นาคปักษี นาคปักษิณ พานรมฤค นรสีห์ อสูรปักษา เทพนรสิงห์ พานรปักษา อสุรวิหค สัมพาที นกเทศ พญาครุฑ หงส์ ติณราชสีห์ กาสรสิงห์ บัณฑุราชสีห์ สิงหรามังกร เหมราช สกุณไกรสร ทักทอ โตเทพอัสดร สินธพนที เหมราอัสดร กิเลน เหรา พญานาค มัจฉานุ แรด มัชฉวาฬ กุญชรวารี
นาคปักษี ดูตามชื่อเป็นสัตว์ที่ประกอบด้วย นาค(งู) และปักษี(นก) นาคนั้นตามนิยายย่อมจำแลงเป็นอะไรต่าง ๆ ได้ เพราะเป็นพวกมีฤทธิ์อย่างนิยายที่เล่ากันติดปากว่า ครั้งหนึ่ง มีพญานาคตนหนึ่ง แปลงเป็นมนุษย์มาขอบวชในพระพุทธศาสนา วันหนึ่งจำวัดหลับไป ขาดการสำรวม ร่างกายก็กลับเป็นพญานาคตามเพศเดิม มีคนมาพบเข้า เลยต้องสึก แต่ก็ขอฝากชื่อ "นาค" ไว้ ใครจะบวชก็ให้เรียกว่า "นาค" จากนิยายเรื่องนี้ เลยเกิดเป็นธรรมเนียมแต่งตัวผู้ที่จะบวชให้เป็น "นาค"ตามนิยมเมื่อโกนผมแต่งตัวนาค จะแห่ไปวัด ก็ทำลอมพอกเป็นหัวพญานาคสวมศรีษะในสมัยก่อนจะพบในบางท้องถิ่นอยู่เสมอ ในทางช่าง เมื่อแสดงภาพนาคจำแลงเป็นมนุษย์ ก็สวมชฎายอดเป็นหัวพญานาคแต่ในภาพนี้แทนที่จะทำหางเป็นนก กลับเอาหางพญานาคมาใช้ จึงดูเป็นสามส่วนคือหน้าและตัวเป็นมนุษย์ ขาเป็นนก และหางพญานาค ดู "นาคปักษิณ" ประกอบด้วย เพราะชื่อคล้ายกัน แต่ลักษณะต่างกันมาก รูป "นาคปักษี" นี้ผู้เขียนรูปไปได้แบบมาจากประตูโบสถ์วัดนางนอง ธนบุรี
นาคปักษิณ
นาคปักษิณเป็นสัตว์กึ่งน้ำกึ่งบก คือเอาส่วนหัวของ "นาค" มาประสม
กับส่วนตัวของ "ปักษิณ" ซึ่งแปลตามตัวว่า สัตว์มีปีก ก็คือนกนั่นเอง
"นาค" มีความหมายหลายอย่าง แต่ในที่นี้หมายถึงงูใหญ่ในนิยาย
ซึ่งเรามักเรียกกันว่า "พญานาค"
พญานาคตามทัศนะของจินตกวีและช่างเขียนเป็นงูใหญ่ประเภทมีหงอนและเครา
ตามนิยายโบราณมักจะกล่าวถึงพวกนาคมาเกี่ยวข้องกับมนุษย์เสมอ เรื่องของ
พญานาคมีที่มาเป็นสองทาง คือทางลัทธิพราหมณ์กับทางพุทธศาสนา พญานาค
ทางลัทธิพราหมณ์ออกจะถือกันว่าเป็นเทวดาแท้ ๆ เช่น พญาอนันตนาคราช และ
ท้าววิรุฬปักษ์ (ดูหนังสือ "เทวนิยาย" โดย "ส.พลายน้อย")
ว่าถึงที่อยู่ของพวกนาค ก็มีทั้งที่อยู่บนบกและอยู่ในน้ำ อย่างพญาวาสุกรี ที่
อยู่เมืองบาดาลก็ไม่ใช่ในน้ำ เป็นเมืองที่อยู่ใต้โลกมนุษย์ลงไปอีกชั้นหนึ่ง นาค
ทางคัมภีร์พุทธศาสนามักอยู่ในโลกมนุษย์เรานี้ อยู่ในโพรงบ้าง ในถ้ำบนบกบ้าง
อยู่ในน้ำบ้าง อย่างพญานาคชื่อภูริทัต ในมหานิบาตชาดก ก็อยู่บนบก แต่ตาม
เรื่องไทย ๆ เราว่า พญานาคอยู่ในน้ำกันมาก
นาคพิภพที่ว่าอยู่ใต้ดินนั้น มีกล่าวในไตรภูมิพระร่วงว่า "แต่แผ่นดินดัน
เราอยู่นี้ลงไปเถิงนาคพิภพ อันชื่อว่าติรัจฉานภูมินั้น โดยลึกได้โยชน์ ๑ แล
ผิจะนับด้วยวาได้ ๘๐๐ วาแล"
นาคปักษิณ หัวเป็นนาค มีหงอน ส่วนท่อนหางเป็นแบบหางหงส์ เพื่อให้
รับกับส่วนหัว
พานรมฤค
พานี, วานร แปลว่า ลิง เหมือนกัน คือในบาลีและสันสกฤตใช้ว่า วานร
ไทยเรามาแผลง ว เป็น พ จึงเป็นพานร ถ้าเป็นหัวหน้าลิงก็ใช้ว่า พานรินทร์
คือ พญาลิง ในรูปก็เป็นพญาลิง ไม่ใช่ลิงธรรมดา
พานรมฤค เป็นสัตว์ประเภทเดียวกันกับเทพนรสิงห์, นรสีห์ คือท่อนล่างเป็น
สัตว์ประเภทมีกีบ
คำว่า "มฤค" มีความหมายกว้าง คือหมายถึงสัตว์ป่า มีกวาง อีเก้ง เป็นต้น
ถ้าเป็นตัวเมีย ก็ใช้ว่า มฤคี
แต่ถ้าเปลี่ยนเป็น มฤคราช, มฤคินทร์, มฤเคนทร์ ก็หมายถึง ราชสีห์ กลาย
เป็นสัตว์ร้ายมีอำนาจขึ้นมาทันที ไม่ดูขลาดเหมือนกวาง เหมือนอีเก้ง
ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า พานรมฤคตัวนี้นุ่งผ้าสั้นเต็มที สั้นพอ ๆ กับนรสีห์
ซึ่งไม่เหมือนกับเทพนรสิงห์ที่นุ่งผ้าเรียบร้อย และโดยเหตุที่เป็นลิง ก็มักจะถือ
ผลไม้ซึ่งเป็นอาหารของโปรดไว้ด้วยเสมอ ดีกว่ามืออยู่เปล่า ๆ
นรสีห์
คำว่า "นรสีห์" มีความหมายในด้านภาษาหลายอย่างด้วยกัน
"นร" หมายถึง คน,ชาย ถ้าเป็นเพศหญิงใช้ว่า นรี หรือ นารี
"สิงห์" หมายถึง สัตว์ร้ายในจำพวกสัตว์กินเนื้อ
ในพจนานุกรมให้ความหมายของคำว่า นรสิงห์ ไว้ว่า นรสิงห์, นรสีห์ น.คน
ปานสิงห์ นักรบผู้มหาโยธิน
ในหนังสือสันสกฤต ไท อังกฤษ อภิธาน อธิบายว่า "นรสิงห์
พระวิษณุในอวตารครั้งที่ ๔ นรผู้มีศีรษะเป็นสิงห์, อธิบดี, ประธานบุรุษ,
ผู้เป็นเจ้า, ผู้เป็นใหญ่"
นรสีห์ ตามที่กล่าวข้างต้น หมายเอาเฉพาะคนที่มีศีรษะเป็นสิงห์ แต่ตามหลัก
ฐานอื่น นรสีห์ หน้าเป็นคน ตัวเป็นสัตว์ประเภทสิงห์ หรือพวกสัตว์ที่มีเท้าเป็นกีบ
นรสีห์นั้นว่ามีเป็นสองอย่าง คือ เท้าเป็นเล็บก็มี เท้าเป็นกีบก็มี ที่ทำ
ท่อนล่างเป็นดังตัวเนื้อ มีหางยาวปลายเป็นพู่อย่างนี้ เท้าก็เป็นกีบนรสีห์ในภาพที่
นำมาประกอบเรื่องนี้มีเท้าเป็นเล็บ ส่อลักษณะว่าเป็น สีห์เพื่อให้ตรงตามชื่อและ
เป็นนรสีห์ตัวเมียตามแบบไทย ๆ ดังจะสังเกตได้จากทรงผม ถ้าว่าตามทรวดทรง
ก็เป็นนรสีห์ที่ค่อนข้างเจ้าเนื้อ เพราะลักษณะของสีห์ ทำให้ดูเทอะทะไปบ้าง
อสูรปักษา
ในพจนานุกรมให้ความหมายของคำอสูรไว้ว่า หมายถึงยักษ์ และอธิบายคำว่า
อสูร ว่าหมายถึง "อมนุษย์พวกหนึ่งเป็นศัตรูต่อเทวดา, แทตย์, ยักษ์, มาร, ผี"
เหตุที่อสูรจะเป็นศัตรูกับพวกเทวกานั้น ก็เพราะสมัยหนึ่งพวกเทวดาคือพระ
อินทร์ได้วางแผนมอมเหล้าพวกอสูร แล้วจับพวกอสูรโยนลงมาจากสวรรค์ เทวดา
เข้าไปอยู่แทนหมด พวกอสูรจึงได้โกรธแค้นเทวดามาก พอถึงฤดูดอกแคฝอยบาน
คราวไร พวกอสูรก็นึกถึงดอกปาริชาตในแดนสวรรค์คราวนั้นแล้วก็ยกพวกขึ้นไป
รบกับพระอินทร์เพื่อแย่งเอาสวรรค์กลับคืนมา เป็นสงครายืดเยื้อมาก (ดูเรื่อง
พระอินทร์ในหนังสือ "เทวนิยาย" ของ "ส.พลายน้อย")
รูปอสูรปักษาอยู่ในชุดเดียวกันกับอสุราวิหค คือท่อนหัวและตัวเป็นยักษ์ ท่อน
ล่างเป็นนก แต่เพื่อให้ต่างกันออกไป ก็เปลี่ยนลักษณะของนกให้ผิดกันตามความ
เหมาะสม อสูรปักษานั้นท่าทางเป็นยักษ์ใหญ่กว่าอสุราวิหค แต่ก็ถือกระบองด้วยกัน
เพราะขึ้นชื่อว่ายักษ์แล้ว ต้องมีกระบองเป็นอาวุธ
เทพนรสิงห์
ได้เคยกล่าวมาแล้วว่า คำ นรสิงห์, นรสีห์ มีความหมายเหมือนกัน คือ
แปลว่า คนปานสิงห์ และ นักรบผู้มหาโยธิน
ตามภาพเขียนมักเรียกชื่อปน ๆ กันไปหมด ไม่ว่าเท้าจะเป็นอย่างไร ตาม
ปรกติ นรสิงห์, นรสีห์ ถ้าทำท่อนบนเป็นมนุษย์ ท่อนล่างมักจะเป็นลักษณะของสิงห์
คือเท้าเป็นสิงห์ หรือสีห์
แต่บางทีทำท่อนบนเป็นมนุษย์ ท่อนล่างกลับเป็นลักษณะของสัตว์ประเภทมีกีบ
คือพวกเนื้อทราย ก็เรียกปน ๆ กันไปว่า นรสิงห์ เหมือนกัน
ซึ่งความจริงน่าจะเรียกชื่อใหม่ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ทรงบันทึกความรู้เรื่องสิงห์ประทานพระยาอนุมานราชธนตอนหนึ่งว่า "นรสิงห์
เป็นสองอย่าง คือ เท้าเป็นเล็บก็มี เท้าเป็นกีบก็มี นรสงิห์คือคนครึ่งสิงห์
เป็นสัตว์แบบย่อม มีอยู่เกือบทุกพวกทุกภาษา แต่ที่ของเรามีมา มักทำเท้าเป็นกีบ
นั้นประหลาดนักหนา ในตำราสัตว์หิมพานต์ก็มี ดูเหมือนเรียกว่า อัปสรสีหะ"
ดังนี้พอสรุปได้ว่า ถ้าท่อนบนเป็นนาง และเท้าท่อนล่างเป็นกีบ ก็เป็นอัปสร
สีหะ แต่เมื่อเปลี่ยนท่อนบนเป็นเพศชาย ก็กลายเป็นเทพนรสิงห์กระมัง
พานรปักษา
"พานรปักษา" มาจาก พานร แปลว่า ลิง และ ปักษา แปลว่า นก รวม
หมายความว่า ครึ่งลิงครึ่งนก
ในภาพไม่ใช่ภาพลิงธรรมดา แต่เป็นลิงใหญ่ทรงเครื่อง เพื่อเล่นลวดลายได้
และโดยเหตุที่ลิงชอบผลไม้ ช่างจึงให้ถือมะม่วงและชมพู่ ทำให้น่าดูยิ่งขึ้น
ที่พิเศษก็คือ ทั้งลิงทั้งนกต่างก็มีหาง ผู้เขียนภาพเสียดายหางลิงไม่กล้า
ตัด ก็เลยทำให้มีทั้งสองอย่าง เมื่อหางลิงตวัดขึ้น หางนก หรือหางไก่ก็ห้อยลง
อสุรวิหค
อสุรวิหค ประกอบด้วยคำว่า "อสุร" และ "วิหค"
"อสุร" หมายถึง อมนุษย์พวกหนึ่ง ซึ่งหมายรวมไปถึงพวกแทตย์,ยักษ์,มาร ฯลฯ
(มีกล่าวถึงอย่างพิสดารในหนังสือ "อมนุษยนิยาย" โดย "ส.พลายน้อย")
ส่วน "วิหค" หมายถึง นก
เมื่อเอามาประกอบเป็นภาพ จึงได้เลือกส่วนหัวและลำตัวของอสุร ซึ่งเห็น
ได้ชัดว่าเป็นยักษ์เป็นมาร มาต่อเข้ากับส่วนขาและส่วนหางของนก ก็สำเร็จรูปเป็น
"อสุรวิหค"
ความจริง อสุรวิหค ในภาพนี้ไม่จำเป็นต้องถือกระบองก็ได้ แต่โดยเหตุที่
พวกอสุรมักนิยมถือกระบองเป็นอาวุธ ช่างเขียนก็เลยเขียนกระบองให้ถือเล่นไป
อย่างนั้นเอง
อสุรวิหคตามตัวอย่างนี้เป็นเพศชาย ถ้าจะเขียนให้เป็นชุดก็อาจเปลี่ยนให้
เป็นเพศหญิงได้อีกตัวหนึ่ง
ภาพอสุรวิหค เป็นภาพแนวเดียวกับภาพกินนร ซึ่งเป็นพวกครึ่งคนครึ่งนก ส่วน
ภาพอสุรวิหค เป็นภาพครึ่งยักษ์ครึ่งนก
สัมพาที
นกสัมพาทีเป็นนกที่กล้าหาญและเสียสละ
ดูตามรูปก็สวยงาม มีขนพอเหมาะ ถ้าว่าตามตำนานก็ต้องมีขนสีแดง แต่ตาม
เรื่องจริง ๆ แล้ว นกสัมพาทีเคยขนหลุดหมดทั้งตัวมาแล้วครั้งหนึ่ง
เรื่องมีอยู่ว่า สัมพาทีมีนกน้องอยู่ตัวหนึ่งชื่อ สดายุ เมื่อครั้งยังอยู่
ภูเขาอัศกรรณนั้น สดายุยังไร้เดียงสา วันหนึ่งเห็นพระอาทิตย์อุทัย นึกว่าเป็นผลไม้
สุกลอยอยู่ ก็โผถลาเข้าหาจะจิกกิน พระอาทิตย์โกรธหาว่าสดายุบังอาจ ไม่รู้จักที่
ต่ำสูง ก็เปล่งแสงทวีความร้อนเข้าใส่สดายุ
นกสัมพาทีเห็นไม่ได้การ ขืนปล่อยให้เป็นเช่นนั้น นกน้องคงต้องเป็นนกย่างแน่
ๆ สัมพาทีจึงบินขึ้นไปกางปีกบังแสงอาทิตย์ให้น้อง ความร้อนเลยทำให้ขนสัมพาที
ร่วงหมด เท่านั้นยังไม่สะใจ พระอาทิตย์สาปซ้ำว่าอย่าให้ขนงอกขึ้นมาอีกเลย ให้ไป
อยู่ถ้ำเหมติรัน ถ้าวันใดทหารพระรามกลับจากนำแหวนไปถวายนางสีดา มาพักที่ถ้ำ
นี้แล้วโห่ขึ้นสามลา จึงให้ขนงอกขึ้นมาอีก นกสัมพาทีจึงมีขนงามดังในภาพ ไม่งั้น
กลายเป็นนกย่างไร้ขนไปแล้ว
นกเทศ
ดูตามรูปดู "นกเทศ" เหมือนจะหมายว่า เป็นนกที่มาจากต่างประเทศ หรือ
หมายถึงแขก เช่น เครื่องเทศ ม้าเทศ ผ้าเทศ
ถ้าเป็นนก เราก็เคยมีเรียกนกชนิดหนึ่งว่า นกกระจอกเทศ ซึ่งเป็นนกต่าง
ประเทศเข้ามาครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ตามเรื่องว่า อะลังกะปูนี ชาวอังกฤษ ได้แล่นเรือกำปั่นเข้ามาเมืองไทยใน
รัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาอมรินทร์ ได้นำม้าเทศ สิงห์โต และนกกระจอกเทศ
เข้ามาถวายเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๓๐๘
นกกระจอกเทศนั้นสูง ๓ ศอกคืบ เป็นนกที่สูงใหญ่แข็งแรงมากจนเด็กขึ้นไป
ขี่เล่นได้
แต่นกเทศในจำพวกสัตว์หิมพานต์ที่กล่าวถึง จะสมมมุติหรือคิดขึ้นเพื่อเป็นตัว
แทนนกกระจอกเทศหรือเปล่าไม่ทราบ ดูตามลักษณะเฉพาะส่วนหาง กระเดียดไป
ทางหางนกยูง ซึ่งนกกระจอกเทศไม่มีหางเช่นนี้ ฉะนั้นจึงไม่น่าจะเป็นไปได้ ก็สรุป
เอาว่าช่างวาดคิดประดิษฐ์กันขึ้นมาเอง ผสมผสานให้ดูเล่นแปลก ๆ อย่างนั้นเอง
พญาครุฑ
ครุฑ ตามความหมายทั่ว ๆ ไป หมายถึงพญานก แต่โบราณเขียนว่า ครุธ
เพราะอักขระวิธีเดิมของเราไม่ใช้ ฑ เป็นตัวสะกดแต่ลำพัง แม้ที่ใช้เป็นตัวสะกดควบ
เช่น วุฑฒิ วัฑฒนะ ก็มักตัดตัวกลางออกเหลือแต่ วุฒิ วัฒนะ ด้วยเหตุนั้นแต่เดิมจึง
เขียนเป็น ครุธ
ตามนิยายอินเดียกล่าวว่า พญาครุฑกับพญานาคเป็นพี่น้องกัน คือเป็นโอรสของ
พระกัศยปเทพบิดรและนางวินตาเป็นมารดา ส่วนมารดาของพญานาคคือนางกัทรุ
พูดง่าย ๆ ก็คือพ่อเดียวกันแต่คนละแม่ พญาครุฑเป็นใหญ่ทางฝ่ายอากาศ พญานาค
เป็นใหญ่ทางน้ำ ตามปรกติพญาครุฑเป็นพาหนะของพระนารายณ์ เพราะครั้งหนึ่ง
พญาครุฑกับพระนารายณ์ได้ประลองฤทธิ์กันและไม่สามารถเอาชนะกันได้ จึงตกลง
กันว่า ถ้าเวลาเดินทางไปไหน ให้พญาครุฑเป็นพาหนะของพระนารายณ์ แต่เวลา
อยู่กับที่ พญาครุฑนั่งสูงกว่าพระนารายณ์
ลักษณะของครุฑเป็นไปตามความคิดความเชื่อของแต่ละชาติ อินโดนีเซียคิดไป
อย่างหนึ่ง เนปาลคิดไปอีกอย่างหนึ่ง ฉะนั้นรูปร่างของครุฑจึงแตกต่างกันไป ท่าน
ที่ต้องการเปรียบเทียบลักษณะของครุฑจะหาอ่านได้จากหนังสือ "อมนุษย์นิยาย" โดย
"ส.พลายน้อย"
ตามคตินิยมของไทยได้ใช้รูปครุฑเป็นเครื่องหมายในผืนธง และเป็นพระ
ราชลัญจกรมาแต่โบราณกาล ในปัจจุบันใช้เป็นเครื่องหมายทางราชการ
หงส์
หงส์เป็นสัตว์ในวรรณคดีที่มีการกล่าวถึงมากที่สุด คำว่า หงส์ ในพจนานุกรม
ของจิลเดอร์แปลไว้ว่า a goose, a swan ตามโบราณสถานหลายแห่งทำรูปหงส์
เป็นห่าน เช่นในชวาทำรูปพาหนะของพระพรหมเป็นห่าน คำว่า ห่าน นั้น ก็เข้าใจ
ว่าจะมาจาก หันส ซึ่งตรงกับภาษาบาลีว่า หังส
ในสมัยสุโขทัย รูปหงส์ยังมีลักษณะเป็นห่านอยู่มาก คือยังไม่มีลวดลายหรือ
กระหนกมากเหมือนอย่างสมัยอยุธยาและกรุงเทพฯ รูปหงส์รุ่นเก่าจะดูได้จากภาพ
ปูนปั้นที่วัดพระพายหลวง สุโขทัย และหงส์ดินเผาประดับฐานเจดีย์วัดช้างรอบ
กำแพงเพชร (ดูภาพลายเส้นได้จากหนังสือ "พุทธศิลปสุโขทัย" ของ "สงวน รอด
บุญ")
ตามตำนานกล่าวว่า พระพรหมธาดาได้บันดาลให้บังเกิดเป็นสุวรรณหงส์ขึ้น
เพื่อเป็นพาหนะ จึงได้นามปรากฏว่า "ครรไลหงส์" บางตำราว่าพระพรหมประทับ
บนรถ มีหงส์เจ็ดตัวลากรถก็มี
ในนิยายของอินเดียกล่าวว่าหงส์อยู่ทางทิศใต้ของเขาไกรลาศ ณ ที่นั้นเป็น
สระสวยงาม อันมีนามว่า มานะสะ หรือ มานัส กล่าวกันว่างามหนักหนา หงส์ตัวใด
ไปแล้วต้องไปอีก ในชาดกมีกล่าวถึงหงส์หลายเรื่อง เช่นว่า ครั้งหนึ่งพระสารีบุตร
เกิดเป็นกษัตริย์ครองนครสาคล พระพุทธเจ้าเกิดเป็นพญาหงส์ พระอานนท์ก็เป็น
หงส์รวมอยู่ด้วยได้ปกครองพวกหงส์ถึง ๙๖,๐๐๐ ตัว (ดูเรื่อง หงส์ ในหนังสือ
"สัตวนิยาย" โดย "ส.พลายน้อย")
ตามนิยายโบราณของฝรั่ง เขาว่าหงส์ (Swan) ร้องครั้งเดียวเท่านั้นในชีวิต
คือเมื่อจะตาย ว่ากันตามเรื่อง หงส์เป็นสัตว์หิมพานต์แท้ ๆ เพราะมีที่อยู่แน่นอน ใน
แดนหิมพานต์
ติณราชสีห์
ติณราชสีห์ เป็นพวกราชสีห์กินหญ้า (ติณ แปลว่า หญ้า) ดังได้กล่าวไว้ในเวช
สันดรชาดกว่า "ติณราชสีห์เสพซึ่งเส้นหญ้าเป็นอาหาร" ดูเป็นพวกมังสวิรัติ (ปราศ
จากความยินดีในเนื้อคนและเนื้อสัตว์)
เมื่อเทียบติณราชสีห์กับบัณฑุราชสีห์แล้ว จะเห็นต่างกันได้ชัดอยู่ ๒ อย่าง
อย่างหนึ่งคือ ลาย ติณราชสีห์มีลายขดเป็นวง แต่บัณฑุราชสีห์มีลายเป็นแบบลายเสือ
ยิ่งมีสีเหลืองด้วยแล้ว ก็ใกล้เสือเข้าไปมาก
อีกอย่างหนึ่งที่ผิดกันที่หาง หางติณราชสีห์เป็นพวงงาม ลักษณะส่อให้เห็นขน
หางดกฟู ส่วนหางบัณฑุราชสีห์เป็นแบบหางสิงห์หรือหางราชสีห์ทั่ว ๆ ไป คือมีขน
เฉพาะที่ตอนปลายหางเท่านั้น
ถ้าดูตามอุปนิสัยที่กินหญ้า ติณราชสีห์ก็ดูไม่น่ากลัวอะไร แต่คำว่า ราชสีห์
นั้นยังแสดงอำนาจอยู่ อย่างน้อยเสียงคำรามก็คงทำเอาสัตว์อื่น ๆ ขนพองสยองเกล้า
ไปได้เหมือนกัน
กาสรสิงห์
การสรสิงห์นั้นมองดูเผิน ๆ เหมือนกับราชสีห์ทั่ว ๆ ไป แต่เมื่อพิเคราะห์ดู
ให้ดีแล้วแตกต่างกัน เพราะรวมลักษณะของ กาสร กับ สิงห์ ไว้ด้วยกัน ท่อนหัวและ
ตัวเป็นแบบสิงห์ มีลายขดเป็นวง แต่ส่วนขาและเท้าเป็นแบบสัตว์มีกีบ เห็นจะมี
ลักษณะของควาย เพราะกาสรแปลว่า ควาย
เรื่องของกีบสัตว์นี้ก็แปลก มีต่าง ๆ กันไป ในทางช่างเขียนของเรา ท่านจะ
ถือหลักธรรมชาติหรือว่าเขียนตามโบราณต่อ ๆ กันมาก็ไม่ทราบ เพราะเห็นเขียน
กีบสัตว์บางชนิดปน ๆ กันอยู่ ถ้าว่าตามเรื่องสมัยดึกดำบรรพ์ทีเดียวก็
ต่างกับในปัจจุบัน อย่างกีบม้านั้น ท่านว่าแต่โบราณทีเดียวมีกีบคู่ นอกจากกีบไม่
เหมือนกันแล้ว เครื่องในบางอย่างก็ไม่เหมือนกันอีกด้วย
ถ้าว่าตามลักษณะของธรรมชาติ กาสรสิงห์ก็น่าจะมีกีบคู่แบบควาย แต่ตามรูป
เป็นแบบกีบเดียว จะว่าผิดก็ไม่ได้ เพราะรูปสัตว์เหล่านี้ไม่ใช่รูปสัตว์ตามธรรมชาติ
เป็นเรื่องของสัตว์ประสมตามจินตนาการ
บัณฑุราชสีห์
บัณฑุราชสีห์ เป็น ๑ ใน ๔ ของราชสีห์
ราชสีห์ในวรรณคดีมี ๔ ชนิด ดังมีพรรณาอยู่ในหนังสือมหาเวสสันดรชาดก
กัณฑ์ มหาพน ตอนหนึ่งว่า
"อนึ่งในห้องหิมพานต์ภูมิพนาวาสวิสัยสัตว์สุดที่จะรำพัน พวกคณานิกรสัตว์ทั้ง
หลายนั้น อนันต์อเนกนับมากกว่าหมื่นแสน ย่อมอาศัยในด้าวแดนดงกันการ ไพร
พฤกษาสารสโมสรสรรพสัตว์จัตุบทนิกรทวิบาท เป็นต้นว่า สัตว์สุรสีหชาติสี่จำพวก
พาฬผรุสร้ายราวีหนึ่งนามชื่อว่า ติณราชสีห์ เสพซึ่งเส้นหญ้าเป็นอาหาร หนึ่งชื่อว่า
กาฬสิงหะ และ บัณฑุสุรมฤคินทร์ เสพซึ่งมังสนิกรกินเป็นภักษา สามราชสีห์มีสรีรกา
ยาพยพอย่างโคขนพิกลหลาก ๆ กัน พรรณหม่นมอเป็นมันหมึกมืดดำสำลานเหลือง
เลื่อมแลประหลาดหนึ่งนาม ไกรสรสิงหราช ฤทธิเริงแรง ปลายหางและเท้าปาก
เป็นสีแดงดูดุจจะย้อมครั่งพรรณที่อื่นเอี่ยมดั่งสีสังข์ใสเศวตวิสุทธิสดสะอ้าน
ประสานลายวิไลผ่านกลางพื้นปฤษฎางค์แดงดั่งชุบชาด อันนายช่างชาญฉลาดลากลวดลง
พู่กันเขียนเบื้องอูรุนั้นเป็นรอยเวียนวงทักษิณาวัฏ เกสรสร้อยคอดั่งผ้ารัตตกัมพล"
กล่าวเฉพาะ บัณฑุราชสีห์หรือบัฯฑุสุรมฤคินทร์นั้นจัดอยู่ในพวกสัตว์กินเนื้อ
ขนสีเหลืองอ่อนหรือขาวเหลือง เพราะคำว่า บัณฑุ แปลว่า เหลืองอ่อนหรือซีด
สิงหรามังกร
สิงหรามังกร เป็นสัตว์ผสมระหว่าง สิงห์ กับ มังกร
กล่าวตามพจนานุกรม สิงหรา หมายถึง สิงห์, สิงห์ตัวเมีย
ดูตามลักษณะลำตัวจะเป็นสิงห์ ท่อนหัวเป็นมังกร แต่ผิดกับตัวสิงห์ทั่ว ๆ ไป
คือ แทนที่จะมีขนขดเป็นวง กลับมีเกล็ด เรียกว่า เอาเกล็ดมังกรมาประดับตัว
สิงห์แทน ส่วนหางยังเป็นลักษณะทางสิงห์ ถ้าว่ากันตามนิสัยและเผ่าพันธุ์ก็ไปด้วยกัน
ไม่ได้ สิงหราเป็นสัตว์อยู่ตามป่าตามถ้ำ ส่วนมังกร เป็นสัตว์น้ำหรือยู่ได้ทั้งในน้ำในอา
กาศ
มังกรเป็นสัตว์ในนิยายของจีน มีฤทธิ์มีอำนาจมาก สามารถบังคับฝนก็ได้
ลักษณะของมังกรมีกล่าวกันหลายตำรา บ้างก็ว่ามีหัวเหมือนม้า มีหูเหมือนวัว บ้างก็
ว่าไม่มีหูและว่ามังกรได้ยินเสียงจากเขาที่มีลักษณะเหมือนเขากวาง
ที่อยู่ของพวกมังกรนั้นว่าอยู่กลางทะเลลึก แต่ตามตำนานเขาแบ่งหน้าที่ของ
มังกรไว้ ๔ พวก คือ พวกรักษาวิมารเทวดา, พวกให้ลมให้ฝน, พวกรักษาแม่น้ำ
ลำธาร และพวกเฝ้าขุมทรัพย์
เหมราช
คำว่า เหมราช จะแปลหรือหมายความว่าอะไรไม่รู้ ตามรูปคำน่าจะมาจาก "เหม" และ "ราช" ในพจนานุกรมให้ความหมายของคำ "เหม" ไว้ว่า "ทองคำ, ช้างพวกหนึ่ง ในสิบตระกูลเรียกว่า เหมหัตถี, เรียกฝาหียหรือภาชนะบางอย่างซึ่งยอดเขาแหลมปิดทอง, เรียกส่วนยอดประสาทถัดปล้องไฉนลงมา" ไม่มีคำว่า เหมราช ถ้าจะให้เดาเล่น ๆ สัตว์ที่มีชื่อว่า "เหม" คงจะหมายถึงสัตว์ที่มีหน้าแหลม ๆ ตามภาพเขียนก็เห็นทำเป็นแบบหน้าแหลม ๆ ปากยาวกว่าหงส์ บางท่านก็เขียนเครา บางท่านก็ไม่เขียน บางทีจะหมายเอาที่มีเคราเป็นตัวผู้ ที่ไม่มีเคราเป็นตัวเมียกระมัง ในสมัยก่อนเคยได้ยินพูดกันว่า "ทำหน้าเป็นเหมทีเดียว" นึกไม่ออกว่าทำหน้าอย่างไร คงจะปากยื่นยาวกระมัง ในบทกวีโบราณมักกล่าวถึงคำว่า เหม คู่กับ หงส์ อย่างเช่นขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนปลอบวันทอง มีกลอนตอนหนึ่งว่า "ไปเป็นเพื่อนพี่บ้างในกลางดง ชมหงส์เหมเล่นให้เย็นใจ" หรือในนิราศนรินทร์ มีโคลงอยู่บทหนึ่งว่า "วัดหงส์เหมราชร้าง รังถวาย" ซึ่งในทางกวีหมายถึง พญาหงส์ทอง คำว่า เหมราช เมื่อเทียบกับคำ นาคราช, สีหราช, หงสราช แล้วก็น่าจะหมายเพียงว่า เป็นสัตว์ที่มีอำนาจราชศักดิ์เป็นพญาเหม แต่ตามภาพเขียนของเหมราชเขียนท่อนตัวเป็นสิงห์ หัวเป็นหงส์ คำว่า เหมราชจึงน่าจะเป็นเหมสีหราช หรือเหมราชสีห์มากกว่า
สกุณไกรสร
เมื่อเทียบดูระหว่างรูป "เหมราช" กับรูป "สกุณไกรสร" แล้ว จะเห็นว่า
เป็นสัตว์ประเภทเดียวกัน คือเป็นสัตว์ประสมระหว่าง นก กับ สิงห์ ต่างกันแต่ว่า
เป็นนกคนละชนิด
เหมราช เป็นนกประเภทปากหงส์ คือ ปากยาว ส่วนสกุณไกรสรเป็นนก
ประเภทปากสั้น ส่วนลำตัวนั้นก็เป็นแบบเดียวกัน คือ เป็นสัตว์ชนิดเท้ามีเล็บแบบสิงห์
จะผิดกันตรงที่หาง เหมราชมีหางเป็นแบบสิงห์ หรือราชสีห์ ปลายหางเป็นพวง ส่วน
สกุณไกรสร มีหางเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งถ้าว่ากันตามความหมายทางภาษา ไกรสร
ก็คือ สิงห์โต ซึ่งตามพจนานุกรมให้ความหมายไว้ว่า "สัตว์ในนิยายของจีน ถือว่ามี
ความดุร้ายและมีกำลังมาก"
คำว่า ไกรสร นั้นว่าแผลงมาจาก เกสรี หมายความว่า มีขนสร้อยคอ ส่วน
ราชสีห์นั้นหมายถึงพญาสิงห์โต เรียกสิงห์โตสามัญที่เขียนรูปอย่างแบบไทย สรุปว่า
ไกรสร สิงห์โต ราชสีห์ เป็นสัตว์ประเภทเดียวกัน แต่เมื่อเขียนให้เป็นไกรสรก็ทำ
หางให้เป็นอย่างหางสิงห์โตของจีน เมื่อเขียนเป็นราชสีห์ ก็ทำหางให้เป็นแบบ
ราชสีห์ไทย เรียกว่าผิดกันตรงหาง สกุณไกรสร จึงมีหางเป็นแบบหางสิงห์โต
ทักทอ
สัตว์ประหลาดที่เรียกกันว่า "ทักทอ" นั้น ดูเผิน ๆ เหมือนกับคชสีห์ เพราะ
มีจมูกยาวและมีงาด้วย ส่วนตัวนั้นเป็นสิงห์
"ทักทอ" เป็นภาษาอะไรก็ไม่ทราบ บรรดาครูช่างเขียนแต่ก่อนก็จนปัญญา
ตอบไม่ได้ นักเรียนก็อ่านไม่ออก ทัก-ทอ หรือ ทัก-กะ-ทอ บางคนตั้งแต่เกิดมายัง
ไม่เคยได้ยินแต่คนเก่าเขาอ่านว่า ทัก-กะ-ทอ
ทักทอ จะเขียนมาแต่เดิมอย่างไรไม่ทราบ แต่ได้พบในเอกสารเรื่องตำรา
หน้าที่ตำรวจในสมัยกรุงศรีอยุธยาว่ามี เรือทักทวง
เรือทักทวง นี้มีผู้ให้ความเห็นว่า คือ เรือทักทอ หรือทักกะทอ นั่นเอง เรือ
ทักทอคู่กับเรือนรสิงห์ เป็นเรือขบวนสัตว์แสนยากร เข้าขบวนแห่ เมื่อเป็นเช่นนี้
คำว่า ทักทอ หรือตัวทักกะทอ ก็มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาโน้นแล้ว
โตเทพอัสดร
เป็นสัตว์อยู่ในพวก เหมราอัสดร หรือตัวเป็นม้า ผิดกันเฉพาะที่หัว โตเทพอัสดรมีหัวเป็นสิงห์โต คำว่า โต ในภาษาไทย หมายถึง สิงห์โต ได้ด้วย อย่างเช่น เมื่อมีกลบทชนิดหนึ่ง เรียกว่า โตเล่นหาง ก็หมายถึง สิงห์โตเล่นหางนั่นเอง ที่มีคำว่าเทพผสมเข้าไปด้วย ก็เห็นจะให้หมายว่าเป็นสัตว์เทวดานั่นเอง มีสัตว์หิมพานต์ลักษณะเดียวกันนี้อีกแบบหนึ่ง เรียกกันว่า เทพีอัสดร เรื่องการตั้งชื่อสัตว์ประหลาด ๆ เหล่านี้ พวกช่างเองก็คงจะอึดอัดคิดไม่ค่อยออกเหมือนกันว่าจะตั้งชื่อว่าอะไรดี การตั้งชื่อจึงมีอยู่ ๒ ลักษณะ คือ๑. เอาชื่อ หรือลักษณะ หรือประเภทของแต่ละชนิดมารวมกัน เช่น พานรปักษา,นาคปักษิณ, สกุณไกรสร ฯลฯ คือเอาลักษณะของนกมารวมกับสัตว์อื่น แล้วหาคำเปลี่ยนไปให้แปลก ๆ ดังจะเห็นว่า ปักษา, ปักษิณ, สกุณ หมายถึงนกทั้งนั้น ชื่อเหล่านี้มักจะเป็นชื่อผสมขึ้นใหม่๒. ชื่อเฉพาะชนิด เป็นชื่อเดิมที่เรียกกันมาแต่โบราณ จะว่าเป็นสัตว์หิมพานต์รุ่นแรกก็เห็นจะได้ เช่น กินรี, กิเลน,เหรา, ทัณฑิมา เป็นต้น
สินธพนที
สินธพนที นั้น บางทีท่านก็เขียนว่า สินธพนัทธี ตามแบบโบราณ
สินธพนที แปลตามตัวก็คือ ม้าน้ำ นั่นเอง แต่ถ้าแยกเป็นคำแล้ว ความหมาย
กว้างออกไปอีก
สินธพ หมายถึง ม้าพันธุ์ดีที่เกิดแถวลุ่มแม่น้ำสินธุ แม่น้ำสินธุเป็นแม่น้ำ
สำคัญสายหนึ่งในอินเดีย
นอกจากนี้ สินธุ ยังเป็นชื่อเมืองโบราณของอินเดียอีกด้วย เมืองสินธุนี้เข้าใจ
กันว่าจะเป็นเมืองหนึ่งของรัฐสินธ ในปัจจุบันเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงทางม้า ม้าดี
จึงมีนามว่า สินธพ หรือเรียกตามสันสกฤตว่า ไสนธวะ เรียกว่า ชื่อม้าเอามาจาก
ชื่อเมือง ชื่อแม่น้ำ แล้วเลยกลายเป็นศัพท์ที่ใช้เรียกม้ารวม ๆ กันไปด้วย
สินธพนที หรือม้าน้ำ ก็มีลักษณะเป็นม้าธรรมดา ๆ นี่เอง จะผิดธรรมชาติ
อยู่ก็ตรงหางและเท้า
ปลา เป็นสัตว์น้ำ ตัดเอาหางปลามาต่อเข้าก็กลายเป็นม้าน้ำไปได้
ปลามีครีบ ก็เลยเอาครีบมาติดที่ขาม้าด้วย
เหมราอัสดร
เหมราอัสดร นั้น ตามตำราว่าตัวเป็น ม้า หน้าเป็น หงส์
ว่าตามศัพท์ คำว่า อัสดร หมายถึง ม้าดี แต่อีกทางหนึ่งว่าเป็นสัตว์พันธุ์พิเศษ
คือ เกิดจากพ่อที่เป็นลาและแม่ที่เป็นม้า หรือที่เรียกกันว่า ล่อ (พจนานุกรมไทย โดย
มานิต มานิตเจริญ)
แต่คำว่า ล่อ ในพจนานุกรมให้ความหมายไว้ว่า "สัตว์ลูกผสมชนิดหนึ่ง
ลักษณะครึ่งม้าครึ่งลา โดยมากแม่เป็นลา พ่อเป็นม้า" ความกลับกันกับที่กล่าวถึงใน
เรื่อง อัสดร
ในหนังสือนารายณ์สิบปางฉบับไทยกล่าวว่า พระพายเทวบุตรบันดาลให้เกิด
เป็นอัศวราช ม้าสี่ตระกูล
ชื่อ วลาหก เป็นตระกูลที่หนึ่ง
ชื่อ อาชาไนย เป็นตระกูลที่สอง
ชื่อ สินธพมโนมัย เป็นตระกูลที่สาม
ชื่อ อัสดร เป็นตระกูลที่สี่
ม้าทั้งสี่ตระกูลนี้นี้เป็นพาหนะของพระพายเทวบุตร
เมื่อแรกนั้น ม้าทั้งสี่ตระกูลนี้เหาะเหินเดินอากาศได้ แต่คราวหนึ่งม้าทั้งสี่
นี้ไปได้นางอัศวราช ซึ่งเป็นม้าเทียมรถพระอุมา แล้วหลงใหลใฝ่ฝัน ครั้นไม่พบหน้าก็
กระวนกระวาย พากันเหาะติดตาม แล้วหลงเข้าไปในสวนของพระอิศวร กินหญ้าในสวน
เพลิดเพลินไป อสูรนนทการผู้เฝ้าสวนมาพบเข้าจึงจับไปถวายพระอิศวร ผู้เป็นเจ้า
จึงมีเทวโองการ สั่งอสูรนนทการให้จัดเอ็นเหาะที่เท้าม้าทั้งสี่นั้นเสีย อย่าให้เหาะ
เหินเดินอากาศได้สืบไป
สรุปความตามนิยาย "เหมราอัสดร" ก็เป็น หงส์ กับ อัสดร คือม้าตระกูลที่
๔ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนั่นเอง
กิเลน
คำว่า "กิเลน" เป็นคำที่มาจากภาษาจีน เป็นชื่อของสัตว์ในเทพนิยาย
จีนที่ออกจะแปลก คือสัตว์อย่างเดียวกันแต่เรียกต่างกัน
ถ้าเป็นตัวผู้เรียกว่า "กี"
ถ้าเป็นตัวเมียเรียกว่า "เลน"
แล้วเอามาเรียกกันว่า "กีเลน" หรือ "กิเลน"
กิเลน ตามตำนานจีนว่ามีรูปร่างเหมือนกวาง แต่มีเขาเดียว หางเหมือนโค
หัวเป็นมังกร ตีนมีกีบเหมือนม้า (บางตำราว่ามีตัวเป็นสุนัข ลำตัวเป็นเนื้อสมัน)
ว่าเกิดจากธาตุทั้งห้า คือ ดิน น้ำ ไฟ ไม้ และโลหะ ผสมกัน ข้อสำคัญว่ามีอายุ
อยู่ได้ถึงพันปี และถือว่าเป็นยอดแห่งสัตว์ทั้งหลาย เป็นสัญลักษณ์แห่งคุณงามความดี
ปรากฏให้เห็นเมื่อใด ก็จะเกิดผู้มีบุญมาปกครองบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุขเมื่อ
นั้นเป็นหนึ่งในสี่ของสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ มี หงส์ เต่า มังกร และกิเลน
ไทยเราคงรู้จักกิเลนของจีนมานานแล้ว ในสมุดภาพสัตว์ป่าหิมพานต์ที่ช่าง
โบราณได้ร่างแบบสำหรับผูกหุ่นเข้ากระบวนแห่พระบรมศพ ครั้งรัชกาลที่ ๓ ก็มีรูป
กิเลนจีนทำหนวดยาว ๆ
ส่วนภาพกิเลนในนี้เป็นกิเลนแบบไทย มีกระหนกและเครื่องประดับเป็นแบบ
ไทย ๆ การจัดลายประกอบผิดไปจากในสมุดภาพสัตว์ป่าหิมพานต์ของโบราณนั้นบ้าง ที่
แปลกอีกอย่างหนึ่ง คือ กิเลนไทยมีสองเขา ของจีนแท้ ๆ มีเขาเดียว
เหรา
ในวรรณคดีมักจะกล่าวถึงสัตว์ทะเลชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า "เหรา" อย่างใน
เรื่องอุณรุท ก็มีกล่าวถึงตอนนางศรีสุดาลงสำเภาไปในทะเลว่า
"เงือกงามหน้ากายคล้ายมนุษย์ เคล้าคู่พู่ผุดในชลฉาน
ราหูว่ายหาปลาวาฬ โลมาผุดพ่านอลวน
พิมทองท่องเล่นเป็นหมู่หมู่ สีเสียดปนอยู่กับยี่สน
จันทรเม็ดแมวม้าหน้าคน ฉลามลอยล่องพ่นวาริน
มังกรเกี้ยวกันกลับกลอก เหราเล่นระลอกกระฉอกกสินธุ์
ช้างน้ำงามล้ำหัสดิน ผุดเคล้านางกรินกำเริบฤทธิ์"
ในเรื่องนี้ไม่บอกว่า เหรา มีรูปร่างเป็นอย่างไร แต่พอจับความได้ว่า เป็น
สัตว์ทะเล ในพจนานุกรมอธิบายไว้ว่า เหรา เป็น "สัตว์ในนิยาย มีรูปครึ่งนาค
ครึ่งจรเข้" อ่านคำอธิบายแล้วยังไม่รู้ว่าครึ่งไหนเป็นอะไร ต้องฟังเพลงโบราณจึง
จะรู้ประวัติ เพลงโบราณเล่าถึงประวัติ เหรา ไว้ว่า
"บิดานั้นนาคา มารดานั้นมังกร
มีตีนทั้งสี่ หน้ามีทั้งครีบทั้งหงอน"
มีแปลกอีกอย่างหนึ่ง คือ ในทางช่างกลับเรียกว่า "เหราพด" ทำไมจึงเรียก
อย่างนั้นก็ไม่ทราบ
พญานาค
เป็นสัตว์น้ำตามนิยายที่มีฤทธิ์อำนาจมาก ตามตำนานกล่าวว่า พญานาคเป็นโอรสของพระกัศยปเทพบิดร และนางกัทรุเป็นมารดา นี่ว่าตามนิยายอินเดีย เรื่องของนาคหรือพญานาค (คือสัตวที่มีตัวยาวเหมือนงู มีหงอน) มีเรื่องรวมอยู่ในนิยายนิทานเก่า ๆ ของไทยมากมายหลายเรื่อง อย่างเช่นเรื่องนางมโนราห์ก็มี พระยาจิตรชมภูนาคราช ซึ่งอยู่ในเมืองอุดรปัญจาล์ และทำให้เมืองนี้อุดมสมบูรณ์ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พระยาจิตรชมภูนี้มีเมืองอยู่ในน้ำใต้แผ่นดิน มีนาคสาว ๆ ห้อมล้อมมากมาย และมีอาวุธสำคัญอยู่อย่างหนึ่งคือบ่วงบาศ ซึ่งครุฑกลัวมาก และต่อมาพรานบุญได้มาขอเอาไปจับนางมโนราห์ ตามปกติแล้ว นาคจะเป็นอาหารของครุฑ แต่ถ้านาคตัวไหนนับถือพุทธศาสนาก็จะปลอดภัยจากปากครุฑ นี่ว่าตามตำนานข้างฝ่ายพุทธ ในตำนานข้างพระพุทธศาสนา มีเรื่องเกี่ยวกับพญานาคหลายเรื่อง เช่น มากำบังฝนให้พระพุทธองค์ ซึ่งเราเรียกพระพุทธรูปปางนี้ว่า พระปางนาคปรก เป็นต้น(เรื่องพิสดารของ พญานาค มีอธิบายไว้ในหนังสือ "อมนุษยนิยาย" โดย "ส.พลายน้อย")
มัจฉานุ
มัจฉานุ ไม่ใช่สัตว์หิมพานต์ เป็นสัตว์ในวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ แต่มี
อะไรพิเศษกระเดียดไปทางสัตว์หิมพานต์อยู่เหมือนกัน คือตัวเป็นลิงแต่มีหางเป็นปลา
ต้นเรื่องเกิดขึ้นเมื่อครั้งพระรามจองถนนข้ามไปกรุงลงกา การจองถนนต้อง
ใช้ก้อนหินถม แต่ถมเท่าไรก็ไม่เต็ม เพราะพวกรักษาท้องน้ำของทศกัณฑ์ให้พวกปลา
มาขนเอาไปหมด เรื่องก็เดือดร้อนถึงหนุมาน ต้องแผลงฤทธิ์ไปดูเหตุการณ์ใต้
ท้องทะเล ปราบพวกก่อการร้ายทำลายถนนเสียราบ แต่มีอยู่รายหนึ่งที่ไม่ใช้อาวุธ
รุนแรงประหาร ก็ไม่ใช่ใคร นางสุวรรณมัจฉา ลูกสาวของทศกัณฑ์นั่นเอง หนุมาน
ใช้ศิลปะของการเจรจาจนผูกใจนางสุวรรณมัจฉาไว้ได้และยอมมอบตัวให้แต่โดยดี
นางให้พวกปลานำก้อนหินกลับมาถมจนสำเร็จเป็นถนน หนุมานเกลี้ยกล่อมผู้ก่อการ
ร้ายทำลายถนนสำเร็จ และยังได้ผลผลิตติดตามมา คือ มัจฉานุ ซึ่งเกิดแต่นาง
สุวรรณมัจฉา
แรด
สมัยนี้ถ้าใครพูดว่า "สิบ-เอ็ด-รอ-ดอ" ก็รู้กันว่าหมายถึง แรด เพราะสระ
แอเวลาเขียนแล้วเหมือนเลข ๑๑
แต่ความหมายของ สิบ-เอ็ด-รอ-ดอ หรือ แรด ที่กล่าวนี้กระเดียดไปใน
ทางแส่หรือจัดจ้าน ในพจนานุกรมให้ความหมายของคำว่า แรด ไว้ว่า "ชื่อสัตว์ป่า
ขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง หนังหนา หยาบ เท้ามีกีบคล้ายเท้าควาย ที่สันจมูกมีเขา
เรียกว่า นอ บางตัวมีนอเดียว บางตัวมี ๒ นอ" ก็ไม่รู้ว่า แรด ไปเกี่ยว
อะไรกับเขาด้วย
แรดนี้ บางทีเขาก็เรียกกันว่า ระมาด ตามภาษาเขมร คนโบราณเองก็ไม่
ค่อยรู้จักแรด เมื่อช่างจะเขียนรูปแรดจึงทำเป็นรูปมีงวงคล้ายตัวสมเสร็จ ดัง
ที่ปรากฏในดวงตราพระเพลิงทรงระมาด ซึ่งเคยใช้เป็นตราประจำตำแหน่ง
เสนาบดีกระทรวงธรรมการอยู่สมัยหนึ่ง (มีรูปอยู่ในหนังสือ "เรื่องตราต่าง ๆ "
โดย "ส.พลายน้อย")
ครั้นถึงสมัยรัชการลที่ ๕ เจ้าเมืองน่านส่งลูกแรดมาถวายตัวหนึ่ง คนกรุงเทพฯ
จึงรู้จักแรดตัวจริงในครั้งนั้น และเคยเอาบุษบกเพลิงตั้งบนหลังแรดตัวนั้นแห่พระ
ศพครั้งหนึ่ง
ที่เอาบุษบกเพลิงตั้งบนหลังแรดก็เพราะมีตำนานว่า พระเพลิงมีพาหนะเป็น
แรดตั้งแต่ได้เห็นแรดตัวจริงแล้ว รูปแรดในตำราสัตว์หิมพานต์ก็ยกเลิกไป ไม่มีใคร
เขียนรูปแรดเป็นแบบตัวสมเสร็จอีก
มัชฉวาฬ
สัตว์หิมพานต์คราวนี้ดู ๆ ไม่น่าแปลก เพราะดูแล้วก็รู้ว่าเป็นปลา จะแปลกก็
ที่ชื่อ "มัชฉวาฬ" แปลว่าอะไรก็ไม่รู้
ได้ตรวจดูชื่ออะไรต่าง ๆ ที่คนโบราณเขียนไว้ในชุดสัตว์หิมพานต์ หรือภาพ
เทวดา ปรากฏว่ามีชื่อแปลก ๆ หาที่มาไม่พบอยู่มาก บางชื่อก็เพี้ยนเพียงเล็กน้อย
พอเดาได้
คำว่า "มัชฉวาฬ" นี้ก็น่าจะอยู่ในจำพวก "เพี้ยน"
"มัชฉ" น่าจะเป็น "มัจฉ" ที่แปลว่า ปลา ฉะนั้น คำว่า มัชฉวาฬ ก็น่า
จะเป็น มัจฉวาฬ หมายถึง ปลาวาฬ นั่นเอง
ปลาวาฬ เป็นสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นสัตว์ทะเล คนไทยเห็นจะรู้จัก
ปลาวาฬมานาน เคยอ่านพบว่าในสมัยโบราณ เคยมีปลาวาฬมีเกยตื้นในคลอง
แห่งหนึ่ง ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คลองนั้นเลยเรียกว่า คลองปลาวาฬ
ปลามัชฉวาฬตัวนี้มีที่แปลกอยู่อย่างหนึ่งคือ มีเขี้ยว ท่าทางออกจะดุร้าย มี
หนวดมีเครา แต่เมื่อเขียนออกมาเป็นแบบไทย ๆ แล้วก็น่ารักไม่ใช่แต่น่ารัก
เฉพาะปลา แม้แต่คลื่นก็น่ารัก
กุญชรวารี
กุญชรวารี แปลตามตัวก็คือ ช้างน้ำ แบบเดียวกับ สินธพนที คือ ม้าน้ำ จะ
แปลกกันก็ตรงที่ ม้าน้ำ เป็นม้าทั้งตัวแล้วมีหางเป็นปลา เรียกว่าเปลี่ยนเฉพาะหาง
เท่านั้น ส่วน กุญชรวารี ตัวเป็นปลา หัวกับเท้าหน้าเป็นช้าง กุญชรวารี เป็นภาพ
สัตว์หิมพานต์ที่นิยมเขียนไว้ตามผนังโบสถ์ที่มีเรื่องเกี่ยวกับทะเล ก็จะมีช้างน้ำ
ว่ายคลอเคลีย อยู่ อย่างเช่นที่วัดช่องนนทรีย์ก็มี เมื่อดูามรูป กุญชรวารี ก็น่า
จะเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก คือไปได้ทั้งบนบกและในน้ำ เมื่อจะเดินบนบกก็มี
เท้าสองหน้าพาเดินไปได้ หรือจะว่ายน้ำก็คงสะดวก เพราะมีเท้าช่วยพุ้ยน้ำ มีหาง
ปลาช่วยโบกส่งท้ายอีกแรง
ประวัติของกุญชรวารีจะมีมาอย่างไรไม่ทราบ ก็คงจะทำนอง
เดียวกับสัตว์หิมพานต์อื่น ๆ ที่ช่างเขียนคิดประสมกันเอาเอง แต่แปลกอยู่อย่าง
หนึ่งคือ น่าจะเอาคำที่หมายถึง ปลา มามีส่วนในชื่อด้วย
จะเป็น กุญชรมัจฉา หรือ คชมัจฉา ก็น่าจะได้
กลับใช้ชื่อว่า กุญชรวารี คงจะต้องการให้เป็นช้างน้ำเท่านั้นเอง
Friday, February 6, 2009
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment