไรแปลกประหลาด แต่ ท้าวทันตวัตนั้นเป็นเจ้า
ครองแผ่นดิน ชนมายุไม่น้อย ควรจะรอบรู้การงานทั้งปวง ไม่ควรจะหลงเชื่ออุบายตื้นๆ ยังมิทันได้ตรึกตรองให้
ละเอียดก็ให้นำพระราชธิดาไปปล่อยกลางป่าเช่นนี้ ควรติเตียนเป็นอันมาก "
เวตาลได้ยินรับสั่งก็หัวเราะด้วยเสียงอันดัง กล่าวว่า "ข้าพเจ้าจะกลับไปที่ต้นอโศกเดี๋ยวนี้ ข้าพเจ้าเกิดมายังไม่เคยได้ยิน
พระราชาติเตียนพระราชาง่ายดายถึงเพียงนี้" เวตาลพูดเท่านั้นแล้วก็ออกจากย่าม หัวเราะก้องฟ้า ลอยกลับไปเกาะห้อย
หัวอยู่ยังต้นอโศกตามเดิม.